บุคคลต้นเรื่องในสารคดีเรื่อง Heartbound ภาพปกโดย คริสเตียน ไวอุม 

ในตอนสุดท้ายของซีรีส์ชุด “ความรัก เงินตรา และหน้าที่: เมียฝรั่งในอีสานหรือเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “ลูกสาวที่ดีของคนอีสาน”  จะขอพาดูความคิดเห็นจากผู้อ่าน พร้อมทั้งทบทวนความคาดหวังจากซีรีส์ชุดนี้ แน่นอนว่าซีรีส์ชุดนี้มุ่งเน้นไปที่ผู้อ่านที่เป็นคนไทย/อีสาน เพราะต้องการท้าทายวาทกรรมในสังคมไทยที่เน้นคำว่า “เมียฝรั่ง” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ส่งผลกระทบทางอารมณ์คำหนึ่ง และไม่ได้มุ่งเน้นไปที่วาทกรรมในฝั่งตะวันตกเกี่ยวกับปัญหาการแต่งงานระหว่างผู้หญิงอีสาน (และผู้หญิงไทย) กับผู้ชายตะวันตก

ซีรีส์ชุดนี้ในส่วนของภาคภาษาไทย/อีสานโดยรวมแล้ว มีผู้อ่านเข้าถึงจำนวน 15.8 ล้านคน และมีส่วนร่วมจำนวน 172,000 คน ซึ่งการเข้าถึงเนื้อหาของผู้อ่านภาคภาษาอังกฤษถือว่าน้อยกว่ามาก มีผู้เข้าถึงเพียง 153,000 คน และมีส่วนร่วม 4,400 คน สำหรับการแสดงความคิดเห็นนั้นผู้อ่านภาคภาษาไทยกับภาษาอังกฤษมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว เนื่องจากวาทกรรมเรื่อง “เมียฝรั่ง” ในประเทศไทยมีความแตกต่างจากผู้อ่านที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ แต่ในบางกรณี ผู้อ่านชาวไทยก็ร่วมแบ่งปันความคิดเห็นบนหน้าเฟซบุ๊ก ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

เสียงสะท้อนต่อซีรีส์ชุดนี้ในภาคภาษาไทย: ความยากจนเป็นสาเหตุ

ผู้อ่านชาวไทยจำนวนมากแสดงความคิดเห็นในเชิงปกป้องเกียรติยศของ “เมียฝรั่ง” โดย Wilailak Ritdet อายุ 56 ปี หนึ่งในแฟนเพจอันดับต้นๆ ของเราที่อาศัยอยู่ประเทศเยอรมนี ให้เหตุผลไว้ว่า เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็อยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ และพัฒนาตัวเอง สถานภาพ และโอกาสในการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวและเพื่อนฝูง” ผู้หญิงอีสานได้รับความนิยม มีผู้ชายตะวันตกเลือกที่จะแต่งงานด้วยนั้น “สะท้อนให้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนอีสาน ผู้ชายตะวันตกให้เกียรติและเคารพผู้หญิงอีสาน แล้วก็คนที่ไปอยู่ต่างประเทศ ก็มีสิทธิและมีความเท่าเทียมกันเท่ากับพลเมืองคนอื่นๆ ในประเทศที่ไปอยู่”

ส่วนผู้อ่านที่ใช้ชื่อว่า Arlawan Lövgren เกิดที่ร้อยเอ็ด ตอนนี้อยู่ที่สวีเดน เธอเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว โดยเธอแสดงความคิดเห็นว่า ความคิดแรกของเธอในการแต่งงานกับสามีชาวตะวันตกก็คือ “อยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศ แล้วก็หางานทำงานที่นั่น เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของตัวเองและครอบครัว แล้วก็เพื่ออนาคตของลูกๆ ตัวเองด้วย”

Suchanya See ผู้อ่านอีกคนหนึ่งอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ แสดงความคิดเห็นโดยชี้ให้เห็นว่า ยุคนี้การศึกษา วัฒนธรรม และความร่ำรวยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนที่มาจากประเทศต่างๆ จะลงเอยด้วยการแต่งงานกัน ส่วนคนรุ่นใหม่ที่อายุอายุน้อยๆ ก็เริ่มสนใจการเมืองมากขึ้น ซึ่งผลกระทบต่างๆ จากนโยบายการพัฒนาประเทศได้ส่งผลต่อคนในชนบทให้ไหลเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งมีความมั่งคั่งกว่าและทำให้เกิดการกระจุกตัวอยู่ที่นั่น

ขณะที่ Pusdi Kitsawad ผู้อ่านหญิงวัย 65 ปี จากกรุงเทพฯ แสดงข้อคิดเห็นเชิงสงสัยว่า ทำไมปรากฏการณ์เมียฝรั่งจึงต้องเจาะจงเฉพาะผู้หญิงอีสาน ทำไมคนอีสานต้องเป็นประชากรที่ดูต่ำต้อยในสายตาคนภาคอื่นๆ ทั้งที่คนอีสานก็ประสบความสำเร็จมีการศึกษา มีงานทำ ถือเป็นการยกระดับตัวเองและส่งลูกหลานจนเรียนจบ “แล้วทำไม เรา คนกรุงเทพฯ จึงต้องเหยียดคนอีสาน” 

ฮันนากับเบ๊ะ ซึ่งเป็นคู่รักที่เป็นชายชาวอีสานกับหญิงชาวอเมริกัน เครดิตภาพ ฮันนา 

ผู้อ่านเกือบ 1 ใน 4 ล้านคนได้ดูวิดีโอฉบับภาษาไทยเกี่ยวกับความสัมพันธ์อีกรูปแบบระหว่างชายชาวอีสานและหญิงสาวอเมริกันคนหนึ่ง โดยผู้อ่านได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในเชิงบวกจำนวน 428 ความคิดเห็น และผู้อ่านชายคนหนึ่งเขียนไว้ว่า “คุณโชคดีมากที่ได้แฟนสาวเป็นฝรั่ง” นอกจากนี้ยังมีวิดีโออีกชิ้นหนึ่งที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นั่นก็คือ วิดีโอเรื่องบ้านพักคนชราชาวตะวันตกที่จังหวัดบุรีรัมย์ ชื่อ “ลาณี เร้สซิเด้นซ์” (Lanee’s Residenz) โดยคนไทยจำนวนมากต้องการสมัครงานที่นั่น แล้วก็มีชาวสวิตสนใจสอบถามข้อมูลเข้ามาด้วย

ในวิดีโออีกชิ้นหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กลูกครึ่งอีสาน-ตะวันตกในภาคอีสานที่ถูกรังแกและกลั่นแกล้ง มีคนรับชมเกือบสามล้านครั้ง ทำให้ Pranom Rosenbröijer ผู้อ่านหญิงไทยจากโคราชเขียนข้อคิดเห็นว่า การรังแกเด็กคนอื่นที่มีความแตกต่างแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอีสานหรือประเทศไทยเท่านั้น เพราะผู้หญิงไทยที่พาลูกๆ ไปอยู่ที่ฟินแลนด์และไปเรียนที่นั่นก็โดนเด็กฟินแลนด์ล้อเลียนเพราะผมดำ ไม่มีคนคบ  ยิ่งพูดภาษาฟินแลนด์ไม่ได้ก็ยิ่งเครียดและมีปัญหาอื่นๆ ก็ตามมาอีกมากมาย

บ้านหลังหนึ่งใน จ.อุดรธานีที่หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติสร้างให้พ่อแม่

นอกจากนี้ยังมีผู้ชายไทยหลายคนที่ร่วมแสดงความคิดเห็น จากวิดีโอเรื่อง “สำรวจหมู่บ้านเขยฝรั่ง” ที่จังหวัดอุดรธานี “กระบี่ฟ้า ณ เชิงดอย” ผู้อ่านชายไทยจากจังหวัดกระบี่ แสดงความคิดเห็นว่า ความยากจนเป็นประเด็นหลักทำให้หญิงไทยจำนวนมากย้ายถิ่นฐานไปยังตะวันตก เพราะรัฐไทยไม่มีการรับประกันคุณภาพชีวิตขอ

พลเมือง เขาเขียนว่า “ถ้าระบบสวัสดิการดี เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีใครอยากไปอยู่ต่างประเทศ” แต่เพราะว่ารัฐบาลบริหารไม่เป็นและไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ คนพูดอะไรมากไม่ได้ ทุกคนจึงต้องดิ้นรนแสวงหาเพื่อความอยู่รอดเอง

Darin Delya ผู้อ่านหญิงชาวไทยก็แสดงความเห็นด้วย โดยเขียนว่า “เพราะรัฐสวัสดิการไทยมันห่วย จึงทำให้คนจนขาดโอกาสหลักๆ ที่สำคัญของชีวิตไป เลยต้องดิ้นรนเพื่อให้ตัวเอง หลุดพ้นจากความจน”

Boonrit Cha-oompitiwong ชายไทยที่เคยทำงานที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมีพื้นเพมาจากจังหวัดศรีสะเกษ แสดงความเห็นว่า ปรากฏการณ์เมียฝรั่ง เงินเป็นเหตุผลเดียว พอได้ผัวฝรั่ง​ แล้ว​ชีวิต​เปลี่ยน ​มีบ้าน มีรถ มีเงินใช้ คนก็นับ​ถือยกย่อง ต่างจากสังคมไทยสมัย​ก่อนที่ไม่เคยยกย่อง​ผู้หญิง​เหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงเหล่านี้ก้าวข้ามความอัปยศในอดีตได้แล้ว และลูกๆ ของพวกเธอก็ไม่มีปมด้อยเหมือนที่ผ่านมา

เสียงสะท้อนต่อซีรีส์ชุดนี้ในภาคภาษาอังกฤษ

ความคิดเห็นในภาคภาษาไทย แม้ว่าจะมาจากผู้หญิงอย่างล้นหลาม แต่ผู้ชาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายตะวันตกก็ได้แสดงความคิดเห็นในภาคภาษาอังกฤษไม่น้อยทีเดียว

ผู้อ่านหลายคนร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นเรื่อง “การเหมารวม” หรือ “ภาพจำ” ที่มีการนำเสนอในบทความที่เกริ่นนำซีรีส์ชุดนี้ แม้ว่าบทความเกริ่นนำจะระบุอย่างชัดเจนว่า ซีรีส์ชุดนี้จะพูดคุยเรื่องอะไรบ้างก็ตาม หลักๆ แล้วเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “สถานการณ์แบบที่สอง” ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1990 (2533) และต้นปี ค.ศ.2000 (2543) ช่วงนั้นผู้หญิงอีสานส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ผู้หญิงจากยุคนั้นต่างเคยแต่งงานมาก่อน แล้วก็มีลูกติด ก่อนจะพบกับว่าที่สามีที่มีอายุมากกว่าในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ 

แต่บทเกริ่นนำของซีรีส์ก็ยังกล่าวถึงแนวโน้มใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นั่นคือ ผู้หญิงอีสานกลุ่มใหม่ที่มีการศึกษาสูงขึ้น ได้คบหากับชาวตะวันตกที่มีอายุใกล้เคียงกันมากขึ้น โดย สตีเวน ดิ กลิตเราติ (Steven Di Glitterati) ซึ่งดูเหมือนจะอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้แสดงความคิดเห็นว่า “ผู้หญิงที่เป็นชนชั้นกลางระดับล่างที่มีการศึกษาสูงและเลี้ยงดูตัวเองได้เลือกคู่ครองชาวตะวันตกในกลุ่มอายุในวัยเดียวกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ”

แนวคิดเรื่อง “ลูกสาวที่ดีของคนอีสาน” ไม่ได้เป็นภาพจำหรือการเหมารวม แต่เป็นสถานการณ์ทั่วไปประเภทหนึ่งที่มีการศึกษาวิเคราะห์เป็นอย่างดี ซีรีส์ชุดนี้ แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวถึงสถานการณ์ทั้งหมดที่ผู้ชายตะวันตกพบเจอ แต่กล่าวถึงหัวข้อทั่วไปที่มีการพูดถึงอย่างมากในช่วงหนึ่งและมีการสร้างวาทกรรมที่คนไทยหลายคนรู้จักเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามชาติระหว่างผู้หญิงไทยกับชายตะวันตก แต่แนวโน้มใหม่นี้ซีรีส์ชุดนี้ก็มีการกล่าวถึงในช่วงหลังๆ ด้วย

การเพิ่มบริบทเกี่ยวกับทหารจีไอจากอเมริกาที่มีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอีสานในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1960 (2503) และ 1970 (2513) ทำให้ แลร์รี ฟิทซ์แพทริค (Larry Fitzpatrick) ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ที่ภูเก็ต ชี้ประเด็นให้เห็นว่า ความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มจีไอและชาวตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงหลายทศวรรษต่อมามีมากขึ้น “ทุกวันนี้ ชายฝรั่งในประเทศไทยมีอายุมากขึ้น แล้วก็มีเงินมากขึ้น ทหารในสมัยนั้นอยู่ในช่วงวัยรุ่นและอายุ 20 กว่า” พวกเขาส่วนใหญ่ “อยู่ที่นี่เพียงหนึ่งปี แล้วหลายคนก็ลาออกจากราชการหลังเดินทางกลับไปที่อเมริกา”

ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชายชาวตะวันตก ภาพจากสารคดีเรื่อง Heartbound

ผู้อ่านตอกย้ำปัญหาชายไทย

บทบาทของผู้ชายอีสานในปรากฏการณ์เมียฝรั่งได้รับการกล่าวถึงในบทเกริ่นนำ โดยระบุข้อสังเกตว่า การขาดโอกาสด้านต่างๆ ของผู้หญิงอีสานนั้น ผู้ชายอีสานเองก็เผชิญเหมือนกัน แม้ว่าจะไม่ใช่ประเด็นหลักของซีรีส์ชุดนี้ แต่ประเด็นดังกล่าวก็ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากประสบการณ์ของผู้หญิงหลายคนที่แต่งงานกับชาวตะวันตก

David Hopkins กล่าวอย่างสงสัยว่า หัวข้อนี้มีการวิจัยไว้แล้วหรือไม่ และตัวเขาเองก็รู้สึกเห็นใจผู้หญิงอีสานที่ต้องหาทางแต่งงานกับชาวตะวันตก โดยเขาแสดงความเห็นว่า หัวข้อนี้ถือเป็น “ด้านมืดที่ไม่มีการพูดถึงในสังคมอีสาน” พร้อมกับชี้ว่า ผู้หญิงเหล่านี้ถูกมองว่าเป็น “ของมีตำหนิ” พร้อมกับ “ถูกครอบครัวและหมู่บ้านดูถูกราวกับว่าเป็นความผิดของพวกเธอคนเดียว” ในขณะที่ผู้ชาย “กลับได้รับการยอมรับโดยไม่ต้องรับผลอะไรเลย” เขากล่าวอีกว่า “เมื่อไหร่ที่ผู้ชายอีสานจะถูกตำหนิในเรื่องนี้บ้าง!?” นอกจากนี้เขายังระบุถึงปัญหาในทัศนคติที่แตกต่างระหว่างชายและหญิงในประเทศไทยด้วย โดยกล่าวว่า “เด็กผู้ชายในประเทศไทยถูกเลี้ยงดูและตามใจโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ในขณะที่เด็กผู้หญิงต้องแบกรับผลที่ตามมาด้วยตัวเองอยู่เสมอ”

ผู้อ่านอีกคนชื่อ Kay Schibulsky กล่าว่า รัฐบาลในประเทศตะวันตก “จะตามตัวคุณ พร้อมกับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่คุณมี ถ้าคุณไม่เลี้ยงดูลูกของตัวเอง” ผู้หญิงอีสานเหล่านี้หลายคนมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับอดีตคู่ครองหรือสามีของตนที่เป็นคนไทย/อีสาน นอกจากนี้เคย์ยังกล่าวด้วยว่า ผลที่ตามมาก็คือ ผู้หญิงเหล่านี้จึงกลายเป็นคนขี้หึง เพราะกลัวว่า “ผู้ชายฝรั่งอาจจะไม่ซื่อสัตย์และไม่มีความรับผิดชอบเหมือนอดีตสามีคนไทยของตัวเอง” แต่เคย์ก็ยังแสดงทัศนคติเชิงบวกที่ผู้ชายตะวันตกหลายคนมีต่อผู้หญิงอีสาน/ไทย โดยเขาเขียนว่า “ถ้าไม่มีผู้หญิงไทยที่อยู่ต่างประเทศ ประเทศนี้อาจจะต้องหยุดชะงักเพราะไม่มีใครส่งเงินกลับบ้าน”

Bo Phyu เป็นผู้อ่านชายคนหนึ่งที่ไม่เชื่อคำอธิบายของผู้ชายอีสานที่มักอ้างหรือกล่าวโทษว่าการหย่าร้างเกิดจากเป็นปัญหาเรื่องเงินทอง โดยผู้ชายกลุ่มนี้มัก “แก้ตัวเรื่องที่ตัวเองนอกใจคู่สมรสจนนำไปสู่การหย่าร้าง” แล้วอ้างว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากภรรยาคนอีสานเป็นพวก “วัตถุนิยม” อยากได้เงินทองมากกว่าที่จะยอมรับว่าปัญหามาจากตัวเองที่ “ไร้ความรับผิดชอบ แล้วก็มีเรื่องการทำร้ายร่างกาย/จิตใจ มีการนอกใจ ติดแอลกอฮอล์และยาเสพติด” นอกจากนี้เขายังอีกว่า การที่ “ผู้หญิงอีสานวัยกลางคนที่เคยมีลูกมาแล้วจะหาคู่ครองคนใหม่เป็นคนไทยได้นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก”

Sean Perkins เขียนว่า ถ้าผู้ชายไทยรู้สึกว่าถูกคุกคาม เพราะหญิงไทยให้ความสนใจต่อผู้ชายตะวันตกมากกว่า “พวกเขาก็ควรจะต้องประเมินตัวเองแล้วล่ะ”

ซีรีส์ชุดนี้ไม่ได้เน้นประเด็นเกี่ยวกับชายอีสานที่เลิกรากับภรรยาตนเองและไม่มีผู้อ่าน ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทั้งชายหรือหญิงที่พากันออกถกเถียงในประเด็นนี้

หญิงลูกครึ่งใน จ.อุดรธานีที่ถูกล้อเลียนเรื่องสีผิวและสีผมที่แตกต่างจากคนท้องถิ่น ภาพโดย คริส บีล

การเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นกับเด็กลูกครึ่งในอีสาน

ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกลายเป็นสิ่งที่ผู้อ่านภาคภาษาอังกฤษพูดคุยกันมาก โดยพวกเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ปรากฏในคอลัมน์มติชนสุดสัปดาห์ที่ระบุว่า “ผู้หญิงไทยทุกคนมีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน”

John McPherson ผู้อ่านคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดมุกดาหาร แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้โดยยึดหลักปรัชญาว่า ไม่มีสิ่งใดในชีวิตที่ให้ “โอกาสอย่างเท่าเทียมกัน” และประเทศไทยก็ไม่ควรมุ่งไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ Ren Jinruang ชายไทยจากกรุงเทพฯ เห็นแย้งกับความคิดเห็นดังกล่าว โดยเขากล่าวว่า เป้าหมายของประเทศควร “มุ่งที่จะเป็นรัฐสวัสดิการ” เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน “ทั้งด้านการศึกษา โอกาสในการทำงาน สาธารณสุข ฯลฯ”  “โลกนี้ไม่เท่าเทียมกัน แต่เราควรทำให้ทุกคนมีโอกาสดำเนินชีวิตตามความปรารถนาของตนอย่างยุติธรรม”

เรื่องการเหยียดเชื้อชาติที่ปรากฏในการสนทนาทำให้ Noon Klinbubpa หญิงไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นแย้งว่า การใช้คำว่า “เมียฝรั่ง” นั้นก็เป็นการ “เหยียดเชื้อชาติ เหยียดคนต่างชาติ แล้วก็เหยียดผู้หญิงด้วยเช่นกัน!”

แม้ว่าจะไม่มีเจตนา แต่การใช้คำนี้ก็สร้างความขุ่นข้องใจแก่ผู้ฟังได้ เราตัดสินใจที่จะใช้คำที่ใช้กันบ่อยๆ เพื่อท้าทายตัวมันเอง เราเห็นด้วยว่า คำนี้มักถูกใช้เป็นคำเหยียดหรือดูถูกคนอื่น เช่นเดียวกับการใช้คำว่า “ฝรั่ง” ที่คำนี้ในตัวมันเองก็มักถูกใช้ในทางดูถูกหรือเหยียดหยาม

แต่นั่นก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “เหยียดเชื้อชาติ” การมีอคติและการเหยียดเชื้อชาติไม่ใช่สิ่งเดียวกัน อคติคือทัศนคติ ส่วนการเหยียดเชื้อชาติคือ เมื่อมีการแสดงอคตินั้นและอคติดังกล่าวก็กระตุ้นให้เกิด เช่น การใช้อำนาจโดยออกกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อประชากรส่วนหนึ่ง เพราะเชื้อชาติ ซึ่งสิ่งที่ Noon กล่าวนั้นเป็นเรื่องจริง โดยทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับความงามและสถานภาพทำให้ “เมียฝรั่ง” (และลูกๆ ของพวกเธอ) ตกเป็นเป้าของอคติ โดยรวมแล้วอาจนำไปสู่รูปแบบการเลือกปฏิบัติที่ที่มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น “แนวคิดของคำว่า “เมียฝรั่ง” และ/หรือการแต่งงานระหว่างคนต่างเชื้อชาติหรือสีผิวจึงอาจจะไม่มีวันได้รับการมองในแง่บวกก็เป็นได้”

การเคลื่อนไหวจากปรากฎการณ์ Black Lives Matter ในสหรัฐอเมริกาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เราจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องของเชื้อชาติใหม่และอย่างจริงจัง John McPherson ตั้งข้อสังเกตว่า บทความที่เผยแพร่ในคอลัมน์มติชนเป็นบทความที่เหยียดเชื้อชาติ แต่เขาก็ตั้งมีคำถามว่า “การเหยียดเชื้อชาติจากคนที่มาจากเผ่าพันธุ์เดียวกันกับตัวเองนั้นจะต้องเป็นเรื่องยากแค่ไหนกัน” การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวเน้นให้เห็นถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ 2 ประเด็นที่ซีรีส์ชุดนี้เน้นอย่างชัดเจน นั่นคือ ด้านมืดที่อยู่ในวัฒนธรรมอีสาน (และวัฒนธรรมไทยโดยทั่วไป) ในแง่หนึ่งนั้น อคติของสังคมไทยที่มีต่อฝรั่ง ภรรยาคนอีสาน แล้วก็ลูกๆ ของพวกเขาและอีกแง่หนึ่งคือ อคติของคนไทยคนอื่นๆ ที่มีต่อคนอีสาน

ผู้อ่านชาวตะวันตกคุ้นเคยกับการใช้คำว่า “ฝรั่ง” อย่างแพร่หลายในอีสาน คำนี้มีทั้งความหมายเชิงลบและเชิงบวก สตู แมคเคย์ (Stu McKay) ตั้งข้อสังเกตว่า ภาคอีสานเป็น “ภูมิภาคที่แย่ที่สุดในเรื่องของการตะโกนเรียกฝรั่งในที่สาธารณะ” เป็นภูมิภาคที่มี “คนดีๆ เยอะแยะ…แต่กลับถูกคนกลุ่มน้อยทำให้เสียชื่อ”

แจ๊ค วัยรุ่นชายอีกคนที่ถูกเพื่อนในโรงเรียนล้อเลียนเรื่องความแตกต่างจากทางเชื้อชาติและสีผิว ภาพโดย คริส บีล

การที่เราผลิตเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กลูกครึ่งตะวันตก-อีสานถูกรังแกนั้น แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสังคมมีอคติ

Hannah Smith ผู้อ่านหญิงจากสหราชอาณาจักร แสดงความคิดเห็นเชิงตั้งคำถามว่า เหตุใดโรงเรียนจึงยอมให้มีการรังแกและกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้น? เด็กๆ มักถูกรังแกเรื่องสีผิวที่คล้ำกว่าหรือความแตกต่างในลักษณะอื่น” เธอแนะนำให้โรงเรียนต่างๆ ควร “สร้างสภาพแวดล้อมที่จะไม่ยอมให้เกิดการรังแกหรือกลั่นแกล้งเกิดขึ้น” ซึ่ง “จะต้องดำเนินการกับการการรังแกและกลั่นแกล้งทุกประเภทอย่างจริงจัง รวมทั้งช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกรังแกและผู้ที่กลั่นแกล้งด้วย”

ผู้อ่านหลายคนกล่าวว่า ความอิจฉาริษยาเป็นแรงจูงใจทำให้เด็ก (รวมทั้งพ่อและแม่ของพวกเขา) รังแกและกลั่นแกล้งคนอื่น ผู้อ่านชาวไทยหลายคนลดขนาดความสำคัญของประเด็นดังกล่าว โดยบ่นว่า เรื่องนี้ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ขณะเดียวกัน ผู้อ่านชาวตะวันตกหลายคนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดเล่าประสบการณ์ที่ลูกของตัวเองได้เผชิญกับอคติและการกลั่นแกล้งอย่างไรบ้าง จนในที่สุดพวกเขาบางคนตัดสินใจส่งลูกไปเรียนที่กรุงเทพฯ แทน

จากความคิดเห็นของผู้อ่านทำให้ปรากฏชัดว่า มีการสร้างภาพจำหรือการเหมารวมที่เกิดขึ้นกับเด็กลูกครึ่ง ผู้อ่านหลายคนกล่าวว่า เด็กลูกครึ่งได้รับการยกย่องจากสังคมไทยว่าทุกคนมีผิวขาวสวย หน้าตาสวย/หล่อ ทุกคนน่าจะเป็นดาราหรือแสดงหนังได้ เพราะดาราเกือบ “60-70%” ต่างเป็นเด็กลูกครึ่งทั้งนั้น

เหตุผลหนึ่งที่เราใช้คำว่า “ลูกครึ่ง” ในการนำเสนอเพราะว่าไม่มีวิธีอื่นที่จะนิยามคำนี้ได้ดีเท่านี้ การที่จะได้ยินคำว่า “half-breed” (ลูกผสม) นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก หรือแม้แต่คำว่า “half-caste” (เลือดผสม) ก็มีการใช้ ในขณะที่คำกลางๆ อย่างคำว่า “biracial” (สองเชื้อชาติ) ก็เป็นคำที่ใหม่และยังไม่นิยมใช้

Spymoo Pingza ตั้งข้อสังเกตว่า นี่คือ “การต่อสู้ของคนสองเชื้อชาติกับการถูกอัปเปหิออกจากกลุ่มภายในสังคมที่มีเชื้อชาติเดียวกัน แต่มีอำนาจเหนือกว่า” ซึ่ง“ อาจเป็นการเติมเชื้อเพลิงจากการตีตราที่ฝังรากลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายผิวขาวกับหญิงชาวอีสานของพ่อแม่ของพวกเขาได้”

Noon Klinbubpa เล่าถึงประสบการณ์ของเธอเองและวิธีการที่แม่ของเธออธิบายถึงความหนักใจจากการแต่งงานกับชาวตะวันตก (พร้อมทั้งอธิบายว่า ทำไมเธอจึงไม่ชอบคำว่า “เมียฝรั่ง”) ดังนี้

การแต่งงานกับฝรั่ง (ชาวต่างชาติ/คนอื่น) เป็นการละทิ้งเชื้อชาติ (และสัญชาติ) ของตัวเอง คำว่า ‘เมียฝรั่ง’ เป็นคำที่ใช้บรรยายคนไทยที่กลายเป็นคนนอก เราแต่งตัวแตกต่างกัน มีสีผิว (สีเข้ม/แทน) แตกต่างกัน พูดภาษาไม่เหมือนกัน แล้วก็โอบรับบรรทัดฐานทางสังคมและจิตวิญญาณที่แตกต่างกัน การโดนเรียกว่า ‘เมียฝรั่ง’ นั้นถือเป็นคำดูถูกและสร้างความเจ็บปวด! โดยที่ด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา ความขยันในการทำงาน รวมถึงจิตใจ ทั้งหมดถูกมองข้าม ซึ่งการเหยียดเชื้อชาติที่มาจากเชื้อชาติเดียวกันนั้นมีอยู่จริง

คำแนะนำในลักษณะของความเป็นแม่แสดงให้เห็นถึงแง่มุมต่างๆ ของแนวคิดเกี่ยวกับชาติพันธุ์และการเหยียดเชื้อชาติของไทย การแต่งงานกับคนต่างชาติพันธุ์ทำให้คุณต้องกลายเป็นคนนอกที่แต่งตัวแตกต่าง มีผิวที่แตกต่าง พูดจาภาษาไม่เหมือนกัน มีความแตกต่าง ทั้งทางสังคมและจิตวิญญาณ

ในขณะเดียวกัน เด็กสองเชื้อชาติเหล่านี้ก็มีผิวสีขาวกว่า พวกเขาได้รับการมองว่าสวยหล่อ แต่ทว่าพวกเขายังถูกรังแก เพราะความแตกต่างจากเด็กคนอื่น Mike King แสดงความคิดเห็นว่า “เครื่องดื่มกลูต้า หรือแม้กระทั่งคลินิกปรับสภาพผิวให้ขาวขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นใต้วงแขน แล้วก็ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขายดีมาก” เขารู้สึก “แปลกใจว่า ทำไมคนจึงชอบรังแกหรือล้อเลียนผิวของเด็กผู้หญิงที่ขาวผิวขาวกว่า” ส่วน Paul Sophaphone เองก็ประหลาดใจเช่นกัน โดยเขาสงสัยว่า มีการเลือกปฏิบัติต่อเด็กสองเชื้อชาติ” ในอีสานได้อย่างไร “เพราะปกติแล้ว” คนอีสาน “หรือคนไทยเชื้อสายลาวเป็นคนที่เปิดรับความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก”

ผู้อ่านหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่ก็มีชาวตะวันตกบางส่วนด้วย ยอมรับการที่เด็กสองเชื้อชาติถูกรังแกไม่ได้ พวกเขาสงสัยว่า การกลั่นแกล้งนั้นเกิดจากสาเหตุอื่น ไม่ใช่เกิดจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ Nattpol Phorueng ชายชาวกรุงเทพฯ แสดงความคิดเห็นว่า “นักแสดงชายและหญิงเป็นลูกครึ่งหลายคน”

Tula Santisuk จากกรุงเทพฯ มองข้ามการกลั่นแกล้งของเด็กสองเชื้อชาติ โดยกล่าวว่า “เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยน้อยมาก” และ “คนไทยชอบเด็กลูกครึ่งเพราะหน้าตาดี ดาราลูกครึ่งได้รับความนิยมมาก” นอกจากนี้เขายังสงสัยว่า ทำไมต้องทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่เป็นเรื่องจริงก็มีแค่ “หนึ่งในล้าน” เท่านั้น การนำเสนอเกี่ยวกับการถูกกลั่นแกล้งของเด็กสองเชื้อชาติจะ “ทำให้ชาวต่างชาติดูถูกประเทศไทยได้”

ส่วน Victor Jackson ซึ่งอาศัยอยู่ที่พัทยาและคบหาดูใจกับหญิงสาวชาวเชียงใหม่คนหนึ่ง กล่าวถึงการรังแกและกลั่นแกล้งเด็กสองเชื้อชาติว่า “เป็นเรื่องของความโง่เขลาเบาปัญญา แค่ต้องการทำให้คนอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือไม่ก็เกิดจากความอิจฉาริษยา ฯลฯ ” เขาเขียนต่อว่า ผู้หญิงอีสานนั้น “หน้าตาสวยมาก แล้วก็ทำหน้าที่ภรรยาได้อย่างยอดเยี่ยม” ผู้หญิงอีสานส่วนใหญ่ที่แต่งงานกับชาวตะวันตก “พวกเธอมีความสุขกับคู่ครองและชีวิตของตัวเองมาก”

แล้วการเหยียดผู้หญิงอีสานและคนอีสานล่ะ?

Bo Siddhisornchai ผู้อ่านที่เป็นหญิงไทย เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่ขอนแก่น และตอนนี้อยู่ที่กรุงเทพฯ แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า การรังแกกลั่นแกล้งนั้นอาจเกิดจาก “การตีตราอดีตของแม่ของเด็กด้วย” และแนะนำให้มองประเด็นว่า การรังแกของเด็กสองเชื้อชาติไม่ได้เป็น “เพียงเรื่องของเชื้อชาติ แต่ยังรวมถึงเรื่องของชนชั้นด้วย”

John McPherson รู้สึกหัวเสียอย่างมากหลังอ่านบทความคิดเห็นพิเศษที่เริ่มเรื่องด้วยความโกรธเคืองต่อคอลัมนิสต์คนกรุงเทพฯ ที่ดูถูกผู้หญิงและสังคมอีสาน จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างทางการเมืองไทยในวงกว้าง โดยเขาระบุว่า “บทความที่ควรจะกล่าวถึงพลวัตการแต่งงานระหว่างหญิงไทยและชายชาวต่างชาติกลับกลายเป็นข้อเขียนเกี่ยวกับการที่คนไทยมองคนอีสานอย่างไรบ้าง แล้วก็จบบทความลงด้วยข้อแถลงทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลไทยจากส่วนกลาง”

พิณทอง เล่ห์กันต์ นักต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีและเป็นผู้ฟ้องร้องผู้เขียนบทความดูถูกคนอีสานปราศรัยรณรงค์ให้เข้าใจสิทธิสตรีในอีสาน ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ 

ผู้อ่านอีกคนเห็นความเชื่อมโยงระหว่างปรากฏการณ์ดังกล่าวกับความไม่เท่าเทียมกัน Bert Brouwer  และกล่าวขอบคุณ Pintong Lekan ผู้เขียนบทความเรื่อง “เสียง (จากสาว) อีสานที่ขอชี้ชะตาตัวเอง” โดยเขากล่าวให้กำลังใจเธอให้ “เดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิของคนอีสานที่ควรเท่าเทียมกันกับคนไทยคนอื่นๆ ทั่วประเทศไทยและทั่วโลก” 

มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ไม่อาจเข้าใจถึงการที่คนอีสานยังคงยากจนและชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ยังยึดกุมอำนาจและสนับสนุนแนวทางนโยบายรัฐแบบรวมศูนย์ที่ไม่ฟังเสียงและการมีส่วนร่วมของประชากรคนส่วนใหญ่ ทั้งที่กรุงเทพฯ นั้นต้องอาศัยแรงงานจากอีสาน ทั้งแม่บ้าน คนงานร้านอาหาร แล้วก็คนขายบริการทางเพศ แต่ทว่า (หรืออาจจะเป็นเพราะเหตุนี้) จึงยังมีการดูถูกเหยียดหยามผู้คนที่มาจากรอบนอกกรุงเทพฯ อยู่

ในภาคอีสานนั้น อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมและภาษาอีสานมีความแตกต่างและมีคุณค่าไม่เท่าเทียมกันกับวัฒนธรรมและภาษาไทยกลาง อย่างน้อยก็เห็นได้จากในชีวิตประจำวันที่คนอีสานถูกสังคมกีดกัน เมื่อมองจากการที่คนอีสานถูกตัดสิทธิตัดเสียงผ่านการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งคำสั่งต่างๆ ของศาล อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่เข้าข่ายเหยียดเชื้อชาติ

อย่างน้อยนี่ก็เป็นการรับรู้ของผู้อ่านชาวตะวันตกหลายคน Bert Brouwer ซึ่งมีคู่ครองเป็นหญิงจากจังหวัดเลย เขียนไว้ว่า “เห็นได้ชัดเจนว่า คนชั้นกลาง [ไทย] ดูถูกคนจากอีสาน แทนที่จะช่วยปรับปรุงมาตรฐานชีวิตของคนอีสาน”

 Robert Pajkovski ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ เขียนแสดงความคิดเห็นว่า สาเหตุที่คนกรุงเทพฯ มีความคิดเห็นเหยียดเชื้อชาติต่อคนอีสานเพราะชนชั้นนำในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มที่ยึดครอง พวกเขาบอกคุณว่าประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นใคร นั่นเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ ผู้ล่าอาณานิคมอยู่ในกรุงเทพฯ และควบคุมความมั่งคั่งของประเทศ คุณรู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นใคร สิ่งเดียวที่ขวางทางพวกเขาคือ คนอีสานและประชากรคนอีสานจำนวนมาก ดังนั้นพวกเขาจึงใส่ร้ายป้ายสีคนอีสานเพื่อทำให้ผู้คนหลงเชื่อว่า คนอีสานเป็นศัตรูและไร้ความสามารถเกินไปที่จะบริหารประเทศนี้

Nick Lyons ชาวสวีเดนที่อาศัยอยู่ที่อุดรธานี เขียนแสดงความคิดเห็นว่า “ผมคิดว่า ชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ กลัวคนอีสาน แล้วก็ไม่เข้าใจคนอีสาน” โดยเขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ภาคอีสานมีประชากรมากถึง 1ใน 3 ของประเทศ แล้วก็ “ค่อยๆ คืบคลานขึ้นไป” สู่ความมั่งคั่งร่ำรวย รวมทั้งเข้าถึงการศึกษา

สรุปบทเรียนที่ได้จากซีรีส์ชุดนี้

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่เรานำมุมมองและทัศนะของผู้อ่านมาสรุปในตอนท้ายของซีรีส์ หลายประเด็นที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้อ่าน ได้แก่ ทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงอีสาน การประณามพฤติกรรมของชายอีสาน คำถามเกี่ยวกับความเสมอภาคเท่าเทียม ประเด็นการรังแกกลั่นแกล้งและการเหยียดเชื้อชาติ ตลอดจนคำถามเกี่ยวกับจุดยืนของคนอีสานในประเทศไทย

คำแนะนำที่เป็นรูปธรรมที่ได้จากซีรีส์อาจมีอยู่ 3 ข้อที่อาจท้าทายปัญหาของสถานภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน

นโยบายด้านการศึกษาและเศรษฐกิจจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน

อย่างน้อย สำหรับผู้หญิงอีสานสองชั่วอายุคนนั้น การแต่งงานข้ามชาติเป็นหนึ่งในไม่กี่ทางเลือกเพื่อขยับสถานะทางสังคม สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้นอาจเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐ จะเป็นไปได้อย่างไรที่หลังจากประเทศไทยมี “ประชาธิปไตย” มาเกือบ 90 ปี แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีทางเลือกในการดำรงชีวิตที่น้อยมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ว่านั้นกลับถูกประณามว่าด้อยการศึกษา ต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่กรุงเทพฯ หรือต่างประเทศ ในขณะที่พวกเขากลับถูกมองอย่างดูถูกจากฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ตลอดเวลา

เมื่อใดที่การเข้าถึงคุณภาพการศึกษามีความเท่าเทียมกัน และเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจเอื้อให้คนอีสานทำมาหากินในถิ่นฐานได้ ภูมิภาคแห่งนี้ก็จะสามารถรักษาและรับประโยชน์จากสิ่งที่คนในภูมิภาคจะสรรหามาได้เอง มากกว่าที่จะต้องออกไปอยู่ที่อื่นเพื่อรายได้เล็กๆ น้อยๆ เมื่อใดที่คนอีสานส่วนใหญ่มีความมั่งคั่งในระดับหนึ่ง ทางเลือกในชีวิตของพวกเขาก็จะขยับขยายมากขึ้น พวกเขาก็จะมีทางเลือกในการมีคู่ครองหรือหุ้นส่วนชีวิต มีงานทำ ตลอดจนแห่งหนที่ต้องการอยู่อาศัยเป็นที่พักพิง

ประชาธิปไตยที่ก่อเกิดผลจริงสำหรับคนอีสาน

ภายใต้ระบอบการปกครองปัจจุบัน (เช่นเดียวกับระบอบทหารในอดีตและแม้แต่ระบอบประชาธิปไตยบางระบอบ) การกำหนดนโยบายของรัฐที่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ ความสนใจที่พวกเขาได้รับจากรัฐบาลคือเงินบริจาคจากมหานคร เจตจำนงและปณิธานในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีมากถึงหนึ่งในสามของประชากรทั้งประเทศกลับต้องผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า คนอีสานอดทนอดกลั้นมาอย่างเจ็บปวด แต่ความเท่าเทียมกันทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีประชาธิปไตยที่เคารพและปกป้องเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ หากปราศจากประชาธิปไตย หากปราศจากการยอมรับความเท่าเทียมกันทางการเมือง การที่จะเปลี่ยนสถานการณ์และสถานภาพของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

การยอมรับและเคารพในความแตกต่าง

ภายใต้รัฐที่มีการรวมศูนย์เช่นนี้ คนอีสานมิอาจแสดงออกถึงภาษาท้องถิ่นที่หลากหลาย รวมทั้งวัฒนธรรมและปณิธานที่ตนมี เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงอีสานที่ไม่ได้รับการยอมรับว่า มีความเท่าเทียมกันและสมควรได้รับศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติต้องกลับกลายเป็นเป้าหมายของการดูถูก เช่นเดียวกับที่คนอีสานที่ถูกให้ค่าความสำคัญเป็นแค่แรงงานและต้องสยบยอมโดยผู้มีอำนาจ ความเป็นกลุ่มคนที่มีเอกลักษณ์ร่วมกลุ่มหนึ่งและวัฒนธรรมอีสานไม่ได้รับการยอมรับ มันถูกหน่วงเหนี่ยว กักขังอยู่ในวิถีทางการเมืองของการเมืองระดับประเทศที่อยู่มหานคร ไม่อาจก้าวไปข้างหน้าภายในรัฐที่รวมศูนย์ ไม่อาจก้าวไปข้างหน้าในฐานะกลุ่มคนที่มีเอกลักษณ์ร่วมกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากภูมิภาคแห่งนี้และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมันไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐ สำหรับรัฐแล้วนั้นไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการเหยียดเชื้อชาติ ไม่มีการบีบบังคับ ไม่มีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น

แต่การเคารพและรับรู้ถึงความแตกต่างนี้จะต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในเช่นกัน อคติและความโหดร้ายในสังคมอีสาน เด็กอีสานรังแกเด็กคนอื่นที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ในขณะที่ผู้ปกครองของพวกเขากลับใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยการเหยียดเชื้อชาติ แล้วก็ดูถูกผู้อื่นในภูมิภาคนี้และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ การประท้วงต่อต้านชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 2000 (2543) จนต้องเผชิญกับการที่ทหารก่อเหตุโดยประมาทในเหตุการณ์ตากใบจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สังคมอีสานต้องเผชิญกับปัญหาทัศนคติเหล่านี้ที่เหยียดหยามผู้หญิงอีสานมานานนับหลายปี จนทำให้เด็กสองเชื้อชาติต้องถูกรังแก กลั่นแกล้ง ไปจนถึงการเผชิญหน้ากับปัญหาการตอกย้ำชาวต่างชาติวันแล้ววันเล่าว่าพวกเขาเป็นคนต่างถิ่น

เมื่อใดก็ตามที่คนอีสานมีสิทธิ์เลือกตัวแทนของตัวเองได้เอง เมื่อใดที่ผู้แทนเหล่านั้นสามารถออกกฎหมายกำหนดนโยบายที่จะจัดการกับการเลือกปฏิบัติในระดับสถาบันที่จำกัดทางเลือกในชีวิตของผู้คน และเมื่อใดก็ตามที่อีสานสามารถแสดงตัวตนของตัวเองออกมาในฐานะกลุ่มคนที่มีเอกลักษณ์รวมกลุ่มหนึ่งเพื่อให้ฐานะกลุ่มคนที่มีเอกลักษณ์รวมกลุ่มนั้นได้รับการยอมรับและเคารพ ปรากฏการณ์อื่นเฉกเช่นปรากฏการณ์เมียฝรั่งก็จะกลายเป็นเรื่องปกติเรื่องหนึ่งในชีวิตของคนอีสานที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่าง The Isaan Record

หากมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรายงานข่าวของเรา สามารถส่งข้อความมาทางโซเชียลมีเดียหรือเขียนอีเมลมาที่ contact@theisaanrecord.co

image_pdfimage_print