เปิดตัวเครือข่าย LGBTQ อีสาน สร้างพื้นที่สู่การยอมรับ

ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เรื่อง
ดลวรรฒ สุนสุข ภาพ
ขอนแก่น – เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสานจัดประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายความหลากหลายทางเพศที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ม.ขอนแก่น) ระหว่างวันที่ 24 – 25 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 40 คน ซึ่งมาจากเกือบทุกจังหวัดภาคอีสาน
กิจกรรมครั้งนี้ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยได้แห่ขบวนพาเหรด Pride (ไพร่) และแห่ธงเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563 นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งกิจกรรมที่ทำให้รู้จักระบบอำนาจและความไม่เป็นธรรมจากโครงสร้าง รวมถึงการเรียนรู้อัตลักษณ์และการถูกทำให้เป็นชายขอบ โดย The Isaan Record ได้รวบรวมข้อเสนอและมุมมองที่น่าสนใจจากมุมมองของกลุ่มผู้มีควมหลากหลายทางเพศจากการพูดคุยครั้งนี้

“สังคมอีสานไม่เปิดโอกาสให้คนที่เป็น LGBTI มีพื้นที่เลย” ก้าวหน้า เสาวกุล หรือ โตโต้
ปัญหา LGBTQ ไม่ถูกพูดตรงๆ
ก้าวหน้า เสาวกุล หรือ โตโต้ หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน กล่าวว่า คนอีสานให้ความสำคัญกับญาติ พี่น้อง หน้าตา ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในชุมชน การมีลูกหลานคนในครอบครัวเป็น LGBTI ไม่ใช่เรื่องที่ทุกบ้านรับได้ หรือ กล้าพูด หรือโรงเรียนสนับสนุน หรือปกป้องนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ
“เรื่องเพศที่หลากหลายนั้นมีคนรู้ไม่มากก็น้อย แต่กลับไม่ถูกพูดถึงด้วยเสียงดังๆ” เขากล่าวและว่า “เมื่อปัญหาที่ไม่ถูกพูดถึงตรงๆ ก็จะทำให้ถูกกดขี่ กดดันคนที่เป็น LGBTI ต้องอยู่ในเงาต่อไป”

บรรยากาศการพูดคุยหารือเพื่อสร้างเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563
คนในเครือข่ายฯ ต้องช่วยกัน
แม้ว่า การสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ แต่โตโต้เห็นว่า เครือข่ายฯในอีสานทุกคนต้องช่วยกัน
“แน่นอนว่า การเริ่มสร้างเครือข่าย LGBTI ในอีสานจะทำให้คนในพื้นที่ที่เป็น LGBTI เข้มแข็งขึ้น เพราะเขารู้แล้วว่า ไม่ใช่เขาคนเดียวที่เจ็บปวดและอยากให้เพศของเขามีตัวตน ได้รับการยอมรับอย่างจริงจัง”ก้าวหน้า กล่าว

สมคิด แก้วยก หรือ เบล ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อสร้างเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน
ฝันอยากเห็นสมรสเท่าเทียม
ส่วน สมคิด แก้วยก หรือ เบล ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยในครั้งนี้ กล่าวถึงความรู้สึกว่า การพูดคุยหารือคร้ังนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นทิศทางที่ดี โดยจะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปสร้างเครือข่ายต่อในชุมชนและจังหวัดของตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมเข้าใจกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
เบลหวังว่า หากสร้างชุมชน LGBTQ ได้มากเท่าใดก็จะยิ่งผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมไทยได้มากเท่าน้ัน
“สิ่งที่อยากเห็นในอนาคต คือ การสมรสเท่าเทียมและอยากให้ทุกคนมองเราเป็นคนปกติเหมือนคนทั่วไป อยากให้เข้าใจเรามากขึ้น”สมคิด กล่าว

“ความหลากหลายทางเพศในสังคมอีสานยังถูกยอมรับแบบมีเงื่อนไขอยู่” ปณต ศรีนวล หรือ เต้ย หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน
สังคมอีสานมอง LGBTQI แบบมีเงื่อนไข
ขณะที่ ปณต ศรีนวล หรือ เต้ย ชาวจังหวัดศรีสะเกษ บอกว่า ความหลากหลายทางเพศในสังคมอีสานยังถูกยอมรับแบบมีเงื่อนไขอยู่ อีกทั้งยังติดกับความคิดหลายอย่าง เช่น การเป็นกะเทย ถ้าจะรักผู้ชายจะต้องมีเงิน เพื่อให้ผู้ชายมาอยู่กับเรา เป็นต้น ซึ่งความคิดแบบนั้นเป็นความคิดที่ล้าหลังมาก แต่กลับถูกปลูกฝังมานาน แม้กระทั่งในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง
“วิธีแก้ปัญหา คือ เครือข่ายฯ ทั้งที่สร้างในอีสานและที่อื่นๆ ต้องร่วมมือกันทำความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การเพื่อเปลี่ยนแปลง”เต้ยกล่าวอย่างมีความหวัง
เป็นตัวเองของตัวเองนอก “อีสาน”
ผู้เข้าร่วมพูดครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ มีบางส่วนเป็นนักเรียนมัธยมด้วยซ้ำไป ซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมบางคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยผู้ร่วมแลกเปลี่ยนที่มีอายุน้อยสะท้อนว่า เมื่อเขาออกจากอีสานจะสามารถแสดงความเป็นตัวเองมากกว่าอยู่ในพื้นที่ โดย“โตโต้” เป็นนักธุรกิจวัย 35 อาศัยและทำงานในกรุงเทพฯ ส่วนเบลก็จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่
โดยเฉพาะเบลเมื่อเข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ ยิ่งทำให้รู้สึกว่า สามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมีใครมาคอยบอกว่า ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ไม่ถูก ซึ่งทำให้ชีวิตไม่ถูกตีกรอบ
ความหวังอย่างหนึ่งของเธอสำหรับการสร้างเครือข่าย คือ ถ้าได้รับการสนับสนุนและสร้างความเข้าใจได้สำเร็จ ชาว LGBT อีสานก็ไม่จำเป็นต้องออกจากภูมิภาคเพื่อให้สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่อีกต่อไป
แม่ของลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ
ไม่เพียงแต่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยน แต่การพูดคุยครั้งนีมี สุภิสรา ศรีงาม แม่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวบุรีรัมย์ ก็เข้าร่วมด้วย โดยเธอมีประสบการณ์ที่เคยเคยห้ามลูกสาวไม่ให้แต่งตัวเหมือนผู้ชาย
“อย่าทำแบบนี้ได้ไหม ลูกต้องเป็นคนอ่อนหวานอ่อนโยนนะ หนูต้องใส่กระโปง หนูอย่ามาทำตัวเป็นผู้ชายนะแม่ไม่ชอบ หนูเป็นผู้หญิงหนูต้องเป็นกุลสตรี”สุภิสรา เล่าประสบการณ์ที่เคยพูดกับลูก

สุภิสรา ศรีงาม ชาว จ.บุรีรัมย์ แม่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เปิดมุมมองให้ผู้ปกครองเข้าใจ LGBT
การได้ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยและฟังประสบการณ์จากคนอื่นๆ ทำให้ สุภิสรา มีมุมมองใหม่เกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
“ถือว่า ได้มาเปิดโลกให้กว้างขึ้น ทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้นและเห็นใจคนที่ต้องต่อสู้และเผชิญกับปัญหาหลายอย่างเพื่อให้เกิดการยอมรับของคนในสังคม”สุภิสรา กล่าว
และว่า “หลังจากนี้อยากเป็นกระบอกเสียงเพื่อทำให้พ่อแม่ที่มีลูกหลากหลายทางเพศเข้าใจลูกๆ พวกเขาจะต้องมีที่ยืนในอีสาน”
LGBT Pride พาเหรด ครั้งแรกในอีสาน
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ผู้จัดต้องการสร้างพื้นที่แห่งความหลากหลายนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจและนำประสบการณ์ที่แลกเปลี่ยนไปใช้ได้จริง นอกจากนี้พวกเขายังแสดงออกด้วยการจัดขบวนพาเหรด LGBT Pride ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในภาคอีสาน
หลังจากทำป้ายข้อความเพื่อสื่อสารกับสาธารณะแล้ว พวกเธอยังแต่งกายเต็มยศแล้วร่วมกันเดินขบวนจากสะพานขาวภายใน ม.ขอนแก่น ไปยังอาคารคอมเพล็กซ์
ระหว่างก็มีสมาชิก LGBT ในพื้นที่และนักเรียนมัธยมปลายที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการจัดกิจกรรมชุมนุมเกี่ยวกับการเมืองมาร่วมขบวนพาเหรดด้วย

บรรยากาศการจัดกิจกรรม LGBT Pride พาเหรด ที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งถือเป็นการจัดครั้งแรกในอีสาน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563
ควรมีกฎหมาย ควรมีแรงหนุน LGBTI
โตโต้ เชื่อว่า การเดินพาเหรดอาจเป็นการกระทำที่เรียบง่าย แต่ก็เป็นขบวนพาเหรดแห่งความภาคภูมิใจครั้งแรกในขอนแก่น ซี่งเป็นของคนอีสานทั้งหมด
“ดีใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะเป็นวันที่ได้มาหารากเหง้าของตัวเองอีกครั้งในร่างกายใหม่” โตโต้กล่าวถึงความรู้สึกที่เกิดกับเขาในวินาทีนั้น
เขายังบอกอีกว่า สิ่งที่ทำให้ประทับใจมากที่สุด คือ ตอนที่นักเรียนมัธยมปลายขึ้นไปบนเวทีแล้วพูดเรื่องการคุกคามทางเพศต่อนักเรียนหญิง การด่าทอนักเรียนที่เป็นตุ๊ด เพราะนักเรียนคนนั้นก็มีประสบการณ์เดียวกับที่โตโต้เคยเจอและทุกข์ทรมานมาก่อน
“อยากให้แม่มาฟังสิ่งที่ผมและเพื่อนๆ พูด” เขากล่าวและว่า “ผมคิดว่า ควรมีกฎหมายออกมาสนับสนุนคนที่เป็น LGBTI ส่วนจะเป็นแบบไหนนั้นต้องช่วยกันคิดและคิดว่าควรได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน”
สมาชิกภายในเครือข่ายได้แบ่งหน้าที่กันเพื่อเตรียมวางแผนการขับเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อสร้างสร้างเครือข่ายความหลากหลายทางเพศในอีสาน โดยพวกเขาหวังว่า จะกลับมารวมกันอีกครั้งที่ จ.ขอนแก่นในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนโลก