แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เรื่องและภาพ
ฉันอาศัยอยู่กับครอบครัวแม่ไหม่ ที่นาหนองบง จ.เลย มีอุปกรณ์พร้อม ประกอบด้วยด้วยโน้ตบุ๊ค การ์ดอินเทอร์เน็ต กล้องพร้อมอุปกรณ์อื่นๆ เสื้อผ้าที่เตรียมไปต้องไม่โป้ ไม่หวิว มีแต่กางเกงขายาว ผ้าถุง และเสื้อยืดแบบเรียบง่ายเท่านั้น เป็นหลักปฏิบัติที่เคร่งครัดตามประสาอดีตบัณฑิตอาสาที่เคยเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านบนดอยมาก่อน ที่ขาดไม่ได้คือยาสูบหลายคอตตอนที่ซื้อตุนไว้ก่อนจะเข้าหมู่บ้าน เพราะอาจได้กลับกรุงเทพฯ เดือนละครั้งสองครั้งเพื่อซักผ้าเท่านั้น หาซื้อข้าวของที่จำเป็น ถามไถ่ดูแลงานจากเพื่อนในสำนักพิมพ์บ้างหรือมีประชุมที่จำเป็นต้องเข้าร่วมบ้าง
ปลายปี 2556 ชีวิตของฉันในหมู่บ้านนาหนองบงชุลมุนวุ่นวายมาก อย่างแรกต้องปรับหูกับภาษาไทเลยที่มีสำเนียงต่างจากภาษาอีสานที่เคยได้ยินได้ฟังจากหมู่เพื่อนๆ และต้องจำชื่อชาวบ้านให้ได้ แม้คู่สามีภรรยาในหมู่บ้านจะมีชื่อเรียกเหมือนกันตามลูกชายคนโต แต่กระนั้นก็ยังยากสำหรับฉันที่จะจำชื่อทุกคนให้ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นฉันจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเรียก “พ่อ” “แม่” เฉยๆ และเรียกแทนตัวเองว่า “หนู”
ชีวิตประจำวันอาทิตย์แรกๆ ตื่นแต่ตีห้ามาช่วยแม่ไหม่ทำกับข้าว ได้สูตรเด็ดมากมายในการทำอาหารอีสาน รีบเก็บที่นอนหมอนมุ้งให้เรียบร้อยโดยใช้เวลาไม่กี่นาที เพราะที่นอนเป็นที่นอนยัดนุ่นขนาดเล็กกว้างประมาณสองฟุตครึ่ง แม่ไหม่จะขำๆ เพราะความยาวของที่นอนและผ้าห่มจะสั้นกว่าความยาวของฉันเล็กน้อย ถ้าวัดความสูงโดยเฉลี่ยของแม่ๆ มาเทียบกัน สัดส่วนจะสูงไม่เกินหน้าอกของฉันกันแทบทุกคน
แม่ไหม่ดูแลทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ในตู้ไม้ขนาดใหญ่มีที่นอน หมอน ผ้าห่มสะอาด เรียงไว้ในตู้มากกว่า 20 ชุด กาน้ำร้อนเสียบปลั๊กไว้พร้อมกาแฟก่อนทุกคนจะตื่น นึ่งข้าวไว้ให้ตาฟลุ๊คใส่บาตข้าวเหนียวก่อนหกโมง กวาดถูบ้านทุกวัน อาหารเช้า 4-5 อย่าง ตั้งสำรับตอนหกโมงเศษ อาหารเที่ยงและอาหารเย็นตั้งสำรับตรงเวลา งานของแม่ไหม่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะมีแขกหนึ่งคนหรือมากกว่าสิบมาพักที่บ้าน แม่ๆ ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านก็ทำงานตรงนี้ได้ไม่ต่างจากแม่ไหม่เช่นกัน
ทุกๆ วันหลังจากพ่อ-แม่ที่เป็นแกนนำทำงานตามปกติเสร็จแล้ว จะมาแวะที่บ้านแม่ไหม่หรือหน้าบ้านแม่รส (ระนอง กองแสน) พ่อไม้มักจะมาแต่เช้าก่อนใครเพื่อหารือกันวงเล็กๆ ถึงสถานการณ์รายวัน ดูข้อมูล เตรียมเอกสารต่างๆ และเตรียมประเด็นประชุมกันในทุกเย็น
วงเช้าจะมี พ่อไม้ พ่อสมัย ฉัน พี่โก (โกวิทย์ บุญเจือ) เอ็นจีโออาวุโสที่ฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านสู้กับชาวบ้านมาตั้งแต่ปี 2552 ปาล์ม (สุทธิเกียรติ คชโส) รุ่นพี่ของดาวดินที่เข้ามาอยู่ในช่วงนั้นด้วย เมื่อหารือกันเสร็จก็แยกย้ายกันไปทำงานตามหน้าที่ พ่อไม้แวะไปคุยต่อกับกลุ่มชาวบ้านที่นอนเฝ้าด่าน ฉันมีงานเอกสาร งานข้อมูล ถ่ายรูปในหมู่บ้าน เขียนข่าวหรือร่างหนังสือทำต่อในช่วงกลางวันแบ่งเบางานมาจากพ่อไม้ ส่วนพี่โกจะชวนปาล์มเดินออกไปคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้าน หรืออาจเดินเลยไปนั่งเล่นกับชาวบ้านที่ด่าน หรือเวียนไปตามหมู่บ้านรอบๆ เหมือง ซึ่งต่อมาฉันกับปาล์มเรียกวิถีประจำวันนี้ของพี่โกว่า “ออกเยี่ยมราษฎร” โดยเราสามคน หรือสองคนรู้สึกเป็นงานประจำที่จะต้องทำทุกวันแล้วแต่เวลาและโอกาสในแต่ละวันที่จะเอื้ออำนวย
พอใกล้ๆ เที่ยงก็จะเป็นเวลาที่แม่ๆ ทั้งหลายมารวมตัวช่วยกันทำอาหาร ทำขนม ทอผ้า นั่งเล่นนอนเล่น ถามไถ่ความเป็นไปสารทุกข์สุกดิบของพี่น้องเครือญาติในชุมชน คอยจัดการการดูแลทั้งพระ ผู้เฒ่า ผู้ป่วย หรือใครมีปัญหาอะไร จะช่วยเหลือกันอย่างไรได้บ้าง เช่น พาไปโรงพยาบาล ทำกับข้าวไปส่ง ไปรับญาติมาเยี่ยม จากนั้นจะอัพเดทความเคลื่อนไหวของฝั่งเหมืองทอง วางแผนงานสำหรับรับแขกหลายกลุ่ม หลายคณะที่กำลังจะทยอยเข้ามาในพื้นที่

ท้องนาในหมู่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย จะปลูกพืชอย่างหลังฤดูการทำนา
โชคดีที่ฉันเข้าไปในช่วงฤดูหนาวหลังเกี่ยวข้าวและปิดหน้ายางแล้ว ชาวบ้านจึงมีเวลาที่จะเวียนกันมานั่งรวมกลุ่มแทบตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะแม่ไหม่ แม่รส แม่ไม้ แม่ป๊อป (พรทิพย์ หงส์ชัย) บ๋อย (ภัทราภรณ์ แก่งจำปา) กวาง (อังศนา พวงไพวัน) ที่มักจะนั่งเป็นหลักเพื่อดึงดูดพ่อๆ แม่ๆ อีกหลายคนที่จะคอยแวะมาถามงานของกลุ่มว่ามีแผนอย่างไรหรือจะทำอะไรกันต่อ
วงคุยตอนเย็นส่วนใหญ่จัดที่บ้านแม่ไหม่ การปรึกษาหารือดำเนินการอย่างจริงจังและค่อนข้างเครียด พ่อไม้จะเข้ามาดูเอกสาร ข้อมูล ข่าวที่จะกระจายให้นักข่าวหรือร่างหนังสือที่ฉันเตรียมไว้และคุยเตรียมประเด็นกับพี่โก เมื่อแกนนำทุกคนมารวมตัวกันพร้อม พ่อไม้กับพี่โกจะช่วยกันชวนทุกคนทำความเข้าใจกับข้อมูล สถานการณ์ วิเคราะห์ ระดมความคิดเห็น และกำหนดออกมาเป็นงานหรือการเคลื่อนไหว มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ที่แต่ละคนจะแยกย้ายกันไปทำ
ส่วนยามค่ำพ่อไม้จะตระเวนอีกรอบไปนั่งเล่นนอนเล่นคุยกับกลุ่มพ่อบ้านที่ผลัดกันมานอนเฝ้าด่าน ในวงล้อมรอบกองไฟ ดาวเต็มฟ้า เวียนเหล้าขาว สูบยาเส้น พันสมุนไพร แต่ฉันไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ออกไปในบรรยากาศนั้น
“มันมืด จะออกไปทำไม” เสียงบ่นของแม่ไหม่จะดังขึ้นทุกครั้งเวลามีคนชวน โดยเฉพาะเมื่อน้องๆ นักศึกษากลุ่มดาวดินเข้ามานอนในหมู่บ้าน
สถานะของฉันจึงเป็นลูกสาวที่พ่อแม่ทุกคนคอยดูแล มีหน้าที่หนุนเสริมการทำงานด้านข้อมูล เอกสาร งานสื่อสารและเป็นตัวกลางประสานระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มเพื่อนพ้องในกรุงเทพ ตอนนั้นฉันมั่นใจมากว่า ฉันเข้ามาเสมือนเป็นลูกหลานจริงๆ “ไม่ใช่เอ็นจีโอ” เหมือนพี่เลิศหรือพี่โก ดังนั้นฉันจะไม่แทรกแซงและไม่แสดงความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน รวมถึงยังมั่นใจด้วยว่า กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เป็นกลุ่มชาวบ้านที่เข้มแข็งแต่ไม่แข็งตัว มีระบบชุมชนและการจัดการภายในที่ดีและสามารถเดินหน้างานของกลุ่มด้วยตัวเองได้
การสื่อสารทำหน้าที่ของมันได้ดี ข่าวชาวบ้านนาหนองบงสร้างกำแพงแล้วถูกนายทุนฟ้องคดี 120 ล้านบาท ยังคงอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เพราะหมายคดียังทยอยมาติดไว้ตามหน้าบ้านของชาวบ้าน ท่ามกลางความวิตกกังวลที่แสดงออกมาตามความรู้สึกของชาวบ้านที่เพิ่งโดนคดีเป็นครั้งแรกในชีวิต กระนั้นแรงกดดันบีบคั้นชาวบ้านจากฝ่ายรัฐและทุนก็ไม่ได้เบาบางลงแม้แต่น้อย
เช้าวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 เสียงคนวิ่งกระหืดกระหอบร้องตะโกนดังขึ้นในหมู่บ้าน “มันมากันแล้ว” “มันจะมาทำลายกำแพง” ปาล์มกับไผ่กระโจนออกจากบ้านไปอยู่รวมกับกลุ่มชาวบ้านที่ออกมายืนขวางบนถนน ตำรวจประมาณ 50 คน ใส่ชุดเต็มยศ ใส่แว่นตาดำ ดาหน้าเข้ามาพร้อมกับรถไถ รถสองแถวใหญ่ รถกระบะในอุปกรณ์เครื่องตัดเหล็กและแก๊สน้ำตา เมื่อเดินมาถึงกลุ่มชาวบ้าน รองผู้กำกับ สภ.วังสะพุง กับหัวหน้าสำนักปลัด อบต.เขาหลวง ปั้นรอยยิ้มออกหน้าเจรจา โดยยืนยันว่าซุ้มประตูโครงเหล็กที่ชาวบ้านสร้างขึ้นอยู่บนทางสาธารณะ ผิดกฎหมาย ต้องทำลายทิ้งและจะขอเข้าตรวจสอบในพื้นที่
ชาวบ้านโต้กลับว่า “ป้ายของหมู่บ้านไม่ได้ขวางทาง รถก็วิ่งเข้า-ออกได้ ชาวบ้านลงเงินกันช่วยสร้างขึ้นมาเอง จะมารื้อได้ยังไง” “ถ้าจะเข้าพื้นที่ให้เข้าแค่ 5 คน”

ตำรวจกว่า 50 คน นำรองผู้กำกับ สภ.วังสะพุง พร้อมอุปกรณ์เครื่องตัดเหล็กและแก๊สน้ำตาเตรียมเข้ารื้อกำแพงของชาวบ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย ภาพเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556
การเผชิญหน้ากินเวลาไม่ถึงชั่วโมง เมื่อชาวบ้านตะโกนพร้อมๆ กัน “ไม่ยอม!ๆๆ” เหล่าชายฉกรรจ์ในแต่งเครื่องแบบเต็มยศพร้อมนายจำยอมถอยกลับ แต่ในขณะที่อารมณ์คุกรุ่นของชาวบ้านยังไม่ทันจาง คืนนั้นรถกระบะติดป้ายทะเบียนจังหวัดเลยคันหนึ่งวิ่งด้วยความเร็วตรงเข้ามาที่หน้าด่านแล้วหักเลี้ยวออกอย่างฉับพลันในระยะห่างก่อนถึงตัวชาวบ้านที่เฝ้าด่านแค่ 10 เมตร ทำให้ชาวบ้านต้องกระโดดหนีกันชุลมุน
5 วันต่อมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดร่วมกับองค์กรพันธมิตรยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขอให้ตรวจสอบเบื้องหลังการยกกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอบต.เขาหลวงเข้ามาเพื่อจะทำลายกำแพงว่ามีความเกี่ยวข้องกับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเคยรับตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ ในบริษัทแม่ของเหมืองทองหรือไม่?
หากเชื่อมโยงกับการใช้กองกำลัง 1,000 คน ซึ่งมีตำรวจร่วมด้วยในการปิดกั้นชาวบ้านไม่ให้เข้าเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเรียกง่ายๆว่า เวที ค.1 แปลงภูเหล็กเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 และการปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าเวที ค.1 แปลงนาโป่ง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ด้วยกำลังตำรวจและพนักงานบริษัทกว่า 700 คน ตำรวจเหล่านี้รับคำสั่งมาจากใคร

สภาพกำแพงใจที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำลายจนได้รับความเสียหาย ภาพเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2556
หลังจากชาวบ้านยื่นหนังสือดังกล่าว วันที่ 6 ธันวาคม 2556 สภ.วังสะพุงก็ออกหมายเรียกชาวบ้าน 22 คน ฐานบุกรุกที่สาธารณะและก่อสร้างสิ่งกีดขวางบนทางสาธารณะ ชาวบ้านหลายคนเชื่อว่า นี่คือการแก้แค้นจากการเสียหน้า ที่ถูกชาวบ้านขวางจนไม่สามารถทำลายกำแพงตามคำสั่งได้สำเร็จ ส่วนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ชาวบ้านยื่นหนังสือให้ตรวจสอบได้เลื่อนขั้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 10 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ภายหลัง คสช. ยึดอำนาจ หมายถึงเสียเวลาเปล่ากับข้อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบของชาวบ้าน
บ่ายวันที่ชาวบ้านได้รับหมายเรียกจาก สภ.วังสะพุง แม่ป๊อป ย้อนเล่าความหลังในวงคุยของกลุ่มแม่บ้านว่า ตอนที่นายกฯ อบต.เขาหลวง พาตำรวจ 100 คน และใช้รถไถดันกำแพง 2 จนพังทลายเมื่อสองเดือนก่อน วันนั้นหนุ่มสาวในหมู่บ้านส่วนใหญ่เพิ่งออกเดินทางไปขายลอตเตอรี่ที่ต่างจังหวัด
“พวกเรามีแต่คนแก่กับแม่บ้าน กำลังน้อย รู้ว่าขวางไม่ได้ ตอนนั้นไม่รู้จะทำยังไงก็ได้แต่ร้องไห้ นั่งลงบนพื้น กราบขอให้พวกมันอย่าทำเลย” สิ้นเสียงแม่ป๊อป แม่ๆ หลายคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์เริ่มยกมือปาดน้ำตา แม้ฉันไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นยังอดรู้สึกเจ็บแปลบไปด้วย แต่เสน่ห์ของแม่ป๊อปคือชอบทำตลกและเป็นคนร่าเริง ครู่เดียวเธอก็เปลี่ยนเรื่องชวนคุยทำให้อารมณ์ของทุกคนดีขึ้นได้แม้ในมือตอนนั้นจะถือหมายเรียกจากตำรวจอยู่ก็ตาม
ฉันไม่ได้อยู่รับรู้สถานการณ์ของชาวบ้านตอนตัดสินใจสร้างกำแพงขึ้นในครั้งแรกและร่วมกันสร้างใหม่ทุกครั้งที่มันถูกทำลาย
“กำแพง ก็เหมือนหัวใจของพวกเรา” แม่ๆ ทุกคนพูดแบบนั้น
ฉันนึกในใจ แม่ๆ จะรู้หรือเปล่าว่าคดีความที่โถมถั่งฟ้องชาวบ้านเข้ามาเรื่อยๆ จากการสร้างกำแพงทำให้พี่เลิศและพี่โกถูกวิพากษ์วิจารณ์จากแวดวงภายนอกอย่างหนักว่า ชี้นำให้ชาวบ้านสู้ผิดทางจนโดนคดี ส่วนพี่โกก็มักจะพูดกับชาวบ้านเสมอว่า “กำแพงเล็กๆ ที่พวกเราสร้างขึ้นมาทำให้เหมืองทำงานไม่ได้และกำลังสั่นสะเทือนสังคม”
เวลาช่วงสั้นๆ ที่ฉันได้เข้ามาอยู่ร่วมกับสถานการณ์นี้ ความซับซ้อนของการชี้นำ การตัดสินใจร่วมหรือการกำหนดอนาคตของตัวเอง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันและแยกออกจากกันไม่ได้ชัดเจน แต่ที่ชัดเจนคือฉันไม่เห็นด้วยเลยกับการวิจารณ์แบบโยนความผิดให้ใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบโดยไม่ได้เข้าใจความเป็นมาเป็นไป โดยเฉพาะไม่ได้เข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของชาวบ้าน
ต้นเดือนธันวาคมมีการจัดกิจกรรม ‘ค่ายอาสาพาน้องทำหนัง เหมืองแร่เมืองเลย’ นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยลงพื้นที่มาทำหนังสั้น งานผ่านไปด้วยดี แต่งานนี้ฉันพลาดเพราะต้องไปดูแลครอบครัวที่กลับมาจากต่างประเทศ
กลับเข้าหมู่บ้านฉันตามไปดูหนังสั้นทั้ง 4 เรื่องที่นักศึกษาทำออกมา เวลาเปิดคอมฯ ฉายหนังทุกครั้งพ่อๆ แม่ๆ ที่นั่งดูอยู่ด้วยจะขำขันกับตัวละครที่แสดงโดยชาวบ้านทุกครั้งไป โดยเฉพาะบทของพ่ออุ้มกับพ่อนาว เห็นทีไรก็หัวเราะกันลั่นสนั่นไปทั้งคุ้ม และเวลานั้นจะเดินไปทางไหนก็ได้ยินบทเพลงเสียงใส “บ่กล้ากินข้าวบ้านเจ้าของ…” ลูกเด็กเล็กแดงยันคนแก่แม่เฒ่า ก็ร้องเพลงนี้ได้กันเกือบทุกคน
ไม่นานเพลง “บ่กล้ากินข้าวบ้านเจ้าของ” ก็กลายเป็นเพลงเปิดในหอกระจายข่าวของหมู่บ้านรอบเหมือง ดังสนั่นไปถึงเชียงคาน ดังไปถึงหน้าศาล และดังถึงหน้าประตูส่วนราชการที่เกี่ยวข้องผ่านเสียงของเด็กๆ ในหมู่บ้าน สำหรับฉันความจริงเนื้อเพลงนั้นแสนเศร้า แต่จังหวะดนตรีทำให้บทเพลงอันแสนเศร้ามีความสนุกสนานและจดจำได้ง่าย ฉันคิดถึง อาจารย์ธีร์ (อันมัย) ที่มาแต่งเพลงนี้กับเด็กๆ และชาวบ้านในช่วงทำค่าย “คนแต่งเป็นอย่างไร เพลงก็สะท้อนตัวตนออกมาแบบนั้น” ฉันนึกนิยมและเกิดความประทับใจเธอตั้งแต่ยังไม่ได้รู้จักกันมากมาย
กลุ่มคนหลากหลายที่เข้ามารวมพลังในหมู่บ้านแห่งนี้และการต่อสู้ของชาวบ้านทำให้ฉันแอบเชื่อว่า ความหวังของชาวบ้านที่ต้องการจะปิดเหมืองให้ได้อย่างถาวร ไม่ไกลเกินเอื้อม
วันที่ 13 ธันวาคม 2556 เป็นวันแรกที่ชาวบ้านไปขึ้นศาล ขบวนรถที่เต็มไปด้วยผู้คนเกือบ 300 คน เรียงยาวกว่าสิบคันเคลื่อนตัวออกจากหมู่บ้าน ภาพเดิมของชาวบ้านเมื่อครั้งยกขบวนพากันเข้ากรุงเทพฯ กลับมาวนซ้ำ พ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายหิ้วขวดน้ำ หิ้วกระติ๊บข้าวเหนียว จูงลูกหลานลงจากรถบนถนนในตัวเมืองและตั้งขบวนเดินเพื่อสื่อสารกับคนเมืองเลยไปถึงหน้าศาล
การเคลื่อนไหวทั้งหมดเป็นไปตามมติของกลุ่มที่กำหนดแผนร่วมกันไว้ “คดีไม่ใช่คดีของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นคดีที่ฟ้องแกนนำหรือตัวแทนของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบรอบเหมืองทอง เราจะใช้คดีเป็นการต่อสู้เชิงรุก”
ในห้องพิจารณาคดี เหมืองทองเจรจายื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านทำลายกำแพงเพื่อถอนฟ้องคดี แต่ชาวบ้านปฏิเสธ แม้รู้ว่าการขึ้นโรงขึ้นศาลสู้หลายคดีจะสร้างภาระให้กับทุกคนในกลุ่มและจะสร้างความยุ่งยากให้กับตัวเองและครอบครัวไปอีกยาวนาน
การขั้นศาลในวันนั้นเป็นครั้งแรกของฉันเหมือนกัน ตอนนั้นใครจะรู้ว่าต่อมาชาวบ้านจะเรียกช่วงชีวิตอีกหลายปีของตัวเองว่า “ชีวิตติดศาล” และฉันเองก็ต้องยอมรับว่า “ถ้าชาวบ้านไม่โดนคดีก็น่าจะขยับการพัฒนากลุ่มและชุมชนไปได้อีกมาก ถ้าไม่ใช่หนทางสุดท้าย การไม่มีคดีดีกว่า สำหรับการต่อสู้ของชาวบ้าน”