ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 บริเวณหน้าสยามเซ็นเตอร์และแยกปทุมวัน กรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการสลายการชุมนุมต่อเนื่องถึงสองครั้งติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 กระทั่งเมื่อวานนี้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ด้วยการใช้น้ำผสมแก๊สน้ำตาและหัวฉีดแรงดันสูง ทั้งที่การชุมนุมเป็นไปอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ ทำให้เห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ นอกจากจะทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ทั้งกายและใจแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อ “นักข่าวไทยและนักข่าวต่างประเทศด้วย”
เพราะมีนักข่าวจำนวนไม่น้อยได้รับบาดเจ็บ อุปกรณ์การทำงานเสียหายจากการใช้ความรุนแรง

วินาทีที่ตำรวจปราบจลาจลฉีดน้ำด้วยแรงดันสูงและน้ำผสมแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชน
ทีมข่าวของเดอะอีสานเรคคอร์ดจำนวน 2 คน ก็ร่วมสังเกตการณ์และรายงานข่าวในสถานการณ์นั้นด้วย พวกเขาก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอื่นๆ
บาดแผลทั้งทางกายและทางใจที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงของรัฐทั้งปัจจุบันและในอดีต จึงถือเป็นสิ่งตกค้างที่ “รัฐ” ไม่เคยหันมาทบทวนความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้แต่ครั้งเดียวว่า ความรุนแรงไม่เคยสร้างสันติภาพ !
โดยเฉพาะการห้ามผู้สื่อข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์บันทึกภาพการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ หรือแม้กระทั่งการผลักดันผู้สื่อข่าวออกจากพื้นที่ชุมนุม รวมทั้งการจับกุม ยึดกล้องและโทรศัพท์ “กิตติ พันธภาค” นักข่าวประชาไท ขณะกำลังรายงานสดเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณบีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ ทั้งที่เขาแสดงตัวชัดเจนว่า เป็นนักข่าว มารายงานข่าว มีบัตรประจำตัวนักข่าว และปลอกแขน ที่ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยรับรอง
ซึ่งต่อมาทราบว่า มีการใส่กุญแจมือ “นักข่าว” ทั้งที่เขาเพียงพยายามทำหน้าที่รายงานข่าวสารให้ถึงประชาชนเท่านั้น

กิตติ พันธภาค นักข่าวประชาไท ขณะถูกจับอยู่ในรถขังผู้ต้องหา เครดิตภาพเว็บไซต์ ประชาชาติ
การถูกพันธการด้วยกุญแจมือ จึงถือเป็นสิ่งยอมรับได้ยากยิ่งในสังคมประชาธิปไตยสิทธิ เสรีภาพ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
แม้ต่อมาเขาจะถูกปล่อยตัว หลังถูกปรับเป็นเงิน 300 บาท ด้วยข้อหาฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ที่ระบุว่า “ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
การกระทำความรุนแรง ทั้งต่อผู้ชุมนุมและนักข่าวครั้งนี้ จึงถือเป็นการประกาศสงครามต่อสายตาชาวโลกอย่างเห็นได้ชัด
เพราะเท่ากับว่า “รัฐ” มองไม่เห็นความสำคัญของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวและเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์อีกต่อไป
ตรงกันข้ามรัฐกลับพยายามผลักไส แล้วปิดหู ปิดตา ปิดปาก และปฏิบัติต่อสื่อมวลชนเยี่ยงการก่ออาชญากรรม ทั้งที่นักข่าวไม่ใช่อาชญากร