กรุงเทพฯ – เพจเฟซบุ๊กลูกศิลป์ สื่อปฏิบัติของนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เผยแพร่การสำรวจสถานการณ์นักเรียนถูกทำร้ายและถูกคุกคาม หลังการแสดงออกทางการเมืองและเรียกร้องประชาธิปไตย 

การสำรวจนี้เป็นการสำรวจแบบออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนมัธยมทั่วประเทศจำนวน 306 คน และมีการสัมภาษณ์นักเรียนขณะร่วมชุมนุมด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม ถึง 5 กันยายน 2563

โดยผลการสำรวจพบว่า นักเรียนกลุ่มตัวอย่างจากโรงเรียนทั้งหมด 115 แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียนจากโรงเรียน 101 แห่ง หรือร้อยละ 87.9 ถูกทำร้ายและถูกคุกคามทางด้านจิตใจ แบ่งเป็น ถูกครูดุด่า 40 แห่ง ถูกครูข่มขู่ว่าจะไม่ให้จบการศึกษา 33 แห่ง ถูกครูยึดทรัพย์สินส่วนตัว (โทรศัพท์มือถือและโบว์ขาว) 13 แห่ง ถูกครูเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐ 10 แห่ง และโดนทัณฑ์บน 5 แห่ง

ผลสำรวจยังพบอีกว่า นักเรียนที่มาจากโรงเรียนอีก 14 แห่ง หรือร้อยละ 12.1 ถูกทำร้ายคุกคามทางด้านร่างกาย แบ่งเป็น ถูกครูตีด้วยไม้เรียว 7 แห่ง ถูกครูตบหัว 3 แห่ง ถูกครูกระชากคอเสื้อ 2 แห่ง ถูกครูนำโบว์ขาวมาผูกคอและบังคับลุกนั่งวิดพื้นอย่างละ 1 แห่ง

ภาพกราฟฟิก : กองบรรณาธิการลูกศิลป์

นักเรียนจากโรงเรียน 115 แห่งจากทั่วทั้ง 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง 48 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 แห่ง ภาคใต้ 8 แห่ง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกอย่างละ 11 แห่ง

“ผลการสำรวจระบุว่า 5 จังหวัดที่มีนักเรียนถูกทำร้ายคุกคามจากโรงเรียนมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 22 แห่ง นครราชสีมา 6 แห่ง นนทบุรี /ราชบุรี จังหวัดละ 5 แห่ง สุราษฏร์ธานี 4 แห่ง สมุทรปราการ สงขลา อุดรธานี ขอนแก่น และชลบุรี จังหวัดละ 3 แห่ง”

ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ ตัวแทนภาคีนักเรียน KKC นักเรียนมัธยมปลายจังหวัดขอนแก่นเปิดเผยว่า หลังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง มีรุ่นน้องที่โรงเรียนโดนคุกคามจากครูหลายคน ซึ่งเกิดขึ้นหลังการจัดกิจกรรม “มัธยม KKC ทวงเสรีภาพคืน” ณ สวนรัชดานุสรณ์ (สวนสฤษดิ์) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา

“ครูคนนั้นเปิดดูคลิปที่นักเรียนคนหนึ่งปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การเรียนรักษาดินแดน ( รด.) แล้วครูก็โมโหและทำโทษนักเรียน 2 คนที่ปราศรัยเรื่องนี้” แกนนำภาคีนักเรียน KKC กล่าวและว่า “โรงเรียนควรส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงออกทางความคิด ไม่ควรทำโทษด้วยซ้ำ เพราะคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ควรแก้มาตรา ม.53 วรรค 1 ที่ให้มีการเรียนฟรี 12 ปี เพราะถือเป็นสิทธิของประชาชน” 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 44 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจะกระทำมิได้

image_pdfimage_print