ภาพปกเครือข่ายเหมืองแร่
เลย – จดหมายข่าวจากเครือข่ายเหมืองแร่ระบุว่า เมื่อวานนี้ (10 พฤศจิกายน 2563) คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร นำโดย อภิชาติ ศิริสุนทร ลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย
ทั้งนี้ กมธ.ได้หารือกับตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ซึ่งทางกลุ่มฯ แสดงความกังวลถึงแผนฟื้นฟูฉบับภาคประชาชนที่เสนอไปยังหน่วยงานของรัฐ แต่ยังไม่มึความชัดเจน นอกจากนี้ทางกลุ่มฯ ยังเป็นห่วงเรื่องการต่ออายุสัมปทานเหมือง แม้บริษัทเอกชนจะไม่สามารถประกอบกิจการต่อได้ แต่สามารถโอนใบประทานบัตรให้บริษัทอื่นดำเนินการได้
จดหมายข่าวระบุว่า วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้นำเสนอข้อมูลว่า ทางกลุ่มฯ ได้จัดทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชน โดยภาคประชาชนในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย (ฉบับปรับปรุง) ปี 2562
“แผนฟื้นฟูฉบับนี้เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อช่วยจัดการให้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ถูกทำลายได้รับการฟื้นฟูเพื่อให้คนได้พึ่งพิง รวมทั้งเป็นการฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกละเมิดระหว่างการทำเหมืองแร่”ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดระบุในจดหมายข่าว

วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เครดิตภาพ เครือข่ายเหมืองแร่
ตัวแทนฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวอีกว่า แผนการฟื้นฟูของภาคประชาชนนั้นมีแผนระยะยาว 25 ปี โดยเสนอมาตรการเร่งด่วน คือ การเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านและติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีโลหะหนักอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล รวมทั้งตรวจคัดกรองผู้ที่ความเสี่ยงในพื้นที่ 6 หมู่บ้านรอบเหมืองจนกว่าจะไม่พบผู้ที่มีโลหะหนักปนเปื้อนและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินที่ปนเปื้อนสารโลหะหนัก เป็นต้น
ขณะที่เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ให้สัมภาษณ์ในจดหมายข่าวว่า การฟื้นฟูไม่ควรเกิดจากรัฐฝ่ายเดียว มิฉะนั้นการฟื้นฟูอาจจะล้มเหลวและซ้ำรอยกรณีลำห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี
ด้าน อภิชาติ ประธาน กมธ. กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า ได้รับการยืนยันจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรมว่า การ สัมปทานของบริษัทเอกชนได้สิ้นสุดลงแล้ว ตามเงื่อนไขการล้มละลาย ส่วนการฟื้นฟูนั้น กมธ.จะเร่งทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามการฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด
ก่อนหน้านี้ ทาง กมธ.ได้ลงพื้นที่เหมืองดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ – ผาจันได ซึ่งทางกลุ่มฯ ได้ร้องเรียนให้ฟื้นฟูและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด