วีรวรรธน์ สมนึก เรื่อง 

ถ้อยคำในบัตรลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ระบุว่า 

1.ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ….ทั้งฉบับ

2.ให้ความเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ประเด็นเพิ่มเติมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (คำถามพ่วง)

นอกจากนี้ยังมีข้อความถามในบัตรลงประชามติอีกว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ถือเป็นคำถามพ่วงเพื่อให้ประชาชนออกเสียงครั้งเดียวได้นกสองตัว 

วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ต่างเป็นวันวานที่หลายคนมองว่า ประเทศไทยจะเปลี่ยนชะตาด้วยการหย่อนบัตรประชามติ โดยมีทางเลือกสองทาง คือ 1. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงจุดยืนไม่ศิโรราบต่ออำนาจรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 2. รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธ์ เขียนขึ้นเพื่อต่อยอดอำนาจการปกครองให้คณะเดิม

อย่างที่เห็นและเป็นไป กลไกที่ซ่อนเร้นในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เช่น มาตรา 91 ระบุถึงการแบ่งที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ออกแบบระบบใหม่ พร้อมให้ชื่อว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” นำมาซึ่งระบบเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่สามารถคำนวณคะแนน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ได้ จนเป็นที่มาของเหล่า ส.ส.ปัดเศษ

หนำซ้ำมรดกที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญสร้างไว้คือ มาตรา 269 กำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มาจากการแต่งตั้ง ภายหลังพบว่า บุคคลที่มีอำนาจแต่งตั้งล้วนเป็นคณะบุคคลในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งสิ้น 

กล่าวได้ว่า เพียงแค่ 2 มาตราในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็นำมาซึ่งปัญหาพัลวันมากพอแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นคำถามพ่วงก็เป็นไปเพื่อการสืบทอดอำนาจให้ ส.ว. 250 คนสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรที่มีอีก 500 คนได้ 

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 และต่อมาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็สะท้อนผลของ ส.ส. ปริ่มน้ำของหมากเกมนี้

คัทเอาท์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ขนาดใหญ่บริเวณวงเวียนสนามกีฬา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2559 ภาพโดย มิ่งขวัญ ถือเหมาะ

วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่เป็นวันโหวตรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ จึงเป็นวันชี้ชะตาว่า ประเทศควรจะเลือกอย่างไร 

คำถามมีต่อว่า ตอนนั้นคนไทยมีสิทธิ์พูดหรือแสดงความคิดเห็นกับร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงมติอย่างไรบ้าง

เพราะก่อนหน้านั้นกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ภาคอีสาน ได้จัดเสวนาหัวข้อ “พูดเพื่อเสรีภาพ ร่างรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 หลังการจัดงาน กลับมีผู้จัดและบุคคลอื่นๆ ถูกดำเนินคดีร่วม 10 คน  

ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เนื่องจากมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน กรณีจัดเวทีเสวนาประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 จำนวน 6 คน 

ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2559 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน” และ วศิน พรหมณี สองนักกิจกรรมก็ถูกจับกุมและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกเอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดในอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ 

นอกจากนี้ยังมีกรณีของ วิชาญ ภูวิหาร ที่ตะโกนให้คนไม่ออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติที่ตลาดแห่งหนึ่งในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ก็ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ เช่นกัน 

นี่คือบรรรยากาศแห่งการสร้างความหวาดกลัวต่อผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นแตกต่างและวิพากษ์วิจารณ์ตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก่อนผ่านประชามติ 

ฉากต่อมา แม้ภาพรวมผลประชามติทั้งประเทศ มีผู้เห็นชอบ 61.35 % และไม่เห็นชอบ 38.65 %

เมื่อมองตัวเลขเฉพาะภาคอีสานมีผู้ไม่เห็นชอบ  51.34 % ซึ่งมากกว่าผู้เห็นชอบ หากแบ่งตามจังหวัด จะเห็นว่าในบรรดาทั้ง 20 จังหวัด มีเพียง นครราชสีมา อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และเลยเท่านั้นที่ประชาชนเห็นชอบมากกว่า 

นอกนั้นก็ไม่มีจังหวัดใดในภาคอีสานยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็สะท้อนว่าคนอีสานส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการต่ออำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านพรรคพลังประชารัฐเลย      

เพราะส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ดังนั้นประชาชนต้องมีส่วนร่วมทั้งในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เราจึงได้เห็นประชาชนกลุ่มหนึ่งในภาคอีสานออกมาระดมความเห็นประชาชนร่างรัฐธรรมนูญฉบับคนจน จัดโดยสมัชชาคนจน เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

ถือเป็นการสรุปความต้องการที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้ประชาชนเข้าไปใช้อำนาจที่อยู่ตามกรมต่างๆ ของส่วนกลาง โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรและโครงการของรัฐเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน ผ่านการออกกฎหมาย แล้วให้ชุมชนนั้นๆ ร่วมจัดการทรัพยากร โดยให้ผู้มีความเกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย  

รวมทั้งยังเสนอว่า รัฐธรรมนูญต้องสนับสนุนการชุมนุมของประชาชน เพราะการชุมชุมเป็นเครื่องมือการต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้เกิดพลังในชุมชน แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้แล้วว่า ประชาชนสามารถชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ก็มีกฎหมายที่มาครอบไว้คือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งยุ่งยากในการแจ้งชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ มิหนำซ้ำยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาควบคุมอีกที 

สะท้อนว่า แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายแม่บทของประเทศ แต่ก็มีกฎหมายลูกมาจำกัดสิทธิซ้อนจนทำให้ขัดหลักรัฐธรรมนูญ

รวมถึงข้อเสนอเกี่ยวการคุ้มครองความปลอดภัยผู้หญิงในที่สาธารณะ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็สะท้อนว่า ควรมีกฎหมายที่ให้สิทธิในการจดทะเบียนสมรสและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายด้วย 

ส่วนเรื่องการศึกษาตัวแทนภาคประชาชนอีสานมองว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 54 ให้รัฐมีหน้าที่ดูแล การศึกษาของเยาวชนเอาไว้ แต่ไม่ถึงระดับปริญญาตรี อันเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรให้บุคคลเรียนฟรีได้จนจบปริญญาตรีทุกมหาวิทยาลัย  

ในทุกเวทีชุมนุมทางการเมืองในภาคอีสาน ต่างเห็นพ้องไปกับข้อเสนอ 3 ข้อของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่เรียกร้องให้ 1. หยุดคุกคามประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้เป็นประชาธิปไตย และ 3. ยุบสภา 

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นการยืนยันความคิดความเชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ของเรา จึงต้องร่วมรื้อ ร่วมแก้ ร่วมร่างฝันใหม่ ให้ได้สิ่งที่ดีกว่า

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

 

image_pdfimage_print