เมียฝรั่งในอีสาน” – การแต่งงานข้ามชาติ และแรงงานดูแลในบริบทโลก (20)

พัชรินทร์ ลาภานันท์ เรื่อง 

การแต่งงานข้ามชาติของผู้หญิงอีสานเป็นปรากฏการณ์ที่คนในสังคมให้ความสนใจ มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม ส่วนหนึ่งของความเห็น มุมมองต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกเสนอในซีรี่ส์ชุด “ความรัก เงินตรา และหน้าที่: เมียฝรั่งในอีสาน”

ข้อเท็จจริงหนึ่งของปรากฏการณ์การแต่งงานข้ามชาติคือผู้หญิงที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์นี้ส่วนมากใช้ชีวิตในต่างประเทศกับสามี ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา (ข้อมูลบ้านนาดอกไม้ ปี 2551 เมียฝรั่งร้อยละ 77.4 จาก 159 คน 

จากบ้านไปใช้ชีวิตในต่างแดนกับสามี) ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ ผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของผู้ย้ายถิ่น เช่น ที่เดนมาร์ค คนไทยเป็นผู้ย้ายถิ่นกลุ่มใหญ่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อมูลเมื่อปี 2563 ชี้ว่ามีคนไทยในเดนมาร์คทั้งหมด 12,974 คน ร้อยละ 83 เป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่ของผู้หญิงเหล่านี้คือ คนที่มีสามีเป็นชาวเดนนิส 

งานของ พัทยา เรือนแก้ว เสนอว่า ที่เยอรมนี เมื่อปี 2554 มีคนไทยอาศัยอยู่จำนวน 57,078 คน เป็นหญิงร้อยละ 87 และร้อยละ 68 ของผู้หญิงคือผู้ที่แต่งงานกับชาวเยอรมันและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี ส่วนร้อยละ 14 คือผู้ที่มีสถานะภาพหม้ายหรือหย่าร้าง

แม้ว่าช่องทางการย้ายถิ่นข้ามชาติของผู้หญิงคือการแต่งงาน แต่ชีวิตในถิ่นปลายทางพวกเธอไม่ได้ทำหน้าที่แม่บ้านเท่านั้น แต่กลับพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เข้าสู่ตลาดแรงงาน (ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ) เพื่อหารายได้ ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตในต่างแดนมีอิสระและสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสามารถส่งเงินกลับบ้านเกิดเพื่อเลี้ยงดูพ่อ แม่ อันเป็นหน้าที่สำคัญของการเป็นลูกสาวที่ดี มีความกตัญญู ผู้หญิงเหล่านี้จึงต้องทำหน้าที่ทั้งการดูแลสามี (และลูก) ซึ่งเป็นผลิตซ้ำในครัวเรือนที่ไม่มีค่าจ้าง (unpaid domestic care providers) และงานที่มีค่าจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “งานดูแล” (paid care labor) เช่น การทำความสะอาด การดูแลผู้สูงอายุ/เด็ก/ผู้ป่วย งานนวด ธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ผู้ที่มีทักษะ ความรู้ มีโอกาสทำงานที่มีค่าตอบแทนสูงและมีสถานะทางสังคม เช่น พยาบาล ล่าม ครูสอนภาษาไทย/ทำอาหารไทย เป็นต้น จากประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงที่อยู่กับสามีในต่างประเทศ เช่น สมหมาย (คำสิงห์นอก แก และอีกหลายๆ คนที่สะท้อนผ่านหนังสารคดี Heartbound – A Different Kind of Love Story ทำให้เห็นถึงความเหลื่อมซ้อนของการเป็นภรรยากับการเป็นแรงงานดูแลในต่างแดน 

ภาพฉากหนังสารคดีเรื่อง “Heartbound” ภาพยนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตผู้หญิงอีสานที่ได้แต่งงานกับชายชาวเดนมาร์ก

แรงงานหญิงเหล่านี้อยู่ภายใต้กระบวนการทำให้แรงงานดูแลกลายเป็นสินค้าเพื่อสนองตอบการขาดแคลนแรงงานดูแลในสังคมตะวันตก พวกเธอมีความสำคัญต่อการแบ่งเบาภาระความรับผิดชอบด้านการผลิตซ้ำทางสังคม (social reproduction) ของครอบครัวชนชั้นกลางในสังคมปลายทางและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงชาวตะวันตกเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตะวันตกอีกด้วย

ในขณะเดียวกันรายได้จากการทำงานของผู้หญิงมีความสำคัญต่อทั้งครอบครัวและการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศบ้านเกิดของผู้หญิง เช่น กรณีของฟิลิปปินส์ เงินส่งกลับบ้านจากแรงงานผู้หญิงที่ทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก (remittances) เป็นที่มาของรายได้ในอันดับต้นๆ ของประเทศ 

การย้ายถิ่นข้ามชาติของผู้หญิงเพื่อทำงานแม่บ้าน ดูแลเด็ก และผู้สูงอายุ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้การศึกษาการย้ายถิ่นหันมาให้ความสำคัญกับมิติเพศภาวะ  และประสบการณ์ของผู้หญิงเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้มีการตระหนักถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของงานดูแลที่เป็นหน้าที่ของผู้หญิงในสังคม 

อย่างไรก็ตามปฎิเสธไม่ได้ว่ามุมมองดังกล่าวสะท้อนความไม่เท่าเทียม ทั้งที่เกี่ยวกับเพศภาวะชนชั้น และเชื้อชาติ กรณีเมียฝรั่งที่อาศัยในต่างแดนกับสามีต้องทำทั้งงานดูแลครอบครัวที่ไม่มีรายได้และทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ทำให้ผู้หญิงต้องทำงานเป็นสองเท่า (double work load) แม้ว่ารายได้ที่เกิดขึ้นหมายถึงการพึ่งตนเองที่เพิ่มขึ้นและความสามารถในการส่งเงินกลับบ้านเพื่อสนับสนุนพ่อ แม่ในถิ่นบ้านเกิดก็ตาม

ไม่เพียงแต่การทำงานเป็นสองเท่า งานศึกษาผู้หญิงฟิลิปปินส์ที่ทำงานแม่บ้านในฮ่องกงของ Nicole Constable เผยให้เห็นถึงชีวิตในต่างแดนที่ผู้หญิงต้องปรับตัว ผ่านการต่อรอง การยอมจำนน ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่เผชิญในการทำงานและการอาศัยในบ้านร่วมกับผู้ว่าจ้าง  ตลอดจนวิธีคิดและทัศนะของผู้หญิงต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในต่างแดน ที่เชื่อมโยงกับความคาดหวังในบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในสังคมบ้านเกิด 

นักวิชาการสตรีนิยม (Mignon Duffy) เสนอว่า การทำความเข้าใจงานดูแลที่ผู้หญิงทำควรพิจารณางาน 2 ลักษณะ คือ 1) งานผลิตซ้ำ (reproductive care) เป็นงานบ้านและงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตซ้ำทางสังคม (social reproduction) ซึ่งถูกจัดเป็นงานที่ใช้ความรู้และทักษะน้อย และมีค่าตอบแทนต่ำ ผู้ที่ทำงานนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ย้ายถิ่นเพศหญิงที่มีข้อจำกัดในทางการศึกษา ทักษะความรู้และสถานะทางกฎหมาย และ 2) งานดูแลที่มีความเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ทางสัมคม อารมณ์ ความรู้สึก และความผูกพัน (nurturance care) เป็นงานที่มีค่าตอบแทนสูงกว่างานผลิตซ้ำและมักถูกสงวนไว้สำหรับของผู้หญิงผิวขาว

กรอบการวิเคราะห์ดังกล่าวคลี่ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในหลายมิติ ทั้งเชื้อชาติ เพศภาวะและชนชั้นที่เชื่อมโยงกับการย้ายถิ่นข้ามชาติของผู้หญิงจากประเทศยากจนหรือประเทศชายขอบเพื่อทำงานการดูแลในประเทศที่ร่ำรวยกว่า ผู้หญิงเหล่านี้ละทิ้งสมาชิกครอบครัวของตนในประเทศมาตุภูมิที่อยู่ในวัยพึ่งพิงหรืออยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องการความช่วยเหลือในการดำเนินชีวิตให้อยู่ในความดูแลของผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นผู้หญิงคนอื่นในครอบครัว หรือแรงงานอพยพจากประเทศอื่น เช่น ผู้หญิงไทยที่แต่งงานแล้วไม่อยู่กับสามีในต่างประเทศ ขณะที่ทิ้งลูก (ที่มีพ่อเป็นชายไทย) ให้อยู่ในความดูและของ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา หรือบางกรณี มีการจ้างแรงงานจากประเทศที่ฐานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าไทย เช่น ลาว พม่า เป็นผู้คนแลลูก หรือ พ่อ แม่ ที่อยู่เมืองไทย ปรากฎการณ์ลักษณะนี้เรียกว่า “ห่วงโซ่การดูแลระดับโลก” (global care chain) 

งานศึกษาปรากฏการณ์ “ห่วงโซ่การดูแลระดับโลก” มีพัฒนาเรื่อยมาและมีข้อเสนอให้ขยายกรอบการวิเคราะห์งานดูแลที่แต่เดิมให้ความสำคัญกับงานผลิตซ้ำทางสังคมในครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็ก (matherly care) ไปสู่งานลักษณะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นนอกบริบทครัวเรือน 

Nicola Yeates นักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาแรงในดูแลเสนอว่าการทำความเข้าใจปรากฎการณ์ “ห่วงโซ่การดูแลระดับโลก” ต้องคำนึงถึงประเด็นต่อไปนี้ 

1) ให้ความสำคัญกับงานดูแลที่มีลักษณะต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากการผลิตซ้ำทางสังคม เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ การศึกษา ศาสนาและการบริการทางเพศ ซึ่งเป็นทั้งงานไร้ฝีมือและงานที่ต้องใช้ทักษะ และความรู้ความสามารถ 

2) บริบทของการทำงานต้องไม่จำกัดอยู่เฉพาะในครัวเรือน แต่รวมถึงสถาบันอื่นๆ ในสังคมที่รองรับงานดูแลในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานบริการสุขภาพต่างๆ รวมทั้งร้านนวด 

3) ต้องให้ความสำคัญกับ “งานดูแล” ลักษณะต่างๆ ที่ผู้หญิงเกี่ยวข้อง ทั้งงานที่มีค่าตอบแทนและงานผลิตซ้ำในครอบครัวที่ไม่มีค่าตอบแทนที่สัมพันธ์กับวัฏจักรชีวิตของผู้หญิง ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจงานทั้งหมดที่ผู้หญิงรับผิดชอบ และสภาพความเป็นจริงที่ผู้หญิงเผชิญ ไม่ควรมองแบบแยกส่วน 

4) ธรรมชาติของ “งานดูแล” มักเกี่ยวข้องกับเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ความผูกพัน และความสัมพันธ์ใกล้ชิด การมองเรื่องเหล่านี้ในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการพัฒนาระเบียบวิธีและกรอบการศึกษาที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความหลากหลายและซ้อนทับของมิติต่างๆ ในปรากฎการณ์ห่วงโซ่แรงงานดูแล 

5) กระบวนการให้และรับการดูแล มีความเชื่อมโยงกับเรื่องเพศภาวะ ชนชั้น และเชื้อชาติ ที่มักนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมในลักษณะต่างๆ ในบริบทที่แตกต่างกันออกไป และผู้หญิงมักตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบ ดังนั้นในการวิเคราะห์จึงควรให้ความสำคัญกับประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับงานนี้

งานของพัทยา เรือนแก้ว เสนอเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงไทยในเยอรมนี ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ที่มีสามีเป็นชาวเยอรมนี ทำให้เห็นความหลากหลายของอาชีพที่สร้างรายได้แก่ผู้หญิงเหล่านี้ มีทั้งงานแม่ครัว หมอนวด พนักงานทำความสะอาด ล่าม สอนภาษาไทย การทำงานของผู้หญิงมีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของชีวิตในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งสัมพันธ์กับวัฏจักรชีวิตครอบครัวในต่างแดน ประสบการณ์ของผู้หญิงไทยเหล่านี้สะท้อนความเชื่อมโยงของการแต่งงานข้ามชาติ กับ การเป็น 

“แรงงานดูแล” ข้ามแดนในถิ่นปลายทางที่อาศัยอยู่กับสามี และให้ภาพการต่อสู้ดิ้นรนของผู้หญิงที่สะท้อนถึงความเป็นผู้กระทำการ (agency) มากกว่าการวิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมในมิติต่างๆ ที่สัมพันธ์กับงานที่ผู้หญิงทำ 

ในขณะเดียวกันเรื่องราวชีวิตในต่างแดนทำให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับแรงงานดูแลในบริบทโลก ที่ส่งผลต่อประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงทั้งในถิ่นปลายทาง และต่อความสัมพันธ์ของผู้หญิงกับครอบครัวในชุมชนบ้านเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การทำหน้าที่ลูกสาวที่ดีตามความคาดหวังของสังคม คือ การสนันสนุนให้พ่อ แม่ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี 

จะเห็นได้ว่าผู้หญิงเกี่ยวข้องกับการดูแล ทั้งในบริบทครอบครัวที่ผู้หญิงใช้ชีวิตกับสามีชาวต่างชาติ  และครอบครัวในถิ่นบ้านเกิด รวมทั้งการเป็นแรงงานดูแลที่ต้องให้บริการแก่ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัว เพื่อหารายได้ อันนำมาซึ่งความสามารถในการพึ่งตนเอง และการส่งเงินกลับบ้านเพื่อ “ดูแล” พ่อ แม่  

การคลี่ให้เห็นถึงความเหลื่อมซ้อนของงานที่ผู้หญิงทำ  รวมทั้งการจัดการ การปรับตัว การต่อรองของผู้หญิงในบริบทต่างๆ ทำให้มุมมองต่อปรากฏการณ์การแต่งงานข้ามชาติขยายไปจากการหาคำตอบว่าความสัมพันธ์นี้เกิดจากเงื่อนไขทางวัตถุหรือความรัก ผู้หญิงที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ลักษณะนี้เป็น “เหยื่อ” หรือเป็น “ผู้กระทำการ” อีกทั้งยังทำให้เห็นถึงความซับซ้อนและคาบเกี่ยวกันระหว่างแรงงานย้ายถิ่นข้ามแดนกับการย้ายถิ่นข้ามชาติผ่านการแต่งงาน  ระหว่างสถานะการเป็นภรรยาและเป็นแรงงาน และระหว่างการเป็นลูกสาวที่ดีกับการถูกตีตราโดยเชื่อมโยงผู้หญิงที่แต่งงานกับฝรั่งเข้ากับธุรกิจขายบริการทางเพศ ซึ่งเป็นความทรงจำของคนในสังคมที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเวียดนาม

กล่าวได้ว่าการทำความเข้าใจการแต่งงานข้ามชาติ โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงประสบการณ์ของผู้หญิงในถิ่นบ้านเกิดและในสังคมปลายทางที่ผู้หญิงใช้ชีวิตกับสามีชาวต่างชาติ ช่วยให้สามารถตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับปรากฎการณ์การแต่งงานข้ามชาติของผู้หญิง ที่อยู่ในความสนใจของคนในสังคมได้แตกต่างไปจากคำอธิบายชุดเดิมๆ 

อ้างอิง 

พัชรินทร์ ลาภานันท์. 2561. “การแต่งงานและการย้ายถิ่นข้ามชาติ: กรอบการศึกษาและสถานภาพองค์ความรู้.” วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 37 (1): 9-42.

พัทยา เรือนแก้ว, บรรณาธิการ. 2557. หญิงไทยและชุมชนไทย วันนี้ ในเยอรมนี. เบอร์ลิน: เครือข่ายคนไทยในต่างแดน ประเทศเยอรมนี.

Constable, Nicole. 1997. Maid to Order in Hong Kong: Stories of Migrant Workers. Ithaca: Cornell University Press

Duffy, Mignon. 2005. “Reproducing Labor Inequalities: Challenges for Feminist Conceptualizing Care at the Intersections of Gender, Race and Class.” Gender & Society 1(19): 66-82.

Sassen, Sakia. 2000. “Women’s Burden: Counter-geographies of Globalization and the Feminization of Survival”, Journal of International Affairs 53(2): 503-524.

Yeates, Nicola. 2005. “Global Care Chains: A Critical Introduction.” Global Migration Perspectives No. 44, Global Commission on International Migration.

https://www.dst.dk/en, accessed on 1 September, 2020.

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print