ภาณุพงศ์ ธงศรี เรื่อง

วรรณกรรมกับการเมืองเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ด้วยการเมืองเป็นกรอบสังคมที่กวีหรือผู้ประพันธ์วรรณกรรมอาศัยอยู่ วัตถุดิบที่กวีเลือกมาใช้จึงอยู่ภายใต้กรอบของระบบสังคม 

ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง(2563) กล่าวว่า วรรณกรรมการเมืองเป็นเรื่องของรัฐ การปกครอง การบริหารแผ่นดิน รวมทั้งความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนมี 2 รูปแบบ คือ วรรณกรรมการเมืองเชิงปรัชญาและวรรณกรรมการเมืองเชิงปฏิบัติการ ผู้เขียนคิดว่าวรรณกรรมหลายเรื่อง เมื่อใช้แว่นวิจารณ์ของกรอบแนวคิดนี้ ทำให้เราเห็นมิติของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐไว้อย่างน่าสนใจ

งานเขียน “สุนทรภู่” กวีคนสำคัญของแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์หลายชิ้นให้ภาพทางการเมืองและวิจารณ์การล่าอาณานิคม เช่น พระอภัยมณี ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2549 ว่า สุนทรภู่เป็นกวีที่เกิดในกรุงเทพฯ มีชนชั้นกระฎุมพี กระฎุมพี คือ พวกที่ไม่ได้มีฐานอำนาจหรือฐานผลประโยชน์จากการปกครอง หรือการเกษตรกรรม หรือล่องแพ เป็นพวกที่ได้ประโยชน์จากการค้า

มุมมองของผู้เขียนคิดว่า สุนทรภู่ไม่ได้เป็นกวีราชสำนัก แต่เป็นคนที่ใกล้ชิดกับเจ้าใหญ่นายโตของรัตนโกสินทร์หลายคน พร้อมทั้งเป็นคนที่มีความสามารถทำให้มีผู้สมัครเข้ามาเป็นลูกศิษย์อยู่หลายชนชั้นทั้งเจ้านาย และคนสามัญ (ช่วงอยู่วัด)

ภาพหน้าปกหนังสือชุดภาพและการ์ตูนสำหรับเยาวชน เรื่อง พระไชยสุริยา (2519) จัดทำโดย องค์การค้าคุรุสภา

กาพย์พระไชยสุริยา เป็นงานเขียนของสุนทรภู่ ในแง่ของความรู้ถือได้ว่าเป็นตำราฝึกอ่านสะกดคำ เรียบเรียงตามลำดับมาตราตัวสะกด เนื้อหาในนิทานสร้างความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน สนุกกับการฝึกอ่าน ฝึกท่อง กระทั่งมีผู้นำมาเป็นบทสวดโอ้เอ้วิหารราย สำหรับฝึกการเอื้อนเสียง 

เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้นำไปบรรจุในหนังสือมูลบทบรรพกิจ ซึ่งเป็นแบบเรียนในยุคเริ่มต้นปรับปรุงการศึกษาของรัฐสยาม ปัจจุบันเราใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งนิทานเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา ถูกบรรจุให้เรียนในสาระวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยมีมาตรฐานว่า นักเรียนควรเข้าใจและแสดงความคิดเห็น วิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรมไทยได้อย่างเห็นคุณค่าและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

วรรณกรรมเรื่องนี้ หากใช้แว่นของแนวคิดวรรณกรรมทางการเมืองที่ยกมาในตอนต้น ผู้เขียนคิดว่า กาพย์พระไชยสุริยา เป็นวรรณกรรมการเมืองเชิงปรัชญา ด้วยไม่ได้ยกปัญญาจริงในขณะนั้น แต่ผู้เขียนเล่าเรื่องในโลกนิทาน นำเสนอวิถีการเมืองในอุดมคติ พร้อมสอดแทรกคุณธรรมของผู้ปกครองที่ดี ความยุติธรรม ตามแนวของพระพุทธศาสนา 

เมื่อพิจารณาตามการอ้างปีที่แต่งพบว่าอยู่ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2300 ก็พบว่าสุนทรภู่ต้องการนำเสนอแนวคิดในการปกครองบ้านเมืองและวิจารณ์ลักษณะการปกครองบ้านเมืองที่ไม่ดีไว้หลายประการ ดังนี้

ภาพจากหนังสือชุดภาพและการ์ตูนสำหรับเยาวชน เรื่อง พระไชยสุริยา (2519) จัดทำโดย องค์การค้าคุรุสภา

ประการแรก สุนทรภู่นำเสนอการเกิดปัญหาของบ้านเมืองที่นามว่า “สาวะถี” ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระราชาชื่อ “พระไชยสุริยา” พระมเหสีชื่อ “นางสุมาลี” บ้านเมืองนี้เดิมทีสงบสุข ระบบเศรษฐกิจเป็นไปได้ด้วยดี เพราะการค้า อยู่มาวิถีปฏิบัติของพระราชา และเหล่าเสนาในเมืองเปลี่ยนไป ทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน ดังความตอนหนึ่งที่ว่า

ไพร่ฟ้าประชาชี ชาวบุรีก็ปรีดา

ทำไร่ข้าวไถนา ได้ข้าวปลาแลสาลี

อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี

ที่หน้าตาดีดี ทำมโหรีที่เคหา

ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา

หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ

(สุนทรภู่ : กาพย์พระไชยสุริยา)

ภาพหน้าปกหนังสือชุดภาพและการ์ตูนสำหรับเยาวชน เรื่อง พระไชยสุริยา (2519) จัดทำโดย องค์การค้าคุรุสภา

ประการที่สอง สุนทรภู่ได้อุปมาบ้านเมือง เสมือนเรือที่เมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้นแล้ว ผู้นำต้องพาไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนั้นไปให้ได้ ปัญหาที่พระไชยสุริยาต้องพบเจอเมื่อพายุใหญ่มา เรือแตก พระไชยสุริยาและพระมเหสี เดินทางขึ้นฝั่งได้ เดินทางแรมรอนกลางป่าด้วยความลำบาก ดังความตอนหนึ่งที่ว่า

ขึ้นใหม่ในกน ก กา ว่าปน ระคนกันไป

เอ็นดูภูธร มานอนในไพร มณฑลต้นไทร แทพไพชยนต์สถาน

ส่วนสุมาลี วันทาสามี เทวีอยู่งาน

เฝ้าอยู่ดูแล เหมือนแต่ก่อนกาล ให้พระภูบาล สำราญวิญญา

(สุนทรภู่ : กาพย์พระไชยสุริยา)

ประการสุดท้าย พระราชาพบพระอินทร์เข้าใจธรรมะ พระไชยสุริยา และพระมเหสีเสด็จออกผนวช ตลอดพระชนชีพ ความตอนนี้มองได้ว่าพระไชยสุริยาได้เข้าใจปัญหาของบ้านเมือง พร้อมที่จะสละหัวโขนของตนออกบวช บำเพ็ญภาวนาเพื่อความสุขของตนเอง ดังความตอนหนึ่งที่ว่า

เห็นภัยในขันธสันดาน ตัดห้วงบ่วงมาร

สำราญสำเร็จเมตตา

สององค์ทรงหนังพยัคฆา จัดจีบกลีบชฎา

รักษาศีลถือฤาษี

(สุนทรภู่ : กาพย์พระไชยสุริยา)

ความในประการสุดท้ายนี้ ผู้เขียนตีความเองว่า สุนทรภู่ต้องการนำเสนอให้ทราบว่าที่สุดแล้ว อำนาจในการปกครองไม่สามารถมีใครควบคุมได้เสมอ เราต้องเรียนรู้ เข้าใจ และรับฟัง เหมือนพระไชยสุริยารับฟังคำสอนของพระอินทร์ เมื่อตระหนักรู้แล้ว ปรับปรุงตนเองก็ย่อมนำความสุขมาให้ 

ในการนี้สุนทรภู่ชี้ให้เห็นกาลกิณี 4 ประการ ประกอบด้วย 1) การเห็นผิดเป็นชอบ 2) การไม่รู้บุญคุณ 3) การเบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน 4) ความโลภ อันเป็นเหตุทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน ดังความที่ว่า

วันนั้นครั้นแผ่นดินไหว เกิดเหตุใหญ่ในปถพี

เล็งดูรู้คดี กาลกิณีสี่ประการ

(สุนทรภู่ : กาพย์พระไชยสุริยา)

อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้ หนังสือวรรณกรรมเล่มนี้ หากพิเคราะห์จะเห็นปรัชญาการเมืองที่มีแง่มุม คุณค่าจรรโลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น หากเป็นไปตามตำนานที่ว่าสุนทรภู่แต่งวรรณกรรมเรื่องนี้เพื่อถวายพระอักษรแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีตามจริงแล้ว นอกจากสอนมาตราตัวสะกดก็คงสอนแนวคิดทางการเมืองไปด้วยได้

เมื่อนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิพากษ์ วิจารณ์ระบบการศึกษา อำนาจในสังคม ผู้เขียนเองไม่เห็นว่าจะผิดแปลกอะไร แต่ทำไมผู้ใหญ่บางคนต้องขัดขวาง และด่าล้อเลียน 

ในเมื่อปรัชญา ความคิดทางการเมือง ทุกคนล้วนมีวิถีทางแตกต่างกันออกไป หากเราพินิจสถานการณ์บ้านเมืองดังความในกาพย์พระไชยสุริยาแล้ว คงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คดีบางคดีคลี่คลายไม่ได้ “ผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม” ก็เห็นว่าน่าเป็นห่วง “ผู้ที่มีอาญา ไล่ตีด่าไม่ปราณี” ก็น่าสนใจว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นดังบทประพันธ์ในวรรณกรรมเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาหรือไม่

สุดท้ายนี้ กาพย์พระไชยสุริยา ถือเป็นวรรณกรรมการเมืองในแบบเรียนไทยอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป อาจนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 หรือรัชกาลที่ 4 รวมถึงปัจจุบันก็ยังได้ ด้วยความงามทางภาษา และกลวิธีการเอานิทานมาเล่าเรื่องเพื่อสร้างสถานการณ์จำลองของทางการเมืองผสานแนวคิดทางพระพุทธศาสนาของไทยเอาไว้อย่างกลมลืนดังที่กล่าวมา

เอกสารอ้างอิง

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (17 เมษายน 2563). กิจกรรมกลุ่มงานเผยแพร่ฯ สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. เรียกใช้เมื่อ 28 สิงหาคม 2563 จาก https://www.youtube.com/watch?v=uxEqG0C0QhE

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print