ก้าวหน้า เสาวกุล เรื่อง 

เส้นทางของการเรียนรู้ ค้นหาตัว และเลือกเส้นทางเรื่องเพศของคนๆ หนึ่งในสถานที่ที่เขาต้องเติบโตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง บนแผ่นดินอีสาน ประเทศไทย สิ่งที่เขาเหล่านั้นจะต้องประสบพบเจอในฐานะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต่อไปนี้จะเรียกว่า แอลจีบีทีไอคิว+ (LGBTIQ+) คงจะไม่ต่างจากพื้นที่อื่น ทว่าการให้คุณค่าของครอบครัวและชุมชน คือ แก่นแกนหลักที่พยุงสังคมอีสานไว้ ซึ่งคุณค่านี้ได้โอบอุ้มลูกหลาน พี่น้อง ผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้ด้วยหรือไม่ แอลจีบีทีไอคิว+ อีสานต้องมีชุดประสบการณ์ร่วมผ่านสถาบันในสังคม ซึ่งอยากจะนำเสนอกับผู้อ่านดังนี้

ครอบครัว

ยามแลงแดดโรยลง บ้านเฮือนหมู่เฮาอุ่นข้าวเหนียวรอทาน ครอบครัวพร้อมหน้าจกข้าวกระติบเดียว จิ้มป่น แจ่วบอง น้องพี่กลมเกลียว พ่อ แม่ ยาย ป้า น้า หลาน ล้อมวงบนเสื่อสาด ชีวิตในบ้านอันแสนธรรมดา ไม่มีความพิเศษใดๆ

ครอบครัว คือ แกนกลางของสังคมอีสาน ต้นรากของความเข้มแข็ง บุคลิกภาพ การอุปถัมป์ค้ำจุนในชุมชน การทิ้งบ้านเฮือนเพื่อการทำกินย่อมเข้าใจได้ง่ายกว่าการต้องทิ้งครอบครัวไป เพราะเพศที่สังคม ชุมชน ไม่ยอมรับ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ในชุมชนอีสาน เพราะความกดดัน ล้อเลียน เว้าพื้น (นินทา) ให้น้อยเนื้อต่ำใจ กระทั่งการใช้ความรุนแรงทางกาย วาจา กับลูกกะเทย ลูกสาว ลูกเกย์ยังมีอยู่ 

แอลจีบีทีไอคิว+ จำนวนมากที่ไม่สามารถปกปิดชีวิต เรื่องเพศของตนกับที่บ้าน การจัดการกับเรื่องเพศของสมาชิกในครอบครัว อาจจะเป็นเรื่องกระอักกระอ่วน หรือไม่พูดกันตรงๆ เพียงแต่รับรู้แบบไม่ต้องพูด รู้ๆ กัน เห็นๆ กันอยู่ คนนั้นเป็น หรือการได้รับรู้ผ่านการบอกต่อ เว้าพื้น (นินทา)  

การเป็นแอลจีบีทีไอคิว+ ที่จะมีพื้นที่ยืนจึงมาพร้อมกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเป็นญาติพี่น้องของผู้อุปถัมป์ หน้าที่การงาน และอื่นๆ ซึ่งน้อยนักที่จะได้รับสถานะการยอมรับจากสถานะความเป็นคนหรือสิทธิที่จะเลือก 

ยกตัวอย่างเช่น ลูกกะเทยต้องส่งเสียที่บ้านจึงจะได้รับความยอมรับ ลูกสาวที่คบทอมจะไม่ทำให้พ่อแม่มีหน้าตาเหมือนกับแต่งลูกเขยเข้าบ้าน ลูกชายเกย์ที่มักจะเป็นที่สองจากลูกชายรักต่างเพศในสายตาแม่ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกแต่เป็นเงื่อนไขที่จะต้องเผชิญ เมื่อไม่อาจละทิ้งสายสัมพันธ์ของครอบครัวตัวเอง การทำงานของกรอบทางเพศอยู่ในทุกมิติของสังคมอีสานโดยเฉพาะที่บ้าน

โรงเรียน

คือ สถานที่ให้ความรู้และจัดระเบียบ หน้าที่ บทบาทของพลเมือง รวมถึงเพศของพลเมือง 

โรงเรียนสอนให้คนอยู่ในระบบสองเพศ คือ หญิง ชาย ตามเพศกำเนิด และยังยึดโยงอยู่กับรักต่างเพศ หากผิดแผกไปจากนี้จะเป็นที่จับจ้อง ล้อเลียน และการถูกครูดุด่า ว่าร้าย เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศแทบทุกคนจะมีประสบการณ์รวมถึงบาดแผลในโรงเรียน ซึ่งในพื้นที่อีสานเองก็ไม่มีข้อยกเว้น การทำงานของค่านิยมนี้ฝังรากลึก แม้กระทั่งแบบเรียนก็เคยพูดถึงพฤติกรรมเบี่ยงเบน คือ การรักชอบพอของหญิงและหญิง ชายและชาย หรือการมีบุคลิกเป็นแบบเพศตรงข้าม เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง 

ผู้เขียนเองเคยได้ฟังเพื่อนผู้มีความหลากลหายทางเพศพูดถึงประสบการณ์ที่ครูกีดกันไม่ให้สมัครประธานนักเรียนเพราะเป็น “ตุ๊ด” 

นี่คือ สิ่งที่เรียกว่า “การเลือกปฏิบัติ” อย่างชัดเจน แต่ว่ามันไม่มีการร้องเรียนหรือจัดการให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น เนื่องจากสังคมเองก็เพิกเฉย

วัด

เพศในบ้านบทบาทได้กำหนดความเป็นชาย ความเป็นหญิง ผู้หญิง ผนึกแน่นในสังคมหมู่บ้าน ชุมชน โดยเฉพาะในวัด แม่ออก แม่ยก คือ แรงงานตามงานบุญต่างๆ ชายทั้งหลายได้รับอนุญาตให้ดื่มหนัก และเป็นผู้เชื่อมต่อกับพระ 

บทบาทของเพศที่ชัดเจนนี้ไม่ได้มีช่องว่างให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไป ยกเว้นเสียแต่พื้นที่งานบุญเพื่อความบันเทิง เพราะศาสนาแนบแน่นกับความเป็นอีสานตั้งแต่เกิดจนตาย การเกิด ดับ ความดี ความจริงที่ดำเนินผ่านแนวคิดของพุทธ 

สาเหตุของการเกิดเพศที่หลากหลายมักจะมีคำอธิบายว่า เป็นกรรมเลว เป็นบาป ชาติที่แล้วผิดประเวณี ความเข้าใจเพศผ่านกรอบของพุทธน่าจะเป็นกำแพงที่สูงที่สุด ท้าทายที่สุด ถูกตั้งคำถามน้อย แต่มีผลมากกับการดำเนินชีวิตและยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเวรกรรมเป็น บาป เป็นความชั่วร้ายที่บ้าน ชุมชน วัด ไม่ยอมรับ ส่งผลต่อการยอมรับตัวเองและการเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย   

ความเป็นอีสาน

ความเป็นอีสานได้เคลื่อนไปกับบริบททางเศรษฐกิจ การเมืองไทย จากความแร้นแค้นสู่การพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง คนอีสานเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยเฉพาะแรงงานคอปกน้ำเงินและปกขาว การดิ้นรนในเกมส์เศรษฐกิจ เงิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญ แม่อาจมีอำนาจมากในบ้าน ถ้าแม่มีเงิน พ่ออาจจะถูดลดทอนบทบาทลง หากไม่ได้เป็นเสาหลักทางการเงิน 

อำนาจทางเศรษฐกิจ การเงิน เป็นเงื่อนไขสำคัญมากที่จะทำให้ แอลจีบีทีไอคิว+ คนนั้นสามารถเป็นที่ยอมรับในบ้านและสังคมของตัวเอง 

ก้าวหน้า เสาวกุล รณรงค์การใช้ห้องน้ำเพื่อความเท่าเทียม

ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจทำให้ลูกหลาน แอลจีบีทีไอคิว+ เลือกไปหาเงินนอกบ้านส่งให้พ่อแม่ เพื่อให้ตัวเองยังมีความเกาะเกี่ยวกับรากเหง้าของตัวเอง ทว่า งานที่สามารถทำได้มักเป็นงานคอปกน้ำเงิน ซึ่งเป็นแรงงานอิสระ งานรับจ้างที่มักไม่มีความมั่นคงนัก ซึ่งล้อไปกับพื้นที่อื่นของไทย ถ้าหากเกิดในครอบครัวที่มีรายได้ไม่มากโอกาสในการจบมหาวิทยาลัยก็จะลดลง เมื่อไม่จบมหาวิทยาลัย โอกาสในการเข้าถึงงานองค์กรที่มีสัญญามั่นคงก็เป็นไปได้ยาก 

อีกด้านหนึ่ง การทำงานของคนข้ามเพศในระบบแรงงานที่เต็มไปด้วยการกีดกัน คนข้ามเพศจำนวนมากจึงเลือกการทำงานอิสระ เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กหรืองานรับจ้าง ฟรีแลนซ์ เป็นต้น  

คำและความหลากหลายทางเพศ

แต่ก่อนไม่มีถ้อยคำเรียกเพศที่หลากหลายมากนัก เพศชายโดยกำเนิดแต่ตุ้งติ้งไปทางผู้หญิง ชาวบ้านเรียก “กะเทย” ซึ่งพ้องกับภาษาเขมรว่า “กะเทย” เช่นกัน คำว่า “กะเทย” อยู่กับสังคมไทยมานาน มีหลักฐานในวรรณคดีและบทประพันธ์ ส่วนคำว่าเกย์และคำอื่นๆ ได้รับการพูดถึง หลังจากเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศจากต่างชาติราวปี 2502 เป็นต้นมา ทำให้สังคมไทย แม้แต่คนในหมู่บ้านรู้จักเรียก ทอม เลสเบี้ยน และอื่นๆ

ช่วงยี่สิบปีมานี้มีการทำความเข้าใจกับเรื่องเพศมากกว่าแค่อวัยวะเพศชาย หญิง นั่นคือ การทำความเข้าใจเรื่อง รสนิยมทางเพศ (Sexual Oreintation) อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) การแสดงออกทางเพศ (Sexual Expression) ดังนั้น มีการอธิบายเพศจากอัตลักษณ์และรสนิยม คือ กะเทย ทอม ทรานส์ ผู้หญิงและผู้ชายข้ามเพศ (Transgender) นอน-ไบนารี (Non-Binary) ผู้มีภาวะสองเพศ (Intersex) และเควียร์ การอธิบายจากรสนิยมทางเพศ คือ หญิงรักหญิง (Lesbian) ชายรักชาย (Gay) การรักสองได้สองเพศ (Bisexual) เควียร์ (Queer)  การไม่ยึดอยู่กับกรอบเพศใด

คำว่า ความหลากหลายทางเพศเอง ถูกใช้ในสิบปีมานี่เอง แต่เป็นคำที่พยายามจะสื่อถึงความแตกต่างหลากหลายของเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทบ้าน พี่น้อง ต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่  

โซเชียลมีเดีย

ผู้เขียนคิดว่า สังคมอีสานเองก็กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความคิดที่มีความสมัยใหม่มากขึ้น แม้เราจะทราบว่า ครอบครัว บ้าน หมู่บ้าน ชุมชน วัด โรงเรียน ทำงานในการผลิตซ้ำความคิดเก่าๆ อย่างเข้มแข็ง แต่ก็ไม่อาจฝืนการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนได้ 

จากการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียและการเข้าของอินเตอร์เน็ตได้ง่าย ข้อมูลจำนวนมากไหลเวียนอย่างรวดเร็ว จนทำให้การการตั้งคำถามกับค่านิยมเดิม ค่านิยมท้องถิ่น ความคิดเรื่องเพศก็เช่นเดียวกัน เด็กอีสานรุ่นใหม่จำนวนมากกล้าที่จะพูดถึงอัตลักษณ์ตัวเองอย่างภูมิใจ ไม่ได้หมายความว่า สิ่งแวดล้อมในบ้าน โรงเรียน ชุมชนจะอำนวย แต่เพราะการเชื่อมโยงตนเองกับกลุ่มคนของเขาเองผ่านโซเชียลมีเดีย ยูทูป แพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตต่างๆ ซึ่งการลุกขึ้นแสดงตนอย่างกล้าหาญย่อมทำให้เกิดการตระหนักรู้ในอาณาบริเวนนั้น 

โซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตจะช่วยเร่งให้ความเข้าใจเรื่องเพศของคนอีสานมีการเล่าใหม่ เรียนรู้ใหม่อย่างแน่นอน  

“ชีวิตที่ดีกว่านี้” ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

การที่สังคมเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ แอลจีบีทีไอคิว+ เริ่มเรียนรู้ และเริ่มยอมรับจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานสังคม นั่นคือ กฎหมาย ซึ่งเป็นการยืนยันว่าสังคมๆ นั้นยอมรับ แอลจีบีทีไอคิว+ จริงๆ หรือไม่ มิใช่เพียงการพูด โดยไม่มีการยืนยันที่จับต้องได้ กฎหมายเป็นมาตรฐาน เป็นบรรทัดฐาน กฎเกณฑ์ของสังคม เราจะต้องมีการสร้างกฎหมายเพื่อคุ้มครองและรับรองสิทธิ แอลจีบีทีไอคิว+ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกัน

อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ท้าท้ายและมีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การยอมรับของสังคม บ้าน ที่จะโอบรับลูกหลานผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร เพื่อให้พวกเขามีโอกาสได้ค้นหาตนเองอย่างอิสระ เพื่อจะได้มีโอกาสให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพที่มี สิ่งเหล่านี้มาจากความเข้มแข็งของบ้าน ชุมชนที่จะช่วยสร้างสังคมที่มีความปลอดภัยให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ความเป็นอีสานที่การโอบรับแบบพี่น้อง การให้ความสำคัญกับครอบครัว ชุมชน ผู้เขียนเชื่อว่า ในอนาคตอีสานบ้านเฮาจะยอมรับ จะให้ความเป็นธรรม และให้ความรักกับแอลจีบีทีไอคิว+ รวมทั้งสนับสนุนให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

พรุ่งนี้ The Isaan Record จะลงลึกถึงรายละเอียดและอุปสรรคของกฎหมายที่กีดกันผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย 

หมายเหตุ : ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print