แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เรื่อง

กว่า 27 ปี กับการทำงานขับเคลื่อน “การศึกษาเพื่อความเสมอภาค” ในภาคอีสาน CIEE หรือ Council on International Educational Exchange ที่เป็นโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน ได้ส่งนักศึกษาชาวอเมริกันเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน ทั้งในสลัมริมรางรถไฟ หมู่บ้านคัดค้านเหมืองแร่ หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล เขื่อนราศีไศล เป็นต้น 

การจัดการศึกษามีมาต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ คงจะกล่าวได้ว่า CIEE ได้สร้างรูปแบบที่จับต้องได้ของระบบการศึกษาที่ใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้และผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นรูปแบบของระบบการศึกษาที่ประเทศไทยใฝ่ฝันอยากจะเห็นมาแสนนาน แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จ แม้จะปฏิรูปการศึกษามาแล้วหลายครั้ง 

น่าเสียดายที่ CIEE ต้องปิดตัวลงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด – 19 

หลังโครงการ CIEE ปิดตัวลง แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา ได้สัมภาษณ์ “จอห์นมาร์ก เบลลาโด” หัวหน้าฝ่ายนำนักศึกษาลงพื้นที่และล่ามแปลภาษา CIEE กับ 14 ปี ของการเป็น “กระบวนกร” กับคำถามที่ท้าทายว่า การศึกษาเพื่อความเสมอภาคในแบบของ CIEE สามารถพานักศึกษาแต่ละรุ่นและชุมชนข้ามพ้นค่านิยมในสังคมที่ยึดติดกับชนชั้น เช่น คำสอนที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นว่า “ตั้งใจเรียน โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” ได้หรือไม่? 

ตลอดระยะเวลา 14 ปี ในการพัฒนาหลักสูตรที่ออกแบบให้นักศึกษาได้เรียนรู้ปัญหาในภาคอีสานและลงพื้นที่เพื่อศึกษาชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านเฉลี่ย 1 สัปดาห์ต่อเดือน เป็นเวลารวม 4 เดือน จะสามารถตอบได้หรือไม่ว่า การศึกษาทางเลือกสามารถตอบโจทย์ของสังคมได้จริงหรือ?

“การศึกษาได้สร้างวงจรที่เหวี่ยงลูกหลานในชุมชนให้ออกจากหมู่บ้าน องค์ความรู้มากมายที่สะสมอยู่ในชุมชนจึงไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม” จอห์นมาร์ก เบลลาโด​ 

แม้นวาด : ขอเริ่มต้นด้วยคำถามว่า กระบวนการในการสร้าง/ปรับหลักสูตรให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้อย่างไร เพราะแต่ละหมู่บ้านมีปัญหาต่างกัน จุดเน้นของหลักสูตรคืออะไร?

จอห์นมาร์ก – หลักสูตรและกระบวนการที่ออกแบบมา เน้นในตัวผู้เรียนเป็นหลัก เน้นการสร้างกระบวนการกลุ่ม กลุ่มจะร่วมกันคิดว่าเป้าหมายของกลุ่มคืออะไร การแลกเปลี่ยนเชิงความคิด ร่วมกันขบคิด และการพูดคุยถกเถียงจึงเป็นหัวใจสำคัญ 

กระบวนการเรียนรู้ในช่วงเดือนแรก นักศึกษาอเมริกันต้องเรียนภาษาไทยเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เรียนรู้วัฒนธรรม ปัญหาสังคม การเมืองไทย และสถานการณ์ต่างๆ ในภาคอีสาน หลังจากนั้นจะพานักศึกษาลงพื้นที่ประมาณ 5 ครั้ง เพื่อให้เห็นภาพรวมของมิติปัญหาต่างๆ ในภาคอีสาน

เราออกแบบกระบวนการที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ การเข้าไปอยู่ร่วมกับชาวบ้านในหมู่บ้านคือ การสร้างเงื่อนไขต่อเนื่องให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ขบคิด วิเคราะห์ถึงสภาวการณ์ที่ชุมชนกำลังประสบกับปัญหา ซึ่งมีความหลากหลายแตกต่างกัน ได้ร่วมกิจกรรมการทำงานต่างๆ ของชุมชนที่เกิดขึ้น ได้เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เข้าใจถึงผลลัพธ์และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในชุมชนที่มีปัญหาประเด็นร้อน ชาวบ้านเชื่อว่าความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ต้องสร้างขึ้นจากการปฏิบัติและต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้ นี่คือองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษา โดยที่ CIEE มีบทบาทเป็นกระบวนกรในการเอื้ออำนวยให้นักศึกษาเข้าถึงทรัพยากรในการเรียนรู้โดยตรงด้วยตัวเอง

ท้ายที่สุดเมื่อนักศึกษาอยู่กับเราครบ 4 เดือน สิ่งที่เราอยากให้นักศึกษาเห็น คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชนอย่างเสมอภาค แต่ที่เราได้เห็นมากกว่านั้นคือ นักศึกษารู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการต่อสู้ของชาวบ้าน บางครั้งก็ช่วยกันระดมทุนเพื่อให้ชาวบ้านใช้ในการต่อสู้  ค่าใช้จ่ายไปยื่นหนังสือหรือไปชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา รวมทั้งสามารถเสริมในส่วนที่ชุมชนไปไม่ถึงหรือทำไม่ได้ เช่น การสื่อสารรายงานสถานการณ์ รายงานข่าว การเขียนบันทึก การสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ถูกรัฐและเอกชนละเมิดสิทธิเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นระบบ เป็นงานวิชาการที่สามารถใช้อ้างอิงและเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ 

“สำหรับผมเอง แค่นักศึกษาเข้าหมู่บ้านแล้วรู้สึก ‘อิน’ รู้สึกร่วมกับชาวบ้าน แค่นี้ผมก็คิดว่ากระบวนการที่ออกแบบมาสำเร็จแล้ว”

แม้นวาด : การจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้ ชุมชนได้ประโยชน์อะไร? วางเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของชุมชนด้วยหรือไม่ หรือทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้เกิดความคิดว่า ชุมชนเป็นพื้นที่ให้บริการด้านการศึกษาเท่านั้น?

จอห์นมาร์ก : อย่างแรกเลย คือ ชุมชนจะรู้สึกว่ามีมิตรที่พึ่งพาได้ เพราะนักศึกษาที่เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านแต่ละรุ่นก็เหมือนลูกหลานที่เข้าไปช่วยคิดช่วยทำงานในหมู่บ้าน ผมคิดว่าตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเพื่อเตรียมคนเข้าไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายการพัฒนาของประเทศ แม้ว่าในด้านหนึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาในระบบได้เพิ่มขึ้นและต้องใช้เวลาอยู่ในสถานศึกษายาวนานขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามก็ทำให้ครอบครัวและชุมชน ซึ่งเคยมีอำนาจและมีอิสระในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ลูกหลานถูกกันออกไป 

การศึกษาได้สร้างวงจรที่เหวี่ยงลูกหลานในชุมชนให้ออกไปจากหมู่บ้าน องค์ความรู้มากมายที่สะสมอยู่ในชุมชนจึงไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้น แต่ถูกแทนที่ด้วยความรู้ชุดใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐ ทั้งยังเป็นความรู้ที่ตัดขาดไม่ยึดโยงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้เรียนและชุมชน ส่วนใหญ่เป็นคนในชนบท การผูกขาดอำนาจในการจัดการศึกษาจากรัฐจึงไม่ได้ตอบสนองวิถีชีวิตและความต้องการในการพัฒนาศักยภาพหรือสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น กลับทำให้คนในชนบทหันมาให้คุณค่ากับความรู้ในระบบและวิถีชีวิต เช่นเดียวกับสังคมเมือง พลังสร้างสรรค์ของชุมชนจึงถูกลดทอนลง ถูกโดดเดี่ยว และตกอยู่ในภาวะของการพึ่งพิงความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอก ในขณะที่ชุมชนประสบปัญหาขาดแคลนเรี่ยวแรงและแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ในหมู่บ้านมีแต่เด็กเล็กและผู้สูงอายุ ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ถูกแย่งชิงคุกคามหรือถูกทำลายจากนโยบายรัฐหรือโครงการพัฒนาของทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง 

เมื่อการศึกษาในระบบเน้นความรู้เฉพาะวิชาการที่ตอบสนองกับอาชีพในภาคอุตสาหกรรม การศึกษาก็เชื่อมโยงมาถึงคนในชนบทส่วนใหญ่ที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการเกษตรไม่ได้ เป็นความรู้ที่ฝังลึกหรือสร้างสำนึกในบุคคลไม่ได้ ความรู้นั้นก็สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตัวเอง ชุมชน หรือสังคมไม่ได้ 

แม้ว่าแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาจะสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างชุดความหมายใหม่ของการศึกษาที่สนับสนุนให้มีทางเลือกในการจัดการศึกษาที่หลากหลาย ผู้เรียนคือศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิต และให้คุณค่ากับการเรียนรู้ที่ใช้งานได้จริง มากกว่าการให้คุณค่าเฉพาะการเรียนรู้ในระบบที่ผูกพันกับใบปริญญา แต่การจัดการศึกษาที่ยังอยู่ในฐานคิดและกฎระเบียบของระบบ ซึ่งมีนัยของการครอบงำจากอำนาจรัฐ การกำหนดเนื้อหาหลักสูตร วิธีการวัดและประเมินผลจากส่วนกลาง ทัศนคติของครูที่ติดกรอบอยู่กับระบบเพราะต้องคิดถึงแต่การออกเกรด ตัวชี้วัด ประเมินผล และการใช้คำสั่งบังคับ ครูจึงคิดถึงผลการประเมินที่จะออกมาเท่านั้น ส่วนนักศึกษาและผู้ปกครองก็คิดถึงแต่เกรดที่นักศึกษาจะได้เพื่อเป็นใบเบิกทางในการเข้าทำงาน สิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาการศึกษาในสังคมไทย

จอห์นมาร์ก เบลลาโด พา​นักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวอเมริกันลงพื้นที่เรียนรู้ประเด็นสิทธิในที่ดิน​ทำกินที่บ้านห้วยกนทา​ จ.ชัยภูมิ เมื่อปี 2553 

แม้นวาด : CIEE มองว่าความรู้ที่นักศึกษาจะได้จากชุมชนดีกว่าความรู้ที่จะได้จากการเรียนการสอนในระบบ ตอบโจทย์ชุมชนได้จริง?

จอห์นมาร์ก : ที่ผ่านมาการศึกษายึดติดกับความรู้แบบวิชาการจนทำให้มองไม่เห็นความรู้แบบอื่นๆ แรกๆ ที่ผมพานักศึกษาลงพื้นที่เจอแกนนำชาวบ้าน ผมทึ่งมากกับความรู้ของชาวบ้านที่เรียบจบ ป.4 ทุกคนเก่งมาก ก้าวหน้า ลึกซึ้ง ทั้งความคิด ความอ่าน ความรู้ อธิบายแนะนำเรื่องต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศ วัฒนธรรม วิถีชีวิตการหาอยู่หากินที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับทรัพยากร และยังเชื่อมโยงไปถึงโครงสร้างการเมือง การปกครอง ระบบเศรษฐกิจ กฎหมาย มันชัดเจนมากว่าองค์ความรู้ของชาวบ้าน มีประโยชน์และมีคุณค่ามาก ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ที่ไหนก็อธิบายแบบนี้ไม่ได้ แต่ในระบบการศึกษา 

องค์ความรู้แบบนี้ถูกมองข้าม ไม่ถูกส่งต่อ ไม่มีการถอดภูมิปัญญา ประสบการณ์ ชุดคิด การวิเคราะห์ ไม่มีการบันทึกเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ ทำให้องค์ความรู้ของชาวบ้านไม่สามารถเข้ามาสู่ระบบการศึกษาในสถานศึกษา การพานักศึกษาเข้าไปเรียนรู้อยู่ในพื้นที่ ไปสัมภาษณ์ ไปเห็นของจริง ได้รู้สึก ได้เข้าใจ ส่วนหนึ่งนอกจากจะทำให้ชาวบ้านได้พัฒนาทักษะในการถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ เมื่อได้ทำซ้ำอย่างต่อเนื่องก็สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในเพื่อวิเคราะห์แนวทางในการแก้ไขปัญหาของตนเองและกำหนดทิศทางในการพัฒนาที่ชุมชนต้องการได้ด้วย

ผมคิดว่ากระบวนการส่งผ่านความรู้ระหว่างชุมชนกับนักศึกษาแต่ละรุ่นที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนั้น สามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั้งกับนักศึกษา ชาวบ้าน และชุมชน ในการวิเคราะห์เพื่อเข้าใจปัญหาของตนเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชน เข้าใจสาเหตุของปัญหาและสามารถจัดการแก้ปัญหาของตนเองได้ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ที่มีอยู่เดิมกับความรู้สมัยใหม่ สามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต โดยรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นจะส่งผลต่อตัวเองอย่างไรที่จะเป็นผลดีทั้งกับตัวเองและสังคม เกิดสำนึกถึงสิทธิความเป็นคนที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ หลุดพ้นจากความกลัว หลุดออกจากกรอบของการใช้ความรู้เพื่อครอบงำ ซึ่งมีนัยของอำนาจรัฐ และจะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์หรือการจัดความสัมพันธ์กับสังคมภายนอกได้อย่างเสมอภาค เพราะความรู้ที่ชาวบ้านได้สร้างขึ้นเป็นข้อเท็จจริงว่า ความรู้ไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว นี่คือทางเลือกทางการศึกษา คุณภาพของการศึกษา และความเป็นธรรมทางการศึกษา

สำหรับผม คำตอบของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ในหมู่บ้าน และการขับเคลื่อนจากล่างสู่บน ชุมชนที่เข้มแข็ง ชาวบ้านเก่งๆ ที่สามารถคิดวิเคราะห์ออกแบบการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ๆ และสร้างแนวทางการพัฒนาตนเองได้มีอยู่ในพื้นที่เต็มไปหมด แต่ที่ผ่านมาพื้นที่และชุมชนถูกกระทำอย่างรุนแรง ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมถูกใช้โดยนายทุนไม่กี่หยิบมือ จากการเอื้อประโยชน์ให้โดยรัฐ กระบวนการในการจัดการศึกษาแบบนี้ คือการหนุนเสริมให้คนข้างล่างมีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาจัดการตนเอง

แม้นวาด : ถ้าคำตอบของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ในหมู่บ้าน เหตุใดในหมู่บ้านถึงส่งลูกหลานออกไปเรียนข้างนอก?

จอห์นมาร์ก : เรารู้สึกย้อนแย้งมาตลอด ในขณะที่เราพานักศึกษาต่างชาติเข้าไปใช้ชีวิตร่วมอยู่กับชาวบ้านในหมู่บ้าน แต่ในหมู่บ้านกลับส่งลูกหลานออกไปเรียนข้างนอก ไม่อยากให้ทำไร่ทำนา ไม่อยากให้ลำบาก อยากให้เรียนจบแล้วมีงานมีเงินเดือนในระบบอุตสาหกรรม และก็มีข้อสรุปที่เหมือนกันคือ เมื่อแก่แล้วก็กลับมาทำนาทำไร่กันเอง 

ถ้ามองจากประวัติศาสตร์ของอีสานที่ชาวบ้านถูกเหยียดว่าไม่มีความรู้ ยากจน อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร การส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนในระบบการศึกษาที่สร้างค่านิยมให้ผู้คน ด้วยการตั้งความหวังถึงยศถาบรรดาศักดิ์ ยกย่องคนมีตำแหน่งอำนาจ มีเงิน เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อยกระดับทางชนชั้นจากลูกชาวนา และสั่งให้ร่ำเรียนเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน และเป็นความภูมิใจของผู้ปกครอง ถ้าลูกหลานประสบความสำเร็จ 

การกุมอำนาจทางการศึกษาของรัฐ คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมมาตลอด เพราะการศึกษาในระบบ คือเครื่องมือในการผลิตแรงงานให้เป็นหุ่นยนต์เพื่อป้อนเข้าสายพานทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอุตสาหกรรม 

เมื่อการพัฒนาประเทศเกิดขึ้นในมิติเดียว โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือนายทุน ฐานทรัพยากรและวิถีชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีความรู้ภูมิปัญญา จึงไม่ได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจให้เข้มแข็งเติบโตขึ้นสำหรับชุมชน ยิ่งเมื่อการศึกษาดึงเด็กและเยาวชนให้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในสถานศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรี กินเวลาทั้งหมด 18 ปี 

นอกจากจะสร้างความแปลกแยก ทำให้เด็กและเยาวชนไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแล้ว ยังทำให้ชุมชนรู้สึกว่า การจัดการศึกษาของลูกหลานเป็นหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียว กระบวนการส่งผ่านความรู้ในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่นก็ขาดหายไปพร้อมๆ กับความหวังในการพัฒนาเพื่อให้อาชีพเกษตรกรหรือชาวนาลืมตาอ้าปากได้อย่างมั่นคงยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี

แม้นวาด : พานักศึกษาไปใช้ชีวิตในหมู่บ้านมาแล้วหลายรุ่น เห็นความเปลี่ยนแปลงในปัญหาของชาวบ้านอย่างไรบ้าง 

จอห์นมาร์ก :  เมื่อก่อนผมรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ คึกคักและมีพลังมาก มีการออกแบบกิจกรรมต่อเนื่อง แต่หลายปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่า ชาวบ้านอ่อนล้าและขยับเพื่อแก้ปัญหาของตัวเองได้น้อย โดยเฉพาะหลังรัฐประหารเป็นต้นมา สิทธิเสรีภาพถูกจำกัดจนแทบจะทำอะไรไม่ได้ เช่น เหมืองทอง จ.เลย มีการใช้กำลังทหารเข้าไปสกัดความเคลื่อนไหวของชาวบ้าน หลายๆ พื้นที่ก็มีชาวบ้านที่ถูกฟ้องคดีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

แม้นวาด : กระทบกับการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาไหม
จอห์นมาร์ก : ก็กระทบบ้างนะครับ อย่างพื้นที่เหมืองทองช่วงทหารเข้ายึดหมู่บ้านก็พานักศึกษาเข้าไปไม่ได้เลย หรือการที่ชาวบ้านอ่อนล้าหรือเคลื่อนไหวอะไรไม่ค่อยได้ นักศึกษาก็พลอยไม่รู้จะทำอะไรไปด้วย เมื่อก่อนพานักศึกษาไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเอกชน ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ แต่ระยะหลังก็ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ บรรยากาศการเรียนรู้ก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์ แต่ก็ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงความยากง่ายในการแก้ไขปัญหา และปฏิกิริยาของชุมชนที่มีต่อปัญหา แรงกดดัน หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

พานักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวอเมริกันให้กำลังใจ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในวันปล่อยตัว​จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563

แม้นวาด : มองการเรียนรู้หรือความสนใจของนักศึกษาต่างชาติกับนักศึกษาในไทย เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

จอห์นมาร์ก : เมื่อก่อนผมมองว่านักศึกษาต่างชาติไปไกลกว่านักศึกษาไทยมาก เขามีความคิดในเชิงวิเคราะห์และเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สูง แต่เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าไม่ต่างกัน เพียงแค่ว่า ผู้จัดการศึกษาสามารถเข้าใจเด็กในรุ่นนี้และดึงความสนใจของเขาได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในยุคที่การใช้สื่อต่างๆ หรือสมาร์ทโฟนมีอิทธิพลสูงมาก ดึงความสนใจทำให้พวกเขาจดจ่ออยู่กับตัวเองมากขึ้น ความทุ่มเทที่อยากจะเรียนรู้เรื่องราวรอบตัวน้อยลง ยึดติดกับตารางเวลาเรียนที่ชัดเจนขึ้น เพราะต้องการเวลาส่วนตัวมากขึ้น ถ้าในความต่างกันก็คงจะเป็นเรื่องธรรมดาที่นักศึกษาต่างชาติมาอยู่ในที่ต่างวัฒนธรรม ต่างวิถีชีวิต ต่างภาษา แค่เขาเห็นชาวบ้านนึ่งข้าวเหนียวเขาก็รู้สึกตื่นเต้น แต่เด็กไทยก็อาจจะรู้สึกเฉยๆ เพราะเป็นวิถีชีวิตที่เคยชินอยู่แล้ว

แม้นวาด : ดูเหมือน CIEE สร้างบรรยากาศให้นักศึกษาเป็นนักกิจกรรมทางสังคม หรือคล้ายๆ เป็นสถานศึกษาที่สร้างเอ็นจีโอหรือเปล่า 

จอห์นมาร์ก : เราไม่ได้คาดหวังว่าจะสร้างให้นักศึกษาเป็นอะไรหรือเชื่ออะไร ต่างจากการศึกษาในระบบที่ถูกออกแบบมาแล้วว่า จะให้ผู้เรียนเชื่ออะไร เราแค่เอื้ออำนวยให้เขาได้รู้ ได้เห็นจริงๆ ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ได้เข้าถึงความรู้จากผู้ที่สร้างความรู้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากชาวบ้าน นักวิชาการ เอ็นจีโอ รัฐ และเอกชน หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับเขาเองว่า จะคิดวิเคราะห์อย่างไร อยากเป็นอะไร อยากจะทำอะไร เราเชื่อว่า นี่คือการจัดการศึกษาที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ความรู้ที่เขาได้รับในวันนี้อาจจะทำให้เขามีความพร้อมที่จะรับมือกับผลกระทบต่างๆ ในวันหน้า สามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เขาต้องการขึ้นมาได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม 

แม้นวาด :การปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทยทำอย่างไรถึงจะเป็นไปได้?

จอห์นมาร์ก : รัฐต้องให้เสรีภาพในการศึกษา และการศึกษาต้องรับใช้ประชาชน 

หมายเหตุ: โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา CIEE สำนักงานขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เปิดสอนหลักสูตรภาษาไทย วารสารศาสตร์เพื่อคนรากหญ้า การเรียนรู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงพานักศึกษาลงพื้นที่เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน 

image_pdfimage_print