“ขวัญเจ้าเอยขวัญมา ใยหนอล่องลอยหลุดไป 

อยู่ที่ไหนช่วยบอกได้ไหมใจ ใยถึงไม่คืนกลับมา…” 

ประโยคข้างต้น คือ ท่อนฮุคของซิงเกิ้ลล่าสุด “ขวัญเอยขวัญมา” จาก ปาล์มมี่ อีฟ ปานเจริญ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นไทย โดยเฉพาะภาคอีสานผ่านพิธี “ส่อนขวัญ” ซึ่งเป็นการเรียกขวัญแบบพื้นเมืองอีสาน ทำสถิติ 2 ล้านวิวภายใน 24 ชั่วโมง จนกลายเป็นเพลงฮิตอันดับ 1 ในมาแรงบนแพลตฟอร์ม Youtube ประเทศไทยเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

หลายคนคงคุ้นหูกันเป็นอย่างดีกับคำว่า มิ่งขวัญ จอมขวัญ ของขวัญ คำขวัญ ทำขวัญ สู่ขวัญ ขวัญข้าว ขวัญหนีดีฝ่อ ฯลฯ ข้อเขียนชิ้นนี้ทดลองไล่เรียงประเด็นเกี่ยวกับ “ขวัญ” ว่าเรื่องนี้เป็นเพียงความเชื่อโบราณปรำปราหรือยังเป็นปังปุริเย่กับคน Gen Y, Gen Z มากน้อยแค่ไหน ผู้เขียนขอแบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 

1) ขวัญคืออะไร 

2) บทบาทของ “ขวัญ” ต่อวิถีชีวิตของชาวอีสาน 

3) “ขวัญ” กับการปกป้องสิทธิมนุษยชนและการเคลื่อนไหวทางการเมือง

และ 4) ข้อถกเถียงเรื่องขวัญและความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คน 

มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ขวัญ คือ อะไร?

“ขวัญ” เป็นความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ไต-ไท ถ้ามองในเรื่องความเก่าแก่แล้วจะพบว่า ความเชื่อเรื่องขวัญ อาจนับเป็นความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งในกลุ่มของคนเผ่าไตก่อนที่จะได้รับอิทธิพลความเชื่อของพระพุทธศาสนา นั่นเพราะคำว่า ขวัญจัดเป็นคำโบราณในกลุ่มภาษาตระกูลไต คำๆ นี้มีใช้อยู่ทั่วไปในภาษาถิ่นทั่วไป ทั้งในประเทศไทยและนอกประเทศ ทั้งยูนนาน อัสสัม เมียนม่าและลาว ล้วนมีคำว่า ขวัญอยู่ในภาษาของตนทั้งสิ้น

ฉากหนึ่งจาก Official MV เพลงขวัญเอยขวัญมา เป็นฉากที่นางเอกกำลังตกอยู่ในห้วงภวังค์แห่งความเศร้า จากการที่ชายคนรักหนีไปแต่งงานกับหญิงอื่น จนครอบครัวต้องทำพิธีเรียกขวัญ เพื่อเป็นกำลังใจให้นางเอก เครดิตภาพ : Genierock

ในแง่ความหมายภาษาไต-ไท นอกพื้นที่ประเทศไทย ขวัญมีความหมายทำนองเดียวกันกับที่ใช้อยู่ในภาษาถิ่นในประเทศไทย หมายถึง สิ่งที่แฝงอยู่ในตัวมนุษย์ไม่มีฤทธิ์ แต่ถ้าขวัญไม่อยู่ในร่าง เจ้าของร่างก็จะไม่ปกติ ส่วนที่ต่างไปคือ ขวัญยังคงอยู่ต่อไปหลังจากที่เจ้าของร่างกายตายไปแล้ว โดยในกลุ่มชาติพันธุ์ไต – ไท มีความเชื่อว่า ขวัญของคนที่ตายไปแล้ว สามารถกลับมาบ้านเพื่อติดต่อกับคนที่ยังมีชีวิตได้ ส่วนขวัญของคนในประเทศไทยมีความเชื่อว่า เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของร่าง เมื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เมื่อใดที่เจ้าของร่างตายไปก็จะไม่มีการพูดถึงขวัญของคนๆ นั้นอีก ถ้าจะพูดถึงก็จะกล่าวถึงอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “วิญญาณ”

ความเชื่อเรื่องขวัญของชาวอีสานจะมีความคล้ายคลึงกับความเชื่อเรื่องขวัญของกลุ่มคนไทยโดยทั่วไป จากสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสานปี 2542 เชื่อว่า “ขวัญ” คือสิ่งที่เป็นมงคลสถิตอยู่กับชีวิตมนุษย์ สัตว์ พืชพันธุ์ รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ ชาวอีสานยังยึดมั่นในความเชื่อเรื่องขวัญและกระทำพิธีกรรมเรียกขวัญซึ่งเรียกว่า “สูดขวัญ”(สู่ขวัญ) ซึ่งอาจจะทำเป็นพิธีเล็กๆ เฉพาะคนในครอบครัวก็ได้ หรืออาจจะทำพิธีกรรมใหญ่เชื้อเชิญแขกจำนวนมากมาร่วมงานก็ได้ 

คำว่า “ขวัญ” มีปรากฏอยู่ในภาษาตระกูลไต -ไท ทุกกลุ่ม เครดิตภาพ : มิวเซียมสยาม

นอกจากนี้ชาวอีสานยังได้ให้ความสำคัญกับสิ่งของเครื่องใช้ พืชพันธุ์ ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์เสมือนหนึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดว่า ย่อมมีขวัญประจำตัวอยู่เหมือนกัน ถ้าถูกมนุษย์รบกวน ขวัญของสิ่งของเหล่านั้นอาจต้องกระเจิดกระเจิงเช่นเดียวกับขวัญของมนุษย์ จึงต้องทำพิธีสู่ขวัญเช่นเดียวกันกับมนุษย์ เช่น สู่ขวัญบ้าน ขวัญเรือน สู่ขวัญข้าว เป็นต้น ในที่นี้จึงอนุมานได้ว่า ขวัญ คือ สิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านสภาพจิตใจและการดำรงชีวิตให้กับมนุษย์ 

  1. บทบาทของ “ขวัญ” ต่อวิถีชีวิตของชาวอีสาน

“ขวัญ” เป็นความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของชาวอีสานเสมอมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างความเชื่อเรื่องขวัญในอดีตที่ปรากฎอยู่ในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานหลายเรื่อง เช่น วรรณกรรมเรื่องนางผมหอม ได้กล่าวถึงตอนที่นางสีดา ซึ่งเป็นพระมารดาของนางผมหอมจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญการกลับเข้าเมืองของนางผมหอมไว้ดังนี้

“…เมื่อนั้นนางเมืองเจ้า มารดาพระแม่

ก็จึงบายข้าวปั้น มาเอิ้นเฮียกขวัญ…”

วรรณกรรมเรื่องผาแดงนางไอ่ก็ยังกล่าวถึงอดีตชาติของท้าวภังคีที่ได้แต่งงานกับนางไอ่ บุตรสาวของเศรษฐี ซึ่งในพิธีแต่งงานก็มีการจัดบายศรีสู่ขวัญด้วยเช่นกัน 

“…เศรษฐีคึดคักแล้ว ตกแต่งภาขวัญ

ทันเอามา ลูกเขยคนใบ้…

…อันว่า พ่อสู่ขวัญให้แล้ว หนีไปทางใหม่

บ่อคึดฮอดน้อย นางแก้วท่อใย…”

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความเชื่อเรื่องขวัญเป็นความเชื่อที่ได้รับการยอมรับจากคนอีสานอย่างลึกซึ้ง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา เมื่อจะทำกิจกรรมใดๆ ก็มักจะจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญอยู่เป็นประจำ เพราะชาวอีสานเชื่อว่า การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญนั้น เป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

การบายศรีสู่ขวัญเป็นที่เชื่อกันว่า ได้คติมาจากพราหมณ์ เพราะพราหมณ์เชื่อว่าใบตองเป็นของบริสุทธิ์สะอาดไม่มีมลทินของอาหารเก่าแปดเปื้อนเหมือนถ้วยชาม จึงนำมาใช้ทำพาชนะใส่อาหาร เป็นรูปกระทง ต่อมาได้ดัดแปลงประดับประดาให้สวยงาม อีกประการหนึ่งเชื่อว่า พานบายศรีนั้นเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของพระอิศวร เท่ากับเป็นการอัญเชิญพระอิศวร ซึ่งเป็นเทพเจ้าของพราหมณ์มาเป็นประธานในพิธีด้วย 

ตามประเพณีของชาวอีสาน การบายศรีสู่ขวัญจะทำกันในหลายกรณีที่สำคัญ ทั้งในโอกาสการเฉลิมฉลอง การฟื้นจากความทุกข์ การต้อนรับขับสู้

การประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ จะมีองค์ประกอบ คือ การหาฤกษ์ยาม การเชิญผู้มาร่วมพิธี การจัดทำพาขวัญ ส่วนบทสู่ขวัญจะเป็นไปตามสถานการณ์ คือ ผู้สวดมักจะเลือกเอาบทที่สอดคล้องกับโอกาสที่จัดงานนั้นๆ เช่น บทสู่ขวัญตอนท้ายของ MV เพลงขวัญเอยขวัญมา ที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างขึ้นมาตอนต้น ก็มีการสวดเรียกขวัญให้กับนางเอก ซึ่งเป็นลูกหลานของครอบครัวว่า

“…พุทโธรักษา ธัมโมรักษา สังโฆรักษา

เจ้าหนีไปหนีมา ขอให้เมือ (กลับไป) อยู่บ้านอยู่ช่อง

อยู่ไร่อยู่นา อยู่ป่าอยู่เขา ก็ขอให้กลับคืนมาอยู่บ้านอยู่ช่องเด้อ สาธุ…”

จากที่กล่าวมาทั้งหมดในส่วนนี้จะพบว่า บทบาทความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” ได้มีอิทธิพลต่อวิถีการชีวิตของชาวอีสานแทบจะทุกขั้นตอนของการดำเนินชีวิตในชีวิตของคนๆ หนึ่งนับตั้งแต่การเกิด การทำงาน การเจ็บป่วย ผ่านพิธีกรรมที่สำคัญ คือ การบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า หากขวัญที่ประจำตัวแต่ละบุคคลอุดมสมบูรณ์แล้ว เจ้าของขวัญก็จะอยู่ดีมีสุขตามไปด้วย 

  1. “ขวัญ” กับการปกป้องสิทธิมนุษยชนและการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ปัจจุบันพบว่า ความเชื่อเรื่องขวัญ นอกจากยังคงมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวอีสานแล้ว ยังมีบทบาทและความสำคัญในการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในภาคอีสานอีกด้วย ซึ่งมีตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ 2 เหตุการณ์ได้แก่

กิจกรรม “บายศรีเรียกขวัญประชาธิปไตย”  จัดโดย เครือข่ายอีสานปลดแอก ปลาแดกจงเจริญ เครดิตภาพ อติเทพ จันทร์เทศ

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น มีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในภาคอีสานประมาณ 300 คน ร่วมกิจกรรม “บายศรีเรียกขวัญประชาธิปไตย” จัดโดยเครือข่ายอีสานปลดแอก ปลาแดกจงเจริญ ประกอบด้วย สมัชชานักศึกษาอีสาน ขบวนการอีสานใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชนอีสาน กิจกรรมดังกล่าวมุ่งรณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นการรวมตัวของตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนที่จะร่วมกับนักศึกษา แสดงจุดยืนเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้ร่วมกิจกรรมเดินยึดเหมือง ด้วยการเดินจากปากทางเข้า – ออกโรงโม่หินของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ​ จำกัด ไปยังพื้นที่การสัมปทานเหมืองหินปูนด้วยระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อประกาศชัยชนะ หลังใบอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง ของบริษัทเอกชนสิ้นลง โดยกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ทำพิธีขอขมาต่อป่าเขาตามความเชื่อของชาวบ้านว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคยอยู่ในภูผาฮวกได้รับการก่อกวนจากการระเบิดหิน ชาวบ้านจึงขอขมาและ “ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญภูผาฮวก” และทำพิธีบวชป่าเพื่อปกป้องผืนป่าที่ยังคงเหลืออยู่จากการทำเหมืองแร่

พิธีบายศรีสู่ขวัญและขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนภูผาฮวก จัดโดยกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน เขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได จ.หนองบัวลำภู เครดิตภาพ : อติเทพ จันทร์เทศ

การประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญทั้ง 2 ครั้งข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อเรื่องขวัญยังคงมีบทบาทและความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวอีสาน เพราะถือว่าการประกอบพิธีสู่ขวัญยังคงสร้างกำลังใจให้กับผู้คนที่ต้องการความเป็นอยู่ส่วนตัวและสภาพแวดล้อมทางการเมืองและทางธรรมชาติที่ดีขึ้น ในด้านความสำคัญจะเห็นว่า พิธีสู่ขวัญถูกนำมาใช้ประกอบการเคลื่อนไหวที่สำคัญๆ ทั้งการทางเมืองเพื่อเรียกขวัญกำลังใจในการเคลื่อนไหวเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่น

  1. ข้อถกเถียงเรื่องขวัญและความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คน

งานศึกษาของ วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ระบบทุนนิยมที่เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน ได้ส่งผลให้ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกทำให้กลายเป็นสินค้า อันเป็นที่มาของปรากฏการณ์ประเพณีประดิษฐ์มีการอนุรักษ์สืบทอดกันแต่เพียงรูปแบบของการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น เนื่องจากผู้คนไม่เข้าใจประเด็นความหมายทางวัฒนธรรมของประเพณีนั้นๆ อย่างลึกซึ่งเหมือนในอดีต พิธีกรรมที่จัดขึ้นจึงหมดความหมายทางจิตใจไป 

ประเพณีพิธีกรรมในปัจจุบันจึงมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องมือให้คนมาพบปะเพื่อความสนุกสนานกันเป็นสำคัญ ความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ที่มีผลต่อความมั่นคงทางจิตใจได้หมดความหมายลง เหลือแต่ความสำคัญทางสังคมที่ได้ให้คนมาสังสรรค์กันเท่านั้น เช่นเดียวกับความเชื่อในเรื่องขวัญ แต่เดิมขวัญเป็นการมองชีวิตและโลกหรือสังคมในแง่มุมหนึ่งของชาวอีสาน แต่ความเชื่อนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ในบางสังคม “ขวัญ” ไม่ใช่การมอง “ชีวิต” อีกแล้ว ปัจจุบันในบางสังคมเป็นเพียงพิธีกรรมเก่าๆ ที่กำลังจะถูกลืมความหมาย 

ขณะนั้น วิไลวรรณได้ยกตัวอย่างข้อเท็จจริงนี้ปรากฏในชีวิตประจำวันของเรา เช่น การบายศรีสู่ขวัญนาคในบางพื้นที่จะพบว่า ผู้ร่วมพิธีจะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนของผู้ที่มาร่วมงานบวช บางงานอาจมีแค่นาค พ่อแม่ของนาค พราหมณ์ผู้ประกอบพิธี และคนใกล้ชิด รวมประมาณ 5-6 คน ฯลฯ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและสามารถสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงความหมายของประเพณีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” ของชาวอีสานได้อย่างเด่นชัดที่สุด

ประเด็นนี้ผู้เขียนขอเสนอข้อโต้แย้งในประเด็นที่วิไลวรรณได้เสนอว่า ปัจจุบันความเชื่อเรื่องขวัญในบางสังคมเป็นเพียงพิธีกรรมเก่าๆ ที่กำลังจะถูกลืมความหมาย อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน บริบทของการต่อสู้ทางการเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน การเรียกร้องการกระจายอำนาจ ได้ส่งผลให้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นต่างๆ ถูกผลักดันและถูกหยิบนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวจากผู้คนท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ เพื่อแสดงความเป็นตัวตนของ “ท้องถิ่น” ที่แตกต่างจาก “ส่วนกลาง” ซึ่งมีการรวมศูนย์อำนาจ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงประเพณีความเชื่อ มาเป็นเวลานาน อันแสดงให้เห็นว่า คนแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ ล้วนมีความเชื่อหรือแนวทางที่สามารถนำพาสังคมไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีได้ในแบบของตนเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการรวบอำนาจของส่วนกลางเสมอไป

ข้อมูลอ้างอิง

จารุวรรณ ธรรมวัตร (2522) คติชาวบ้านอีสาน กรุงเทพฯ : อักษรวัฒนา

ญาวิณีย์ ศรีวงศ์ราช (2544) การศึกษาแนวคิดเชิงปรัชญาเรื่อง “ขวัญ” ในวรรณกรรมพิธีกรรมล้านนา วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาปรัชญา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

เบญจมาศ แพทอง (2540) บายศรี : สัญลักษณ์ของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร

วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ (ม.ป.ป.) วิวัฒนาการพิธีทำขวัญคนไท กรุงเทพฯ : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สัญญา สะสอง (2544) แนวคิดเชิงปรัชญาในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน 

วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาปรัชญา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อุดม บัวศรี (2546) วัฒนธรรมอีสาน ขอนแก่น : คลังนานาวิทยา

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print