ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เรื่อง 

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

หนองบัวลำภู – เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 25 กันยายน 2563 กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมนุมเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้จัดกิจกรรม “26 ปี การต่อสู้สู่ชัยชนะ เปลี่ยนโรงโม่หินเป็นป่าชุมชน หยุดเหมืองหินถาวร” เพื่อเดินขบวนเข้าสู่พื้นที่การทำเหมืองของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด หลังจากใบประทานบัตรสิ้นสุดเมื่อวานนี้ (24 กันยายน 2563) โดยการทำกิจกรรมครั้งนี้ไม่ปรากฏตัว เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ฯ และหลังจากมีกระแสข่าวขู่ลอบทำร้าย 

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมนุมเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู เดินขบวนเพื่อเข้ายึดพื้นที่โรงโม่หินของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด หลังใบประทานบัตรสิ้นสุด

เมื่อเวลา 09.00 น. ชาวบ้านเริ่มตั้งขบวนเดินเป็น 5 แถว พร้อมกับถือป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “26 ปี แห่งชัยชนะ” “ป่าชุมชนเด้อ บ่แม่นเขตแหล่งแร่ ไปแล้วไปเลย อย่ากลับมา” รวมถึงป้ายรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับการปิดเหมืองหินขณะเคลื่อนขบวน ชาวบ้านได้ปราศรัยเพื่อปลุกใจให้กับผู้ร่วมขบวนที่มาจากทั้ง 6 หมู่บ้านได้มีกำลังใจในการทวงคืนป่าจากบริษัทเอกชน หลังจากที่พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอย-นากลางถูกบริษัทเอกชนสัมปทานทำเหมืองแร่หินมาแล้วกว่า 26 ปี 

สอน คำแจ่ม ภรรยาของกำนันทองม้วน คำแจ่ม นักต่อสู้ที่เสียชีวิตจากการต่อต้านเหมืองหินเมื่อปี 2542

เมื่อเดินเข้าสู่เขตโรงโม่หินที่มีเชือกกั้นไว้ห้ามไม่ให้บุคคลนอกผ่าน ชาวบ้านกลุ่มแรกนำโดย สอน คำแจ่ม ภรรยาของกำนันทองม้วน คำแจ่ม นักต่อสู้ที่เสียชีวิตจากการต่อต้านเหมืองหินเมื่อปี 2542 เป็นคนแรกที่เดินผ่านเข้าไปในพื้นที่โรงโม่ โดยระหว่างนั้นชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ตะโกนโห่ร้องด้วยความดีใจ 

“มื้อนี้ชัยชนะของเรามาถึงแล้ว เรารอคอยมา 26 ปี ใบประทานบัตรของเขาหมดแล้ว มื้อนี้มาถึงแล้ว” สอน คำแจ่ม ผู้สูญเสียสามีจากการต่อต้านเหมืองหินดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู กล่าว 

หลังจากเข้ายึดพื้นที่ได้สำเร็จ ชาวบ้านได้ทำกิจกรรมหว่านเมล็ดปอเทือง ซึ่งเป็นดอกไม้เพื่อให้โรงโม่หินกลายเป็นสวนดอกไม้ และปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูภูผาฮวกที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอย-นากลาง  

“เราจะเปิดโอกาสให้เอกชนมาเคลื่อนย้ายเครื่องจักร สิ่งปลูกสร้าง และวัสดุสิ่งของต่างๆ ให้ออกไปจากพื้นที่” วิลัย อนุเวช ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ อ่านประกาศ

จากนั้น วิลัย อนุเวช ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได อ่านประกาศบริเวณโรงโม่หินของเอกชนโดยมีใจความว่า เป็นเวลาถึง 26 ปี แล้วที่การพัฒนา ต.ดงมะไฟและตำบลใกล้เคียง ตกอยู่ในความขัดแย้งและข้อถกเถียงถึงเรื่องความเลวร้ายของโรงโม่หิน 

เธออ่านประกาศอีกว่า นับแต่นี้ราจะพัฒนาดงมะไฟ เราจะก้าวออกจากความเลวร้ายไปสู่สิ่งใหม่ เพื่อพัฒนาดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม และอารยธรรมโบราณคดี 

“การจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องขุดรากถอนโคนเหมืองหินแห่งนี้ให้สิ้นซากวันนี้ เราได้มายึดเหมืองหินและเขตสัมปทานเหมืองหิน เมื่อวันที่  3 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา เพื่อจะเปลี่ยนเหมืองหินและโรงโม่หินให้เป็นสวนดอกไม้และป่าชุมชน” ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์อ่านประกาศ

วิลัยยังอ่านประกาศอีกว่า ทั้งนี้ฤดูฝนหน้าเราจะนำกล้าไม้มาปลูกให้ทั่วพื้นที่  225 ไร่ ที่เคยเป็นเขตเหมืองหินและโรงโม่หิน เราได้วางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามความฝันอันแรงกล้าว่า 10 ปีข้างหน้า ความฝันของเราก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง 

“เราจะเปลี่ยนดงมะไฟให้สวยงาม สงบสุข และต้อนรับคนที่มาเยือน ขอให้หน่วยงานราชการจงรู้ว่า พื้นที่นี้ไม่ใช่ของโรงโม่หินแล้ว อย่าได้บิดเบือนข้อกฎหมายใด ๆ เพื่อรับใช้นายทุน และเราจะดำเนินการเอาผิดต่อข้าราชการอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะการใช้เอกสารเท็จอนุญาตให้บริษัทเอกชนต่ออนุญาตการทำเหมือง” วิลัยกล่าวและว่า “เราจะเปิดโอกาสให้เอกชนมาเคลื่อนย้ายเครื่องจักร สิ่งปลูกสร้าง และวัสดุสิ่งของต่างๆ ให้ออกไปจากพื้นที่”

กองหินปูนที่ถูกแปรรูปเพื่อใช้ในการก่อสร้างถูกกองไว้บริเวณโรงโม่หินของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ​ จำกัด

ทั้งนี้ในพื้นที่โรงโม่หินของ บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ ยังคงมีกองหินปูนที่ถูกบดแล้วกองอยู่หลายตัน และยังคงมีรถแบ็คโฮจอดอยู่จำนวน 5 คัน รวมทั้งยังมีพนักงานมาดูแลทรัพย์สินให้บริษัทเอกชนจำนวน 6 คน 

นอกจากนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำพิธีปักหมุด “ป่าชุมชน” และขอขมาแม่ธรณี พร้อมกับแสดงสัญลักษณ์ประกาศฟื้นฟูเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน 225 ไร่ ให้เป็นเขตป่าชุมชนด้วยการร่วมกันจับมือเป็นวงกลมล้อมรอบกองหิน พร้อมกับประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ปิดเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน 2. ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และ 3. พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและแหล่งอารยธรรมโบราณคดี 

ต่อมาชาวบ้านยังได้ทำกิจกรรมสวมหน้ากากรูปหน้าของเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ถูกขู่ลอบทำร้ายและมีข้อความที่เขียนใส่กระดาษขนาดใหญ่ว่า “ถ้าคุณจัดการเลิศศักดิ์ 1 คน ก็จะมีอีกเป็นร้อยเป็นพัน” พร้อมกับแฮชแท็ก #เคียงข้างนักปกป้องสิทธิ

กิจกรรมในวันนี้ ชนินทร์ เหตุปราชญ์ ผอ.สำนักมาตราฐานและติดตามการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้นำทีมมาสังเกตการณ์พร้อมกับกล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับการร้องเรียนกรณีเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูกข่มขู่คุกคาม จึงได้มาสังเกตการณ์กิจกรรมและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว 

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และกลุ่มนักศึกษาดาวดินร่วมกันยกเสาหมุดที่มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ไว้บนกองหินปูนสำเร็จรูป

จากนั้นคณะ กสม. จะส่งเรื่องให้ทางเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแลเรื่องนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ทาง กสม. ยังประสานไปที่ DSI เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในกรณีที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ และกรมคุ้มครองสิทธิก็อาจจะเข้ามาช่วยในเรื่องคุ้มครองพยาน ส่วนจะเป็นรูปแบบใดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของกรณี และจะมีการติดตามผลความคืบหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ได้ประกอบกิจการเหมืองหินปูนมาตั้งแต่ปี 2536 ในพื้นที่เขตป่าสงวนป่าเก่ากลอย-นากลาง โดยแบ่งพื้นที่เป็นเขตสัมปทานจำนวน 175 ไร่ ซึ่งสิ้นสุดการเข้าใช้พื้นที่ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2563 และกรมป่าไม้ไม่ต่อใบอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่ ส่วนพื้นที่โรงโม่หินกว่า 50 ไร่ก็สิ้นสุดลงเมื่อวานนี้ (24 กันยายน 2563) และกรมพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ต่อใบอนุญาต

image_pdfimage_print