ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง

“การมีองค์กรอย่างวุฒิสภา อาจเป็นรูปแบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะบทบาททั้งสามอย่างที่วุฒิสภาเคยมีนั้น อาจมีส่วนอื่นของสังคมที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่า”

(พริษฐ์ วัชรสินธุ: อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 16/8/63)

 “ถ้าประชาชนอยากแก้รัฐธรรม แล้วช่องทางมีอยู่เล็กๆ แล้วยังไม่ทำนิ ประชาชนอยากแก้รัฐธรรมนูญมันพูดไม่เต็มปาก อย่างน้อยต้องทำ ต้องเสนอก่อน”

(ยิ่งชีพ อัชฌานนท์: ผู้จัดการไอลอว์ 30/8/63)

“เราเซ็นชื่อไปแล้ว เป็นการแสดงเจตจำนงค์ ถ้าเราให้พรรคการเมือง เป็นพรรคการเมืองบอกเราว่าเมื่อไหร่พร้อม เมื่อไหร่ไม่พร้อม แต่เมื่อเราทำวันนี้ในฐานะเรา เรามั่นใจแล้ว่าเราพร้อม”

(พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: พิธีกร รายการTonight Thailand. 30/8/63)

การเกิดขึ้นของกลุ่มเยาวชนปลดแอกกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในสังคมไทย โดยมีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่ไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาล และที่มาของรัฐบาล ซึ่งมาจากสืบทอดอำนาจของกลุ่มคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารในขณะนั้น และปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

การชุมนุมประท้วงรัฐบาลของกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้แพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย รวมถึงในโลกของอินเทอร์เน็ตที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานขอรัฐบาลควบคู่ไปกับการประท้วงในท้องถนน ภายหลังกลุ่มดังกล่าวได้สร้างแนวร่วมกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและต่อต้านการรัฐประหารสืบทอดอำนาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มประชาชนปลดแอก 

กลุ่มดังกล่าวมี 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน 3 ข้อเรียกร้องได้แก่ 1. ให้นายกรัฐมนตรีและยุบสภา 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. หยุดคุกคามประชาชน ส่วน 2 จุดยืนคือ ต้องไม่มีรัฐประหารและไม่จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ส่วน 1 ความฝัน คือ การมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกได้รับการตอบรับจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอำนาจของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งจากรัฐประหาร แต่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และแก้ข้อกฎหมายเพื่อเป็นช่องทางในการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

นอกจากพรรคการเมืองที่พยายามขานรับความต้องการของผู้ชุมนุมแล้ว ยังมีภาคประชาชนนำโดยกลุ่ม ไอลอว์ (iLaw) และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่รณรงค์และตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐประหาร พ.ศ. 2557 (ผู้ที่ไปชุมนุมจะสามารถเห็นโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่บริเวณเวทีปราศรัยหรืออยู่รอบพื้นที่ชุมนุมเพื่อให้บริการกับประชาชน)  

ข้อเสนอหลักของ ไอลอว์ (iLaw) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ “รื้ออำนาจ คสช. สร้างหนทางกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย และเปิดทางให้เกิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประจากประชาชน” ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 5 ยกเลิก 5 แก้ไข 

กล่าวคือ ยกเลิก ได้แก่ 1. ปิดทางนายกคนนอก 2. บอกลายุทธศาสตร้ชาติ 20 ปี 3. ไม่ต้องมีแผนปฏิรูปประเทศ 4. ยกเลิกผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษ และ 5. พังเกราะคุ้มครอง คสช. ส่วน 5 แก้ไข ได้แก่ 1. แก้ไขนายกต้องเป็น สส. 2. ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 3. แก้กระบวนการสรรหาคนในองค์กรตรวจสอบ 4 ปลดล็อกกลไกแก้รัฐธรรมนูญ และ 5. เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ร่างใหม่ทั้งฉบับ

ภายหลังวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่มีการจัดชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดกิจกรรมการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ (iLaw) และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันสุดท้ายที่เปิดให้มีการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมระยะเวลาประมาณ 46 วัน มีประชาชนที่สนใจและลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมมากถึง 100,732 รายชื่อ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างมาก 

หลังจากนั้นวันที่ 22 กันยายน 2563 ทางกลุ่ม ไอลอว์ (iLaw) และเครือข่ายภาคประชาชนได้จัดกิจกรรมเดินขบวนไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้กับทางประธานสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อพิจารณาถึงปรากฏการณ์ที่ประชาชนพากันมาลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทางกลุ่มไอลอว์ (iLaw) และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่มีมากถึง 100,732 รายชื่อภายในระยะเวลาเพียงเดือนกว่า ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทาง ไอลอว์ (iLaw) และเครือข่ายภาคประชาชนจากสื่อต่างๆ และสัมภาษณ์ผู้ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำเสนอเหตุผลว่า ทำไมจึงมีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ดังต่อไปนี้

เหตุผลที่หนึ่ง การลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กับทาง ไอลอว์ (iLaw)  และเครือข่ายภาคประชาชน เป็นการยืนยันเจตจำนงค์ของประชาชนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนผู้ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องกรอกเอกสารและลงชื่อเพื่อทำขั้นตอนกฎหมายที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องทางไว้ในมาตรา 256 ที่กำหนดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไว้ทั้งหมดดังนี้ ได้แก่ 1. คณะรัฐมนตรี 2. ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (100 คน ขึ้นไป) 3. ส.ส.+ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งสองสภา (ส.ส.+ ส.ว. 150 คนขึ้นไป) และ 4. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน

เหตุผลที่สอง การลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทาง ไอลอว์ ต่างจากการเสนอการแก้ชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองในสภาตรงที่ พรรคการเมืองที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้กลับมาถามประชาชนอีกครั้งว่าต้องการแก้ไขหมวดใด ประเด็นใด อีกทั้งตอนนี้บางพรรคการเมืองที่ประชาชนเคยเลือกมาก็ถูกยุบไปแล้ว บางพรรคมีการย้ายข้างของ ส.ส. หรือพรรคการเมืองที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นพรรคที่เราไม่ได้เลือก หรือ ไม่ได้เป็นชื่อหลักของสองพรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล หรือ พรรคเพื่อไทย ที่กำลังยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ตอนนี้

เหตุผลที่สาม การเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทางไอลอว์ มีรูปแบบการและขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนที่สำคัญคือ สามารถนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองที่รูปธรรมและนำประเทศออกจากสภาวะที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย เรียกว่า “ระบอบประยุทธ์” หรือ“เผด็จการครึ่งใบ” ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย 

โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. และ ส.ว.ไม่มีสิทธิเลือกนายกรัฐธมนตรี ซึ่งเหมือนกับทางพรรคการเมืองฝ่ายค้าน แต่ที่ต่างออกไป สำหรับการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมกับทาง ไอลอว์ คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น การรื้อระบอบอำนาจของ คสช. ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้แก้ไขยาก รวมถึงการแทรกแซงการบริหารงานท้องถิ่น

เหตุผลที่สี่ ร่างรัฐธรรมนูญที่ไอลอว์จัดทำขึ้น ด้านหนึ่งเป็นการรวบรวมความต้องการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากการประท้วงของนักเรียนและนักศึกษาจากกลุ่มต่างๆ ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังช่วยให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทิศทางในขับเคลื่อนประเด็นในการประท้วงรัฐบาลและการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทางเดียวกัน  

เหตุผลที่ห้า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทาง ไอลอว์ เป็นการดูปฏิกิริยาของพรรคการเมืองและ ส.ว. ว่ารับฟังเสียงของประชาชนหรือไม่ ส.ส. และ ส.ว. ท่านใดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

มากไปกว่านั้นการยื่นแก้ไขดังกล่าวยังมีนัยสำคัญคือ การกระทำดังกล่าวเป็นการกดดัน ส.ส. และ ส.ว. ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเห็นคุณค่าของเสียงประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ ที่ร่วมลงชื่อเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

เหตุผลที่หก การลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทาง ไอลอว์ เป็นการสร้างความรู้สึกร่วมและความฝันร่วมของประชาชนที่ลงชื่อในการแก้ไขกฎหมาย เพราะเขาเหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญของประเทศผ่านร่างดังกล่าว ผลที่ตามมาคือ เขาเหล่านั้นจึงรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและหวงแหนต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะถูกร่างขึ้นมา

เหตุผลที่เจ็ด การลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทาง ไอลอว์ เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ทางด้านการเมืองให้กับประชาชน ผู้ที่มาลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการอ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตนจะต้องลงชื่อมาก่อน นอกจากนี้ เมื่อมีการยื่นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่กระบวนการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะติดตามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขาลงชื่อไปนั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนใด ติดปัญหาตรงไหน เพราะอะไร กระบวนการเหล่านี้ทางด้านวิชารัฐศาสตร์ถือว่า เป็นการสร้างและส่งเสริมการเรียนรู้ทางการเมืองให้กับประชาชนที่สนใจการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง

เหตุผลที่แปด การลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทาง ไอลอว์ ทำให้เราทราบว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เขียนขึ้นมาเพื่อให้แก้ไขยากเพียงใด เนื่องจากต้องล่ารายชื่อจากประชาชนจำนวน 50,000 ร่ายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขแล้วในกระบวนการแก้ไขยังแบ่งออกเป็น 3 วาระ ได้แก่ วาระแรก  ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับเสียงรับรองไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) หรือ 375 เสียง นอกจากนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน ของจำนวน ส.ว. 

วาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือ 376 เสียง แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3

วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องใช้เสียง 376 เสียง หรือมากกว่าครึ่งของสมาชิกรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) ที่สำคัญคือ เสียงที่เห็นชอบต้องเป็นเสียงของ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน สุดท้ายคือ เสียงที่เห็นชอบต้องประกอบไปด้วย เสียงของ ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรีประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ หรือ ส.ส. ฝ่ายค้าน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

จากที่กล่าวมา เราจะเห็นความยากของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ต้องใช้เสียง จาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน ซึ่ง ส.ว. มีที่มาจากการเลือกของ คสช. เป็นผู้เลือก คำถามสำคัญคือ ผู้จะได้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวจะยอมแก้กฎหมายเพื่อทำให้ตนและพวกพ้องเสียประโยชน์ไหม? ที่สำคัญเมื่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมเข้าสู่กระบวนการแล้ว สิ่งที่น่าติดตามคือข้อเสนอดังกล่าวจะถูกแปรญัติหรือถูกแก้ไขไปในทิศทางใด

เหตุผลที่เก้า สมมติข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของทางพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่เสนอเข้าสู่กระบวนการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐสภาหรือถูกตีตกไปในวาระใดวาระหนึ่ง เนื่องจากได้รับความเห็นชอบจากทางสมาชิกรัฐสภาตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ อย่างไรก็ตามยังมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชนอีกหนึ่งฉบับรออยู่ให้พิจารณา

เหตุผลสุดท้าย การลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทาง ไอลอว์ และเครือข่ายภาคประชาชน เป็นการยืนยันว่า “ไม่เอารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560” ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจของเผด็จการ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเขียนขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในการรัฐประหาร

มากไปกว่านั้น ถึงแม้จะมีการกล่าวอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะมีการลงมติรับจากประชาชนทั่วประเทศ แต่การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ประเทศไทยตกอยู่สภาวะการปกครองโดยเผด็จการทหารและมีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการลงประชามติในครั้งที่ผ่านมาอย่างมาก

กล่าวโดยสรุป ทั้ง 10 เหตุผลข้างต้นที่กล่าวมานี้เป็นภาพรวมที่ประมวลได้มาจากประชาชนที่ลงชื่อเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทางกลุ่มไอลอว์ และเครือข่ายภาคประชาชน อย่างไรก็ตามเจตจำนงค์ที่ประชาชนแสดงออกมานี้จะได้รับการตอบรับจากทางภาครัฐมากน้อยแค่ไหนเป็นสิ่งที่ประชาชาชนต้องให้ความสนใจและติดตามกันต่อไป 

สุดท้ายผมขอยกประโยคปิดท้ายบทความด้วยการกล่าวว่า “ประชาธิปไตยมิได้ตกลงมาจากฟ้าหรือได้รับการมอบให้จากชนชั้นนำที่มีความเมตตาต่อคนกลุ่มน้อย อยากได้ประชาธิปไตยต้องต่อสู้เอาเอง” (1)

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

อ้างอิง

(1) อ้างใน ธเนศวร์ เจริญเมือง. (2554). ประชาธิปไตยในสังคมไทย 19 กันยายน 2549-กุมภาพันธ์ 2553. เชียงใหม่: Sompornpress, หน้า 7.

image_pdfimage_print