ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ

แม้ความหวังและความฝันของภาคประชาชนเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ต่างตั้งตารอให้รัฐสภาล่างและสภาสูงพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในขั้นรับหลักการ แต่ทว่าไม่สำเร็จ เนื่องจากที่ประชุมรัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับจากทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านและของภาคประชาชนไปอีก 30 วัน

โดยในวันเดียวกันนั้นภายนอกรัฐสภาก็มีผู้ชุมนุมปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ที่มาของรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งเป็นที่มาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริงด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 บริเวณสวนเรืองแสง ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น กลุ่มอีสานปลดแอก ปลาแดกจงเจริญ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปราศรัย “ถามหา How to สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อย่างเข้มข้น

รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างมาเพื่อพวกเรา 

รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งรับหน้าที่หาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาที่เห็นได้ชัดจากคำพูดของนักการเมือง 2 คน คือ 

หนึ่ง รัฐมนตรีจากพรรคฝ่ายรัฐบาลที่เคยบอกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์ (ออกแบบ) มาเพื่อพวกเรา” 

สำหรับ รังสิมันต์ คำว่า “พวกเรา” หมายถึงพวกเขาที่อาจจะไม่มี “พวกเรา” ซึ่งก็คือพวกเราประชาชนในประเทศนี้ 

“มันสะท้อนว่า นี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ประชาชนทุกคนทุกกลุ่มจะยอมรับว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของพวกเรา” รังสิมันต์กล่าว 

รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ขณะปราศรัยบนเวที  “ถามหา How to สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 

อีกคนคือ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ร่างแรก กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาแบบนี้ก็เพราะ “พวกเขาอยากอยู่ยาว” ซึ่งมีความหมายคล้ายกับข้างต้น

สำหรับรังสิมันต์ 2 ประโยคข้างต้นสะท้อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยากและอาจไม่มีทางแก้ไขได้เลย 

ที่มาไม่ชอบธรรม

นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า ฝ่ายที่ต้องการให้มีการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่างกล่าวหาว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีที่มาที่ไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย 

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาตั้งแต่เรื่องที่มา เริ่มต้นจากการทำประชามติที่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนไม่เห็นด้วยรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนถึงข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้” รังสิมันต์กล่าว

รังสิมันต์คือหนึ่งในผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองและข้อหาตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ ช่วงที่เขาและเพื่อนกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นสาเหตุทำให้เขาต้องถูกฝากขังที่ศาลทหารนาน 12 วัน 

ต้องแก้เอาซากเดนเผด็จการออกจากระบบ

รังสิมันต์ยกตัวอย่างเหตุผลที่ต้องแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจกับฝ่ายรัฐบาลขณะนี้ผ่านการให้อำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ที่ยึดอำนาจแล้วฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อเข้ามาบริหารประเทศ และ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี 

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง คือการเอาซากเดนของระบบเผด็จการออกจากระบบทั้งหมด นี่คือความตั้งใจของพวกเรา” รังสิมันต์ปราศรัย 

2 หนทางแก้ 1 เป้าหมาย

รังสิมันต์อธิบายวิธีการที่ฝ่ายค้านผลักดันที่มี 2 แบบ แต่มีเป้าหมายเดียว คือการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแท้จริง วิธีการแก้ไขในรายมาตราคือ หากต้องการแก้ไขเรื่องไหน ประเด็นอะไรก็แก้ไขมาตรานั้น โดยใช้ระบบรัฐสภาในการแก้ เช่น การแก้ไขในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 

“หากต้องการยุบอำนาจ ส.ว. เพื่อตัดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ข้อดีคือไม่จำเป็นต้องทำประชามติ” รังสิมันต์กล่าว

กิจกรรมเขียนความหวังและความฝันในอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจำลอง ภายในงาน  “ถามหา How to สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

ทั้งนี้ เขามองว่า วิธีการนี้ก็มีจุดอ่อน เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติบางเรื่องบางประเด็น โดยใช้เวลาแก้ไขมากที่สุดไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น

อีกหนึ่งวิธีคือ การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น โดยให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งกระบวนการนี้จะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกปัญหา ทุกเรื่องที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อเสียคือ ต้องลงประชามติและเลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่ใน ส.ส.ร. อีกทั้งรับฟังความต้องการของประชาชน ซึ่งต้องใช้เวลานานมาก คาดว่าจะใช้เวลาสูงสุดไม่เกิน 2 ปี 

“แต่แนวทางของฝ่ายค้านคือ ต้องการตัดอำนาจ ส.ว. ที่เลือกนายกฯ ออกไป แล้วเวลาเดียวกันก็เสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” รังสิมันต์กล่าว    

ส่งต่อความคิด ลงถนน เคลื่อนไหวนอกสภาฯ 

หากรัฐสภายังไม่สามารถผลักดันข้อเสนอของประชาชนได้ในตอนนี้ รังสิมันต์เสนอว่าให้รัฐสภายังคงผลักดันข้อเสนอต่อไป แต่ภายนอกสภาฯ ภาคประชาชนก็ต้องร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องนี้อีกทาง รวมถึงประชาชนต้องส่งต่อ พูดคุยเรื่องการเมือง ความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

“แม้การชุมนุมของประชาชน นักเรียน นักศึกษาที่ออกมากันกว่าแสนคน ส.ว. ยังไม่ฟัง ดังนั้นครั้งหน้าต้องออกมา 1 ล้านคน ไม่จำเป็นต้องยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน แต่เราเพียงแค่ร่วมกันสื่อสารความต้องการไปยังเจ้าของ ส.ว. ตัวจริงให้ เจ้าของ ส.ว. มาคุยกับประชาชน แล้วให้เขากดปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยตัวเขาเอง” ส.ส.พรรคก้าวไกลปราศรัย

อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้ขึ้นปราศรัย “ถามหา How to สู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” 

ด้าน อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวบางช่วงถึงวิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่า เมื่อวันนี้เราไม่สามารถใช้รัฐสภาในการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญได้ ต่อไปต้องพึ่งพาหนทางนอกรัฐสภา 

“ทางเดียวที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้ คือการลงท้องถนนอย่างเดียว ไม่มีทางอื่น ต้องไปชุมนุมเรียกร้อง ต่อไปนี้ การชุมนุมที่เป็นเพียงแค่การชุมนุมไปแล้วกลับ ไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน จะไม่มีต่อไป การชุมนุมที่จะมีในครั้งต่อไป ถ้านายกฯ และ ส.ว. ไม่ออก ไม่มีทางหยุดการชุมนุม” อานนท์กล่าว

ประชาชนต้องมีฉันทามติร่วม

ขณะที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนคณะรณรงค์เพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กล่าวว่า วิธีการที่จะทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนประสบความสำเร็จนั้นคือประชาชนต้องมีฉันทามติร่วมกันว่าจะแก้ไขหรือร่างเพื่ออะไร

เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีต 2 เหตุการณ์ ที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมเกิดฉันทามติร่วมเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ คือ ช่วง “14 ตุลาคม 2516” ที่ได้รัฐธรรมนูญปี 2517 และช่วง “พฤษาคม 2535” ที่ได้รัฐธรรมนูญปี 2540

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ตัวแทน “คณะรณรงค์เพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” (ครช.)

“ตอน 14 ตุลาคม 2516 สังคมมีฉันทามติร่วมกันว่า ศัตรูของประชาชนคือเผด็จการทหารที่อยู่ในอำนาจอยู่อย่างยาวนาน ส่วนตอนพฤษภาคม 2535 ศัตรูของประชาชนคือนักการเมืองที่ทุจริตการเลือกตั้ง ซื้อเสียง ทุจริตคอรัปชั่น นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ข้อเรียกร้องสำเร็จ” อนุสรณ์กล่าว 

อนุสรณ์กล่าวอีกว่า แต่ปัจจุบัน สภาพสังคมไทยไม่ได้มีฉันทามติร่วมกันชัดเจน คือไม่มีศัตรูทางการเมืองร่วมกัน เพราะสังคมมีความขัดแย้งสองฝ่ายชัดเจน 

สำหรับอนุสรณ์ ความเห็นพ้องต้องกันในสังคมคือสิ่งที่พวกเราต้องหาร่วมกัน ต้องทำให้ระบบคุณค่า-ความสัมพันธ์ทางสังคมไปในทิศทางเดียวกัน แต่สังคมไทยเรายังไม่มีระบบคุณค่าที่สอดรับกัน 

เขากล่าวอีกว่า ฝรั่งเศส-อเมริกา ก่อนที่ประเทศจะเป็นประชาชนธิปไตย ก็มีการปฏิวัติประชาชน ปฏิวัติทางสังคม มีการปฏิวัติหลายอย่าง ซึ่งการปฏิวัติเหล่านั้นเกิดขึ้นจากการที่สังคมมีระบบคุณค่า ความสัมพันธ์ทางสังคมเหมือนกันก่อนแล้ว มันถึงนำมาซึ่งการมีสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดที่ทุกคนยอมรับกันเป็นทางการ 

“ก่อนจะมีสิ่งเหล่านั้น สังคมต้องเป็นประชาธิปไตยก่อน มันต้องเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอให้ทุกคนเท่าเทียมกัน” อนุสรณ์กล่าว  

แต่เมื่อดูในสังคมไทย อุปสรรคข้อใหญ่ในการเขียนกติกาการอยู่ร่วมกันของประชาชนกลับคือการจัดความสัมพันธ์เป็นแนวตั้ง ที่มีชนชั้น ซึ่งแต่ละช่วงชั้นก็ยึดโยงอยู่กับอายุ สภาพทางสังคม เพศสภาวะ ความเป็นกลุ่มชาติพันธ์ ฯลฯ ซึ่งยากต่อการมีฉันทามติร่วมกัน 

ทั้งนี้  สุทิน คลังแสง ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย มีกำหนดจะขึ้นเวทีนี้ด้วย แต่เมื่อถึงเวลา เขากลับขอไม่ขึ้นเวทีปราศรัย

image_pdfimage_print