วีรวรรธน์ สมนึก เรื่อง 

ในวันที่บานประตูของสำนักงานโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน Council on International Educational Exchange (CIEE) ปิดตัวลง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เพราะพิษโควิด -19 

แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่กลับมีเรื่องราวมากมายน่าบันทึกไว้ เพราะเกือบ 3 ทศวรรษของการเปิดประตูอีสานสู่สายตานักศึกษาชาวอเมริกัน ถือเป็นการเปิดโลกการศึกษาอย่างที่ไม่มีที่ไหนในประเทศไทยเปิดหลักสูตรการเรียนรู้ในลักษณะนี้ 

เดวิด สเตร็คฟัสส์ ชาวอเมริกันและอดีตผู้อำนวยการโครงการ CIEE ขอนแก่น เล่าที่มาที่ไปว่า โครงการฯ นี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ที่ จ.ขอนแก่น เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย 2 ปีแรกเน้นสอนภาษาไทยให้กับนักศึกษาแลกเปลี่ยนอย่างเดียว ต่อมาปี 2537 หลังจากมารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฯ จึงต้องการพัฒนาหลักสูตรที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง 

“ทหารเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ควรศึกษา เราเลยพานักศึกษาไปนอนที่ค่ายสีหราชเดโชชัยและค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น อย่างละ 1 คืน เพื่อแลกเปลี่ยนว่าทำรัฐประหารทำไม” เดวิด สเตร็คฟัสส์ อดีต ผอ.โครงการ CIEE ขอนแก่น 

การเรียนรู้จากคนสู่คน

หลังจากนั้นเขาพยายามค้นหารูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่และเหมาะกับนักศึกษา โดยขอคำแนะนำจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่เป็นนักการศึกษาและนักวิชาการ ทำให้มีโอกาสพบ เดชา เปรมฤดีเลิศ และ บำรุง บุญปัญญา สองนักพัฒนาเอกชนอีสาน ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ร่วมออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ที่เรียกว่า “people to people learning” หรือ “การเรียนรู้จากคนสู่คน”  

“นักศึกษากลุ่มแรกจำนวน 15 คน มาอยู่เมืองไทยประมาณ 2 เดือน เราก็พาไปเรียนรู้ปัญหาเขื่อนปากมูล เขื่อนราษีไศล สลัม 4 ภาค โดยมีผมเป็นล่าม เมื่อปี 2542 สมัชชาคนจนเคลื่อนไหวต่อต้านเขื่อนปากมูล เราก็พานักศึกษาไปกินนอนกับชาวบ้านที่ต่อต้านเขื่อน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ไปนอนกับชาวบ้านที่เห็นด้วยกับเขื่อน แล้วก็สัมภาษณ์ชาวบ้านเพื่อนำมาเขียนประวัติศาสตร์ชุมชน หรือ Community History Series แล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นไทยและอังกฤษ ซึ่งต่อมางานวิจัยนั้นก็มีความสำคัญต่อชาวบ้าน”อดีต ผอ.โครงการ CIEE ขอนแก่น เล่าความสำเร็จอย่างหนึ่งของหลักสูตรนี้ 

เขาออกตัวว่า หลักสูตรนี้มีนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง CIEE เป็นเพียงแค่ผู้อำนวยความสะดวกให้เท่านั้น โดยพยายามกระตุ้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้เพื่อเข้าใจสิทธิมนุษยชนและเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น 

ต่อมาปี 2547 โครงการ CIEE ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการประสานงานพัฒนาองค์กรเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนและจัดงานสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยนำชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิมาพูดคุยหารือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งจัดต่อเนื่องกระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จากนั้นการทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนก็ทำได้ยากขึ้น 

“ตอนนั้นทหารมีคำสั่งห้ามจัดงาน เราก็มองว่าทหารเป็นอีกหนึ่งชุมนุมที่ควรศึกษา เราเลยพานักศึกษาไปนอนที่ค่ายสีหราชเดโชชัยและค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น อย่างละ 1 คืน เพื่อแลกเปลี่ยนกับทหารว่าทำรัฐประหารทำไม เพราะตอนนั้นเขาโฆษณาว่าการรัฐประหารดี แต่เราก็มีเวลาน้อยเกินไปที่เข้าใจคำอธิบายของทหารอย่างถ่องแท้ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่ารัฐประหารดีอย่างไร” อดีต ผอ.โครงการ CIEE เล่าประสบการณ์ตรง  

เดวิด สเตร็คฟัสส์ พานักศึกษาลงพื้นที่เหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี เมื่อปี 2553 เครดิตภาพ Ashley Daniel

นักศึกษากับสิทธิมนุษยชน 

นอกจากการพานักศึกษาต่างชาติเรียนรู้ปัญหากับชาวบ้านในภาคอีสานแล้ว ผู้เรียนในหลักสูตรนี้ยังได้เรียนรู้ปัญหาในภูมิภาคอื่นๆ บางครั้งทีมงาน CIEE ขอนแก่นก็พานักศึกษาไปพูดคุยกับชนเผ่าปะกาเกอะญอที่ภาคเหนือ หรือแม้กระทั่งพูดคุยกับกลุ่มผู้หญิงขายบริการที่กรุงเทพฯ เป็นต้น 

“ผลงานที่ทำให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนและทีมงาน CIEE ขอนแก่น ภูมิใจคือ การทำรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและวัฒนธรรม เป็นการศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยมีข้อกำหนดของสหประชาชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง เราทำทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เริ่มทำตั้งแต่ปี 2552 ต่อมารายงานเหล่านั้น ชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิในโครงการต่างๆ ก็ใช้อ้างอิงในศาล อย่างกรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย เป็นต้น” อดีต ผ.อ. CIEE ขอนแก่นกล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม 

นอกจากนี้นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวอเมริกันยังได้ระดมเงินทำห้องสมุดเล็กๆ ในชุมนุมที่พวกเขาลงพื้นที่ รวมทั้งมีความพยายามระดมทุนเพื่อตั้งพิพิธภัณฑ์การต่อสู้ของชาวบ้านนาหนองบงที่ค้านเหมืองทองคำ จ.เลย 

“อาจจะดูแปลกที่เป็นนักศึกษาฝรั่งมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนสังคมอีสาน แต่หลัง รัฐประหารปี 2557 มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ไม่สนับสนุนเรื่องอ่อนไหว เขาอยากให้นักศึกษาไปดูการทอผ้า การปั้นหม้อ การท่องเที่ยว มากกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน และการลงพื้นที่ก็ทำได้ยากขึ้น” เขาเล่าอุปสรรคในช่วงการทำงานหลังรัฐประหาร 2557 

โครงการ CIEE ขอนแก่น ถือเป็นสะพานเชื่อมให้นักศึกษาอเมริกันเรียนรู้ปัญหาจากประเทศไทยมาแล้วหลายรุ่น โดยมีนักศึกษาบางกลุ่มเมื่อกลับไปประเทศบ้านเกิดก็ได้ตั้งองค์กรชื่อ Educational Network for Global and Grassroots Exchange (Engage) เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐในอเมริกา เช่น ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในรัฐเคนตักกี้และลอสแอนเจลิส เป็นต้น 

“หลังรัฐประหาร ทุกชุมชนต่างนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะชาวบ้านถูกรัฐควบคุมการแสดงออก และนักศึกษาก็มีความสนใจประเด็นปัญหาของสังคมน้อยลง” จอห์นมาร์ก เบลลาโด อดีตหัวหน้าฝ่ายนำนักศึกษาลงพื้นที่

CIEE ปิดตัว แต่ความทุกข์ยากยังอยู่ในผู้คน 

แม้โครงการ CIEE ขอนแก่นจะปิดตัวลง เพราะพิษร้ายจากการระบาดของโรคโควิด – 19 และทำให้บุคลากรของหน่วยงานนี้ต้องกระจัดกระจายแยกย้ายกันไป แต่พวกเขายังเต็มไปด้วยความหวังว่า สักวันพวกเขาจะกลับมารวมตัว แล้วพานักศึกษาต่างชาติลงพื้นที่เพื่อศึกษาปัญหาของสังคมไทยอีกครั้ง  

จอห์นมาร์ก เบลลาโด อดีตหัวหน้าฝ่ายนำนักศึกษาลงพื้นที่และล่ามแปลภาษา เป็นหนึ่งในบุคลากรที่หวังว่า การศึกษาแบบนี้จะกลับมาอีก เพราะกว่า 15 ปีที่ลงพื้นที่ร่วมกับนักศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทำให้หัวใจของเขาเข้าใจมนุษย์และความทุกข์ยากของผู้คนมากขึ้น 

ประสบการณ์การลงพื้นที่ครั้งแรกของจอห์นมาร์กกับ CIEE เกิดจากการพานักศึกษาไปเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้การเมืองภาคประชาชนอย่างแท้จริง 

“ตอนไปเขื่อนปากมูลครั้งแรก ผมรู้สึกทึ่งมาก ผมคุยกับแกนนำหลายคน อย่าง สมปอง (เวียงจันทร์) ความรู้และมุมมองที่เธอมีไม่เหมือนคนจบ ป.4 ตอนแรกก็ไปเป็นล่ามเฉยๆ นับจากวันนั้นผมก็สนใจการเมืองและสังคมขึ้นมาทันที” จอห์นมาร์กกล่าวพร้อมหัวเราะลั่น 

จอห์นมาร์ก พานักศึกษาชาวอเมริกันลงพื้นที่ศึกษาปัญหาการจัดการขยะบริเวณบ้านคำบอนน้อย อ.โนนท่อน จ.ขอนแก่น เมื่อปี 2552 เครดิตภาพ จอห์นมาร์ก

นักศึกษาอเมริกันเรียนรู้ปัญหาจากชุมชน  

โครงการแลกเปลี่ยน CIEE มีสาขา 27 แห่งทั่วโลก แต่ละแห่งก็จัดการศึกษาแตกต่างกัน ส่วน CIEE ประเทศไทย สำนักงานจังหวัดขอนแก่น จะมีนักศึกษาจากอเมริกามาแลกเปลี่ยน 2 ครั้งต่อปี รอบแรกคือช่วงต้นเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม และรอบที่ 2 ประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม เพื่อศึกษาด้านสาธารณสุข วารสารศาสตร์ และอื่นๆ โดยทุกคนจะได้ลงพื้นที่และอยู่ร่วมกับครอบครัวในชุมชนเพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงประเด็นปัญหาของชาวบ้านอย่างน้อย 5 ครั้งต่อหนึ่งเทอม โดยแต่ละครั้งก็จะอยู่กับชาวบ้าน 1 สัปดาห์  

“หลังรัฐประหารทุกชุมชนต่างนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะชาวบ้านถูกรัฐควบคุมการแสดงออก และนักศึกษาก็มีความสนใจประเด็นปัญหาของสังคมน้อยลง” จอห์นมาร์กเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557  

แม้ว่าจะมีปัญหาระหว่างการจัดการศึกษา แต่เขาคิดว่า การพานักศึกษาลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหากับชาวบ้าน จะสามารถสร้างจิตสำนึกให้เกิดกับคนรุ่นใหม่ได้ไม่มากก็น้อย 

Vanessa Moll (วาเนสซ่า มอลล์) อดีตนักศึกษาแลกเปลี่ยนโครงการ CIEE ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภาษาไทยเบิกโลกการเรียนรู้ 

การได้ลงพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ทำให้ Vanessa Moll (วาเนสซ่า มอลล์) อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วอชิงตัน ดีซี ตัดสินใจอยู่ประเทศไทยต่อ และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสถาบันภาษามหาวิทยาลัยขอนแก่น 

“ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักประเทศไทยมากนัก รู้แค่ว่าอยู่ตรงไหนจากแผนที่ พอมาเป็นนักศึกษาในโครงการ CIEE เมื่อปี 2548 ก็ได้ไปศึกษาชุมชนแออัดริมทางรถไฟและโรงขยะคำบอน จังหวัดขอนแก่น และศึกษาปัญหาในที่อื่นๆ ทำให้รู้สึกว่า ภาคประชาสังคมสำคัญแค่ไหน” วาเนสซ่าเล่าประสบการณ์ตรงจากการลงพื้นที่ด้วยภาษาไทยอย่างคล่องแคล่ว  

การศึกษาจากโครงการ CIEE ได้เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล หลังจากจบการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา เธอจึงกลับมาประเทศไทยเมื่อปี 2550 และตัดสินใจอยู่ยาวจนกระทั่งตอนนี้ 

“การศึกษากับ CIEE ทำให้เข้าใจชุมชน ทำให้รู้ว่า การศึกษามันไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียนอีกต่อไป” เธอกล่าวและว่า “เมื่อรู้ว่า CIEE ถูกปิดจึงเสียดายมาก อยากให้มีการจัดการศึกษาแบบนี้อีก”  

ระนอง กองแสน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

พื้นที่ปัญหาเป็นโรงเรียนให้นักศึกษา 

การจัดการศึกษาแบบการเรียนรู้จากคนสู่คนทำให้ “พื้นที่” ถือเป็นโรงเรียนให้กับนักศึกษา ขณะเดียวกันก็สร้างสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงระหว่างนักศึกษาต่างชาติกับคนในชุมชนอย่างแยกกันไม่ขาด 

ระนอง กองแสน หรือที่ชาวบ้านเรียกปิดปากว่า แม่รจน์ วัย 59 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดที่ร่วมกันคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ถือเป็นครูคนหนึ่งของนักศึกษา CIEE โดยเธอมีความทรงจำอันงดงามกับนักศึกษาต่างชาติที่ต่างผูกพันกันเป็นลูกหลาน 

“ช่วงปี 2552 การต่อสู้ชาวบ้านเข้มข้มมาก แม่ยอมรับว่าไม่เคยเห็นฝรั่งมาก่อน ก็ดีใจที่พวกเขามาเยี่ยม ตอนนั้นนักศึกษาก็แยกกันนอนตามบ้านชาวบ้านและแลกเปลี่ยน  เรื่องการต่อสู้ เรื่องวิถีชีวิต ซึ่งต่อมานักศึกษาต่างชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”ระนองเล่าความรู้สึกที่มีต่อนักศึกษาชาวอเมริกัน 

เธอบอกอีกว่า ประทับใจนักศึกษา CIEE หลายรุ่น โดยเฉพาะรุ่นที่มาเมื่อปี 2553 ที่ช่วยทำงานวิจัยและทำประวัติชุมชนด้านเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังช่วยทำเว็บไซต์เรื่องสินค้าท้องถิ่นประเภทผ้าทอ แล้วนำผ้าไปขายที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการระดมทุนสร้างศูนย์ทอผ้ากลุ่มรักษ์บ้านเกิดนาหนองบง ซึ่งต่อมาเป็นแหล่งรวมตัวของชาวบ้านในการต่อสู้เรื่องเหมือง

“พอชาวบ้านรู้ว่า นักศึกษา CIEE จะมา พวกเราก็ตั้งตารอและรักพวกเขามาก รักเหมือนลูกเลย เพราะรู้สึกซาบซึ้งมากที่นักศึกษาทำเรื่องของพวกเราให้คนรู้จักมากขึ้น เขาเป็นอีกแรงในการขับเคลื่อนของชาวบ้าน แม้เราจะอยู่กันคนละซีกโลก แต่ก็รำลึกถึงเสมอ” ระนองกล่าว

ภาพมุมสูงเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ถ่ายเมื่อปี 2559 ภาพจาก Fortify Rights

การต่อสู้ของกลุ่มคนรักบ้านเกิด จ.เลย จึงถือเป็นตำนานการต่อสู้ของชาวบ้านนาหนองบง ที่ไม่สยบยอมกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนและวิถีชีวิต โดยเฉพาะเมื่อพบว่า สารเคมีจากบ่อกักเก็บสารโลหะหนักจากการแต่งแร่ทองคำไหลลงชุมชนและแหล่งน้ำจนเกิดผลกระทบตามมาเป็นหางว่าว

ความสำเร็จที่สามารถปิดเหมืองแร่ทองคำได้ ส่วนหนึ่งก็มีนักศึกษาต่างชาติในโครงการ CIEE เป็นผู้ขับเคลื่อน

“รู้สึกใจหายที่โครงการ CIEE ประเทศไทยถูกปิดไป หากเป็นไปได้ก็อยากให้นักศึกษามาลงมาพื้นที่เหมือนเดิม ที่นี่ยังรอต้อนรับเสมอ” ระนอง ผู้ได้รับรางวัล ‘ผู้หญิงปกป้องสิทธิชุมชนจากการทำเหมือง’ เมื่อปี 2559 จากการปกป้องชุมชน กล่าวด้วยความอาลัยในการปิดตัวของโครงการ CIEE 

image_pdfimage_print