ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เรื่องและภาพ 

สกลนคร – เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 เครือข่ายประชาชนภูพานปฏิวัติ จ.สกลนคร ร่วมกันจัดเวทีคู่ขนาน “19 กันยาฯ ทวงอำนาจคืนราษฎร” โดยจัดขึ้นที่อาคารพาณิชย์ใกล้กับ บขส. สกลนคร ไปพร้อมกับกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง 

โดยกิจกรรมเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 12.30 น.โดยมีผู้ปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สลับกับการบรรเลงบทเพลงจากวงดนตรีต่างๆ ภายในงานได้จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือและหน้ากากไว้ให้กับผู้เข้าร่วมงานบริเวณทางเข้า พร้อมกับให้ลงชื่อก่อนเข้างาน ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้มีฝนตกตลอดทั้งงาน 

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการตามหาคนหาย อาทิ เฉลิมชัย สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ และ สุรชัย แซ่ด้าน เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลการจราจรในพื้นที่การจัดกิจกรรมประมาณ  7 นาย และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง 

ทุกเพศต้องเท่าเทียม 

กัญจน์ธาดา สาขามุละ หรือ มะยม อาชีพค้าขายใน จ.สกลนคร ขึ้นปราศรัยในประเด็นการถูกเลือกปฏิบัติของ LGBT ว่า ในช่วงที่เธอเป็นนักศึกษา ด้วยความที่เธอมีใจรักที่จะเป็นผู้หญิง จึงแต่งชุดนักศึกษาหญิงเข้าไปเรียน แต่ถูกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่ให้เข้าเรียน นอกจากนี้เวลาไปโรงพยาบาล หมอและพยาบาลยังสับสนว่าจะปฏิบัติต่อเธออย่างไร แม้ว่าเพศภาพของเธอจะเป็นผู้หญิงแล้ว หรือแม้แต่การสมัครเข้าทำงานก็ถูกปฏิเสธเพราะแต่งเป็นผู้หญิง ขณะที่คำนำหน้าชื่อของเธอยังเป็นนายตามกฎหมาย 

กัญจน์ธาดา สาขามุละ หรือ มะยม  LGBT จังหวัดสกลนคร 

“นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดและรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้ควรหมดไปจากสังคมไทยและไม่ควรถูกจำกัดทางเพศ ไม่ควรจำกัดคุณค่าความเป็นมนุษย์เพียงเพราะเพศสภาพ แต่ควรมีความเท่าเทียมทุกเพศทุกวัย”กัญจน์ธาดากล่าว

ทั้งนี้เธอยังเรียกร้องให้มองคนที่ศักยภาพ ไม่ใช่ที่เพศภาพ เพราะทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ และเราได้เกิดมาแล้ว เราต้องสู้ต่อไปอย่างเดียว

ประชาธิปไตยภายในกระบอกปืน

ด้าน บดินทร์ จุรีมาศ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ราชภัฏสกลนคร ปราศรัยในประเด็นประชาธิปไตยภายใต้กระบอกปืน ว่า ประชาธิปไตยมีรากศัพท์มาจากสองคำ คือ “ประชา” ซึ่งหมายถึง ประชาชน และคำว่า “ธิปไตย” หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ดังนั้น เมื่อเอาสองคำมารวมกันจึงแปลว่า “อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน” ซึ่งตรงข้ามกับคำว่าเผด็จการ 

บดินทร์ จุรีมาศ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ราชภัฏสกลนคร

บดินทร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเป็นการปกครองภายใต้กระบอกปืน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่ามีการลงประชามติ แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลได้ใช้กฎหมายดำเนินคดีหรือคุกคามคนที่ออกมาคัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

เขายังปราศรัยอีกว่า การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องฟังเสียงของประชาชน ผู้มีอำนาจต้องคืนอำนาจตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาชุมนุมในครั้งนี้ พวกเขาไม่ได้ต้องการความรุนแรง และที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 และปี 2557 ความรุนแรงไม่ได้มาจากประชาชน แต่เกิดจากผู้มีอำนาจที่ต้องการทำให้พวกเขาอยู่ในกรอบ

“ผู้มีอำนาจต้องฟังเสียงของประชาชน คือต้องยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหยุดคุกคามประชาชน” บดินทร์อธิบายถึงข้อเรียกร้องในการปราศรัย

ถูกบังคับไร่รื้อออกจากป่าสงวนฯ 

นอกจากนี้ ชาวบ้าน อ.ส่องดาว จ.สกลนคร (ไม่ขอเปิดเผยชื่อและนามสกุลจริง) ตัวแทนจากกรณีที่ดินป่าสงวนแห่งชาติดงพันนาและป่าดงพระเจ้าทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ปราศรัยว่า ขณะนี้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะรัฐบังคับไล่รื้อที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ย้ายออกจากเขตป่าสงวนฯ ซึ่งเป็นที่ทำกินเดิมภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ โดยที่รัฐไม่มีมาตราการเยียวยาไว้รองรับ และอ้างว่าผู้ใดจะอยู่ต่อต้องพิสูจน์สิทธิ์ก่อนโดยต้องยืนยันเอกสารสิทธิ์

ตัวแทนจากกรณีที่ดินป่าสงวนแห่งชาติดงพันนาและป่าดงพระเจ้าทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน

“ตั้งแต่อยู่มา ก็ไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์อะไร และไม่รู้ว่าทางราชการออกเอกสารสิทธิ์ตอนไหน เราจึงอยากเรียกร้องให้พิสูจน์ว่าตรงที่ชาวบ้านอยู่เป็นป่าสงวนจริงหรือไม่ และเอกสารสิทธิ์ที่รัฐออกมานั้นออกมาได้อย่างไร ทำไมชาวบ้านไม่รู้มาก่อนว่ารัฐให้ไปร้องขอต่อสิทธิ์นั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และเอกสารสิทธิ์นี้ออกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสงสารเราบ้าง หรือคุกมีไว้ขังแค่คนจน” หนึ่งในชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกล่าวเรียกร้องความเป็นธรรมต่อรัฐ

เยาวชนมาร่วมกิจกรรมในเวทีคู่ขนานการจัดเวที “19 กันยาฯ ทวงอำนาจคืนราษฎร”

ประกาศหนุนจุดยืนการชุมนุมที่กรุงเทพฯ 

นอกจากนี้ยังมีการปราศรัยประเด็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหารและร่วมอ่านกวีบนเวที ก่อนที่เครือข่ายประชาชนภูพานปฏิวัติ จ.สกลฯ จะร่วมกันอ่านแถลงการณ์เพื่อประกาศจุดยืนสนับสนุนการชุมนุมในกรุงเทพฯ โดยมีเนื้อหา 3 ข้อ ระบุว่า

  1. รัฐบาลต้องให้ความคุ้มครอง และอำนวยความสะดวกในการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย
  2. รัฐบาลต้องให้ความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน การชุมนุมต้องเป็นไปอย่างเสรีและปลอดภัย หากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง ทางเครือข่ายภูพานปฏิวัติจะมีขั้นตอนในการดำเนินการตอบโต้ต่อไป
  3. หลังจากการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน รัฐบาลต้องไม่คุกคามแกนนำหรือผู้ร่วมชุมนุม โดยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามถึงที่พักอาศัยหรือการใช้ข้อกฎหมายที่บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อสร้างภาระให้กับแกนนำหรือผู้ชุมนุม สิ่งเหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนภูพานปฏิวัติจะติดตามสถานการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวร่วมและแนวหลังในการนำประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

 

image_pdfimage_print