มาโนช พรหมสิงห์ เรื่อง

ผมเคยได้ยินคำเสียดเย้ยพวกฝ่ายซ้ายหรือมาร์กซิสต์หรือพวกเห็นต่างจากอำนาจรัฐ สมัยผมเข้าสู่วงการวรรณกรรมใหม่ๆ ว่า ‘เมื่อคุณเป็นหนุ่ม ถ้าคุณไม่ใช่มาร์กซิสต์ แสดงว่าคุณไม่มีหัวใจ แต่เมื่อคุณแก่ตัวแล้ว คุณยังเป็นมาร์กซิสต์ แสดงว่าคุณไม่มีสมอง’

พร้อมกับยกตัวอย่าง ‘คนเดือนตุลา’ หลายคนที่หันเข้าสู่ความร่ำรวยในวงการธุรกิจ หรือเป็นนักการเมืองโด่งดังในพรรคการเมืองทั้งอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม หรือเป็น NGO ตัวเอ้ ซึ่งพึ่งพาทุนจากรัฐ เช่น สสส. หรือเป็นนักวิชาการ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นข้าราชการที่หันหลังให้กับอุดมการณ์ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ อย่างมีฐานะและปลอดภัย หรือเข้าไปรับใช้เผด็จการ เห็นดีเห็นงามไปกับการรัฐประหาร

แต่นั่นก็ไม่แน่เสมอไป เพราะยังมีคนอีกมากมายในทุกวงการทุกระดับ ทั้งที่อยู่ในต่างประเทศหรือในประเทศ ที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างแรงกล้า จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ทว่าที่สุดต้องพึงทราบว่า (ไม่ใช่เพราะพุทธกล่าวไว้) ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เป็นเรื่องปกติ แต่บางสิ่งอาจยืนยงและพัฒนายิ่งขึ้นตามกาลเวลาได้

กล่าวโดยเฉพาะแวดวงของตน ที่ทำงานผสมผสานความจริงกับจินตนาการออกมาเป็นเรื่องราว ซึ่งเรียกว่า กวี นักเขียน

แรกที่ลาออกจากอาชีพครู ผมย่างสู่ถนนนักเขียนด้วยความเบิกบานและเชื่อมั่น แหละผมก็เชื่อมั่นว่า นักเขียนทุกคนเป็นภูมิปัญญาของแผ่นดิน เป็นผู้นำความดีความงามความจริงมาบอกกล่าวแก่ผู้คน เป็นผู้นำทางความคิดจิตวิญญาณ และยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชน ผู้ด้อยโอกาส และความเป็นธรรมในสังคม

เอาเถิด เราอาจต้องยกเว้นให้นักเขียนแนวโรมานซ์ประโลมโลกย์อยู่บ้าง นอกนั้นผมมั่นใจ มั่นใจมาก จนกระทั่ง…

ไมใช่เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ทำให้เรารู้ว่าพระสงฆ์และนักเขียนบางรูปบางคนเป็นอย่างไร

แต่มันคือ การล้อมฆ่าคนเสื้อแดงในช่วง เมษา-พฤษภา 2010 ที่ทำให้ตาสว่าง ว่าแท้จริงแล้ว นักเขียนส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคนั้น ล้วนไม่ได้ยืนเคียงข้างคนจนคนด้อยโอกาสคนถูกเอารัดเอาเปรียบและความเป็นธรรม ซ้ำยังกวักมือเรียกทหารให้มาทำลายประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหาร

ผมเคยคุยกับภู กระดาษ ว่า ทำไมนักเขียนส่วนใหญ่ของอีสานหรือหลายภูมิภาค ไม่ค่อยจะคลุกคลีกับชาวบ้าน ทั้งที่เรื่องราวของชาวบ้านล้วนเป็นสิ่งที่นักเขียนใช้เป็นข้อมูลสร้างงานวรรณกรรม และมักกล่าวสั่งสอนหรือเสียดเย้ยหรือถึงขั้นประณาม ไม่ก็เขียนถึงแบบดองชาวบ้านหรือหมู่บ้านไว้ในยุค 40-50 ปีก่อน

สรุปได้ว่า นักเขียนอีสานส่วนใหญ่มักเป็นข้าราชการครู มีบ้านหรูมีรั้วรอบขอบชิด (บางบ้านมีห้องคาราโอเกะส่วนตัว) นอกจากขับรถออกไปทำงานแล้ว วันหยุดก็อาจมีการอบรม ตระเวนพาลูกเรียนพิเศษ หรือไม่ก็พาครอบครัวเดินห้างทั้งวัน แต่มักคุ้นเคยคลุกคลีกับ NGO ซึ่งถือว่าเป็นปัญญาชนเช่นเดียวกับตน (NGO บางคนก็เป็นนักเขียนด้วย) แต่ NGO ก็มีระบบอาวุโส มีเงินเดือนและกลายเป็นชนชั้นกลาง เริ่มมีทัศนะแบบพี่เลี้ยงและชอบสอนชาวบ้านจากจุดยืนของชนชั้นกลางของตน พร้อมกับดูแคลนชาวบ้านที่ไปยืนกับพรรคการเมืองที่ดำเนินนโยบายได้ดีกว่า NGO นี่จึงเป็นเหตุให้เกิดงานเขียนดูถูกเมียฝรั่ง เรียกชาวบ้านเสื้อแดงว่าควายแดง เป็นต้น

ทว่านักเขียนในทุกภูมิภาคอีกมากมาย ที่ยังยึดมั่นในอุดมคติอุดมการณ์ และเป็นเสรีชนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เปลี่ยนแปลงจนทุกวันนี้

ผมขอจบบทความนี้ ด้วยการกล่าวถึง ‘การชูสามนิ้ว’ อันเป็นสัญลักษณ์ของคณะประชาชนปลดแอกไปแล้ว ซึ่งก่อนนี้เคยเห็นประปรายหลังการรัฐประหาร พฤษภา 2014 หรือในภาพยนตร์เรื่อง MOCKINGJAY ต้นเค้าของสัญลักษณ์นี้มาจากคำขวัญประจำชาติฝรั่งเศส มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยนั้น หมายถึง

Liberté – เสรีภาพ (freedom)

Égalité – เสมอภาค (equality)

Fraternité – ภราดรภาพ (fraternity)

3 นิ้วนี้ เพื่อประเทศชาติและประชาชนไทยทุกคน

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

     

image_pdfimage_print