เดอะอีสานเรคคอร์ด จัดเสวนาออนไลน์ถึงปรากฏการณ์ “เมียฝรั่งในอีสาน อดีต ปัจจุบัน อนาคต” ออนไลน์บนเพจเฟซบุ๊กเดอะอีสานเรคคอร์ดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ต่อมาก็ได้มีการเสวนาที่เป็นเรื่องทัศนคติเกี่ยวกับผู้หญิงอีสานตอนที่ 1 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 โดยโดยเดอะอีสานเรคคอร์ดได้ถอดความจากเสวนาดังนี้

ผศ.ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ อาจารย์สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเรื่องเมียฝรั่งในอีสาน มองว่า การแต่งงานข้ามชาติทำให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นในสังคมอีสานคือชนชั้นเมียฝรั่ง ซึ่งเขาอาจมีฐานะที่ดีขึ้นและมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากพื้นฐานเดิม รวมถึงการเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ 

“กลุ่มก้อนของเมียฝรั่งจะเป็นอีกชนชั้นหนึ่งของในสังคมไทยและเป็นสิ่งน่าจับตาว่าจะเกิดอะไรขึ้น สังคมไทยจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับเรื่องนี้  ขณะเดียวกันก็สร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นในชุมชนกับครอบครัวที่ไม่ได้มีเขยฝรั่งด้วย” ผศ.ดร.พัชรินทร์กล่าว 

ผศ.ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ อาจารย์สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเรื่องเมียฝรั่งในอีสาน

แนะเตรียมรับมือฝรั่งสูงวัยในเมืองไทย 

นักวิชาการผู้นี้กล่าวอีกว่า ผู้หญิงและสามีชาวต่างชาติส่วนใหญ่ต้องการจะกลับมาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เมืองไทย ซึ่งจะนำทักษะด้านต่างๆ ในตัวฝ่ายชายและจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็เป็นการกลับมาในวัยที่สูงอายุ แม้จะมีความสามารถในการใช้จ่าย แต่ก็อาจเป็นภาระทางด้านสาธารณสุขที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ

ส่วนการแต่งงานข้ามชาติเกี่ยวข้องกับความต้องการรัฐสวัสดิการหรือไม่นั้น ผศ.ดร.พัชรินทร์ มองว่า รัฐสวัสดิการอาจเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอันหนึ่ง แม้ว่าสังคมตะวันตกจะมีเรื่องเหล่านี้ดีกว่าประเทศไทย เมื่อผู้หญิงส่วนหนึ่งที่แต่งงานกับชาวต่างชาติไปแล้วก็มีประสบการณ์อยู่ในประเทศเหล่านั้น ก็จะเริ่มบอกต่อทำให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านได้รับรู้  

ส่วน พิณทอง เล่ห์กันต์ นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีเพื่อแม่ญิงอีสาน แสดงความเห็นต่อการแก้ปัญหาหรือการทางออกในเรื่องทัศนคติที่เป็นลบเกี่ยวกับการแต่งงานกับชาวต่างชาติหรือการแต่งงานข้ามชาติว่า การดูถูกผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับฝรั่งส่งผลถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งการศึกษา สุขภาพ เป็นต้น 

“การตั้งคำถามว่า ทำไมผู้หญิงอีสานจึงไม่เรียนหนังสือ อยากได้แต่สามีฝรั่ง เป็นเพราะไม่เข้าใจว่าผู้หญิงอีสานออกจากบ้านด้วยเงินกี่บาท หรือเด็กนักเรียนผู้หญิงอีสานออกจากบ้านด้วยภาระที่หนักอึ้ง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เขาจะตัดสินใจเอาชีวิตครอบครัวให้รอด และอีกอย่างการแต่งงานเป็นเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเขา คุณไม่มีสิทธิ์ไปตัดสิน” พิณทองกล่าว 

พิณทอง เล่ห์กันต์ นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีเพื่อแม่ญิงอีสาน ขณะปราศรัยรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีในรัฐธรรมนูญบนเวทีไทบ้านสิบ่ทน คนอีสานสิปลดแอก ภาพเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563

เธอกล่าวอีกว่า หากเราเข้าใจบริบทของสังคม ถ้าการเมืองดี ชีวิตผู้หญิงอีสาน ผู้หญิงภาคเหนือ  ผู้หญิงภาคใต้ หรือผู้หญิงชนเผ่าก็จะดีด้วย ดังนั้นรัฐสวัสดิการจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน 

ขณะที่ ทิชานนท์ ชุมแวงวาปี นักศึกษาปริญญาเอก ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องเขยฝรั่งและลูกครึ่งใน อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ได้ศึกษาในชุมชนและโรงเรียนทำให้พบความทุกข์ทรมานของเด็กลูกครึ่ง ซึ่งมุมมองของคนในชุมชนจะมองลูกครึ่งในลักษณะค่อนข้างดีในแง่ของหน้าตา แต่มักจะเป็นลูกครึ่งที่พ่อแม่เขาประสบความสำเร็จในการแต่งงาน บางส่วนก็จะไปเรียนอยู่โรงเรียนในเมือง พวกนี้ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาจากการถูกล้อเลียนและการเสียดสี เพราะเขาเป็นไปตามความคาดหวังของคนในชุมชนว่าตัวครอบครัวของคนที่แต่งงานกับชาวต่างชาตินั้นจะต้องมีฐานะดี และมีทรัพยากรพอที่จะส่งเสียลูกให้ได้รับการศึกษาที่ดี 

“แต่นักเรียนที่มาเรียนในโรงเรียนในอำเภอเล็กๆ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกครึ่งที่เกิดจากพ่อแม่ที่หย่าร้างกัน และไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังของคนในชุมชน ก็จะถูกมองว่ามีความแปลกแยกและถูกล้อเลียน เสียดสี ซึ่งตัวลูกครึ่งเองไม่ได้พอใจ เช่น เรียกเด็กผู้หญิงว่าอีฝะโรย เรียกเด็กผู้ชายว่าบักฝรั่ง เป็นต้น” นักศึกษาปริญญาเอกคนนี้กล่าว

ทิชานนท์ ชุมแวงวาปี นักศึกษาปริญญาเอก ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องเขยฝรั่งและลูกครึ่งใน อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี

หลักสูตรเข้าใจความแตกต่างทางชาติพันธุ์ 

ทิชานนท์เล่าต่อว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงทำให้ต้องการพัฒนาหลักสูตรที่จะทำให้เด็กเข้าใจปรากฏการณ์นี้ รวมทั้งอยากให้มองไปไกลกว่าประเด็นเรื่องของความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ แต่มันมีเรื่องของเพศภาวะด้วย 

เขายังอธิบายถึงการเลือกอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานีเป็นพื้นที่ศึกษาว่า พื้นที่นี้มีการแต่งงานกับชาวต่างชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบ้านธาตุใน อ.เพ็ญเพียงหมู่บ้านเดียว มีคนแต่งงานกับชาวต่างชาติประมาณ 100 ครอบครัว ส่วนใหญ่ลูกครึ่งที่มาเรียนก็จะเป็นลูกครึ่งที่พ่อแม่หย่าร้าง แล้วมันมีปัญหาเรื่องถูกล้อเลียนการเสียดสีระหว่างเด็กและคนในชุมชนด้วยกัน 

“ผมมองว่า พื้นที่ของ อ.เพ็ญเป็นหมุดหมายสำคัญที่เราจะต้องเข้าไปพัฒนาหลักสูตรที่จะทำให้คนในชุมชนเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยชื่อเต็มของงานวิจัยคือกระบวนการพัฒนาหลักสูตรพหุวัฒนธรรมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งจะสามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้สำหรับพัฒนาหลักสูตรสำหรับพื้นที่ของโรงเรียนที่มีปรากฏการณ์แบบนี้ได้ คาดหวังว่างานวิจัยนี้จะถูกนำเป็นต้นแบบของการพัฒนาหลักสูตรสำหรับพื้นที่อื่นๆ” 

เขามองว่า ขณะนี้หลักสูตรการศึกษาต่างๆ มักถูกกำหนดจากส่วนกลาง ในระดับนโยบายน่าจะมีความยืดหยุ่นและให้อำนาจสถานศึกษามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากกว่านี้ ซึ่งจะถือเป็นการกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่ท้องถิ่นมากขึ้น 

 

image_pdfimage_print