เดอะอีสานเรคคอร์ดจัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เมียฝรั่งในอีสาน อดีต ปัจจุบัน อนาคต” ระหว่างการนำเสนอซีรีส์ชุด “ความรัก เงินตรา และหน้าที่ : เมียฝรั่งในอีสาน” เผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊กเดอะอีสานเรคคอร์ดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 

พิณทอง เล่ห์กันต์ นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีเพื่อแม่ญิงอีสาน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิของผู้หญิงอีสานและสิทธิของการแต่งงานกับชาวต่างชาติเกิดจากกรณีที่ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง คอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์ เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ผู้หญิงอีสานที่เป็นเมียฝรั่งเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา 

“สิ่งที่เราเห็น 2 เรื่องคือ การละเมิดสิทธิ์คนอื่นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะการดูถูกดูหมิ่นคนจนที่เป็นคนอีสานและเป็นผู้หญิงในอีสาน  อีกเรื่องคือเราเห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่ช่องว่างกว้างมากระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคอื่นๆ” พิณทองกล่าว 

พิณทองตั้งคำถามว่า เชื่อหรือไม่ว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวได้ยินคนกรุงเทพฯ บางคนพูดว่า “ไม่รู้เลยว่าภาคอีสานมีฝนตก” จึงเป็นเหตุผลให้ออกมาโวยวายและทำคลิปวีดีโอผ่านยูทูบ แล้วก็มีผู้คนสนใจ 

“ปรากฏการณ์เพ็ญศรีทำให้ผู้หญิงอีสาน ทั้งที่ในและต่างประเทศ ลุกขึ้นมาบอกว่า คนอีสานดูถูกไม่ได้แล้ว มุมมองของคุณเพ็ญศรีทำให้เราเห็นว่า คนเมือง คนภาคอื่นยังมองคนอีสานในมุมที่ต่ำกว่าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งได้ฟ้องร้องต่อศาลแล้ว แม้ทนายจะบอกว่าชนะยาก แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยอีก 100 ปีก็จะยังเป็นแบบนี้” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง  

พิณทอง เล่ห์กันต์ นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีเพื่อแม่ญิงอีสาน

เสนอกฎหมายป้องดูหมิ่นชาติพันธุ์

แม้ศาลชั้นต้นไม่รับคำฟ้อง เพราะไม่มีกฎหมายที่จะเอาผิด แต่ทีมทนายความได้อุทธรณ์และยืนยันว่าจะสู้จนถึงที่สุด ในอนาคตเธอมองว่า ควรเขียนกฎหมายหรือกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสำหรับคนที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่ว่าจากสื่อมวลชนหรือจากใครก็ตาม 

“หากมีการพูดดูถูกดูหมิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ เราสามารถยกมาตรานั้นขึ้นมาอ้างกับศาลเพื่อฟ้องร้องได้และกำหนดบทลงโทษทั้งจำและปรับที่ชัดเจน คิดว่านักกฎหมายจะต้องเป็นตัวตั้งตัวตีและเป็นหัวหอกในการผลักดันเรื่องนี้” นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีเพื่อแม่ญิงอีสานเสนอ  

ทั้งนี้พิณทองมองถึงแนวโน้มการแต่งงานข้ามชาติว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ด้วยโลกาภิวัฒน์ คนสื่อสารกันได้จากทั่วทุกมุมโลก เพราะไม่ได้จำกัดพื้นที่ 

“สิ่งที่จะเห็นต่อจากนี้ คืออายุของผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวต่างชาติจะน้อยลง และอาจไม่ได้มาจากเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว อาจเพราะต้องการมีเพื่อนไว้ฝึกภาษา และคิดว่ามีแฟนต่างชาติมันเท่ดี ฝรั่งดูดี ถ้ามีลูกก็อาจได้เข้าวงการบันเทิง จึงเป็นไปได้ที่การแต่งงานข้ามชาติจะขยายตัวแน่นอน แต่ต้องระวังเพราะอาจตกเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงได้” พิณทองกล่าว  

เมียฝรั่งจากยุคสงครามเวียดนามสู่ยุคปัจจุบัน

ขณะที่ ผศ.ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ อาจารย์สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเรื่องเมียฝรั่งในอีสานมองว่า คนส่วนใหญ่อาจจะมองผู้หญิงที่แต่งงานกับคนต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่ง ไม่แตกต่างจากเพ็ญศรี หากต้องการเข้าใจเรื่องนี้ต้องมองย้อนไปถึงลักษณะความสัมพันธ์ของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงอีสานกับผู้ชายตะวันตก โดยย้อนไปในอดีตยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งอาจมีเรื่องของการขายบริการเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผู้หญิงบางคนก็เข้าสู่การแต่งงานข้ามชาติโดยไม่ได้มีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศก็มี 

“แต่ภาพจำและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันจึงโยงมาสู่เรื่องการแต่งงานข้ามชาติในยุคปัจจุบัน หากมองแรงจูงใจว่าเกิดจากวัตถุ โดยมองข้ามเรื่องอื่นหรือผู้หญิงอีสานถูกมองว่าเป็นคนชอบให้บริการ มีการศึกษาน้อย ส่วนตัวก็มองว่า มันเป็นมุมมองที่ค่อนข้างจะคับแคบและอคติมากๆ” ผศ.ดร.พัชรินทร์ กล่าว   

หญิงอีสานรักสบาย การศึกษาน้อย? 

เธอกล่าวอีกว่า ความเป็นจริงแล้วผู้หญิงที่เข้าสู่การแต่งงานแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะผู้หญิงอีสาน ผู้หญิงในภาคอื่นก็มี แต่มุมมองของคนในสังคมไทยก็จะติดอยู่กับว่าผู้หญิงแต่งงานกับฝรั่งเพราะรักสบาย ไม่อยากทำงานหนัก แต่กลับไม่เคยตั้งคำถามให้ไปไกลมากกว่านั้นว่า แรงจูงใจเกิดจากอะไร เกี่ยวข้องกับเรื่องความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำหรือไม่ 

“ทำไมเราจึงเห็นว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เข้าสู่การแต่งงานข้ามชาติหรือการแต่งงานกับฝรั่งเป็นกลุ่มผู้หญิงชนบท ผู้หญิงเหล่านี้ขาดโอกาสอะไร หรือคนในชนบทขาดโอกาสอะไร ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ คือเรายังไปไม่ถึงตรงนั้นหรือความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นระหว่างคนเมืองกับคนชนบทมีหรือไม่ ที่มันอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้หญิงต้องเลือกทางเดินในลักษณะแบบนี้” นักวิชาการผู้นี้กล่าว  

ผศ.ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ อาจารย์สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเรื่องเมียฝรั่งในอีสาน

แนวโน้มคนรุ่นใหม่แต่งงานกับต่างชาติมากขึ้น 

ผศ.ดร.พัชรินทร์บอกอีกว่า มองปรากฏการณ์บทความของเพ็ญศรีที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับพวกเราก็ได้ เพราะในฐานะนักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวที่ทำงานในเรื่องพัฒนาชนบทหรือทำงานเรื่องความเท่าเทียมเพศภาวะ ความเท่าเทียมระหว่างผู้หญิงผู้ชายว่า ทำอย่างไรจึงจะใช้ปรากฏการณ์นี้ในการทำความเข้าใจ แล้วสื่อสารบางอย่างกับสังคมเพื่อลดอคติและเพื่อที่จะสร้างความเข้าใจในเรื่องของความเท่าเทียมเรื่องของเพศเรื่องของชนชั้นได้มากขึ้น 

ขณะที่แนวโน้มของการแต่งงานข้ามชาตินั้น ผศ.ดร.พัชรินทร์มองว่า ในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น และข้ามไปยังกลุ่มผู้หญิงทำงาน มีการศึกษาหรือเป็นกลุ่มผู้หญิงชนชั้นกลางมากขึ้น จากเดิมที่เป็นผู้หญิงในชนบทและในกลุ่มของผู้หญิงชนบทก็ยังอาจจะมีการขยายมากขึ้นเช่นกัน 

“เราจะต้องหันมาทบทวนเรื่องนี้กันหรือไม่ เราจะทำความเข้าใจ เราจะอบรมบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้เติบโตขึ้นมาด้วยวิธีคิดแบบไหน มันถึงจะทำให้สังคมมีลักษณะตามแบบที่เราต้องการ” ผศ.ดร.พัชรินทร์ ชวนตั้งคำถาม 

ผศ.ดร.พัชรินทร์ ยังกล่าวสรุปว่า ปรากฏการณ์การแต่งงานข้ามชาติ เรื่องเมียฝรั่ง เขยฝรั่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย หากย้อนกลับไปมองในอดีต เกิดขึ้นกับผู้หญิงไทยกับผู้ชายจีนเมื่อศตวรรษที่ 13 ต่อมาศตวรรษที่ 16 เริ่มมีคนตะวันตกเข้ามาในเมืองไทยก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้ จากนั้นก็เข้าสู่ยุคสงครามเวียดนาม หรือในยุคประเทศไทยโปรโมทเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามา โดยปี 2555 ว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 21.3  ล้านคน  จำนวน 2 ใน 3 เป็นผู้ชาย 

“ถ้าเมื่อใดที่มุมมองของคนในสังคมไม่ยอมรับ แล้วตั้งป้อมกับปรากฏการณ์นี้ เราก็จะไม่เข้าใจและตามไม่ทันว่า เกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เราควรทำคือต้องคิดกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง แล้วช่วยกันคิดว่าเราจะวางแผนต่อไปในอนาคตเกี่ยวกับผลที่มันจะเกิดขึ้นกับสังคมอีสานกับประเทศอย่างไร อยากจะชวนให้เรามองกันแบบนี้ ไม่อยากให้มองด้านลบอย่างเดียว” ผศ.ดร.พัชรินทร์ระบุ 

 

image_pdfimage_print