เมียฝรั่งในอีสาน – ชุมชนเมียฝรั่งออนไลน์กับการโหยหาถิ่นบ้านเกิด (19)

ภาพหน้าปก istock.com/enviromantic

ศิวกร ราชชมภู เรื่อง 

การใช้โซเชียลมีเดียของเมียฝรั่งที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มอย่าง “เฟซบุ๊ก” (Facebook) เป็นปรากฏการณ์ที่มีความน่าสนใจ ดังจะเห็นได้จากการที่เมียฝรั่งหลายคนหันไปเปิดแฟนเพจของตนเองขึ้นมา บางเพจมียอดผู้ติดตามจำนวนมากถึง 2,603,654 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2563) เช่น เพจหนูนาสวีเดน แฟนเพจ หรือ Chompoo Sangchan Page มีผู้กดถูกใจเกือบ 2 แสนคน 

เพจเหล่านี้เป็นตัวอย่างการใช้โซเชียลมีเดียของบรรดาเมียฝรั่งเพื่อนำเสนอวิถีชีวิตของพวกเธอในต่างแดนที่ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมถิ่นบ้านเกิด 

จากการพูดคุยกับ “ป้าโจ” (นามสมมติ) เรื่องการใช้โซเชียลมีเดียของบรรดาเมียฝรั่งที่เป็นเพื่อนของเธอในอังกฤษ เธอแนะนำให้ผู้เขียนรู้จักกลุ่มเฟซบุ๊กจำนวนมากที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการรวมตัวกันของเมียฝรั่งที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน กลุ่มเหล่านี้มีกิจกรรมที่หลากหลาย  

การซื้อขายสินค้าเป็นกิจกรรมที่พบในแทบทุกกลุ่ม โดยมักมีการโพสต์ซื้อขายสินค้าโดยเฉพาะ อาหารไทยของแต่ละท้องถิ่นที่หากินได้ยากในถิ่นปลายทางที่ผู้หญิงเหล่านี้อาศัยอยู่ 

ผู้เขียนมองว่า   กลุ่มเฟซบุ๊กเหล่านี้ได้เปลี่ยนสถานะไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่สำหรับติดต่อสื่อสาร แต่กลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม ที่เมียฝรั่งเหล่านี้ใช้แสดงอัตลักษณ์ชุมชนท้องถิ่นของพวกเธอและเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้พวกเธอคลายความรู้สึกโหยหาวัฒนธรรมบ้านเกิด ผ่านการซื้อ ขาย รับประทาน และส่งอาหารให้กับพ่อ แม่ พี่ น้อง และผู้เป็นที่รักที่อาศัยในชุมชนบ้านเกิด 

ปฏิบัติการซื้อ-ขายอาหารพื้นบ้าน และ “การส่งไทย” หรือ  “การส่งไปยังประเทศไทย” ทำให้พวกเธอรู้สึกว่าไม่ได้ห่างไกลจากบ้านเกิด แม้ว่าโดยทางกายภาพแล้ว ถิ่นที่อยู่ที่ผู้หญิงเหล่านี้ใช้ชีวิตกับสามีชาวต่างชาติอยู่แสนไกลจากถิ่นมาตุภูมิที่เธอจากมา 

กลุ่มเฟซบุ๊กที่ผู้เขียนสังเกตและพูดคุยกับสมาชิกบางคน คือ กลุ่ม “เปิดตู้ UK ขายของชาวไทยในอังกฤษ” กลุ่มดังกล่าวมีจำนวนสมาชิก 17,060 บัญชี (ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2563) แม้ว่าชื่อกลุ่มจะดูเหมือนเป็นกลุ่มของคนไทยในอังกฤษทั่วไป แต่สมาชิกส่วนใหญ่กลับเป็นเมียฝรั่งที่อพยพไปใช้ชีวิตในอังกฤษ แล้วใช้พื้นที่ออนไลน์ขายสินค้าและ “อาหารพื้นบ้าน” จากท้องถิ่นต่างๆ ของไทย กิจกรรมการโพสต์ซื้อ-ขายสินค้าและอาหารในกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวจึงสะท้อนลักษณะสำคัญของการเป็นตลาดนัดขายสินค้าไทยในต่างแดน บนพื้นที่ออนไลน์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ชุมชนออนไลน์” ของบรรดาเมียฝรั่งหลายๆ คน

จากการตรวจสอบคำค้นที่นิยมภายในกลุ่มเฟซบุ๊ก (popular topics) พบว่าหัวข้อที่มีการโพสต์มากที่สุดคือ การประกาศ “ตามหา” โดยเฉพาะอาหารหรือวัตถุดิบปรุงอาหารหายาก (rare item) ของแต่ละท้องถิ่น หรือที่มีวางขายในประเทศไทยเท่านั้น การตามหาจึงเป็นกิจกรรมออนไลน์ที่กลุ่มเมียฝรั่งใช้สำหรับการตามหาสินค้าที่พวกเธอต้องการ โดยเฉพาะอาหารพื้นบ้าน 

เขียดจะนาทอด เป็นอาหารพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่ถูกโพสต์ขายภายในเฟซบุ๊กกลุ่ม “เปิดตู้ UK ขายของชาวไทยในอังกฤษ”

ผู้เขียนได้พูดคุยกับ “จีจี้” (นามสมมติ) เมียฝรั่งจากจังหวัดสุรินทร์ เธออยู่ที่ประเทศอังกฤษนานกว่า 10 ปี และเป็นสมาชิกของกลุ่ม เธอเล่าว่าในอดีตการซื้อหาอาหารพื้นบ้านอย่างที่มีขายเหมือนในไทยเป็นเรื่องยากลำบากมาก เพราะไม่มีช่องทางอย่างกลุ่มเฟซบุ๊กที่ทำให้เมียฝรั่งสามารถติดต่อกันได้สะดวกรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ 

การเกิดขึ้นมาของกลุ่มเฟซบุ๊ก นอกจากจะทำให้เกิดชุมชนออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่การสื่อสาร การทำความรู้จักและการเกิดเครือข่ายที่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันแล้ว ชุมชนออนไลน์ยังเป็นพื้นที่ ซึ่งเมียฝรั่งในอังกฤษเติมเต็มความทรงจำบางอย่างที่ขาดหายไป อันเกิดจากการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมอื่นแล้วได้หวนคิดถึงบ้านเกิด ผ่านปฏิบัติการที่เรียกว่าการตามหาอาหารพื้นบ้านที่พวกเธอเคยกินเมื่อครั้งที่ใช้ชีวิตในเมืองไทย ความรู้สึกดังกล่าวถูกถ่ายทอดผ่าน

บทสนทนาของจีจี้ที่เล่าว่า ครั้งหนึ่งเธอนึกอยากกิน “ขนมจีนน้ำเงี้ยว” แต่เวลานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่ร้านอาหารไทยในละแวกที่อาศัยอยู่ก็ไม่มีเมนูดังกล่าว ต่างกับในตอนนี้การที่เธอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก เมื่อโพสต์ตามหาสิ่งที่อยากกินก็จะมีแม่ค้าในกลุ่มเข้ามาแสดงความคิดเห็น (comment) ใต้โพสต์ข้อความ พร้อมทั้งเสนอราคาและค่าจัดส่งให้เธอตัดสินใจไม่ต่ำกว่าสองราย 

จีจี้เล่าอีกว่า แม้แต่ “ไข่มดแดง” และ “หอยเชอรี่” ที่ดูเหมือนจะหามาทานไม่ได้เลยในอังกฤษก็สามารถหาได้จากกลุ่มนี้เช่นกัน การได้ทานอาหารพื้นบ้าน ทำให้ความรู้สึกคิดถึงบ้าน คิดถึงอาหารที่เคยทานได้รับการเยียวยา  

อาหารพื้นบ้านหลายอย่างที่ปรากฏในกลุ่มนี้จึงถูกนำมาขาย หรือถูกตามหา ไม่เพียงเพราะความต้องการที่จะรับประทานเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขสำคัญคือความรู้สึกโหยหาวัฒนธรรมท้องถิ่นของบรรดาเมียฝรั่งที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม ดังนั้นอาหารจึงมีนัยมากกว่าสิ่งที่สนองตอบต่อความต้องการของร่างกายและความชอบในรสชาติของอาหาร หากแต่การได้บริโภคอาหารพื้นบ้านได้ช่วยบรรเทาความรู้สึกโหยหาวัฒนธรรมท้องถิ่น และความคิดถึงบ้านเกิดที่จากมา 

ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของเมียฝรั่งรายหนึ่ง คือ “ปู” (นามสมมติ) โพสต์ว่า “รับเปิดพรีออเดอร์ เอาไปกินให้หายคิดถึงบ้านค่ะ…ไข่มดแดงดองน้ำเกลือ 380 กรัม £25…หอยเชอรี่อบแห้ง 100 กรัม £13…” หรือ “หนูนา” (นามสมมติ) ที่นำเอา “ตั๊กแตนทอด” มาโพสต์ประกาศขายในกลุ่มว่า “แม่ค้าตั๊กแตนทอดอยู่เฟซนี้นะจ้าสนใจทักเลยค่ะ £5.50 ต่อแพ็ค 100 กรัม 2 แพค £14.70 รวมส่ง…” 

หรือ “ปลา” (นามสมมติ) ที่โพสต์ว่า“มาสดๆ หอมๆ เลยจ้า ถุงละ 300g ดักแด้ £11.50 สะดิ้งไข่ £12.50 ค่าส่งทางไปรษณีย์ £3.99 ใน Nottingham ไปส่งเองได้นะคะ” 

และ “แตงโม” (นามสมมติ) ที่โพสต์ขายก๋วยเตี๋ยวเรือว่า “เพื่อนคนไทยในต่างแดนคงคิดถึงรสชาติก๋วยเตี๋ยวเรือแท้ๆ จากไทยกันใช่ไหมคะ วันนี้มีสินค้าจาก…มานำเสนอ ก๋วยเตี๋ยวสำเร็จรูป…รสชาติก๋วยเตี๋ยวเรือแท้ๆ …” 

ทั้งหมดนี้ใช้ข้อความบางคำที่ชี้ชวนให้เห็นว่าอาหารพื้นบ้านสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับความรู้สึกโหยหาวัฒนธรรมชุมชนบ้านเกิดของบรรดาเมียฝรั่ง ทั้งไข่มดแดง หอยเชอรี่ ตั๊กแตนทอด ดักแด้ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินแบบพื้นบ้าน เมื่อครั้งที่ผู้หญิงเหล่านี้ใช้ชีวิตในภาคอีสาน หรือแม้แต่ก๋วยเตี๋ยวเรือที่ถึงแม้ว่าตอนนี้ในอังกฤษอาจจะหากินได้ง่ายมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถให้รสชาติที่แท้จริงได้เท่ากับการกินก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูปที่ส่งมาจากไทย 

ดังที่ “แม่พร” (นามสมมติ) เมียฝรั่งที่ผู้เขียนคุยด้วยผ่านแชท (chat) เกี่ยวกับมื้ออาหารในชีวิตประจำวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอาหารพื้นบ้านได้ทำหน้าที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกคิดถึงบ้านและโหยหาวัฒนธรรมบ้านเกิดผ่านการได้กิน “แกงเห็ดเผ่งกับเห็ดหน้าแหล่” การที่เธอได้กินทำให้เธอกล่าวกับผู้เขียนว่า “คิดฮอดคัก…กับข้าวบ้านเฮาเฮ็ดให้แม่รู้สึกว่าอยู่บ่ได้ไกลจากบ้านเฮา กินแล้วหายคิดฮอดบ้าน

นัยของ “อาหารพื้นบ้าน” ที่สะท้อนผ่านประสบการณ์เมียฝรั่งในอังกฤษได้เติมเต็มความรู้สึกคิดถึงบ้านและครอบครัวที่อยู่ห่างไกล ดังนั้นการเกิดขึ้นของชุมชนเมียฝรั่งออนไลน์จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้มี “พื้นที่พิเศษ” ที่เอื้อให้เกิด “ปฏิบัติการตามหาอาหาร” เพื่อเยียวยาความรู้สึกหรือการโหยหาสิ่งที่ขาดหายไปได้รับการตอบสนอง 

ปรากฏการณ์ข้างต้นคล้ายคลึงกับแรงงานอีสานในสิงคโปร์ที่ใช้ปฏิบัติการผ่านอาหาร (food practices) เช่น การกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก การนั่งพื้นล้อมวงกินข้าวเพื่อแบ่งปันอาหาร การออกหาอยู่หากินในพื้นที่บริเวณป่ารกร้างใกล้หอพัก เพื่อที่จะ “รื้อสร้าง” (recreate) ความรู้สึกร่วมของพวกเขาที่มีต่อชุมชนบ้านเกิดในอีสานให้เกิดขึ้น ในประเทศปลายทางที่สะท้อนผ่านงานของน่านรวี กิติอาษา (Kitiarsa, N. , 2018) 

อย่างไรก็ตามความต่างของประสบการณ์เมียฝรั่งในอังกฤษกับแรงงานอีสานในสิงคโปร์ คือ ปฏิบัติการของเมียฝรั่งเกิดขึ้นผ่านชุมชนออนไลน์ ส่วนปฏิบัติการแรงงานอีสานในสิงคโปร์เป็นปฏิสัมพันธ์ในลักษณะการเผชิญหน้าระหว่างแรงงาน

อีกหนึ่งกิจกรรมภายในชุมชนออนไลน์ที่บรรดาเมียฝรั่งนิยมและมีความน่าสนใจ คือ “การส่งไทย” หรือ “การส่งไปยังประเทศไทย” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เมียฝรั่งสั่งสินค้าผ่านผู้โพสต์ขายสินค้าหรืออาหารที่จะจัดส่งให้ได้เฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น การส่งไทยที่ผู้เขียนพบจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อความคิดถึงคนที่บ้านเกิด อย่างเช่น “สา” (นามสมมติ) แม่ค้ารายหนึ่งที่โพสต์ขาย “น้ำผึ้งป่า” และ “รังผึ้ง” ในกลุ่มด้วยข้อความว่า “ขายน้ำผึ้ง/รังผึ้งที่ไทยจ้าส่งให้พ่อแม่หรือญาติในไทยได้นะคะ … รังผึ้ง น้ำผึ้ง+ตัวอ่อน ราคา £7.50/250 บาท…รับทั้งเงินไทยและเงินปอนด์ค่ะ” 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการโพสต์ของ “เอ็ม” (นามสมมติ) “อยู่อังกฤษ…คิดถึงคนที่เมืองไทยมั้ยค่ะ ส่งความหวานแทนความคิดถึง…ได้นะคะ ขอแนะนำ ข้าวฟ่างกวนเมืองเพชร หอม หวาน มัน…จัดส่งทั่วไทยเท่านั้นค่ะ” 

นอกจากนี้ผู้เขียนยังพบว่าความคิดถึงบ้านและความห่วงหาอาทรคนที่อยู่บ้านเกิดยังสะท้อนผ่านบทสนทนาในข้อความโต้ตอบกันในโพสต์ขายอาหารของเมียฝรั่งรายหนึ่งที่เป็นผู้ซื้อว่า “ส่งไทยไหมคะ พี่จะได้สั่งให้แม่” และ “ขอส่งที่ไทยให้แม่กะเพื่อนด้วยได้ไหมคะ ขอบคุณค่ะ

ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับ “กบ” (นามสมมติ) เมียฝรั่งรายหนึ่งเกี่ยวกับการส่งไทยว่า การที่เธอเห็นโพสต์ขายสินค้าหรืออาหารบางอย่างที่คนในบ้านเกิดชื่นชอบมักจะทำให้เธอคิดถึงและต้องการให้ครอบครัวได้กิน การสั่งสินค้าเพื่อส่งไทยจึงเป็นทางออกในการบรรเทาความรู้สึกดังกล่าว เธอเคยสั่งมะขามหวานเพชรบูรณ์ ซึ่งเมียฝรั่งที่เป็นเจ้าของสวนโพสต์ขายในกลุ่ม แล้วส่งไปให้แม่และพี่สาวของเธอที่อยู่จังหวัดศรีสะเกษ 

การอยู่ห่างไกลกันคนละซีกโลกจึงไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป ดังจะเห็นได้ว่าการส่งไทยที่เมียฝรั่งนิยมทำกันในชุมชนออนไลน์มีความคล้ายคลึงกับกิจกรรมการส่งเงินกลับบ้านเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องของพวกเธอที่บ้านเกิด ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นถึงบทบาทหน้าที่ของเมียฝรั่งที่สัมพันธ์กับหน้าที่ของลูกสาวที่ดี ที่ถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมที่กำกับบทบาทหญิงชาย (gender culture) ในสังคมไทย การเป็นลูกสาวที่ดีที่ต้องดูแลพ่อ แม่ และคนในบ้าน สิ่งของหรืออาหารที่ถูกส่งไปให้กับพ่อ แม่ พี่ น้อง จึงเป็นสิ่งยืนยันความห่วงใย และการดูแลเอาใจใส่จากแดนไกล แม้ว่าผู้หญิงเหล่านั้นจะไม่สามารถนำสิ่งของไปมอบให้ด้วยตนเองก็ตาม 

การที่เมียฝรั่งใช้พื้นที่ในกลุ่มเฟซบุ๊กเพื่อการ “การซื้อ – ขายอาหาร” ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการบริโภคอาหารพื้นบ้านที่เป็นการตอบสนองต่อความอยากในรสชาติอาหารที่ไม่ค่อยได้รับประทานเมื่อต้องใช้ในชีวิตต่างแดนเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน “การส่งไทย” ก็ไม่ได้เป็นเพียงความต้องการให้พ่อ แม่ และญาติพี่น้องในบ้านเกิดได้กินอาหารที่ชอบเท่านั้น แต่ปฏิบัติการเหล่านี้ มีความหมายเชื่อมโยงกับการโหยหาวัฒนธรรมบ้านเกิด ความผูกพันและระลึกถึงถิ่นมาตุภูมิที่พวกเธอได้จากมา รวมทั้งเป็นการเยียวยาความรู้สึกโหยหา ความคิดถึง และความผูกพันกับวัฒนธรรมและถิ่นบ้านเกิด

โลกโซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นสื่อกลางที่ช่วยเชื่อมประสานระยะทางและความรู้สึกคิดถึงบ้านของเมียฝรั่งให้ลงรอยกัน นอกจากนี้ชุมชนเมียฝรั่งออนไลน์ยังได้สะท้อนให้เราเห็นว่าข้อจำกัดหรืออุปสรรคของเส้นแบ่งพรมแดนทางกายภาพกำลังถูกท้าทายและทำให้มีความสำคัญน้อยลงผ่านกิจกรรม “การส่งไทย

การซื้อ-ขายอาหารในเฟซบุ๊กกลุ่ม “เปิดตู้ UK ขายของชาวไทยในอังกฤษ”

การเชื่อมโยงโลกและท้องถิ่นโดยมีเมียฝรั่งเป็นตัวละครสำคัญในกระบวนการดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ การส่งไทยเป็นกิจกรรมออนไลน์รูปแบบใหม่ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเมียฝรั่งกับครอบครัวและชุมชนบ้านเกิด ตลอดจนการเป็นลูกสาวที่ดี มีความกตัญญูทำหน้าที่ในการเลี้ยงดูพ่อแม่และช่วยเหลือพี่น้อง 

นอกจากนี้ในงานศึกษาผู้หญิงอีสานที่แต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับชายชาวตะวันตกและไปใช้ชีวิตต่างแดนของ รัตนา บุญมัธยะ (2005) ได้เสนอว่าการใช้ชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ในต่างแดนสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมบางอย่างของชุมชนที่พวกเธอจากมาได้ถูกเน้นย้ำให้เด่นชัดและไม่ได้สูญหายไป ซึ่งพวกเธอยังคงรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนบ้านเกิด มีความรับผิดชอบและผูกพันกับครอบครัวของตนเองอย่างเหนียวแน่น แม้จะอพยพไปใช้ชีวิตต่างแดนเป็นเวลานานแล้วก็ตาม

ท้ายที่สุดจะเห็นว่ากลุ่มเฟซบุ๊กได้กลายเป็นพื้นที่รูปแบบใหม่สำหรับการติดต่อสื่อสาร และยังทำหน้าที่เป็นเสมือนชุมชนออนไลน์ในการรวมตัวกันของกลุ่มเมียฝรั่ง ตลอดจนเป็น “พื้นที่” ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่พวกเธอจากมาได้ถูกนำมาเน้นย้ำให้เด่นชัดมากขึ้น 

อ้างอิง

Boonmathya, R. (2005). Women, Transnational Migration, and Cross-Cultural Marriages: Experiences of ‘Phanrayaa – farang’ from Rural Northeastern Thailand (ภรรยาฝรั่ง: ผู้หญิงอีสานกับการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม). Journal of Mekong Societies, 1(2), 1-53.

Kitiarsa, N. (2018). Making Singapore Home: A Study of Isan Migrants in Singapore and their Food. PSDS Journal of Development Studies, Puey Ungphakorn School of Development Studies, Thammasat University, 1(2), 1-7.

เปิดตู้ UK ขายของ ชาวไทยในอังกฤษ. (2012, 30 พฤษภาคม). “กิจกรรมซื้อ – ขายสินค้าและอาหาร” [post update]. Facebook. https://www.facebook.com/groups/391869830863383.

พัชรินทร์ ลาภานันท์. (2558) เมียฝรั่ง: การก่อตัวของชนชั้นใหม่ในสังคม (ชนบท) ไทย. ใน ชูศักดิ์ วิทยาภัค (บ.ก.), วัฒนธรรมคืออำนาจ : ปฏิบัติการแห่ง อำนาจ ตัวตน และชนชั้นใหม่ในพื้นที่ วัฒนธรรม. (น.271-299). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

 

image_pdfimage_print