หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

การจับ “จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เป็นการถูกจับครั้งที่เท่าไหร่แล้ว เจ้าตัวเองแทบไม่ได้ใส่ใจหรือจดจำ แต่การถูกพันธนาการด้วยการคุมขังครั้งนี้ทำให้แววตาของเขาแข็งกร้าวขึ้น 

ทีมงาน The Isaan Record มีโอกาสพูดคุยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กับเขาช่วงสั้นๆ ก่อนกิจกรรม #โทรโข่งของราษฎรที่จัดขึ้นภายในอาคารคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 จะเริ่มต้น 

ก่อนจะพูดคุยเราแซวถึงทรงผมใหม่ที่มีสัญลักษณ์ของ “อนาธิปไตย” อยู่ด้านหลัง 

“ทรงผมในเรือนจำกับทรงผมตำรวจมันทรงเดียวกัน ผมเลยตัดทรงนี้ โจทย์ของพวกเราคือว่า ตัดทรงไหนก็ได้ที่ไม่ให้เหมือนตำรวจ”เป็นคำตอบของไผ่ พร้อมกับเสียงหัวเราะร่วน 

The Isaan Record : วันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา เป็นวันที่ได้รับการปล่อยตัวรู้สึกอย่างไร

ไผ่ ดาวดิน : ​ความรู้สึกแรกก็งงๆ งงกันหมดว่า ออกมาได้อย่างไร เข้าไปได้อย่างไร ก็งงครับ เพราะว่ามันงง เราไม่สามารถอธิบายได้ ไม่มีหลักประกันไม่มีอะไรที่จะทำให้เราประเมินสถานการณ์ได้ว่า เราควรได้อยู่ ได้ออก ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก

The Isaan Record : ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำอย่างไร 

ผมอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่เข้าไป เขาก็ให้พวกเรากักตัวอยู่ในห้องหมายเลข 5 ก็เป็นแดน 2 เป็นแดนกักโควิด ใช้เวลากักตัว 14 วัน เขาจะให้พวกเราอยู่ในห้อง กักโรค มันแย่กว่าเดิมตรงที่ว่า พอมันมีโควิด มันต้องไปกักตัว ทำให้เราไม่สามารถลงไปใช้ชีวิตประจำวันข้างล่างได้ อยู่แต่ในห้อง มันก็น่าเบื่อ แม้จะมีทีวีดู ได้นอนทั้งวัน มันก็น่าเบื่อ ไม่มีใครอยากนอนทั้งวันขนาดนั้น แต่ก็มีหนังสือให้อ่านก็ช่วยบรรเทาบ้าง 

ส่วนเรื่องอาหารการกินตอนแรกมันก็แย่ พอเราเรียกร้องไป เขาก็ปรับตัว เช่น ช้อนก็มีให้ใช้กันทุกคนและนำไปล้างฆ่าเชื้อให้ อาหารก็มีเนื้อ มีหนังมากขึ้น มีรสชาติมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมา​ ส่วนตัวผมเป็นคนสูบบุหรี่ ทีนี้ในเรือนจำเขาไม่ให้สูบบุหรี่ก็จะเป็นเรื่องที่หงุดหงิดนิดหน่อย 

จากประสบการณ์ที่ผมเคยติดคุกมาแล้ว ผมก็ไม่ได้ตกใจ แต่ถ้าถามน้องๆ ที่ไปด้วยกัน โห ! ตกใจมาก แล้วก็หลุดๆ กัน เพราะมันว่างจัดก็คิดไปเรื่อย แล้วทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่และตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมาอยู่ในนี้ น้องบางคนที่อ่านกฎหมายเพื่อตอบโต้ในชั้นศาลก็ปรากฎว่า ไม่สามารถหักล้างเหตุผลได้ ก็งงกันหมด ส่วนใหญ่ก็คือ เรียนกฎหมายแล้วก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ แต่ปรากฎว่า เขาก็พูดว่า เช่น ศาลต้องตัดสินให้ไม่ขังใช่ไหมจึงจะยุติธรรม ผมก็เข้าใจว่า ศาลเข้าใจเรื่องความยุติธรรมบิดเบือน 

จุตภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน กับทรงผมใหม่ ขณะปราศรัยในกิจกรรม #โทรโข่งของราษฎร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 จ.ขอนแก่น

The Isaan Record : ตอนที่เข้าไปครั้งแรกๆ กับครั้งล่าสุดแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ไผ่ ดาวดิน : ​ความรู้สึกครั้งแรก ผมเข้าไปหลายครั้งมาก ครั้งแรกก็กลัวๆ อันนี้น่าจะเป็นครั้งที่ 5 – 6 แล้ว 

The Isaan Record : ความรู้สึกที่เข้าไปตอนโดนคดี 112 กับครั้งนี้แตกต่างกันแค่ไหน

​ครั้งนั้นมันนาน ครั้งนี้มันแป๊บเดียว มันมีความหวังว่า ได้ออก  

The Isaan Record : หลังจากถูกจับมีกระแสข่าวว่าไผ่อาจจะถูกกักตัวยาว ตอนอยู่ในเรือนจำได้ยินข่าวนี้ไหม 

ไผ่ ดาวดิน : ​ไม่ครับ อย่างที่บอกว่าการใช้กฎหมายหรืออำนาจต่างๆ ในบ้านเรา มันไม่สามารถกะเกณฑ์อะไรได้เลย ไม่สามารถมีบรรทัดฐานได้ เราไม่สามารถมองดูรูปคดี มองดูข้อกฎหมาย มองดูอะไรต่างๆ แล้ววิเคราะห์ได้ว่า มีความเห็นอย่างไร น้ำหนักจะเป็นอย่างไร แม้แต่ทนายที่ทำคดีของเราก็ไม่สามารถที่จะประเมินได้ เพราะว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เป็นการเมืองเหนือกว่านั้น 

“แม้ศาลก็บอกว่า ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ก็เพราะการเมืองนี่แหละที่ทำให้แต่ละคนโดนขัง ก็เพราะการเมือง เพราะการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ทำให้เพื่อนเราอีก 8 คนยังถูกขังต่อ” 

The Isaan Record : ย้อนกลับไปวันที่ 13 ตุลาคม 2563 วันนั้นเกิดอะไรขึ้น 

ไผ่ ดาวดิน : ​วันที่ 13 ตุลาฯ พวกเราก็ไปตั้งเวทีเล็กรอเพื่อรองรับเพื่อนๆ นักกิจกรรม ที่จะเดินทางมาจากต่างจังหวัด แล้วก็ปักหลักนอนพักผ่อนกัน เพื่อรอวันที่ 14 ตุลาฯ แล้วก็จะจัดเวที อันนี้ คือ เป้าหมายแรกแต่ก็โดนสลาย เขา (เจ้าหน้าที่) ก็ไม่ให้เราตั้งเต็นท์ ไม่ให้เราทำนู่นทำนี่ ตอนบ่ายเรายังไม่เปิดเวที ตั้งใจจะเปิดตอนเย็น 

ถ้าจะมีขบวนเสด็จผ่านหรืออะไรผ่านไปแล้ว ค่อยเปิดเวที อะไรอย่างนี้ เราแค่เปิดเวที ตั้งอะไรไว้เฉยๆ เขาก็มาสลายเลย เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เพราะว่าถนนมันน่าจะเป็นของทุกคน ควรสามารถใช้ถนนนั้นได้เหมือนกัน 

ไผ่ ดาวดิน และ นักศึกษา ม.ขอนแก่น ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เล่าประสบการณ์ขณะถูกจับกุมและชีวิตในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่ลานคอมเพล็กซ์ ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563

The Isaan Record : สาเหตุของการสลายการชุมนุมวันที่ 13 ตุลาฯ คือ จะมีขบวนเสด็จใช่ไหม 

ไผ่ ดาวดิน : ​​อืม…ก็ไม่แปลก หมายถึงว่า ก็ไม่แปลกที่เป็นอย่างนั้น เพราะเหมือนกับว่า ถนนบ้านเราคนอื่นจะใช้ร่วมไม่ได้เลย

The Isaan Record : ตอนนี้นักศึกษาพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ มีความคิดไหมว่า วันหนึ่งถนนควรใช้ร่วมกัน ไม่ควรกั้นไว้เฉพาะขบวนเสด็จเท่านั้น

​ใช่ครับ ก็เป็นคนเหมือนกัน ความเป็นคนเหมือนกัน เราก็ควรมีสิทธิเสรีภาพในการใช้ถนนเท่าเทียมกัน เราเป็นคนเหมือนกันก็ควรมีเสรีภาพในการพูดเท่าเทียมกัน

The Isaan Record : เหตุการณ์คร้ังนี้ทำให้และหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้มีคดีมากมายทำให้ขยาดที่จะต่อสู้หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไหม 

ไผ่ ดาวดิน : ​ไม่ครับ เพราะว่าเราไม่ได้ทำสิ่งที่ผิด เราไม่ต้องไปกลัวอะไรและไม่ต้องไปขยาดอะไร เพราะว่าสิ่งที่เราทำ เราเชื่อว่าถูกต้อง แล้วก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องมาโดยตลอด เพราะเราก็ต้องการให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ดังนั้นการที่เราออกมาพูด ออกมาเรียกร้อง เราไม่ต้องการคดี เราไม่เคยอยากได้คดี เราไม่เคยอยากโดนจับ เราออกมาเรียกร้อง เพราะเราคิดว่า เรามีสิทธิเสรีภาพในการออกมาเรียกร้องปัญหาต่างๆ ในบ้านเมือง 

“ประเทศนี้เป็นของราษฎรทุกคนไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นเราเป็นหนึ่งในราษฎรที่เป็นเจ้าของประเทศ เราก็ควรที่จะมีความคิดเห็น มีบทบาทหรือมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา ใช่ไหมครับ ทั้งเรื่องรัฐบาล เรื่องรัฐธรรมนูญและเรื่องสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น 3 ข้อเสนอนี้ ผมคิดว่า เป็นรูปธรรมและเป็นข้อเสนอที่ชัดเจน แล้วก็พูดถึงปัญหาของประเทศไทยได้ชัดมาก”

The Isaan Record : คิดว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษาจะได้รับการตอบสนองเมื่อไหร่ 

ไผ่ ดาวดิน : ​​เมื่อไรไม่รู้ แต่การต่อสู้ไม่หยุดแน่นอน ตอนนี้ก็มีการเคลื่อนไหวเยอะแยะมาก ทั้งในกรุงเทพฯ ก็มีหลายจุด และต่างจังหวัดก็มีหลายจุด ผมคิดว่า สิ่งที่เราทำได้ก็คือการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ส่วนจะได้มาวันไหนนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลก็คงต้องฟังพวกเรา คนออกมาไล่เยอะขนาดนี้ ไล่บ่อยขนาดนี้แล้ว คุณไม่ฟังแล้วมันจะเป็นอย่างไร ในเมื่อคุณไม่ฟังพวกเราก็ทำได้แค่ไล่ ทำได้แค่ออกมาเพิ่มความเป็นคน เพิ่มเติมความเป็นคนของมนุษย์คนอื่นๆ ออกมาเพื่อทำให้เสียงของพวกเรามีพลัง เสียงของเราดังมากขึ้น

“ผมอยากให้กษัตริย์ปรับตัวครับ ทำตามข้อเสนอ การปฏิรูปมันไม่ได้เป็นการล้มล้าง”จตุภัทร บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมทางการเมือง

The Isaan Record : การไปยื่นหนังสือที่สถานทูตเยอรมันเป้าหมายจริงๆ ต้องการอะไร

ไผ่ ดาวดิน : การไปยื่นหนังสือที่สถานทูตเยอรมันก็คือ ต้องการการตรวจสอบ เพราะว่าในโครงสร้างบ้านเมืองเรา เราไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่การที่อยู่ในต่างประเทศหรือความเป็นสากล เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ มันมีความเป็นสากลที่เป็นบรรทัดฐาน มนุษย์ทุกคนควรมีเสรีภาพทางการเมือง ไม่มีใครละเมิดได้ มาตรฐานแบบนี้ที่กษัตริย์ไทยทำในอาณาจักรของเยอรมัน 

ผมก็คิดว่า เขาไม่ได้มองว่าเขาเหนือกฎหมาย ก็คือเป็นคนๆ หนึ่ง เป็นสถานะหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะฉะนั้นที่เราเรียกร้องให้ทางสถานทูตตรวจสอบก็คือเรื่อง 4 ทั้งรื่องภาษี เรื่องการใช้คำสั่งใช้อำนาจในการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องที่ติดรูปฮิตเลอร์ แล้วก็เรื่องการซ้อมข้าราชบริพารต่างๆ เรื่องที่เราไม่สามารถล่วงรู้ได้ ผมก็คิดว่าก็ต้องเป็นที่นั่น เพราะส่วนใหญ่ท่านพำนักอยู่ที่นั่น

The Isaan Record : การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ แล้วก็พูดถึงรัชกาลที่ 10 แบบนี้ เคยคิดว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงไหม

ไผ่ ดาวดิน : เราพูดกันด้วยเหตุด้วยผล คือ เราก็คิดว่าอะไรที่เป็นปัญหาเราก็ควรพูด แล้ววันนี้ความกล้าหาญของเพื่อนๆ ที่ถูกคุมขังก็คือ การที่เขากล้าพูดความจริงที่ทุกคนรับรู้กันอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่เพื่อนๆ ถูกกระทำมาจากการพูดความจริง ดังนั้นเราต้องกล้าที่จะยอมรับความจริง ถ้าเราไม่สามารถที่จะพูดความจริงได้ ความยุติธรรมก็ไม่เกิด พอความยุติธรรมไม่เกิดสันติภาพมันก็ไม่มี

The Isaan Record : ทราบว่ารัชกาลที่ 10 ก็ทรงเป็นนักประชาธิปไตย ถ้าหากมีโอกาสนั่งอยู่ต่อหน้าพระพักตร์จะพูดอะไรกับพระองค์ท่าน 

ไผ่ ดาวดิน : ก็อยากให้กษัตริย์ปรับตัวครับ ปรับตัวตามข้อเสนอ การปฏิรูปมันไม่ได้เป็นการล้มล้าง เป็นการปรับเปลี่ยนอำนาจ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอะไรบางอย่างเพื่อให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่ทุกคนอยู่กัน อยู่ภายใต้เหตุผล ผมคิดว่า ถ้ามีการปรับตัวก็อยู่ด้วยกันได้ในสังคมนี้ แล้วก็ข้อเสนอที่เราเรียกร้องกันมา ผมคิดว่า มันไม่ได้ยากอะไร อย่างข้อเสนอ 10 ข้อหรืออะไรต่างๆ ทั้งการปฏิรูปเรื่องทรัพย์สิน เรื่องการใช้อำนาจ เรื่องมาตรา 112 มาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญหรืออะไรหลายๆ อย่างที่เป็นข้อเสนอมา ผมคิดว่า มันเป็นเรื่องที่ควรปรับตัว เพราะว่าทุกคนก็เห็นร่วมกัน 

 

image_pdfimage_print