ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เรื่อง 

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

บ่ายแก่ๆ กลางสัปดาห์ พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ หรือ “ทนายต่อ” สมาชิกกลุ่มศรีสะเกษจะไม่ทน พูดคุยกับทีมงาน The Isaan Record ในร้านกาแฟที่เป็นแหล่งรวมตัวของเหล่า LGBT ผู้เคลื่อนไหวประเด็นทางการเมือง รวมถึงความใฝ่ฝันที่อยากเห็นทุกคน ทุกเพศ เท่าเทียมกัน 

พรสิทธิ์ อายุ 27 ปี เป็นอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ และผู้ช่วย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล และเป็นทนายที่ช่วยเหลือคดีของกลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านเขื่อนราษีไศล รวมถึงอบรมกฎหมายให้ชาวบ้านเพื่อให้กฎหมายปกป้องตัวเองจากการถูกรังแก  

เขาเป็นชาว จ.ศรีสะเกษ โดยกำหนด การใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตในจังหวัดแห่งนี้ เขาตั้งคำถามว่า ตั้งแต่เขาเกิดมาจนถึงปัจจุบัน ทำไมศรีสะเกษไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำไมความเจริญจึงไม่เท่ากับกรุงเทพฯ ทั้งที่คนใน จ.ศรีสะเกษ ก็เสียภาษีเหมือนกับคนกรุงเทพฯ 

ด้วยความที่อยากจะเห็นจังหวัดตัวเองพัฒนา รวมทั้งอยากให้กฎหมายทันสมัยต่อโลกที่เปลี่ยนไปและเพื่อให้กฎหมายสร้างความเป็นธรรม โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ 

“ผมอยากเห็นกฎหมายที่เท่าเทียมและเห็นคนเท่ากันไม่ว่าจะเพศไหน”พรสิทธิ์พูดแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศเกี่ยวกับกฎหมาย 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขามีบทบาททางการเมืองในจังหวัดศรีสะเกษ วันนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับพรสิทธิ์ ทนายไทบ้าน ผู้อยากเปลี่ยนแปลงศรีสะเกษให้ทันสมัยเหมือนกรุงเทพฯ และผู้ที่อยากเห็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีสิทธิ์เท่ากับคนทั่วไป

“ผมอยากเห็นกฎหมายที่เท่าเทียมและเห็นคนเท่ากันไม่ว่าจะเพศไหน”พรสิทธิ์ พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ หรือ “ทนายต่อ” สมาชิกกลุ่มศรีสะเกษจะไม่ทน

The Isaan Record: กลุ่มศรีสะเกษจะไม่ทนเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมคนกลุ่มส่วนใหญ่เป็น LGBT

พรสิทธิ์: ในช่วงเปิดรับสมัครคนมาช่วยจัดชุมนุมทางการเมือง เราใช้วิธีตั้งไลน์กลุ่ม “ศรีสะเกษจะไม่ทน” แล้วนำลิ้งค์ไลน์ไปโพสต์แปะในเพจเฟซบุ๊กของจังหวัดศรีสะเกษว่า ใครที่อยากจะต่อสู้กับเรา ก็ให้เข้ามารวมกัน (ในไลน์) ตรงนี้ จากนั้นก็มีคนแอดเข้ามาเยอะมาก 

จากนั้นเราก็นัดกันกินกาแฟ ก็มีทั้งตำรวจและสันติบาลเต็มไปหมด แต่เราก็นั่งคุยกันว่า การจัดม็อบ เราจะทำอย่างไร จะทำอะไรบ้าง พอได้ข้อสรุปแล้ว เราก็ตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยเริ่มต้นมีประมาณ 10 คน แต่ตอนนี้อาสาสมัครของเรามีถึง 70 คน และมีกลุ่มคนหลากหลายประเภท ทั้งคุณหมอ คุณครู นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น 

ตอนแรกมันไม่ได้เริ่มจากการตั้งประเด็นว่า จะต้องเป็นกลุ่ม LGBT หรือเปล่า มันเป็นเรื่องของความหลากหลายที่เราเปิดรับหมด พอกลับมาดูอีกทีกลับกลายเป็นในกลุ่มมีแต่ LGBT เกือบทุกคนเลย สำหรับผม ผมคิดว่า กลุ่ม LGBT เป็นกลุ่มที่กล้าคิด กล้าแสดงออก รู้สึกไม่ยอมรับความอยุติธรรมจึงอยากออกมาพูด 

พอเรารวมกลุ่มกันเราเห็นว่า มันมี LGBT เยอะ เราเลยคิดว่า ประเด็นหนึ่งที่น่าจะถูกหยิบขึ้นมาพูด คือ ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ เพราะประเด็น LGBT ก็ควรจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูด รวมถึงปัญหาการแก้ไขการสมรสเท่าเทียม เพราะเรามั่นใจว่า ประเด็นความหลากหลายทางเพศ เราสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ไปพร้อม ๆ กับประเด็นปัญหาการเมืองอื่น ๆ 

สิ่งหนึ่งที่เราขับเคลื่อน นอกจากสมรสเท่าเทียม คือ การโอบรับความหลากหลาย ให้สังคมมองคนทุกเพศเป็นคนที่มีความเท่าเทียมกัน เราคุยกันว่า สังคมที่ดีไม่ใช่สังคมที่ทุกคนคิดเหมือนกันหรือเป็นแบบเดียวกัน 

แต่สังคมที่ดี คือ สังคมที่ทุกคนโอบรับความหลากหลายและเข้าใจว่า ความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ผู้ป่วย ถ้าเรามองความหลากหลายเป็นเรื่องปกติได้ ทัศนคติทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นต่างได้ เพราะสังคมประชาธิปไตย คือ การเคารพความหลากหลาย สิ่งนี้คือ สิ่งที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้

“ผมอยากเห็นกฎหมายที่เท่าเทียมและเห็นคนเท่ากันไม่ว่าจะเพศไหน”พรสิทธิ์ พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ หรือ “ทนายต่อ” สมาชิกกลุ่มศรีสะเกษจะไม่ทน

The Isaan Record: ทำไมคนหรือเยาวชนออกมาเยอะช่วงนี้โดยเฉพาะที่เป็น LGBT ที่ออกมาจำนวนมากในช่วงนี้

พรสิทธิ์: จุดร่วมที่ทำให้คนออกมาเยอะ คือ รัฐบาลและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถ้ามีจุดร่วมให้คนออกมา เราคิดว่า เขาก็ออกมาเอง ถ้าถามว่า อะไรที่เป็นตัวจุดกระแสทำให้คนเยอะขึ้น ไม่รู้แหล่ะ ฉันจะอยากแก้มาตรา 112 ไหม ฉันจะอยากแก้เรื่องสถาบันไหม ฉันไม่รู้ แต่การใช้ความรุนแรงฉันรับไม่ได้ อะไรอย่างนี้ ทำให้คนออกมาเยอะ ก็เห็นแล้วว่า มันเยอะขึ้นจริงๆ รัฐบาลเอาไม่อยู่ รัฐบาลไม่มีทางเอาอยู่ผมเรียกแบบนี้ 

ส่วนประเด็นที่ LGBT ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ผมก็ไม่มั่นใจว่า เพราะอะไร แต่รู้ตัวอีกทีเขาก็ออกมาแล้ว  ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสาธารณะเป็นเรื่องธรรมดา ผมไม่รู้ว่าด้วยปัจจัยอะไรทำให้กลุ่ม LGBT ออกมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น 

เราอาจจะไม่เคยเห็นม็อบมุ้งมิ้ง ม็อบตุ้งติ้งที่อยู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นม็อบ LGBT ที่ออกมาพูดเรื่องการเมือง เพราะที่จริงแล้วเขาอาจจะคิดว่า การเมืองเป็นเรื่องในสภาหรือเปล่า หรือการเมืองเป็นเรื่องของคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดงหรือเปล่า แต่วันนี้การเมืองไม่ใช่เรื่องของสีเสื้อ การเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน และเป็นเรื่องของความรู้สึกเรารับรู้ได้ ประชาชนรับรู้ได้ว่าทุกวันนี้ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการเมืองหมด ราคาน้ำมันเกี่ยวข้องกับการเมือง วันนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง กฎหมายอะไรที่จะออกมากดทับเขา กฎหมายภาษี กฎหมายอะไรต่างๆ ที่ออกมา เช่น พ.ร.บ.สุรา มันก็เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะฉะนั้นความตื่นรู้ตรงนี้มันทำให้คนออกมาเยอะ 

เมื่อก่อนคนอาจจะมองว่า คนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เป็นกลุ่มคนที่อาจจะไม่ได้สนใจการเมือง เป็นกลุ่มที่รักสนุก เฮฮาปาร์ตี้ แต่ตอนนี้เราทำให้เห็นแล้วว่า กลุ่ม  LGBT มีบทบาทสำคัญในทางการเรียกร้องไม่ว่าจะเรื่องอะไร เพราะเขา คือ คนที่ได้รับผลกระทบ เพราะพวกเขาคือ คนที่เห็นสังคมแบบนี้เขาอยากเปลี่ยนให้สังคมมันดีขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะมีที่ยืนในสังคมอย่างเสมอภาคเหมือนกับคนทั่วไป 

ผมคิดว่าที่พวกเขาออกมาเพราะพวกเขา คือ คนที่อยู่ในปัญหา พวกเขาคิดว่า ถ้าออกมาแสดงพลังพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แล้ว LGBT อย่างพวกเราก็จะไม่จำเป็นต้องมานั่งเรียกร้องเรื่องอะไรแบบนี้อีกแล้วในอนาคต และผมมองว่าที่ LGBT ออกมามีบทบาทมากกว่าคนอื่น เพราะเราเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหามากกว่า คนทั่วไปอาจจะเจอปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ แต่พวกเราเจอทั้งปัญหาที่ถูกกดกดทับจากสังคม การถูกแบ่งแยก ความไม่เท่าเทียมทางสังคมจากความหลากหลายทางเพศ  

The Isaan Record: ช่วงที่ลงสมัคร ส.ส. จ.ศรีสะเกษกับพรรคอนาคตใหม่ ด้วยเหตุผลที่พรรคชูเรื่อง LGBT หรือเปล่า

ก็มีส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด คือ ปัจจัยหนึ่งเราเป็นนักกิจกรรมอยู่แล้ว แล้วเราคิดว่า วันหนึ่งความฝันเรา คือ การได้เข้าไปออกกฎหมาย แก้กฎหมาย ทำงานในสภา เราเคยคิดว่า กฎหมายหลายๆ อย่างมันไม่เป็นธรรม รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเพศด้วย 

เรามองหลายมิติพอสมควร เช่น กฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สุรา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องสภาเด็ก อย่างผมเป็นอดีตประธานสภาเด็ก เราเห็นว่า กฎหมายหลายอย่างมันมีปัญหา แล้วเราเห็นว่า สภาเด็กเป็นองค์กรที่มีศักยภาพและมันกระจายตัวอยู่ทุกจังหวัด ทุกตำบล ทุกตัวอำเภอ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราออกมาเคลื่อนไหว

อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ผมไม่เคยเห็นพรรคการเมืองไหน ชูประเด็นนี้ขึ้นมาเลย แล้วผมไม่เคยเห็นว่า พรรคการเมืองไหนประกาศว่า เราจะมี ส.ส.กะเทยคนแรกในประเทศไทย คำว่า ส.ส.กะเทยคนแรกในประเทศไทย หมายความว่า คนที่พร้อมจะพูดเรื่องเพศ ความหลากหลายทางเพศ พร้อมที่จะแสดงตัวตนในรัฐสภา ไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนทำ แล้วพรรคอนาคตใหม่ทำและมีคณะทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศที่พูดเรื่องนี้เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเฉพาะเป็นคณะทำงานขึ้นมาเลย 

ผมมั่นใจว่า ในส่วนนี้พรรคอนาคตใหม่มีความจริงใจพอ ทำให้ประชาชนเชื่อโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ มันเป็นมิติใหม่ที่เรารู้สึกว่า มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปซุกใต้พรม ถ้าเราเป็น ส.ส.แล้วเราต้องไม่ให้คนรู้ว่า เราเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะว่าเราอายเขา หรือเรากลัวประชาชนไม่ยอมรับ ถามว่ามันมีคนคิดอย่างนั้นไหม มันมีแน่นอน คือ ผมไม่ได้บอกว่า LGBT ในสภาไม่มีนะ ผมมั่นใจว่า มีเยอะ แต่มันถูกกลบหรือถูกปิดด้วยความอายความไม่กล้าหรือเปล่า

image_pdfimage_print