The Isaan Record เรื่อง 

คนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกัน จำนวนไม่น้อยปรากฎตัวในเครื่องแต่งกายสีสันสดใส พวกเขาพร้อมใจกันกางธงสีรุ้งผืนใหญ่ออกมาและเริ่มเดินไปตามท้องถนน ตอนแรกพวกเขาดูลังเลไม่มั่นใจเท่าใดนัก ผู้ร่วมขบวนบางคนแสดงท่าทีกระอักกระอ่วน เมื่อมีผู้สื่อข่าวถ่ายรูปหรือขอสัมภาษณ์ บรรยากาศเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่คุ้นชินมาก่อน

แต่เมื่อพวกเขามุ่งหน้าเดิน ขบวนพาเหรดนั้นก็กลับมามีชีวิตอีกคร้ัง เสียงกู่ร้องดังขึ้น ผู้ร่วมเดินขบวนบางคนแยกกลุ่มออกมาวาดลวดลายลีลาท่าเต้น อีกกลุ่มหนึ่งแต่งกายสีสันฉูดฉาดไม่แพ้กันก็กระโดดเข้ามาร่วมขบวนอย่างกระตือรือร้น

คนขับรถยนต์หรือจักรยานยนต์ในละแวกนั้นดูยังไม่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้น แต่บางคนบีบแตร บ้างก็โบกมือในเชิงสนับสนุน ตอนนั้นขบวนพาเหรดเดินทางถึงใจกลางของมหาวิทยาลัย ซึ่งถูกจัดเตรียมไว้เพื่อเป็นเวทีปราศรัย

พลบค่ำของวันนั้น ท้องฟ้าพลันเปลี่ยนเป็นสีม่วง ซึ่งเป็นพื้นหลังให้ผู้คนมากหน้าหลายตาที่ผลัดกันขึ้นกล่าวปราศรัยเรียกร้องในข้อเสนอของตัวเอง โดยมีนักเรียนหญิงมัธยมปลายคนหนึ่งอายุราว 14-15 ปี ขึ้นปราศรัยอย่างห้าวหาญ ฉะฉานและชัดถ้อยชัดคำ เกี่ยวกับการต่อสู้ของหล่อนจากการถูกรังแก ความเข้าใจผิด และการถูกมองว่า แปลกแยกจากคนอื่น

และแล้ว กิจกรรมก็จบลง ผู้ร่วมกิจกรรมต่างบอกลาก่อนแยกย้าย ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้เรียบง่าย ไม่กินเวลา และไม่มีผู้เข้าร่วมมากนัก

กิจกรรมครั้งนี้คงเป็นเรื่องธรรมดา ยกเว้นบางอย่าง 

มันคือกิจกรรมแห่งประวัติศาสตร์ บางทีอาจเรียกได้ว่า เป็นขบวนพาเหรดที่เฉลิมฉลองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นอกจากนี้มันยังเป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ร่วมเดินขบวนที่ต่างเดินทางมายังมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อจัดตั้งเครือข่าย LGBT แห่งแรกของภูมิภาคนี้

สำหรับบางคน ขบวนพาเหรดครั้งนี้เป็นเครื่องสะท้อนตัวตนของพวกเขาได้อย่างลึกซึ้ง เพราะมัน คือ การได้กลับบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับชาว LGBT ในอีสานหลายคนที่มักจะเดินทางไปยังกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวงที่ปราศจากหรือห่างไกลจากความกดดันทางสังคมและความคาดหวังของครอบครัว และกรุงเทพฯ ก็ยังเป็นสถานที่ที่การเดินทางของพวกเขาได้เริ่มต้นขึ้น เพราะมัน คือ สถานที่ที่พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ตามเพศวิถีที่พวกเขากำหนดเอง

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสานร่วมขบวนพาเหรด LGBT Pride Parade เป็นครั้งแรกของภูมิภาคอีกสาน โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2020 ภาพโดย ดลวรรฒ สุนสุข

เรียกได้ว่าขบวนพาเหรดของชาว LGBT ครั้งนี้เป็นสิ่งนำพาให้พวกเขาได้กลับบ้าน แต่ไม่ใช่ในฐานะคนที่มีบาดแผลและความหวาดกลัวจากวัยเยาว์อีกต่อไป แต่ในฐานะคนที่ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเองอยากจะเป็น ขบวนพาเหรดครั้งนี้จึงถือเป็นการประกาศอิสรภาพแห่งตัวตนใหม่ของพวกเขา

รายงานที่จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อปี 2014 ชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีต่อประเด็น LGBT มีความ “ซับซ้อนและขัดแย้ง” เแม้ว่าประเทศไทยจะมี “การยอมรับและตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของคนข้ามเพศสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่” แต่ก็ยังคงมี “ความเกลียดชังและอคติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ ตลอดจนมีการเลือกปฏิบัติในเชิงสถาบัน” ต่อคนกลุ่มนี้

ในขณะที่หน่วยงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมักจะผลักดันว่าประเทศไทยเป็น “สวรรค์ของเกย์” แต่บทสนทนาเรื่องเพศในสังคมยังคงเป็นเรื่องต้องห้าม และการสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียนก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด

นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมักจะมีตัวตนในบริบทของสังคมสมัยใหม่ที่อยู่ในเมือง ทั้งจากสื่อและความบันเทิง แต่เมื่อพวกเขาย้ายกลับภูมิลำเนา ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ หรือพื้นที่ชนบท ตัวตนของพวกเขาก็ดูเหมือนจะถูกลดความสำคัญลงเรื่อยๆ และถูกผลักให้ใช้ชีวิตอยู่ในเงามืดตามชายขอบ

เราจึงอยากยกระดับประเด็นของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้เป็นที่น่าสนใจ และเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชน LGBT ในภาคอีสาน

The Isaan Record ได้ทำงานกับ “เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน” และจัดทำซีรีส์ชุด “LGBTQ+ในอีสาน: บนหนทางสู่สิทธิและความเท่าเทียม” ขึ้น โดยได้เน้นให้สมาชิกในเครือข่ายมีส่วนร่วมในการวางแนวทางของซีรีส์ และใช้โอกาสนี้ในการเล่าเรื่องราวของและบทความชิ้นถัดไป 

นอกจากนี้เรายังจะนำเสนอซีรีส์นี้เป็นตอนๆ อย่างน้อย 4-6 ตอนในแต่ละชุด ดังนั้น โปรดติดตามผ่านช่องทางการสื่อสารของ The Isaan Record 

สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลก

องค์กรหนึ่งได้ทำการสำรวจพบจำนวน LGBTQ+ จากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียเมื่อปี 2016 และระบุว่าประเทศไทยมีชาว LGBT มากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในเอเชีย (รองจากจีน อินเดีย และญี่ปุ่น) อย่างไรก็ตามเปอร์เซ็นต์ของประชากรในแต่ละประเทศนั้นก็ใกล้เคียงกันอย่างมาก ชาว LGBT ประเทศจีนมีประมาณ 6.3 เปอร์เซ็นต์อินเดีย 6.2 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่น 6.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศไทยมี 6.0 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลเชิงสถิติเหล่านี้คล้ายกับข้อมูลที่รวบรวมจากที่อื่น ตัวอย่างเช่น Gallup ตั้งข้อสังเกตเมื่อปี 2018 ประเทศสหรัฐอเมริกามีชาวอเมริกันอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ระบุว่า ตัวเองเป็นชาว LGBT เพิ่มขึ้นจาก 3.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 4.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2012 (2555) และ 2017 (2560) โดยกลุ่มคน LGBT ที่พบมากที่สุดเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิก (Hispanic) และเอเชีย ส่วนผู้หญิงมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะระบุว่า ตัวเองเป็นชาว LGBT (5.1 เปอร์เซ็นต์) เมื่อเทียบกับผู้ชาย (3.9 เปอร์เซ็นต์) นอกจากนี้ ยังพบว่า คนที่ระบุว่า ตัวเองเป็น LGBT ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่จบการศึกษาในระดับวิทยาลัย

การเพิ่มขึ้นของผู้ที่ระบุว่า ตัวเองเป็น LGBT มาจากคนรุ่นใหม่ที่เกิดระหว่างปี 1980 (2523) ถึง 1999 (2542) หรือที่เรียกกันว่า มิลเลนเนียลแทบทั้งหมด โดยคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ระบุว่า ตัวเองเป็น LGBT เหล่านี้ได้เพิ่มจำนวนจาก 5.8 เปอร์เซ้นต์เมื่อปี 2012 เป็น 8.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2017 โดย Gallup ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวอเมริกันหนุ่มสาวที่เป็น LGBT รู้สึก “สบายใจกับรสนิยมทางเพศของตัวเองมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป แถมยังมีแนวโน้มว่า จะระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองได้มากขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตามความสบายใจที่เพิ่มมากขึ้นนี้อาจเป็นผลลัพธ์ที่มาจากความสำเร็จโดยรวมของชุมชน LGBT ที่สร้างพื้นที่ของตัวเองในสังคมอเมริกัน รวมถึงการเพิ่มการยอมรับทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากสิทธิทางกฎหมายและการตระหนักรู้ถึงกลุ่มคน LGBT ที่มีความก้าวหน้า

ความหลากหลายและสิทธิทางเพศ

ในปัจจุบันมี 69 ประเทศที่มีกฎหมายลงโทษความสัมพันธ์ของบุคคลที่รักเพศเดียวกัน โดยใน 26 ประเทศนั้น คนข้ามเพศจะถูกลงโทษและมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการถูกกระทำความรุนแรง ประชากรที่เป็น LGBT ในอีกหลายประเทศในปัจจุบันยังคงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ไม่ไ้ด้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ผลลัพธ์คือ ชาว LGBT อีกหลายล้านคนทั่วโลกยังถูกลิดรอนสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย รวมถึงความปลอดภัยและเท่าเทียมเช่นเดียวกับเพศชายและหญิง

แม้ว่ากระแสการเคลื่อนไหวของ LGBT ทั่วโลกจะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่ แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ภายในหนึ่งทศวรรษของเหตุการณ์สำคัญ เช่น เหตุจลาจลสโตนวอลล์เมื่อปี 1969 ในนิวยอร์ก หลายประเทศเริ่มผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับใหม่ และไม่กี่สิบปีถัดมา องค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การสหประชาชาติก็ก่อตั้งขึ้น

ประเทศแรกที่ออกกฎหมายยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน คือ เนเธอร์แลนด์เมื่อปี 1979 ซึ่งต่อมาเมื่อปี 2000 เนเธอร์แลนด์ได้กลายเป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายรับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น รัฐแรกที่รับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน คือ รัฐเวอร์มอนต์เมื่อปี 2009 ปัจจุบันมี 29 ประเทศที่ยอมรับการสมรสของคนเพศเดียวกัน ในขณะที่อีก 18 รัฐ มีกฎหมายอนุญาตการจดทะเบียนคู่ชีวิต (Civil Union)

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิของบุคคล “โดยไม่คำนึงถึงรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ” (SOGI) เกิดขึ้นช้ากว่านั้น ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศแรกที่รวมอัตลักษณ์ทางเพศไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อปี 1996 มีเพียงประเทศโบลิเวียและเอกวาดอร์เท่านั้นที่รวมทั้งรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนอีก 7 ประเทศที่บัญญัติ “รสนิยมทางเพศ” หรือ “อัตลักษณ์ทางเพศ” ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ เม็กซิโก โปรตุเกส สวีเดน นิวซีแลนด์ ฟิจิ มอลตา และสหราชอาณาจักร

หากไม่มีรัฐธรรมนูญอันเป็นกรอบระเบียบบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ผู้สังเกตการณ์เกรงว่าชาว LGBT เหล่านี้จะ “มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิและถูกเลือกปฏิบัติ”

คณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มีมติครั้งแรกเกี่ยวกับ SOGI เมื่อปี 2014 เรียกร้องให้มีการรายงานเกี่ยวกับการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ (ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และเวียดนามลงคะแนนเสียงให้ใช้มาตรการนี้ ในขณะที่จีนและอินเดียงดออกเสียง)

หนึ่งในความพยายามขององค์การระหว่างประเทศที่เด่นชัดที่สุดในการมุ่งสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิของชาว LGBT คือ วันยุติความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกันสากล คนข้ามเพศและคนรักสองเพศ ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี วันดังกล่าวเป็นการระลึกถึงวันที่องค์การอนามัยโลกได้ถอดคำว่า “รักร่วมเพศ” ออกจากกลุ่มรายชื่อโรคเมื่อปี 1990 (2533) หลังมีการเฉลิมฉลองวันดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2005 นับจากปีนี้ก็พบว่า มีมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมเฉลิมฉลองวันดังกล่าว โดยปีนี้เป็นการจัดงานภายใต้แนวคิด “ทลายความเงียบงัน” (“Breaking the Silence”)

เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยให้ความสนใจกับสิทธิของชาว LGBT ในเวทีระดับสากลน้อยมาก ทั้งที่ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยลงมติให้มีการวิจัยเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่เป็น LGBT แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้เข้าร่วมกับแกนหลักของ LGBTI แห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีเป้าหมายสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาของบุคคลที่เป็น LGBT และการมีส่วนร่วมใน “บทสนทนาที่สร้างสรรค์” ประเทศไทยไม่ได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มด้วยซ้ำไป

รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของไทย ได้ละเว้นการอ้างถึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศหรือ LGBT ในมาตรา 27 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างเรื่อง “ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพร่างกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูฐ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้”

ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่อนุญาตให้ LGBT มีสิทธิรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม ไม่มีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐาน และไม่มีกฎหมายอนุญาตให้บุคคล (หรือบุคคลอื่น) ที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามในเอกสารทางการ

กระแสของความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มขึ้น (ซึ่งประเทศไทยไม่ได้มีส่วนผลักดัน) อนุญาตให้บุคคลในบางกรณีสามารถระบุเพศของตัวเองได้ โดยมีตัวเลือกเป็น “ชาย” “หญิง” หรือ “X” (ไม่ระบุเพศ)

กฎหมายการเกณฑ์ทหารสากลของไทยได้กำหนดให้ชายไทยทุกคนต้องเข้ารับราชการทหาร โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกนั้น บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศถูกระบุว่า เป็นผู้ที่มี “ความผิดปกติทางจิตอย่างถาวร” และถูกกีดกันไม่ให้รับราชการทหาร จนกระทั่งเมื่อปี 2011 (2554) กองทัพไทยได้จัดประเภทบุคคลดังกล่าวใหม่ว่าเป็นผู้มี “ความผิดปกติในอัตลักษณ์ทางเพศ”

เมื่อปี 2014 รัฐบาลทหารไทยได้พิจารณาการออกกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต และรัฐสภาปัจจุบันก็กำลังพิจารณากฎหมายคุ้มครองเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยกล่าวว่า กฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตยังไม่ได้ให้สิทธิต่างๆ ของ “คู่ชีวิต” ที่เป็นเพศเดียวกันได้ทัดเทียมคู่สมรสชายหญิง ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนและชี้ให้เห็นว่า การสนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้นมีน้อยนิด (ในเวียดนามมีเพียง 34 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สนับสนุนแนวคิดนี้) อย่างไรก็ตามผลสำรวจความคิดเห็นในประเทศไทยเมื่อปี 2558 พบว่าคนไทยร้อยละ 59 สนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

พรุ่งนี้โปรดติดตามบทความของ The Isaan Record ทุ่งมุ่งเน้นมุมมมองเกี่ยวกับใหม่ๆ เกี่ยวกับประเทศไทยและภาคอีสานเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

อ่านเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษได้ที่นี่ INTRODUCTION to series, “LGBTIQ+ in Isaan: On the road to justice and equality” (1)

image_pdfimage_print