กระแสการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อาจเป็นกระแสที่มาแรงที่สุดในรอบปี 2563 เดอะอีสานเรคคอร์ดจึงได้ทีเกาะกระแสการปฏิรูปครั้งนี้ ด้วยการเชิญ อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน นักปราศรัยฝีปากกล้าที่สุดในยุคนี้มานั่งคุยแบบสดๆ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เพจ The Isaan Record ชื่อตอน “จากแฮรี่ พอตเตอร์ กับการปฏิรูปสถาบัน”
เพื่อพูดคุยแนวคิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มจากเวที “แฮร์รี่ พอตเตอร์ เสกคาถาผู้พิชิตไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 บนเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ “ช็อคไปทั้งสังคม” และเป็นด่านหน้าให้เกิดการถกเถียงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ
ตอนนี้ได้นับหรือไม่ว่าตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกฟ้องร้องแล้วกี่คดี
มันเยอะจนไม่ได้นับแล้วครับ ตอนแรกก็นับ แต่ตอนนี้มันเยอะเกินไป (หัวเราะ)
อะไรเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 สวมบทบาทแฮรี่ พอตเตอร์ แล้วพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบัน
ถ้าเราจะยอมรับความจริง การปฏิรูปสถาบันเป็นประเด็นหลักของการชุมนุมมาตั้งแต่หลังปีใหม่ 2563 ตอนที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ ผมไม่เห็นคนวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเท่าใดนัก ผมเห็นคนที่มาร่วมชุมนุมกับนักศึกษาพูดเรื่องสถาบัน คือป้ายข้อความแทบทุกป้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน ไม่ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเลย
ผมคิดว่า คนทั่วไปตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่การเริ่มชุมนุม จริงๆ เรื่องนี้มันถูกพูดถึงบนทวิตเตอร์ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการชุมนุมแล้วด้วยซ้ำ ทั้งเรื่องขบวนเสด็จ ฯลฯ พอเราปราศรัยครั้งแรกที่มหาวิทยาลัย นักศึกษาขึ้นมา มันก็มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ แต่เราไม่เอ่ยชื่อ ไม่พูดกันตรงๆ มีการพูดเรื่องคนที่อยู่เยอรมัน นักปั่น หรือเรียกว่า “จัสติน” หรือเรียกว่าอะไรก็ดี เป็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ทั้งนั้น แต่พอเวทีมันเจอโควิด -19 เข้าไป เวทีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมก็พูดถึงเรื่องนี้ แล้วคนที่มาชุมนุมก็ชูป้ายเรื่องนี้เป็นหลัก
หลังชุมนุมมันเกิดปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง คือ พอกลับบ้านไปกลับถูกคุกคาม เพราะตำรวจบอกคุณเป็นพวกแอบแฝงมาใช่ไหม เวทีเขาพูดเรื่องไล่ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) แต่ทำไมคุณถึงไปพูดเรื่องเจ้า
ถือเป็นสิ่งที่ทำให้คนมาชุมนุมไม่ปลอดภัย จากนั้นจึงมาคุยกันในทีมจัดงาน ทีมของนักศึกษาว่า เราต้องพูดเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ พูดให้เป็นกิจลักษณะ ตัดเรื่องการด่าทอ การเสียดสี การแซะออกไป บนเวทีควรจะพูดเรื่องหลักการและสิ่งที่มันควรจะเป็นในสังคมนี้
ถ้าจะวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ต้องพูดตรงๆ ให้สถาบันกษัตริย์ได้ยินและเข้าใจ คือเราต้องสมมติตัวเองว่า ถ้าเราเป็นสถาบันกษัตริย์แล้วโดนด่า โดนแซะ ก็คงไม่พอใจ แต่ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่าทางสถาบันกษัตริย์จะรับฟัง
ปราศรัยที่เวที “แฮร์รี่ พอตเตอร์ เสกคาถาผู้พิชิตไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 บนเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพจากเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา
จากนั้นผมก็คุยกันกับน้องๆ ที่เป็นทีมจัดงาน ทั้งนักศึกษา ม.เกษตรศาสตร์ น้องหลายคน ว่า เราต้องพูดเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ก็เลยจัดวันที่ 3 สิงหาคม “แฮร์รี่ พอตเตอร์ เสกคาถาผู้พิชิตไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ก็เตรียมประเด็นพูดไม่นานมาก พอดีผมมีข้อมูลเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ผมติดตามเรื่องการที่สถาบันกษัตริย์ขยายพระราชอำนาจมาตั้งแต่ ร.10 ขึ้นครองราชย์ มันมีหลายเรื่องที่ต้องพูดถึงเยอะมาก
ตั้งแต่เรื่องที่ส่งพระพี่นางลงมาเป็นนายกฯ มีราชโองการโน่นนั่นนี่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ผมคิดว่าหลายอย่างมันจะต้องพูดถึงบนเวทีก็เลยเลือกวันที่ 3 สิงหาคม คือชื่องานมันได้ ถ้าคนที่ดูแฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาค 7.2 เราจะจำได้ว่ามันเป็นภาคที่ว่าด้วยเรื่องการต่อสู้กับลอร์ด โวลเดอร์มอร์ มันต้องเอ่ยชื่อคนที่คุณก็รู้ว่าใคร คือไม่มีใครกล้าเอ่ยชื่อ ถ้าจะพูดกันถึงความจริง ถ้าจะต่อสู้กันจริงๆ มันต้องเอ่ยชื่อขึ้นมา ก็เลยเกิดเป็นงานวันที่ 3 สิงหาคม วันนั้นร้อนมาก อากาศร้อน เอาชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์มาใส่ จริงๆ ผมใส่ชุดทนายความ เอาแถบออก วันนั้นก็พูดได้ค่อนข้างครบถ้วน พูดในประเด็นข้อกฎหมาย จริงๆ อยากให้คนที่อยู่ในวันนั้นเรคคอร์ดไว้เลยว่า ใครที่อยู่ในวันนั้นเป็นวันประวัติศาสตร์ เป็นวันที่มีการพูดอย่างเป็นทางการ จะเรียกว่าเป็นครั้งแรกหรือไม่ ก็อาจจะพูดได้ ก่อนหน้านั้นก็อาจจะมีการพูดเรื่องนี้อยู่ แต่ว่ามันเป็นการพูดในบริบทการเมืองช่วงนี้ แล้วก็ผมคิดว่า เสียงตอบรับหลังจากที่พูดดีมาก ดีมากถึงขนาดที่เชียงใหม่ก็ชวนผมไปพูดต่อในวันที่ 9 สิงหาคม 2563
แล้วธรรมศาสตร์ เราล็อกวันไว้แล้ว คือวันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พอพูดวันที่ 3 สิงหาคม เท่านั้นเป็นเรื่อง ตำรวจไปขอออกหมายจับทันที แต่เขาไม่ออกวันที่ 3 ไปออกเหตุการณ์วันที่ 18 สิงหาคม ออกหมายจับผมแล้วก็จับผม กะว่าจะเอาไปให้ศาลออกเงื่อนไขห้ามพูด ศาลก็จับจริงๆ แล้วก็ไปออกเงื่อนไขว่าห้ามไปกระทำการเหมือนเดิม ซึ่งจริงๆ ด้วยความเคารพศาล เราคิดว่าสิ่งที่เราพูดมันไม่ผิด ดังนั้นเงื่อนไขของศาลที่ออกมา การที่เราไปพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์จึงไม่เข้าเงื่อนไข เราก็เลยไปพูดต่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่เชียงใหม่ วันที่ 3 สิงหาคม ที่เราพูด คนที่มาฟังนั้นปรากฏการณ์คือเงียบ ภาษาบ้านเรา เขาเรียกเหวอแดก เหว้าบ่ออก คือไม่รู้จะปรบมือ จะเชียร์หรืออะไรอย่างไร เพราะประโยคแรกที่ผมพูด ผมบอกว่า มันมีความจำเป็นที่จะต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา พี่น้องก็รู้อยู่แล้วว่า เวลาเราพูดถึงคนที่อยู่เยอรมัน คนที่บินไปบินมาแล้วใช้ภาษีของประชาชนนั้น คือใคร ก็คือองค์กษัตริย์ของเรานี่ล่ะ ทุกคนก็เหวอ มันพูดอย่างนี้ได้หรือ
เราก็พูดเรื่องข้อกฎหมาย การขยายพระราชอำนาจผ่านทางพระราชบัญญัติต่างๆ ท้ายๆ มีคนเริ่มปรบมือ พอผมเดินลงเวที ตำรวจก็เหวอแดก ตำรวจที่เข้าแถวล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็คิดว่า ควรทำอย่างไรดี ตอนนั้นไม่เห็นนายตำรวจ คงไปเข้าวอร์รูมหรือทำซักอย่าง
วันนั้นวอยซ์ทีวีถ่ายทอดสด พอผมปราศรัยเสร็จ วอยซ์ทีวีก็นำคลิปออก น่าจะเหลือแค่ประชาไทเท่านั้น แล้วประชาไทก็ได้รับเสียงปรบมืออย่างมากที่กล้าถ่ายทอดสด แล้วก็คงคลิปนั้นไว้ และมีคนมาดูเยอะมาก พอลงจากเวทีปุ๊บ ก็มีพี่เสื้อแดงคนหนึ่งเป็นพี่ผู้หญิงวิ่งมาจับมือผม มือเขาสั่น ปากสั่น แล้วพูดว่า “มันมาถึงวันนี้แล้วหรือ” เขาเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย แล้วเราก็กลับบ้านไปๆ เปิดดูเฟซบุ๊กดูกระแส วันสองวันผ่านไปกระแสดีมาก คือคนคิดว่า มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ที่สำคัญคือ พวกรอยัลลิสต์หรือฝ่ายนิยมเจ้า ฝ่ายขวาจัด ก็ด่าเราน้อย
ใจจริงต้องการจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างที่ได้ประกาศบนเวทีวันที่ 3 สิงหาคมจริงไหม
แน่นอน นิยายที่ผมอ่าน หนังที่ผมดู ความคิดผมมันมีเพดานอยู่แค่นั้น ตอนนี้มันคิดไม่ออกเลย ล่าสุดมีกระแส #RepublicOfThailand คือผมยังคิดไม่ออกว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อ แต่ว่าไอเดียเรา เพดานเรา มันมีแค่นั้น แล้วก็พูดไปมันก็สุดแค่นั้น พอกลับบ้านไป แล้วดูกระแส ปรากฏว่าคนที่เป็นรอยัลลิสต์ก็ไม่ได้ด่าเรา คนที่นิยมเจ้าจริงๆ เขาก็เห็นด้วยว่า สถานการณ์ตอนนี้มีการขยายพระราชอำนาจของรัชกาลที่ 10 ออกไปเกินกว่าระบอบประชาธิปไตยที่มันควรจะเป็น
อานนท์ นำภา ปราศรัยที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา
การที่บอกว่า มันถึงเวลาแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่าบุคคลที่เป็นกษัตริย์ตอนนี้มีพฤติกรรมอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าเทียบกับสมัยก่อน คนอาจไม่มีใครกล้าสนับสนุน
ผมว่ามันอยู่ที่ความชัดเจนด้วย คือ สมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็มีหลายครั้งที่พระองค์ทรงแทรกแซงการเมือง การแทรกแซงการเมืองตอนนั้นอาจจะเป็นการแก้วิกฤติหรือว่าสร้างวิกฤตก็ดี แต่หลายๆ ครั้งมันเป็นสิ่งที่คนไม่กล้าพูดถึง คือตอนนั้น ต้องยอมรับว่า พระบารมีของรัชกาลที่ 9 อยู่ในเพดานที่สูงมาก แล้วมันก็มีพูดในทางใต้ดิน พูดกันในวงเสวนา
พอมาถึงรัชกาลที่ 10 ผมว่า มันมีความชัดเจนในการขยายพระราชกำหนดมากกว่าและชัดเจนกว่าในสมัยรัชกาลที่ 9 มาก ยิ่งมาเจอเรื่องช่วงโควิด คนยิ่งรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมกษัตริย์ของเราไม่อยู่ในประเทศ ทำไมไม่อยู่เป็นหลัก เป็นมิ่งขวัญ หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ทำไมต้องไปอยู่ที่เยอรมัน
ผมคิดว่า คนมันก็เลยตั้งคำถาม ที่สำคัญ ผมคิดว่า คนที่เป็นคนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 เขาไม่ได้เติบโตมากับความซาบซึ้งเหมือนคนรุ่นเรา รุ่นเราแทบจะเป็นอัตโนมัติเลยเวลาได้ยินเพลงสรรเสริญฯ ต้องลุกขึ้นเป็นอัตโนมัติ หลับอยู่ก็ยังสะดุ้งมาลุกขึ้นยืนเป็นอัตโนมัติ เพราะเราถูกฝังหัวมาอย่างนั้น แต่คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ คนรุ่นใหม่ตอนนี้มีการรณรงค์ไม่ยืนในโรงหนังด้วยซ้ำ คนรุ่นใหม่พอมาเจอปรากฏการณ์ที่รัชกาลที่ 10 ขยายพระราชอำนาจ ผมคิดว่า เขารับไม่ได้
มีกระแสอันหนึ่งที่เกิดขึ้นในการปราศรัยและมี แฮชแท็กบนทวิตเตอร์ว่า นักศึกษารุ่นใหม่จะไม่รับปริญญา อันนี้บ่งชี้ไหมว่า คนรุ่นใหม่ไม่ตอบรับพระราชอำนาจแล้ว
ผมได้อ่าน แฮชแท็กนี้ ผมเข้าไปตามอ่าน ผมคิดว่ามีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะรัชกาลที่ 10 อย่างตรงไปตรงมามาก บางคนบอกว่านัดบ่าย 2 มาตี 2 ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง หลายมหาวิทยาลัยที่รับแล้ว พระองค์เสด็จมาไม่ตรงเวลา จนมาถึงเรื่องการขยายพระราชอำนาจ ผมคิดว่ามันเป็นการตอบโต้โดยสันติวิธีและเป็นการบอกว่า เขาไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะศรัทธาเหมือนที่สังคมจะปรารถนาให้เกิด แล้วมันก็เป็นความจริงคือ คนรุ่นใหม่เขาคิดอย่างนั้นจริงๆ
ถามว่า เราเอง ซึ่งผมวางตัวเองเป็นคนรุ่นกลางๆ ถามว่ารับได้หรือไม่ ต้องตอบตรงๆ ว่า ตอนแรกที่เราเจอกระแสนี้ เรามองว่ามันแรงไปหรือเปล่า มันจะทำให้คนที่เขาตามประเด็นไม่ทันเขารู้สึกว่าเด็กมันก้าวร้าวหรือเปล่า ทีนี้พอเรานั่งคิดนิ่งๆ จริงๆ เด็กมันพูดมีเหตุมีผล ถือเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะรับหรือไม่รับ การตอบโต้การแสดงออก ซึ่งความไม่พอใจมันทำได้ และมันไม่ถูกบังคับว่าต้องไปรับด้วย แล้วคนที่ออกมาพูด มันก็มีเหตุมีผลพอสมควรที่เขาจะไม่รับ ผมคิดว่าเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะแสดงออกว่าเราต้องการให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัว
สิ่งหนึ่งที่พูดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ทั้งเรื่องการยกเลิกและแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมการขยายพระราชอำนาจควรทำอย่างไร
อันดับแรกเลยคือ ต้องสร้าง ต้องปูแนวคิดนี้ไปสู่คนในสังคมให้มันกว้างว่ามันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่พอ ต้องยอมรับว่าคนระดับที่เขาไม่ได้ตามทวิตเตอร์ ไม่ได้ตามเฟซบุ๊ก ดูเฉพาะว๊อยซ์ทีวี ดูเฉพาะช่องต่างๆ เขาไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารพวกนี้ ตอนนี้เราโชคดีมากๆ คือมีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เขาสามารถดูคลิปผ่านเฟซบุ๊กได้ แต่มันมีระดับที่เขาไม่ได้ดู ซึ่งเราจะต้องดึงคนเหล่านี้ออกมา
คลิปที่เราปราศรัยไปถึงแค่ระดับคนที่อยู่กลางๆ ที่สามารถดูว่าทนายอานนท์พูดอะไรทางเฟซบุ๊ก มีการแชร์ แต่มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีพวกนี้ ผมคิดว่า เราต้องไปถึงคนพวกนั้น ตอนนี้ผมเห็นยุทธการของนักศึกษา อย่าง เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมุนม) กระจายไปปราศรัยตามต่างจังหวัด อันนี้ดีมาก คนมาฟังในแต่ละจังหวัด บางจังหวัดก็แตะ 4,000-5,000 คนเหมือนกัน
พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน อ่านข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่เคยประกาศบนเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ภาพเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563
อย่างขอนแก่น เมื่อเดือนที่แล้ว (20 สิงหาคม 2563) ผมเข้าใจว่า ที่ปิดถนน (บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ได้ก็หลายพันคน คือ มันต้องกระจายความคิดไปก่อน พอเรากระจายความคิด แล้วคนในสังคมมันเห็นด้วย ก็จะนำไปสู่พลังที่ผลักดันไปทางรัฐสภา แล้วกฎหมาย 4 ฉบับที่ผมพูดถึงสามารถแก้ไขได้โดยรัฐสภาแบบสันติวิธีเลย คือไปตามร่องตามรอย
อันดับแรกก็คือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าเราไปแก้ พ.ร.บ. เลย บางทีอาจมีคนส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่าง พ.ร.บ. นั้นมันขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมันเปิดช่องให้สถาบันกษัตริย์ได้ตั้งหน่วยงานในพระองค์ได้
แก้รัฐธรรมนูญก่อนเลย สถาบันกษัตริย์ก็คืออยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้การแนะนำของรัฐบาลในการมีงานอะไรก็ตามของสถาบันกษัตริย์ก็อยู่ภายใต้รัฐบาล แก้รัฐธรรมนูญแล้วค่อยมาแก้ พ.ร.บ. ซึ่งมันแก้ไปได้ตามร่องตามรอย
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่าง พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตอนที่ปฏิวัติ 2475 เราให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดูแลโดยรัฐบาล แล้วก็แก้มาเรื่อยๆ จนสมัยรัชกาลที่ 9 ล่าสุดแก้เมื่อปี 2560 และ 2561 คือให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ให้กษัตริย์ใช้จ่ายได้ตามพระราชอัธยาศัย คือเขาไม่ได้เขียนตรงๆ ว่าเป็นของกษัตริย์ แต่บอกว่าวังหรืออะไรก็ดี จับจ่ายใช้สอย จำหน่ายจ่ายแจกได้ตามอัธยาศัย
หมายความว่า คุณจะจ่ายอย่างไรก็เป็นของคุณนั่นล่ะ แต่ไม่ได้เขียนตรงๆ ถ้าจะแก้ก็ง่ายมากคือ แก้โดยออกเป็นร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ นี้เสีย แล้วก็ร่างออกมาใหม่ อาจจะไปนำโมเดลหลัง 2475 ก็ได้หรือจะเขียนให้ดีขึ้น โดยร่าง พ.ร.บ. พวกนี้ผ่านแค่กระบวนการรัฐสภาธรรมดา
1 ใน 10 ข้อของนักศึกษา คือ ขอให้แก้มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญคือ ให้คนฟ้องร้องสถาบันกษัตริย์อย่างนี้จะเป็นไปได้หรือไม่
ผมคิดว่ามาตรา 6 มันเป็นหัวใจของหลักความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย คือมันไม่ควรมีมนุษย์คนใดในรัฐๆ หนึ่งที่ทำอะไรก็ไม่มีทางผิด ไม่มีทางฟ้องร้องได้ ถามว่า ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง ที่กษัตริย์ไม่ได้มาแทรกแซงการเมือง ไม่ได้ทำอะไรด้วยตัวเอง มาตรานี้แทบจะไม่ได้ใช้เลย แต่มันเป็นมาตราที่ยืนยันหลักการว่าคนเท่ากันในสังคม ถ้าทำผิดคุณต้องขึ้นศาล
ในประเทศศิวิไลซ์ที่มีกษัตริย์ เรื่องการนำกษัตริย์ขึ้นศาลแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว คือกษัตริย์เขาอยู่ในร่องในรอย เขาแทบจะไปขึ้นศาลไม่ได้ ทำอะไรก็มีผู้รับสนอง แต่ผมว่า หลักการนี้มันจะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รับธรรมนูญอย่างแท้จริง คือทำให้เท่าเทียมกับประชาชน
ถ้าทำผิดก็ต้องรับโทษ มันมีการถกเถียงกันในสภาผู้แทนฯ สมัยหลังปี 2500 ก็ถกเถียงว่ามาตรานี้ควรจะแก้ไขอย่างไร มี ส.ส.คนหนึ่งผมจำชื่อไม่ได้ อภิปรายว่าสมมติว่ากษัตริย์เอาปืนมายิงนายกฯ ตาย กษัตริย์ต้องขึ้นศาลหรือไม่ มันมีการถกเถียงกันขนาดนั้นคือ อันนี้เป็นเรื่องสมมติ แล้วหลักเกณฑ์ก็เปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งบอกว่ากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดอะไรเลย
ถ้าเราจะทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คือ เท่าเทียมกันทางกฎหมายอย่างแท้จริง ก็คือ ต้องแก้เรื่องนี้ อาจจะให้องค์กรอื่น อย่างหลังปี 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกเขียนบอกว่า ถ้ากษัตริย์ทำผิดฟ้องร้องไม่ได้ แต่ให้รัฐสภาเป็นคนวินิจฉัย บางประเทศก็บอกว่าให้ศาลฎีกาเป็นคนวินิจฉัย คือ มันต้องมีองค์กรในการวินิจฉัยว่า ถ้ากษัตริย์ทำผิดจะต้องขึ้นศาล แล้วก็มีการวินิจฉัย มันจะกลับไปสู่หลักเกณฑ์คือความเสมอภาคกันทางกฎหมาย ทุกคนมีความเสมอภาคกันทางกฎหมาย อันนี้เป็นหลักการพื้นฐาน
อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ปราศรัยรณรงค์ให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เวทีชุมนุมอีสานลั่นกลองรบ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วันที่ 4 ตุลาคม 2563
ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเรื่องแรงงานวิจารณ์เจ้าฯ ที่มีแรงงานคนหนึ่งฟ้องรัชกาลที่ 7 ได้ การแก้ไขมาตรา 6 จะนำไปสู่โมเดลนั้นหรือไม่
เป็นไอเดียเดียวกัน ผมว่าเป็นไอเดียที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย โอเค ถ้าเราบอกว่า ถ้าทำอย่างนั้น คนที่เขาไม่พอใจสถาบันกษัตริย์ก็แกล้งฟ้องสถาบันได้ มันไปออกแบบต่อได้ เขียนกฎหมายรองรับอีกก็ได้ว่า ฟ้องเองไม่ได้ ต้องไปแจ้งความก่อน หรือมีองค์กรใดมาฟ้อง คือ มันสามารถทำได้ แต่ว่าหลักใหญ่ใจความคือ กษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ ถ้าไปทำความผิดทางอาญาหรือไปทำความผิดทางแพ่ง ก็สามารถตรวจสอบได้ คือ หัวใจเป็นอย่างนั้น
ข้อเรียกร้องเรื่องกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญมีแรงบันดาลใจอะไรจึงรณรงค์เรื่องนี้
จริงๆ เวลาเราไปเถียงกับพวกรอยัลลิสต์เขาก็จะบอกว่า กษัตริย์ก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ทำตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้กษัตริย์เคยสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองไปอยู่ที่เยอรมัน โดยไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการ อย่างนี้ถามว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เป็น แต่ถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ มันไม่เป็น
คำว่ากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญจึงหมายความว่า กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่มันเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ไปบอกว่า ไปแก้รัฐธรรมนูญให้กษัตริย์ทำอะไรก็ได้ อย่างนั้นไม่ใช่
ทีนี้ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คือ ต้องออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มันเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แล้วค่อยให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่แท้จริง การแก้รัฐธรรมนูญหลายๆ เรื่องมันไม่ได้ไปแก้ในรายละเอียด คือ รัฐธรรมนูญไทยเป็นรัฐธรรมนูญที่พิลึกมีหลายมาตราที่จุกจิกบางเรื่อง ไม่ต้องไปเขียนก็ได้
สิ่งหนึ่งทนายและนักศึกษาประกาศบนเวที 10 สิงหาคม เป็นสิ่งที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ แล้วทนายกับนักศึกษาใช้แนวทางเดียวกับอาจารย์สมศักดิ์หรือไม่
วันที่ 10 สิงหาคม ข้อเสนอ 10 ข้อเป็นข้อเสนอของนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผมทราบมาเบื้องต้นว่าจะมีข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยนำความคิดของนักวิชาการหลายๆ คนมารวมกัน หลักใหญ่ใจความก็คือ ของ อ.สมศักดิ์ ผมคิดว่าหลักที่ อ.สมศักดิ์ เสนอมีความ Mass (เข้าใจในวงกว้าง) มันเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่โต้แย้งไม่ได้อยู่แล้ว
ข้อเสนอที่มาเพิ่มอีก 2-3 ข้อ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชัดขึ้นมา ถามว่าหลักเกณฑ์นี้มันมาจากเราเองหรือไม่ มันไม่ใช่ แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่ อ.สมศักดิ์ค้นพบเองด้วย เป็นสิ่งที่สังคมควรจะพูดอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว เป็นเรื่องที่เห็นตรงกัน แล้วก็อิทธิพลทางความคิดของนักวิชาการรุ่น อ.สมศักดิ์ อ.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยวิสคอสซิน หรือหลายๆ คน แม้แต่ อ.ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธ์ ก็มีหลักคิดที่โต้แย้งได้ ผมคิดว่า ข้อเสนอ 10 เป็นข้อเสนอที่ให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเอาเหมือนหรือไม่ ถ้าคุณมีข้อโต้แย้งที่มันดีกว่านั้น คุณก็โต้แย้งมา
ผมยกตัวอย่าง ข้อเสนอข้อที่ 10 ที่บอกว่ากษัตริย์ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร คุณก็โต้แย้งมาว่า ถ้าเกิดรัฐประหารขึ้น คุณจะเขียนใช่ไหมว่ากษัตริย์ต้องเซ็นรับรองคือ มันก็โต้แย้งไม่ได้ เพราะหลักการประชาธิปไตยเป็นอย่างนั้น หรือเรื่องการถวายเงินตามพระราชอัธยาศัย เราบอกว่าต้องงด ฝ่ายที่เป็นรอยัลลิสต์ก็อาจจะเถียงว่า มันเป็นเสรีภาพของสถาบันกษัตริย์หรือไม่ที่ต้องรับเงิน เขาก็เถียงมา เราก็โต้แย้งไปว่า คุณไปห้ามนักการเมืองว่าห้ามรับเงินรับทองและมันตรวจสอบไม่ได้
ตกลงสถาบันกษัตรย์เวลารับเงินเสียภาษีหรือไม่ หรือนำไปทำอะไรมากน้อยแค่ไหนเราไม่รู้ เพราะว่าตอนที่ท่านรับเงิน ท่านไม่ได้รับในนามของนาย ก. นาย ข.ท่านรับมาในฐานะที่ท่านเป็นองค์พระมหากษัตริย์ กระบวนการตรวจสอบในเรื่องนี้มันไม่มี มันก็เลยเป็นข้อเสนอว่าไม่ให้มีการรับเงินตามพระราชอัธยาศัย เพราะว่าการดำรงชีวิตของท่านก็มาจากภาษีของประชาชนอยู่แล้ว
เคยคิดหรือไม่ว่า เราจะมาถึงบรรยากาศที่คนพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะ บนสื่อมวลชน กลางสี่แยก โดยที่ไม่ต้องพูดใต้โต๊ะอีกต่อไป
มันเป็นเหมือน (นิ่งคิด) เขาเรียกอะไร มันเหมือนฝัน เอาจริงๆ ผมคิดว่ามันเหมือนฝัน ผมว่า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดงก็นินทากันในวงเหล้าเรื่องพวกนี้ มันพูดคุยกันแบบ ผมท้าเลยให้ไปดูในโทรศัพท์ของพวกที่กล่าวหาว่า “พวกเราล้มเจ้า” ก็มีคลิป มีภาพทั้งนั้น แต่การที่ไปนินทากาเลกันใต้โต๊ะ การพูดแบบซุบซิบมันไม่มีประโยชน์
โอเค อาจจะมีประโยชน์ในแง่การสื่อสารเฉพาะบุคคลเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าประโยชน์ที่แท้จริงที่จะนำมาสู่การแก้ปัญหา ผมคิดว่าจะต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ผมเคยไปว่าความที่ศาลหลายศาล มีข้าราชการมาบ่นว่า ในวันเกิดของในหลวง แต่ท่านกลับไม่อยู่ แต่บังคับว่าต้องไปถวายคำปฏิญาณ หลายคนเขาไม่ได้อยากไป เขารู้สึกว่ามันไม่ได้ให้เกียรติประชาชนหรือให้เกียรติข้าราชการที่ต้องไปทำแบบนั้น แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้คือ ถ้าเขาเลือกได้ เขาก็ไม่ไป
ผมคิดว่า เรื่องเหล่านี้อาจต้องมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ถามว่าใครจะกล้าพูด ข้าราชการพวกนั้นกล้าพูดหรือไม่ เมื่อเราไปรับฟังได้ยินมา เราเอามาพูดต่อ ถามว่ามันอันตรายต่อคนพูดหรือไม่ อันตรายแน่นอน สถาบันกษัตริย์เอง ทหารเองที่เป็นคนที่จงรักภักดีมากกว่าปกติมนุษย์ เขาก็ต้องบอกว่า ไอ้นี่มึงกำเริบเสิบสาน มึงต้องโดนดีสักวัน
ถามว่า ถ้าผมไม่พูด ถ้าน้องๆ ไม่พูด ถ้าพี่น้องประชาชนที่ไปอยู่ในที่ชุมนุมไม่พูด แล้วใครจะพูด พอไม่พูด มันก็ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา มันก็จะหมักหมมกันอยู่อย่างนี้
ที่สำคัญจะทำให้สถาบันกษัตริย์รู้สึกว่ามันไม่เป็นปัญหาคือ การกระทำแบบนี้ของตัวเองไม่เป็นปัญหา ทีนี้พอมีคนพูดขึ้นมา ผมว่า สถาบันกษัตริย์ต้องยั้งคิด สมมติว่า วันพรุ่งนี้มีการเอาหน่วยทหารอื่น จะออกกฎหมายไปของสถาบันกษัตริย์อีก ผมว่าคนไม่ยอม คุณจะเจอคนที่ชุมนุมประท้วงไม่ให้มีการออกกฎหมายฉบับนั้นแน่ๆ เพราะว่า ตอนนี้มันมีความตื่นตัวและมีความชัดเจน ถ้าจะออกกฎหมาย เช่น ออกกฎหมายเวนคืนสวนสาธารณะอย่างสวนจตุจักรไปเป็นของสถาบันกษัตริย์ เจอคนประท้วงแน่ เพราะว่าตอนนี้สังคมมันกล้าที่จะออกมามากขึ้น
ตอนนี้คนเริ่มแสดงความคิดเห็นสถาบันกษัตริย์มากขึ้น เป็นเพราะนายกฯ ประกาศว่า ในหลวงห้ามใช้มาตรา 112 หรือไม่
อันนี้สำคัญ ผมคิดว่าประเด็นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ไม่ควรพูด คือมันเท่ากับว่าในหลวงอยู่เหนือกฎหมาย สั่งให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ก็ได้ แต่ไม่ควรจะออกมาบอกว่า ในหลวงสั่งไม่ให้ใช้คือ มันเป็นดาบสองคม
ผมคิดว่า การใช้หรือไม่ใช้ 112 ก่อนหน้านี้มันอาจจะมีนัยสำคัญคือ ทำให้คนกลัว แต่ทุกวันนี้ต่อให้ใช้มันยิ่งตอกย้ำความไม่เป็นธรรมในสังคมขึ้น ผมอยากให้ใช้ด้วยซ้ำ จะได้ชัดเจนไปเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนพูดเองว่าในหลวงสั่งไม่ให้ใช้ ถ้ากลับมาใช้อีก ก็แสดงว่าในหลวงสั่งให้ใช้ 112 จัดการกับประชาชนก็คือ เอาให้มันชัดไปเลย คือผมคิดว่าเรื่อง 112 ตอนไม่ใช่ประเด็นแล้ว มันล่วงเลยมาแล้ว การขยับหลายๆ ครั้ง แม้แต่ข้อกล่าวหาของฝ่ายขวา ฝ่ายรอยัลลิสต์เอง ก็กล่าวหาไปเฉียดกับ 113 เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่แล้ว ตอนนี้มาตรา 112 เป็นเรื่องที่เล็กมาก
ความฝันของทนายอานนท์อยากให้ประเทศไทยมีกษัตริย์ต่อไปหรือไม่ หรือถ้ามีควรให้เป็นอย่างไร
คือความฝันของคนมันแปลก ผมคิดว่าความฝันมันเกิดจากประสบการณ์ เราไปเจอประสบการณ์มาอย่างไรเราก็ฝันได้แค่นั้น อย่างผมๆ ไม่เคยฝันว่าไปอยู่ดาวเหี้ยอะไรไม่รู้ที่มันไม่เคยไปเห็น แต่ดาวเหี้ยที่ผมเคยเห็น มันต้องเป็นดาวที่ผมอาจจะเคยดูในหนังหรืออะไร ชีวิตผมเกิดมา 36 ปี กรอบเพดานผมมีอยู่แค่นั้น
เราคาดหวังคาดฝันให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มันเกิดจากประสบการณ์ที่มี ส่วนคนที่มีประสบการณ์มาอีกแบบหนึ่ง คนรุ่นใหม่ที่เขามีประสบการณ์มาอีกแบบหนึ่ง เขาคิดอีกแบบหนึ่ง แน่นอนว่าหลังจาก 36 ปีของผม ปีที่ 37 ผมอาจจะมีประสบการณ์อีกแบบหนึ่งก็ได้ แต่ ณ วันนี้ผมคิดว่า กรอบคิดของผมมันมีกรอบอยู่แค่นั้น ถ้ามันเป็นอย่างที่คนรุ่นใหม่เขาเรียกร้องกันจริงๆ ถ้ามันมีกษัตริย์จริงๆ มันจะเป็นอย่างไรบ้านเมือง ผมคิดไม่ออก
ที่สำคัญก็คือ ผมอยากให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัว เพราะว่ากระแสของสังคมตอนนี้มันไม่ได้ย้อนกลับ มันมีแต่ไปข้างหน้า ถ้าไม่มีการปรับตัวกระแสที่ไปข้างหน้ามันอันตราย สังคมเรามันผ่านการแตกหักกันทางความคิดกันมาหลายครั้ง ทุกการแตกหักมันนำไปสู่การสูญเสีย
ขณะนี้มีกระแสแฮชแท็ก #RepublicOfThailand ขึ้นทวิตเตอร์เป็นล้านครั้ง มันบ่งชี้อะไร
เราจะสรุปว่า คนจำนวนเป็นล้านหรือคนรุ่นใหม่ต้องการรีพับลิกก็พูดได้ไม่เต็มปากมาก โอเค อาจพูดได้ระดับหนึ่ง ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งมันเป็นการตอบโต้การที่รัฐสภาไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการตอบโต้ด้วยความโกรธ ถ้าแฮชแท็กนี้มันขึ้นต่อเนื่องเป็นอาทิตย์เป็นเดือน เป็นอีกเรื่องนี้ แต่ถ้ามันขึ้นเฉพาะวันนั้นก็แสดงว่า มันเป็นปรากฏการณ์ตอบโต้การที่รัฐสภาไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การที่ทนายพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เคยคิดไหมว่า วันหนึ่งชะตากรรมของตัวเองอาจจะเจอกับสิ่งที่เราไม่คาดคิด เหมือนผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ถูกฆาตกรรมแล้วนำศพมาทิ้งแม่น้ำโขง
สมมติวันนี้ผมประกาศเลิกพูดบนเวที ผมก็ต้องกลับไปทำคดีให้ให้นักศึกษาอยู่ดี ซึ่งก็ต้องไปเจอพวกเขาอยู่ดี ถ้ามีการยิงกราดเข้ามาในร้านเหล้า ผมก็ต้องตายอยู่ดี ถ้าผมไม่เป็นแกนนำ ไม่พูดบนเวทีผมก็ต้องไปชุมนุมอยู่ดี ถ้ามันยิงกราดเข้ามาในที่ชุมนุม มันก็อาจจะโดนผมอยู่ดี การเป็นแกนนำเป็นคนที่พูดบนเวทีกับการเป็นมวลชนมาร่วมก็เสี่ยงด้วยกันทั้งหมด ผมคิดว่าการที่เรามีโอกาสพูดแล้วก็มีคนที่เขารับฟัง มีคนที่เขาเชื่อมั่นมาก เราต้องใช้โอกาสนั้นในการพูดให้มันมากที่สุด
เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ทำไมต้องเสียสละขนาดนั้น
คือเราไม่ได้รู้สึกว่ามันเสียสละ เราแค่รู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่ต้องทำแล้ว เราสนุกกับมัน เอาเข้าจริงๆ มันเป็นงานด้วย เราเป็นทนายความ มันเป็นเรื่องที่ต้องเสียสละอย่างไร ทุกวันนี้ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ
ถามถึงเรื่องส่วนตัวว่า ทำไมถึงชอบเอาภาพขายลาบก้อยไปแป๊ะที่เฟซบุ๊ก อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ผมว่า มันเป็นเรื่องสนุก แต่ก่อนผมก็ถามหาแมว ตอนนี้ผมก็ขายลาบก้อยในเพจเฟซบุ๊กแก ผมว่ามันเป็นเรื่องสนุกในการได้กระเซ้าผู้ใหญ่ก็แค่นั้น เป็นเรื่องขำๆ มากกว่า ไม่ได้มีนัยอะไร แกก็ไม่ค่อยตอบ ไม่รู้แกชอบกินเนื้อหรือเปล่า (ระหว่างนั้น อ.สมศักดิ์ มาแสดงความคิดเห็นระหว่างสัมภาษณ์ว่า ชอบกินลาบเหมือนกัน)
“ผมอยากให้ท่านปรับปรุงเรื่องพระราชอำนาจ เรื่องส่วนตัว เรื่องทุกอย่าง เราพร้อมที่จะอยู่ด้วยกัน ผมคิดว่าเราพร้อมที่จะอยู่ด้วยกัน” อานนท์ นำภา
ถ้าในหลวงรัชกาลที่ 10 ฟังอยู่อยากจะพูดอะไรกับพระองค์ท่าน
ถ้าท่านฟังอยู่ ผมคิดว่า ท่านเป็นคนนักเลงคนหนึ่ง คือนักเลงพอที่จะคุยกันตรงๆ แล้วก็นักเลงพอที่จะรับฟัง แต่ท่านจะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวหรือไม่ จะปฏิรูปหรือไม่ อีกเรื่องหนึ่ง
ผมคิดว่า ท่านต้องฟังนักศึกษาฟังในฐานะที่ท่านเป็นกษัตริย์นั่นแหละ ฟังแล้วก็สื่อสารตรงๆ อย่าไปปิดปากนักศึกษา แล้วก็อย่ายอมให้คนที่อยู่ข้างๆ ท่านไปปิดปากนักศึกษา อย่ายอมให้กองทัพ อย่ายอมให้นายทหารราชองครักษ์ไปรังแกนักศึกษา ไปรังแกประชาชนที่เขาพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา
ผมคิดว่า ท่านรับฟัง แล้วผมอยากให้ท่านปรับปรุงเรื่องพระราชอำนาจ เรื่องส่วนตัว เรื่องทุกอย่าง เราพร้อมที่จะอยู่ด้วยกัน ผมคิดว่า เราพร้อมที่จะอยู่ด้วยกัน แล้วก็มาสร้างประเทศไทยให้มันมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค แล้วมันก็จะอยู่ด้วยกันได้
ผมคิดว่า ถ้าท่านยังยืนยันที่จะไม่ปรับตัว ไม่ปรับตัวให้มันเข้ากับโลกสมัยใหม่ โอกาสที่คนรุ่นใหม่เขาจะคิดจะฝันอะไรที่มันมากกว่าสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มันก็เป็นไปได้ ทีนี้มันไม่ใช่เรื่องว่าขู่กันด้วย มันเป็นเรื่องที่ผมสื่อสารตรงๆ ว่ามันเป็นไปได้ แล้วมันกำลังจะเป็นด้วย เราต้องคุยกันแล้วก็ใช้เหตุผลกันให้มากที่สุด พูดความจริงกันแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง