ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง
คริส บีล ภาพ

อัลบั้มภาพถ่ายสีชมพูขอบเหลืองขนาดใหญ่วางอยู่ชั้นล่างของโต๊ะวางโทรทัศน์ ธนกร ดอนเนลลี หรือ แจ็ค เด็กชายวัย 15 ปี หยิบมันขึ้นมาปัดฝุ่น ก่อนเปิดดูภาพถ่ายของเขากับ ไบรอัน แจ็ค ดอนเนลลี ผู้เป็นพ่อ ซึ่งตัวเขาเฝ้ารอการกลับมาเยือนของพ่อจากประเทศออสเตรเลียในปลายปีนี้

นอกจากความคิดถึงและอ้อมกอดอบอุ่นจากพ่อ เขามีบางอย่างที่ไม่เคยบอกพ่อมาก่อน ซึ่งตัวเขาหวังว่าพ่อจะมีโอกาสได้ทราบเรื่องราวที่เขาเก็บไว้ในใจมาเนิ่นนานจากบทความรายงานชิ้นนี้ นั่นคือ ประสบการณ์ชีวิตของแจ็คในช่วงอายุระหว่าง 11 – 13 ปี จากการถูกเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่โรงเรียนเพ็ญพิทยาคมและหมู่บ้านธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ล้อเลียนความแตกต่างทั้งเรื่องสีผิวและใบหน้า เพียงเพราะเขาเป็นลูกครึ่งไทย (อีสาน) – ออสเตรเลีย ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นปมฝังแน่นอยู่ในใจของเขา 

แจ็คเปิดอัลบั้มภาพถ่ายดูภาพเขากับพ่อและแม่เมื่อยังเป็นเด็กเล็ก ภาพโดย คริส บีล

บักฝรั่งดอง อีฝรั่งดังโม

“เพื่อนรุ่นเดียวกันชอบพูดคำว่า ฝรั่งดอง ล้อเลียนสีผิว หน้าตา พวกมันชอบว่าไม่เหมือนคนอื่นๆ ในโรงเรียน ทำให้ผมกลายเป็นตัวตลก สำหรับผม มันเป็นคำดูถูก” แจ็คเล่าย้อนถึงความรู้สึกที่ถูกเพื่อนในโรงเรียนล้อเลียนเพราะเขาเป็นลูกครึ่ง

ช่วงนั้นเขาไม่กล้าบอกใครและไม่กล้าแสดงพฤติกรรมว่าไม่ชอบสิ่งที่เพื่อนทำ เขาจึงทำได้แค่อดทนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากโต้ตอบกลับไป เขาอาจถูกเพื่อนที่มีจำนวนมากกว่ากลั่นแกล้งหนักกว่าเดิมหรือถึงขึ้นทำร้ายร่างกายก็เป็นได้ 

แต่แล้ววันหนึ่งความอดทนของแจ็คก็ถึงขีดสุด

“ระหว่างเล่นเตะฟุตบอลอยู่ในสนามกีฬากลางหมู่บ้าน เพื่อนก็ล้อเลียนผมเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้ล้อว่าผมเป็นลูกไอ้ฝรั่ง แล้วล้อเลียนชื่อพ่อชื่อแม่ของผม ผมจึงตอบโต้กลับด้วยการตีและใช้เท้าถีบเพื่อนคนนั้น” แจ็คเล่า แล้วกล่าวต่อว่า “หลังจากนั้นเพื่อนก็ไม่ล้อเลียนผมอีกเลย”

ธนกร ดอนเนลลี หรือ แจ็ค ลูกครึ่งอีสาน-ออสเตรเลีย ผู้ถูกเพื่อนที่โรงเรียน จ.อุดรธานี ล้อเลียนถึงความแตกต่าง ขณะนั่งอยู่บริเวณหน้าบ้านพักของครอบครัวกับ มณีรัตน์ สังขาวิเทียน (ขวา) แม่ของแจ็ค ภาพโดย คริส บีล

ลูกต้องยอมรับความจริง  

การถูกล้อเลียนของแจ็คเป็นที่รับรู้ของคนในครอบครัว ยกเว้นพ่อที่อยู่แดนไกล 

“เพื่อนชอบพูดล้อเลียนแจ็คว่า ไอ้ฝรั่ง ไอ้ฝรั่งดอง ไอ้ฝรั่งสีผิวไม่เหมือนคนอื่น แจ็คไม่ชอบ” มณีรัตน์ สังขาวิเทียน สะท้อนคำพูดของลูกชายที่มักมาระบายความรู้สึกหลังจากถูกเพื่อนรุ่นเดียวกันที่โรงเรียนล้อเลียนเพราะเป็นความลูกครึ่งให้ฟัง

ในฐานะแม่ มณีรัตน์ได้แต่บอกลูกว่า “ให้ยอมรับว่าลูกเป็นลูกครึ่งที่มีพ่อเป็นชาวตะวันตก มีแม่เป็นคนไทย” 

“แม้ลูกจะมีรูปลักษณ์ไม่เหมือนเพื่อน เป็นฝรั่ง แต่ตัวลูกก็เป็นคน มีความคิด ความสามารถ ได้เรียนหนังสือ ได้ทำอะไรเหมือนกับเพื่อนๆ เหมือนกัน” เป็นสิ่งที่มณีรัตน์สอนลูกชายเพียงคนเดียวคนนี้ 

นอกจากนี้ เธอยังเน้นย้ำกับลูกเสมอว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก ลูกต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่าเรามีรูปลักษณ์ไม่เหมือนคนอื่น

“จะบอกลูกทุกครั้งหลังจากที่ลูกถูกเพื่อนล้อว่า ไม่ต้องไม่สนใจคำพูด คำล้อเลียน คำดูถูกของคนอื่น ให้ตั้งใจเรียน เป็นคนดีของทุกๆ คน แค่นี้ก็พอ” มณีรัตน์ย้ำเตือนกับลูกชายเสมอ

โฟลตทำหน้าที่ดูแลลูกของน้าระหว่างที่น้าทำงานในสวน ภาพโดย คริส บีล

“ฝรั่งดังโม” ความแตกต่างที่เป็นปัญหา

ห่างจากหมู่บ้านของแจ็คไปประมาณ 10 กิโลเมตร ถนนดินลูกรังตัดสลับกับถนนลาดยางนำผู้เดินทางไปยังหมู่บ้านยามกา ต.ธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี  

บ้านไม้กึ่งปูนสองหลังล้อมรอบด้วยนาข้าวสีเขียวกำลังเติบโต คือบ้านอันเป็นที่พักอาศัยของ ณภัทรศรา วันทิสุทธ์ หรือ โฟลต ลูกครึ่งไทย-เดนมาร์ก วัย 15 ปี ผู้ประสบกับการถูกเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่โรงเรียนล้อเลียนถึงความแตกต่างทางด้านรูปลักษณ์เช่นเดียวกับแจ็ค

“เพื่อนชอบแกล้งหนู ด้วยการเอากระเป๋าไปซ่อน เพื่อนยังบอกอีกว่า รู้สึกอายที่ต้องอยู่ใกล้ เพราะสีผิวของหนูขาวกว่าพวกเขา” โฟลตเล่าด้วยความเจ็บปวด 

นอกการล้อเลียนสีผิวที่ขาวกว่าเพื่อนแล้ว เธอยังถูกล้อเลียนถึงรูปลักษณ์ที่แตกต่างอย่างอื่น เช่น อีฝรั่งดังโม (คำเรียกลักษณะจมูกของชาวตะวันตกที่โด่ง) ซึ่งคำกล่าวเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ เพราะเป็นการล้อเลียนรูปลักษณ์ภายนอกของตน 

“เคยทนไม่ไหวจนต้องบอกแม่ รู้สึกไม่มีความสุข เหนื่อย ไม่อยากไปโรงเรียน” โฟลตเล่าและว่า “แต่แม่ก็บอกให้อดทนเรียนให้จบก่อน เรียนจบแล้วค่อยแยกย้ายไปเรียนที่อื่น” โฟลตเล่า

ดูวิดีโอฉบับเต็ม เมียฝรั่งในอีสาน : สางปมลูกครึ่งฝรั่งในอีสานสู่หลักสูตรเรียนรู้ความแตกต่าง

หมู่บ้านลูกครึ่ง 

หมู่บ้านที่แจ็คและโฟลตอาศัยอยู่ ทั้งสองแห่งเป็นหมู่บ้านที่มีชายชาวตะวันตกแต่งงานกับหญิงชาวอีสานอาศัยอยู่หลายครอบครัว เด็กที่เกิดจากครอบครัวเหล่านี้มักประสบปัญหาถูกล้อเลียนไม่ต่างกัน 

ทิชานนท์ ชุมแวงวาปี ครูชำนาญการโรงเรียนเพ็ญพิทยาคม นักศึกษาปริญญาเอก สาขาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเรื่อง “กระบวนการพัฒนาหลักสูตรพหุวัฒนธรรมศึกษาสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา” ได้ริเริ่มทำวิจัยดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นปี 2561โดยศึกษาวิจัยในพื้นที่ ต.ธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งหนึ่งที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และพบว่า ผู้หญิงในหลายหมู่บ้านในพื้นที่ ต.บ้านธาตุ อ.เพ็ญ และบางตำบลในอ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ส่วนใหญ่นิยมแต่งงานกับชายชาวตะวันตก อาทิ ชาวออสเตรเลีย ชาวเดนมาร์ค ชาวสวีเดน เป็นต้น

ทิชานนท์ ชุมแวงวาปี ครูชำนาญการ โรงเรียนเพ็ญพิทยาคม ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องเขยฝรั่งและลูกครึ่งในอำเภอเพ็ญ จ.อุดรธานี ภาพโดย คริส บีล

“ตอนนี้ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่ามีทั้งหมดกี่หลังคาเรือน โดยปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนผ่านชื่อผู้บริจาคเงินในช่วงงานประเพณีบุญบั้งไฟของอำเภอ มีแต่ชื่อเขยฝรั่ง อีกทั้งมีเด็กลูกครึ่งไทย-ตะวันตกเรียนในโรงเรียนเพ็ญพิทยาคมประมาณ 10 คน และในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในอำเภอห้องเรียนละ 2-3 คน” ทิชานนท์กล่าว

แจ็คถ่ายรูปร่วมกับพ่อและแม่เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2563 ซึ่งพ่อของเขาเดินทางกลับมาเยี่ยมที่ประเทศไทย ภาพโดย คริส บีล

แต่งงานกับฝรั่งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

เหตุผลของผู้หญิงท้องถิ่นที่แต่งงานกับชายชาวตะวันตกที่ทิชานนท์ค้นพบจากงานวิจัยของตนล้วนเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยเขาพบข้อมูลว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว อำเภอแห่งนี้ไม่มีงานรองรับผู้หญิงวัยทำงาน รวมทั้งในพื้นที่ก็ไม่นิยมปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา เป็นต้น จึงทำให้มีรายได้จากการทำนาขายข้าวเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวและลูก (กรณีผู้หญิงอีสานมีลูกติดเพราะหย่าร้างกับชายชาวไทย) 

“หากต้องการยกระดับคุณภาพชีวิต ผู้ชายและผู้หญิงในหมู่บ้านจึงต้องออกไปทำงานนอกภูมิภาค ผู้ชายไปทำงานต่างประเทศ ส่วนผู้หญิงก็นิยมไปทำงานเป็นพนักงานบริการตามจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหรือบางส่วนก็นิยมแต่งงานกับชาวต่างชาติ” ทิชานนท์กล่าว

ทิชานนท์ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากข้อค้นพบในวิจัยคือ สังคมอีสานในปัจจุบันคาดหวังให้เพศหญิงต้องทำหน้าที่แม่และลูกสาวกตัญญู โดยต้องออกไปทำงานหาเงินเลี้ยงดูลูกและเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่เฒ่า 

“นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงในชุมชนแห่งนี้นิยมหาแฟนเป็นชายชาวตะวันตก เพื่อหวังได้รับการเลี้ยงดูจากสามี” นักศึกษาปริญญาเอก สาขาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น สรุปสิ่งที่พบจากงานวิจัย

โปสการ์ดสุขสันต์วันเกิดแจ็คที่พ่อของเขาส่งมาให้จากประเทศออสเตรเลีย ภาพโดย คริส บีล

ชีวิตแต่งงานกับฝรั่งไม่ได้สวยงาม

แจ็คและโฟลต ทั้งสองต่างเติบโตมาโดยที่พ่อกับแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แม้ว่าพ่อของแจ็คจะเดินทางกลับไปทำงานที่ออสเตรเลียและแต่งงานใหม่ตั้งแต่แจ็คอายุได้เพียง 4 ขวบ แต่พ่อของเขาก็รับผิดชอบส่งเงินมาเลี้ยงดูลูก พร้อมสร้างบ้านให้อดีตภรรยาและลูกของตนอาศัยอยู่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง อีกทั้งตัวเขาเองก็ยังเดินทางกลับมาเยี่ยมแจ็คปีละ 1-2 ครั้ง

“แม้จะไปแต่งงานใหม่ก็ไม่เป็นไร แค่เขายังส่งเงินค่าเลี้ยงดูลูกและค่าใช้จ่ายในบ้านมาให้ก็ดีแล้ว” แม่ของแจ็คกล่าว

โฟลตเล่าว่าเคยถูกเพื่อนหมั่นไส้เพราะมีผิวที่ขาวกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเพื่อนบอกว่า โฟลตทำให้พวกเขารู้สึกอาย ภาพโดย คริส บีล

ส่วนโฟลต พ่อของเธอเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตั้งแต่เธออายุเพียงแค่ 2 ขวบ เธอจึงเติบโตมาโดยได้รับการเลี้ยงดูจากแม่และน้าชายเพียงสองคน 

“แม้โฟลตจะไม่มีพ่อ แต่ผมก็ทำหน้าที่ดูแล เลี้ยงดู สั่งสอนเขาอย่างเต็มที่ให้เหมือนเป็นพ่อของเขา” ภานุเดช วันทิสุทธ์ น้าของโฟลตกล่าว 

ภานุเดช ผู้เป็นน้าชาย สอนโฟลตในแบบฉบับลูกอีสาน ทั้งการใช้ชีวิต กิริยา มารยาท เรียนรู้ประเพณี วัฒธรรมไทยและอีสาน การทำมาหากิน การทำนา ไปจนถึงการเกี่ยวข้าวแบบฉบับชาวอีสานทั่วไป 

โฟลต ลูกครึ่งหญิงที่ถูกเลี้ยงดูให้เติบโตในแบบฉบับลูกอีสานแท้ๆ เพื่อให้เธอปรับตัวและอยู่ร่วมกับเพื่อนที่หมู่บ้านและโรงเรียนได้ ภาพโดย คริส บีล

“โฟลตออกไปหาขุดปู จับกบ เขียด หาปลาเป็นเหมือนเด็กอีสานในชนบททั่วไปทำ” ภานุเดชกล่าว พร้อมเสริมว่า “ผมไม่อยากให้หลานผมถูกล้อเลียนว่าแตกต่าง แล้วยังไม่สามารถเข้าสังคมเพื่อนชาวอีสานได้ ผมจึงสอนให้เขาใช้ชีวิตให้ได้ในสังคมอีสาน” 

ทั้งแจ็คและโฟลตต่างถือสัญชาติ 2 สัญชาติ ซึ่งแจ็คสามารถเดินทางหรือพักอาศัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย และโฟลตก็สามารถเดินทางเข้าและอาศัยอยู่ประเทศเดนมาร์ค แต่แม่ของทั้งคู่ไม่ได้ถือครองสัญชาติเหล่านั้นด้วย ทำให้ทั้งแจ็คและโฟลตจึงไม่คิดที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น หากเอาแม่ไปอยู่ด้วยไม่ได้

หลังหย่าร้าง ลูกครึ่งที่เกิดมาถูกล้อเลียนและกลั่นแกล้ง 

จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้หญิงที่แต่งงานข้ามชาติและพูดคุยกับเด็กลูกครึ่งทิชานนท์พบว่า ชีวิตคู่ของผู้หญิงที่แต่งงานกับชายชาวตะวันตกไม่ได้มีความสุขหรือมีรถ มีบ้าน ไปจนถึงมีเงินมีทองตามที่สังคมทั่วไปพากันเข้าใจ 

“หลายคู่หย่าร้างกันในขณะที่มีลูก ซึ่งฝ่ายหญิงเลือกที่จะพาลูกกลับมาเลี้ยงที่ประเทศไทย เมื่อลูกเติบโตที่อีสานก็ถูกล้อเลียนทั้งในโรงเรียนและชุมชนจากความแตกต่างของสีผิว สีผม รูปลักษณ์ เพราะเป็นลูกครึ่ง” ทิชานนท์กล่าว

สำหรับทิชานนท์ ปรากฏการณ์ที่เด็กลูกครึ่งถูกล้อเลียนถือเป็นการซ้ำเติมตัวเด็กที่เป็นลูกครึ่ง อีกทั้งยังสะท้อนว่า ในชุมชนอีสานและโรงเรียนยังไม่ยอมรับความแตกต่างของความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างแท้จริง

“จากการพูดคุย เด็กๆ บอกว่าถูกล้อเลียนเรื่องสีผิว สีผม ล้อเลียนว่าเป็นฝรั่ง แต่เกิดและเติบโตที่อีสาน จนทำให้เด็กรู้สึกไม่ชอบ และบางคนเครียด ไม่อยากมาโรงเรียน” ทิชานนท์กล่าว

เขายังพบอีกว่า เด็กที่เป็นลูกครึ่งจะต้องใช้ความพยายามในการปรับตัวเพื่อให้ได้รับการยอมรับและอยู่กับเด็กไทยส่วนใหญ่ได้ โดยจะต้องพิสูจน์ความสามารถในการเรียน การทำกิจกรรม หรือแม้กระทั่งการใช้กำลังตอบโต้ เพื่อไม่ให้เพื่อนล้อเลียน กรณีเด็กผู้ชาย ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เด็กลูกครึ่งบางคนทำ

ระเบียงหน้าห้องเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนเพ็ญพิทยาคม อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ภาพโดย คริส บีล

นินทาแม่ของเด็กลูกครึ่งว่าเป็นหญิงขายบริการ

อภิสิทธิ์ หัสดี อดีตประธานกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนเพ็ญพิทยาคม ผู้ช่วยทิชานนท์ในการสัมภาษณ์เด็กลูกครึ่งที่โรงเรียนเพื่อประกอบการทำวิจัย กล่าวว่า เด็กลูกครึ่งบางคนที่พ่อและแม่หย่าร้างกัน ในโรงเรียนที่ตนพูดคุยแบบไม่เปิดเผยชื่อ บอกว่า เพื่อนในโรงเรียนรวมถึงเพื่อนและคนในหมู่บ้านมักนินทาและพูดล้อเลียนถึงสาเหตุที่แม่มีสามีเป็นชาวตะวันตกเพราะไปขายบริการในสถานที่ท่องเที่ยวแถวภาคตะวันออก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้เด็กๆ ที่เป็นลูกครึ่ง

“ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนที่พูดการนินทาแบบนี้ ในหมู่บ้านที่เด็กอยู่ก็มักจะถูกนินทาจากคนในหมู่บ้านแบบนี้เช่นกัน ตรงนี้ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย หากเป็นอย่างนี้ต่อไปยิ่งจะสร้างปมให้กับเด็กลูกครึ่ง” อภิสิทธิ์กล่าว

ทิชานนท์กล่าวว่า สถานที่ที่นักเรียนลูกครึ่งมักถูกเพื่อนล้อเลียนกลั่นแกล้งจะอยู่ในห้องเรียน รวมถึงโรงอาหารในโรงเรียน ภาพโดย คริส บีล

สร้างหลักสูตรยอมรับความแตกต่างเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

วัตถุประสงค์หลักของงานศึกษาวิจัยของทิชานนท์คือเพื่อออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เหมาะสมกับนักเรียนที่มีความแตกต่าง ทั้งทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม สีผิว สีผม และรูปลักษณ์ภายนอกอยู่ หวังลดอคติและการเหยียดหยามและดูถูกล้อเลียนซึ่งกันและกัน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

“งานผมเริ่มจากการเข้าหาเด็กลูกครึ่ง แล้วสอบถามเรื่องที่ถูกเพื่อนล้อเลียน จากนั้นจึงนำความเห็นและความรู้สึกของเด็กที่ถูกล้อเลียนมาสร้างเป็นหลักสูตรการสอนเด็กนักเรียนในโรงเรียนมัธยมฯ ทุกระดับชั้น เพื่อให้รู้จักและเข้าใจความหลากหลายทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม” ทิชานนท์บอกที่มาที่ไปของการทำงานวิจัย

หากงานวิจัยนี้สำเร็จ ทิชานนท์จะนำร่างหลักสูตรนี้เสนอต่อคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดอุดรธานีเพื่อนำไปปรับใช้ในโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดหรือจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ 

ทิชานนท์คิดว่า ที่ผ่านมา การล้อเลียนเด็กลูกครึ่งถูกมองว่าเป็นปัญหาเล็กๆ ที่เด็กอาจจะหยอกล้อกันตามประสาเด็ก แต่เรื่องนี้สำหรับเขาไม่ใช่เรื่องเล็ก 

“ผมมองเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากพื้นฐานเด็กไม่เข้าใจเรื่องการเคารพความแตกต่างทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมตั้งแต่ยังเด็กแล้ว พอเด็กเติบโตไป อาจเกิดปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและชาติพันธุ์ เหมือนที่เกิดขึ้นในตอนนี้” ทิชานนท์กล่าว

แม้ตอนนี้ แจ็คและโฟลตจะไม่ได้ถูกเพื่อนล้อเลียนอีกเหมือนที่เคย เพราะพวกเขาและเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันก็ต่างเติบโตขึ้น แต่ทว่าความบอบช้ำและเจ็บช้ำที่ผ่านเผชิญในช่วงวัยเยาว์นั้นยังคงตอกย้ำความคับแค้นในใจที่ทั้งคู่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครคนอื่น

พวกเขาจึงอยากฝากถึงทุกคนที่มีเพื่อนเป็นลูกครึ่งว่าไม่ควรเหยียด ดูถูก นินทา และล้อเลียน เพียงเพราะความแตกต่าง เพราะไม่มีใครสมควรเจอกับชะตากรรมอันเลวร้ายเหมือนพวกเขา

image_pdfimage_print