ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เรื่อง
ดลวรรฒ สุนสุข ภาพ
ขอนแก่น – เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสานจัดประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายความหลากหลายทางเพศที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ม.ขอนแก่น) ระหว่างวันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 40 คน ซึ่งมาจากเกือบทุกจังหวัดภาคอีสาน
กิจกรรมครั้งนี้ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยได้แห่ขบวนพาเหรด Pride (ไพร่) และแห่ธงเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563 นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งกิจกรรมที่ทำให้รู้จักระบบอำนาจและความไม่เป็นธรรมจากโครงสร้าง รวมถึงการเรียนรู้อัตลักษณ์และการถูกทำให้เป็นชายขอบ โดย The Isaan Record ได้รวบรวมข้อเสนอและมุมมองที่น่าสนใจจากมุมมองของกลุ่มผู้มีควมหลากหลายทางเพศจากการพูดคุยครั้งนี้
“สังคมอีสานไม่เปิดโอกาสให้คนที่เป็น LGBTI มีพื้นที่เลย” ก้าวหน้า เสาวกุล หรือ โตโต้
ปัญหา LGBTQ ไม่ถูกพูดตรงๆ
ก้าวหน้า เสาวกุล หรือ โตโต้ หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน กล่าวว่า คนอีสานให้ความสำคัญกับญาติ พี่น้อง หน้าตา ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในชุมชน การมีลูกหลานคนในครอบครัวเป็น LGBTI ไม่ใช่เรื่องที่ทุกบ้านรับได้ หรือ กล้าพูด หรือโรงเรียนสนับสนุน หรือปกป้องนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ
“ เรื่องเพศที่หลากหลายนั้นมีคนรู้ไม่มากก็น้อย แต่กลับไม่ถูกพูดถึงด้วยเสียงดังๆ” เขากล่าวและว่า “เมื่อปัญหาที่ไม่ถูกพูดถึงตรงๆ ก็จะทำให้ถูกกดขี่ กดดันคนที่เป็น LGBTI ต้องอยู่ในเงาต่อไป”
บรรยากาศการพูดคุยหารือเพื่อสร้างเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563
คนในเครือข่ายฯ ต้องช่วยกัน
แม้ว่า การสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ แต่โตโต้เห็นว่า เครือข่ายฯในอีสานทุกคนต้องช่วยกัน
“แน่นอนว่า การเริ่มสร้างเครือข่าย LGBTI ในอีสานจะทำให้คนในพื้นที่ที่เป็น LGBTI เข้มแข็งขึ้น เพราะเขารู้แล้วว่า ไม่ใช่เขาคนเดียวที่เจ็บปวดและอยากให้เพศของเขามีตัวตน ได้รับการยอมรับอย่างจริงจัง”ก้าวหน้า กล่าว
สมคิด แก้วยก หรือ เบล ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อสร้างเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน
ฝันอยากเห็นสมรสเท่าเทียม
ส่วน สมคิด แก้วยก หรือ เบล ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยในครั้งนี้ กล่าวถึงความรู้สึกว่า การพูดคุยหารือคร้ังนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นทิศทางที่ดี โดยจะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปสร้างเครือข่ายต่อในชุมชนและจังหวัดของตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมเข้าใจกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
เบลหวังว่า หากสร้างชุมชน LGBTQ ได้มากเท่าใด ก็จะยิ่งผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมไทยได้มากเท่าน้ัน
“สิ่งที่อยากเห็นในอนาคต คือ การสมรสเท่าเทียมและอยากให้ทุกคนมองเราเป็นคนปกติเหมือนคนทั่วไป อยากให้เข้าใจเรามากขึ้น”สมคิด กล่าว
“ความหลากหลายทางเพศในสังคมอีสานยังถูกยอมรับแบบมีเงื่อนไขอยู่” ปณต ศรีนวล หรือ เต้ย หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน
สังคมอีสานมอง LGBTQI แบบมีเงื่อนไข
ขณะที่ ปณต ศรีนวล หรือ เต้ย ชาวจังหวัดศรีสะเกษ บอกว่า ความหลากหลายทางเพศในสังคมอีสานยังถูกยอมรับแบบมีเงื่อนไขอยู่ อีกทั้ง ยังติดกับความคิดหลายอย่าง เช่น การเป็นกะเทย ถ้าจะรักผู้ชายจะต้องมีเงิน เพื่อให้ผู้ชายมาอยู่กับเรา เป็นต้น ซึ่งความคิดแบบนั้นเป็นความคิดที่ล้าหลังมาก แต่กลับถูกปลูกฝังมานาน แม้กระทั่งในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง
“วิธีแก้ปัญหา คือ เครือข่ายฯ ทั้งที่สร้างในอีสานและที่อื่นๆ ต้องร่วมมือกันทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การเพื่อเปลี่ยนแปลง”เต้ยกล่าวอย่างมีความหวัง
เป็นตัวเองของตัวเองนอก “อีสาน”
ผู้เข้าร่วมพูดครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ มีบางส่วนเป็นนักเรียนมัธยมด้วยซ้ำไป ซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมบางคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยผู้ร่วมแลกเปลี่ยนที่มีอายุน้อยสะท้อนว่า เมื่อเขาออกจากอีสานจะสามารถแสดงความเป็นตัวเองมากกว่าอยู่ในพื้นที่ โดย“โตโต้” เป็นนักธุรกิจวัย 35 อาศัยและทำงานในกรุงเทพฯ ส่วนเบลก็จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่
โดยเฉพาะเบลเมื่อ เข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ ยิ่งทำให้รู้สึกว่า สามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมีใครมาคอยบอกว่า ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ไม่ถูก ซึ่งทำให้ชีวิตไม่ถูกตีกรอบ
ความหวังอย่างหนึ่งของเธอสำหรับการสร้างเครือข่าย คือ ถ้าได้รับการสนับสนุนและสร้างความเข้าใจได้สำเร็จ ชาว LGBT อีสานก็ไม่จำเป็นต้องออกจากภูมิภาคเพื่อให้สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่อีกต่อไป
แม่ของลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ
ไม่เพียงแต่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยน แต่การพูดคุยครั้งนีมี สุภิสรา ศรีงาม แม่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวบุรีรัมย์ ก็เข้าร่วมด้วย โดยเธอมีประสบการณ์ที่เคยเคยห้ามลูกสาวไม่ให้แต่งตัวเหมือนผู้ชาย
“อย่าทำแบบนี้ได้ไหม ลูกต้องเป็นคนอ่อนหวานอ่อนโยนนะ หนูต้องใส่กระโปง หนูอย่ามาทำตัวเป็นผู้ชายนะแม่ไม่ชอบ หนูเป็นผู้หญิงหนูต้องเป็นกุลสตรี”สุภิสรา เล่าประสบการณ์ที่เคยพูดกับลูก
สุภิสรา ศรีงาม ชาว จ.บุรีรัมย์ แม่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เปิดมุมมองให้ผู้ปกครองเข้าใจ LGBT
การได้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยและฟังประสบการณ์จากคนอื่นๆ ทำให้ สุภิสรา มีมุมมองใหม่เกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
“ถือว่า ได้มาเปิดโลกให้กว้างขึ้น ทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้นและเห็นใจคนที่ต้องต่อสู้และเผชิญกับปัญหาหลายอย่างเพื่อให้เกิดการยอมรับของคนในสังคม” สุภิสรา กล่าว
และว่า “หลังจากนี้อยากเป็นกระบอกเสียงเพื่อทำให้พ่อแม่ที่มีลูกหลากหลายทางเพศเข้าใจลูกๆ พวกเขาจะต้องมีที่ยืนในอีสาน”
LGBT Pride พาเหรด ครั้งแรกในอีสาน
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ผู้จัดต้องการสร้างพื้นที่แห่งความหลากหลายนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจและนำประสบการณ์ที่แลกเปลี่ยนไปใช้ได้จริง นอกจากนี้พวกเขายังแสดงออก ด้วยการจัดขบวนพาเหรด LGBT Pride ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในภาคอีสาน
หลังจากทำป้ายข้อความเพื่อสื่อสารกับสาธารณะแล้ว พวกเธอยังแต่งกายเต็มยศแล้วร่วมกันเดินขบวนจากสะพานขาวภายใน ม.ขอนแก่น ไปยังอาคารคอมเพล็กซ์
ระหว่างก็มีสมาชิก LGBT ในพื้นที่และนักเรียนมัธยมปลายที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการจัดกิจกรรมชุมนุมเกี่ยวกับการเมืองมาร่วมขบวนพาเหรดด้วย
บรรยากาศการจัดกิจกรรม LGBT Pride พาเหรด ที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งถือเป็นการจัดครั้งแรกในอีสาน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563
ควรมีกฎหมาย ควรมีแรงหนุน LGBTI
โตโต้ เชื่อว่า การเดินพาเหรดอาจเป็นการกระทำที่เรียบง่าย แต่ก็เป็นขบวนพาเหรดแห่งความภาคภูมิใจครั้งแรกในขอนแก่น ซี่งเป็นของคนอีสานทั้งหมด
“ดีใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะเป็นวันที่ได้มาหารากเหง้าของตัวเองอีกครั้งในร่างกายใหม่” โตโต้กล่าวถึงความรู้สึกที่เกิดกับเขาในวินาทีนั้น
เขายังบอกอีกว่า สิ่งที่ทำให้ประทับใจมากที่สุด คือ ตอนที่นักเรียนมัธยมปลายขึ้นไปบนเวทีแล้วพูดเรื่องการคุกคามทางเพศต่อนักเรียนหญิง การด่าทอนักเรียนที่เป็นตุ๊ด เพราะนักเรียนคนนั้นก็มีประสบการณ์เดียวกับที่โตโต้เคยเจอและทุกข์ทรมานมาก่อน
“อยากให้แม่มาฟังสิ่งที่ผมและเพื่อนๆ พูด” เขากล่าวและว่า “ผมคิดว่า ควรมีกฎหมายออกมาสนับสนุนคนที่เป็น LGBTI ส่วนจะเป็นแบบไหนนั้นต้องช่วยกันคิดและคิดว่าควรได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน”
สมาชิกภายในเครือข่ายได้แบ่งหน้าที่กันเพื่อเตรียมวางแผนการขับเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อสร้างสร้างเครือข่ายความหลากหลายทางเพศในอีสาน โดยพวกเขาหวังว่า จะกลับมารวมกันอีกครั้งที่ จ.ขอนแก่นในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนโลก