ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร เรื่อง

สมาชิกเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) อีสานคนหนึ่งได้ติดต่อให้ผมสรุปสถานการณ์กฎหมาย  LGBTQ+  ณ ปัจจุบัน เราเคยเจอกันในเวทีเสวนาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว สิ่งที่เราทั้งสองเศร้าใจ คือ ผ่านมา 8 ปี กฎหมายไทยที่คุ้มครองสิทธิ ความเท่าเทียมและต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ ยังไปไม่ไกล LGBTQ+ ไทยยังคงถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกระทำรุนแรง กลั่นแกล้ง เหยียดหยาม ไม่มีกฎหมายรับรองเพศสภาพ ไม่มีกฎหมายคุ้มครองการใช้ชีวิตคู่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ หรือสมรสเท่าเทียมก็ตาม  

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต สิทธิที่รัฐเจียดให้ LGBTQ+

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต (ร่างคู่ชีวิต) ถูกร่างเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2556 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีหลักการให้คู่รักเพศเดียวกัน จดทะเบียนเป็น “คู่ชีวิต” ซึ่งแตกต่างกับ “คู่สมรส” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) โดย “ร่างคู่ชีวิต” มีการรับฟังความคิดเห็นและแก้ไขไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง ร่างคู่ชีวิตฉบับปัจจุบันได้เข้าสู่คณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 แต่ยังคงให้สิทธิไม่เท่าเทียมกับคู่สมรสตาม ปพพ.   

การแก้ไขร่างคู่ชีวิตจึงเป็นแบบ “ไม่ขอ ไม่ได้ ไม่เรียกร้อง ไม่เขียน” และดูเหมือนว่ารัฐกำลังเจียดสิทธิบางประการให้ LGBTQ+ แทนที่จะให้สิทธิอย่างเท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ระบุว่า บุคคลทุกคนเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย สิทธิในการสมรสและก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พึงได้รับการเคารพ   

ประเด็นที่ร่างคู่ชีวิตไม่เท่าเทียมกับคู่สมรสตาม ปพพ. ได้แก่ คู่ชีวิตไม่สามารถรับสิทธิสวัสดิการจากคู่อีกฝ่ายที่รับราชการ คู่ชีวิตไม่สามารถดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ และการให้สิทธิอื่นๆ กับคู่ชีวิตเป็นการให้สิทธิโดยอนุโลม ยกตัวอย่าง หากคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ จะตัดสินใจรักษาพยาบาลให้กับคู่ชีวิต อีกฝ่ายต้องให้สถานพยาบาลตีความว่า จะอนุโลมให้สิทธินั้นกับคู่ชีวิตเหมือนคู่สมรสชายหญิงหรือไม่ 

คู่ชีวิตไม่ได้รับศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่ชีวิตตาม ปพพ. แม้ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายของชีวิต แต่ขึ้นอยู่ที่การตีความหน้างานของเจ้าหน้าที่ #ไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ จึงติดอันดับทวิตเตอร์ในช่วงที่มีการเสนอร่างคู่ชีวิตเข้าการพิจารณาณาของคณะรัฐมนตรี ขณะนี้ร่างคู่ชีวิตอยู่ระหว่างการพิจารณาบรรจุวาระสู่รัฐสภา

อัญชนา สุวรรณานนท์ (คนที่ 2 จากซ้าย) ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตที่รัฐสภา ภาพเมื่อปี 2556

ความเท่าเทียมที่  LGBTQ+ ต้องการ

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา  1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง (ร่างสมรสเท่าเทียม) เป็นอีกแนวทางเพื่อการสมรสที่เท่าเทียมถูกนำเสนอครั้งแรก โดยกลุ่มอัญจารีและคุณอัญชนา สุวรรณานนท์ ในที่ประชุมกรรมาธิการการยุติธรรมฯ สภาผู้แทนราษฎรยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคุณอัญชนาเสนอให้แก้ไข ปพพ. มาตรา 1448 จากบทเรียนต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่ถูกปฏิเสธจากกรรมาธิการฯ ด้วยเหตุผลว่า “ค่อยเป็นค่อยไป แก้ยาก และห้ามแตะต้อง ปพพ.”   

ผ่านมา 8 ปี องค์กร NGO ชุมชน LGBTQ+ หลายองค์กรเห็นพ้องร่วมกันว่า ร่างคู่ชีวิต ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ชุมชน LGBTQ+ อย่างเบ็ดเสร็จ จึงหันมาสนับสนุนแนวทางร่างสมรสเท่าเทียม เช่น กลุ่ม 1448 for All เริ่มผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ภาคประชาชน) ซึ่งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (For Sogi)ใช้กระบวนการยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนุญให้ตีความว่า ปพพ. 1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  

ฟากพรรคการเมือง คุณธัญวัจน์  กมลวงศ์วัฒน์ คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 โดยมีผู้อ่านร่างสมรสเท่าเทียมที่เปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์กว่า 1.2 ล้านคน และมีคนแสดงความคิดเห็นเกือบหกหมื่นคน    #สมรสเท่าเทียมจึงติดอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ในช่วงนั้น   

ร่างสมรสเท่าเทียมมีหลักการที่มองทุกคนทุกเพศเป็น “คนเหมือนกัน” จึงเสนอแก้ไขเงื่อนไขการสมรส ตาม ปพพ. มาตรา 1448 ที่เดิมอนุญาตให้เฉพาะเพศชายกับเพศหญิงจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย ด้วยการขยายสิทธิการสมรสให้ “บุคคลทั้งสอง” ไม่ว่าจะมีเพศใดก็ตามทำให้ทุกคน ทุกเพศ จดทะเบียนเป็นคู่สมรสตาม ปพพ. มีสิทธิหน้าที่ศักดิ์ศรี เท่าเทียมคู่สมรสชายหญิงทุกประการ โดยไม่กระทบสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสชายหญิงทั่วไปแต่อย่างใด ขณะนี้ร่างสมรสเท่าเทียมอยู่ระหว่างการพิจารณาบรรจุเป็นวาระเข้าสู่รัฐสภา

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์  (ซ้าย) อดีตตัวแทนจากพรรคก้าวไกล และ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ (ขวา) ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล

ร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพ ทำไมไม่คืบหน้า

การเสนอร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพ (เดิมเรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติคำนำหน้านามบุคคล เคยนำเสนอโดย คุณจุรี วิจิตรวาทการ เมื่อปี 2550 มีหลักการให้หญิงหรือชายที่ผ่านกระบวนทางผ่าตัดทางการแพทย์สามารถใช้คำนำหน้านามตามเพศที่ต้องการได้ แต่ร่างดังกล่าวถูกตีตกและแปลงร่างเป็นพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 เสมือนหนึ่งบุคคลข้ามเพศไม่มีตัวตน    

เมื่อปี 2560 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) เสนอร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ แต่แนวคิดยังคงเดิม คือ ยึดโยงการรับรองเพศสภาพกับการผ่านกระบวนการผ่าตัดทางการแพทย์ โดบมองข้ามความก้าวหน้าของโลกปัจจุบัน ดังตัวอย่าง ประเทศอาร์เจนตินาที่ให้สิทธิแก่บุคคลข้ามเพศในเลือกเพศของตนเอง แม้ไม่ผ่านกระบวนการผ่าตัดทางการแพทย์ ดังนั้นชุมชน LGBTQ+ ส่วนใหญ่จึงไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศของกระทรวง พ.ม. จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการเสนอร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพเลย 

พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศใช้มา 5 ปีพบปัญหาเพียบ 

นับตั้งแต่ประเทศไทยประกาศใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558  สถานการณ์การถูกเลือกปฏิบัติของ LGBTQ+ ยังคงมีอยู่ เนื่องจากปัญหาของ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เช่น บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศยังมีความคลุมเครือ มีข้อยกเว้นในการเลือกปฏิบัติด้วยการอ้างเหตุความมั่นคงและศาสนา นิยามการเลือกปฏิบัติไม่ครอบคลุมถึงทุกอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศ  (Gender Identity and Sexual Orientation) อีกทั้งผู้ถูกเลือกปฏิบัติต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ด้วยตนเองทำให้ผู้ถูกเลือกปฏิบัติตัดสินใจไม่ยื่นคำร้อง ด้วยภาระหรือด้วยความหวาดกลัวก็ตาม นอกจากนั้นการขาดนโยบายระดับชาติที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมของคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ต่อการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อ  LGBTQ+ ทำให้ต้องแก้ไขปัญหาตามคำร้องไม่จบสิ้น

ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การเรียกร้องของภาคประชาสังคมในการรื้อ ซ่อม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศและเสนอให้มีร่างกฎหมายใหม่ คือ “ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (ภาคประชาชน)” ที่ผลักดันโดยมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์  (FAR) เพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติให้กับพลเมืองทุกกลุ่ม รวมถึง LGBTQ+ ได้อย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงแค่บทบัญญัติกฎหมายในกระดาษ

สรุปข้อเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม (ภาคประชาชน) โดย กลุ่ม 1448 for All เผยแพร่เมื่อ 14 ตุลาคม 2563 เครดิต: กลุ่ม 1448 for All

อคติและความเกลียดชัง  LGBTQ+ 

หากเทียบเคียงประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน อย่าง ไต้หวัน ถือว่ามีความก้าวหน้าในการคุ้มครองสิทธิ LGBTQ+ อย่างมาก เมื่อปี 2562 LGBTQ+ ไต้หวันสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย โดยประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 748 (Act for Implementation of J.Y. Interpretation No.748) 

ความสำเร็จเกิดขึ้นจากการผลักดันเรียกร้องและเสถียรภาพทางประชาธิปไตยในไต้หวันที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ความลุ่มๆ  ดอนๆ ของประชาธิปไตยในประเทศไทย  รวมถึงอคติและความเกลียดชัง LGBTQ+ของผู้พิจารณากฎหมายและประชาชนบางกลุ่มเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อความก้าวหน้าของการผ่านร่างกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิของ  LGBTQ+ 

ในช่วงที่ประเทศร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติมาตรา 27 ที่ระบุว่า ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ แต่ก็ไม่ชัดเจนนัก ผู้เขียนจึงเห็นว่า สมควรแก้ไขให้ชัดเจนเพื่อให้ประเทศไทยมีนโยบายระดับชาติที่จะคุ้มครอง LGBTQ+

ทั้งนี้ขอยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญของแอฟริกาใต้ที่ระบุว่า “บุคคลทุกคนเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และมีสิทธิในการได้รับการปกป้องและรับประโยชน์ตามกฎหมายอย่างเสมอภาค ห้ามมิให้รัฐเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเพศ  เพศสภาพ และรสนิยม ทางเพศ” หรือ “Everyone is equal before the law and has the right to equal protection and benefit of the law.    The state may not unfairly discriminate directly or indirectly against anyone on one or more grounds, including …gender, sex, sexual orientation…”                                        

น่าสงสัยว่า ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) เพื่อที่รัฐไทยจะรายงาน                   ผลตามคำปฏิญาณโดยสม้ครใจ (Voluntary Pledges and Commitments) ต่อสหประชาชาติในปีหน้า รัฐไทยจะตอบคำถามนานาชาติอย่างไร หากมีคำถามว่า…  ประเทศไทยมีความเสมอภาคระหว่างเพศทุกเพศสภาพ LGBTQ+ไทยมีตัวตนในสังคมและกฎหมาย ประเทศไทยยังคงเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ เหมือนที่หลายคนเข้าใจหรือไม่?

อ้างอิง

สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร และ ภาณุมาศ ขัดเงางาม 

ร่างพระราชบัญญัติ คู่ชีวิต  ฉบับร่างโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ   (ครม. รับหลักการ เดือนกรกฎาคม 2563)

ร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   ฉบับร่างโดย พรรคก้าวไกล  (รับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563)

กฎหมายรับรองเพศสภาพ อาร์เจนตินา.   

รัฐธรรมนูญ แอฟริกาใต้

ชวินโรจน์  ธีรพัชรพร Chawinroj Terapachalaphon ทนายความประเด็นกฎหมาย LGBTQ+ และกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

หมายเหตุ : ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print