เดวิด เสตร็คฟัสส์ เรื่อง 

นักเรียนและนักศึกษา จากทั้งระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษาได้ออกมาเรียกร้องบนท้องถนนในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศไทย ก่อนจะถูกปิดกั้นจากสถานการณ์โควิด-19 โดยช่วงนั้นมีสัญญาณแห่งความไม่พอใจจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ จึงมีการประท้วงในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ 

การประท้วงกลับมาอีกคร้ังเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งสังเกตการณ์ต่างเรียกการเคลื่อนไหวครั้งว่าการชุมนุมที่ “ไร้แกนนำ” จากการประท้วงในแต่ละครั้งข้อเรียกร้องแต่ละข้อได้ถูกขัดเกลา และเริ่มมีการขยายข้อเรียกร้องให้ครอบคลุมประเด็นอื่นๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเดือนสิงหาคม คนไทยทั้งประเทศต่างก็ต้องตกตะลึงกับข้อเรียกร้องหนึ่งของผู้ชุมุนม นั่นคือ เรียกร้องให้ปฏิรูปของสถาบัน

ส่วนในภาคอีสานการชุมนุมเกิดขึ้นหลายครั้ง ในแต่ละครั้งมักจะมีองค์ประกอบที่เหมือนกันอยู่สองประการ นั่นคือ กลุ่มผู้เรียกร้องส่วนใหญ่เป็นเยาวชน และข้อเรียกร้องที่เหมือนกัน คือ ต้องการให้รัฐบาลลาออกและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ละพื้นที่ในอีสานมีการปรับการชุมนุมให้เข้ากับท้องถิ่นของตน บางพื้นที่มีนักเรียมัธยมที่แข็งแกร่ง บางพื้นที่ก็มีแกนนำที่เป็น LGBT ที่แข็งแกร่ง 

แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย แต่คำถาม คือ พวกเขามีการรวมตัวกันถึงในระดับใด และพวกเขาควรที่จะยกระดับการรวมตัวไปสู่ระดับภูมิภาคหรือระดับชาติหรือไม่ 

The Isaan Record จึงเริ่มต้นซีรี่ย์ชุด “พลังคนรุ่นใหม่แห่งที่ราบสูง” ซึ่งก็เหมือนกับซีรี่ย์ LGBTIQ+ Isaan ซึ่งจะแบ่งออกเป็นตอนๆ และจะปรับเปลี่ยนให้ทันกระแสการเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

“ไม่เอาเผด็จการ” การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนมัธยม KKC ที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ภาพโดย หทัยรัตน์​ พหลทัพ

เมื่อการศึกษาตกเป็นจำเลย

การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยตอนนี้มีนักศึกษาหลากหลายประเภท ทั้ง นักเรียนมัธยม นักศึกษากลุ่มอาชีวศึกษา และนักศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่ทุกกลุ่มก็อยู่ภายใต้ระบบการศึกษาแบบเดียวกัน ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างการเคลื่อนไหวที่สำคัญ คือ เรื่องการศึกษา 

สังคมกำหนดให้เยาวชนต้องได้รับการศึกษาเพื่อที่จะมีความรู้และความสามารถที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด เยาวชนส่วนหนึ่งเรียนต่อถึงระดับอุดมศึกษาเพื่อที่อนาคตจะออกมาเป็นผู้นำในสังคม ส่วนประกอบหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาคือ “การพัฒนาอำนาจในการของการใช้เหตุผลและการตัดสินใจ”

แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเยาวชนใช้อำนาจตัดสินใจเพื่อการปฏิวัติ และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพวกเขาร่วมกันประณามระบบที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปสถานการณ์ตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า กลุ่มนักนักเรียนและนักศึกษากำลัง “ตื่นตัวและโกรธแค้น” ที่ “ตัวเองต้องอยู่ในความมืดและอยู่ภายใต้ฟองสบู่ทางความคิดที่ทางรัฐได้ยัดเยียดให้กับพวกเขามาเป็นเวลานาน” พวกเขาโกรธแค้นที่ต้องอยู่ภายใต้ระบบที่เป็นเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย และพวกเขาเพิ่งรับรู้ว่า “ระบบเผด็จการเริ่มต้นจากโรงเรียน” กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ได้วิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงระบบชนชั้นที่กดทับพวกเขา ทั้งภายในสังคมและระบบการเมือง รวมถึงวิจารณ์ที่สังคมไม่เคารพในความหลากหลาย ฐิตินันท์ ได้กล่าวเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษากับกลุ่มคนรุ่นใหม่ว่า 

“นักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในกลุ่ม “Gen Z”  หรือกลุ่มที่เกิดหลังจาก พ.ศ. 2539 โกรธแค้นที่พวกเขาถูกบ่มเพาะให้เป็นประชากรไทยที่ต้องเชื่อฟังและจงรักภักดีต่อประเพณีทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วย ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การปลูกฝัง “ความเป็นไทย” นั้นถูกกระทำผ่านหลักสูตรการศึกษาและการสอน ซึ่งมีความเก่าแก่และล้าสมัย เช่น ความยาวของทรงผมและรูปแบบของชุดนักเรียน ทั้งชายและหญิง เป็นต้น ถือเป็นเรื่องปกติที่พวกเขาถูกลงโทษหากฝ่าฝืน ส่วนการเรียนด้วยวิธีการท่องจำ ทั้งในระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาก็เป็นการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนชั้นที่มีอำนาจและอำนาจทางสังคม การเมือง

นักเรียน นักศึกษา ต้องการได้รับการสอนเพื่อเป็น “พลเมืองของโลก” นั่นคือ การยอมรับให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็น สามารถตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจและมีภูมิรู้อย่างทันโลก เพราะอนาคตของพวกเขาขึ้นอยู่กับมัน พวกเขาตระหนักดีถึงการงานและทักษะจำเป็นในการเลี้ยงชีพ แต่กลับไม่ได้ถูกสอนในประเด็นเหล่านั้นอย่างเพียงพอ เพราะระบบอุปถัมภ์ที่ถูกฝังรากลึกในวัฒนธรรมไทยและการศึกษา ซึ่งเป็นระบบการศึกษาจากบนลงล่าง

ฐิตินันท์ กล่าวอีกว่า สาเหตที่สถานการณ์เป็นแบบนี้ก็เพราะ “แหล่งข้อมูลที่เป็นทางเลือก” ที่พร้อมบริการคนรุ่นใหม่ 

อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาในประเทศไทย หรือในที่อื่นๆ ความสามารถของคนในการเข้าถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้ในการประเมินอย่างมีวิจารณญาณและการตัดสินใจ เป็นสิ่งที่กำลังคุกคามการเรียนรู้แบบดั้งเดิมและลำดับขั้นภายในห้องเรียน และในบางกรณีจะทำให้ “นักเรียน” มีความรู้ที่มากกว่าหรือใหม่กว่า “ครู”

นักสังเกตการณ์สถานการณ์อีกคนหนึ่งกล่าวว่า ระบบการศึกษาของไทย “ไม่ใช่สถานที่สำหรับการคิดสร้างสรรค์” และ “เป็นสถานที่ที่จำกัดความสามารถและการแข่งขันของนักเรียน นักศึกษา” นักศึกษาที่เรียนจบใหม่ไม่มีทักษะที่นายจ้างต้องการ นั่นคือ “การมีวิจารณญาณ มีทักษะในการจัดการ และกล้าที่จะเผชิญความท้าทาย”

“ระบบการศึกษาไทย” ผลิตซ้ำ “ภาพลักษณ์ดั้งเดิมของเยาวชนไทย นั่นคือ การเชื่อฟังโดยปราศจากการตั้งคำถาม” ผู้เรียนที่ดีต้องเป็นคนที่คิดในกรอบ ปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่” นักเรียนและนักศึกษาในประเทศไทย “ถูกบังคับให้อยู่ภายใต้ประเพณีการสอนแบบดั้งเดิม ในขณะที่ครูก็หลงอยู่ในอำนาจ ปฏิเสธที่จะยอบรับในความเป็นตัวตนและความต้องการของนักเรียน

บริบทของการเคลื่อนไหวของนักศึกษา

นักศึกษาเป็นผู้ที่มีบทบาทในการประท้วงที่สำคัญในศตวรรษที่ 19 เช่น การรวมตัวกันของนักศึกษากว่า 6,000 เป็นกลุ่มที่ชื่อว่า Academic Legion ในกรุงเวียนนาและทำการปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ.2391 ต่อรัฐบาลและนำไปสู่การลาออกของผู้นำรัฐคนสำคัญคือ Clemens Metternich โดยกลุ่มนักศึกษาได้เข้ายึดการปกครองในกรุงเวียนนาเป็นเวลา 2-3 เดือน ก่อนที่จะถูกปราบโดยกองกำลังของจักรวรรดิ

มหาวิทยาลัย St. Petersburg Imperial University ก็ได้เกิดการประท้วงขึ้นในระหว่างยุค 1860s ถึง 1880s (พ.ศ.2503 – 2523) ส่งผลให้ต้องปิดมหาวิทยาลัยและยกเลิกการเรียนทั้งหมด

ระบบฐานข้อมูล “N-gram” ของ Google บันทึกความถี่ที่คำหรือวลีใช้ในเนื้อหาที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภาษาหลักๆ ของทุกภาษา วลีที่ว่า“ การเคลื่อนไหวของนักเรียน” เมื่อราวปีราวปี  2543 คำดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์แบบใหม่ ในภาษาส่วนใหญ่ คำๆ นี้จะถูกใช้ถี่ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ถึงทศวรรษ 1980 จากนั้นก็ค่อยๆ เลือนหาย  

แต่ก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงประวัติศาสตร์ที่ไม่นานมานี้ ซึ่งอาจจะเป็นการเคลื่อนไหวระยะสั้น รวมทั้งการเคลื่อนไหวในระยะยาวด้วย หลายครั้งการเคลื่อนไหวลักษณะนี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว และมีการเรียกร้องเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากสถานการณ์เฉพาะหน้า แล้วก็จบลงอย่างรวดเร็ว

ที่สหรัฐอเมริกา กลุ่มนักศึกษาเพื่อสังคมประชาธิปไตยได้เข้าร่วมการประท้วง โดยกลุ่มที่เกิดในช่วงทศวรรษที่ 1960s ซึ่งกลุ่มนักศึกษาได้ต่อต้านโรงงานนรกที่เป็นการเคลื่อนไหวในระดับชาติและแพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1990s

เมื่อปี พ.ศ. 2549 กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียน Chilean รวมตัวประท้วงภายใต้ชื่อ Penguins’ Revolution (การปฎิวัติเพนกวิน) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันในระดับชาติ ในช่วงแรกพูดถึงแค่ประเด็นค่าโดยสารรถประจำทาง แต่สุดท้ายก็โยงไปถึงความเท่าเทียมกันทางด้านการศึกษา ระหว่างปี พ.ศ. 2554 – พ.ศ. 2556 เกิดการชุมนุมภายใต้ชื่อ “the Chilean Winter”  ซึ่งประกอบไปด้วยนักเรียนและนักศึกษาของเมือง Chilean Winter เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมและการปฏิรูประบบการศึกษา

“ปฏิวัติร่ม” ของเกาะฮ่องกงมีลักษณะคล้ายกับสถานการณ์ในประเทศไทยในตอนนี้ การเคลื่อนไหวที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 ตอนแรกก็ถูกขนานนามว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่ “ไร้แกนนำ” แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดแกนนำขึ้น อย่าง โจชัว หว่อง ซึ่งเกิดเพียงไม่นาน หลังจากที่ได้มีการคืนเกาะฮ่องกงให้ประเทศจีน หว่องและเพื่อนได้ค้นพบวิธีการที่จะท้าทายอำนาจท่ามกลางการถูกฟ้อง การถูกดำเนินคดี และการถูกจำคุก เมื่อไม่นานมานี้เอง แกนนำเหล่านี้ได้เลือกที่จะลงเลือกตั้งเพื่อให้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง 

การเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษาไทย อดีตและปัจจุบัน 

เพื่อให้เข้าใจถึงบริบทของของการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาไทยในปัจจุบัน เรามาฟังข้อคิดเห็นจาก ศ.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในช่วงยุค 1970s และถูกจำคุกหลังจากฝ่ายขวาเข้าสลายการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 บทความและงานทางด้านวิชาการของเขาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงและทำให้สังคมไทยมากขึ้น งานเขียนชิ้นล่าสุดของเขา คือ “6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” (Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เครดิตภาพ จาก doct6.com

ศ.ธงชัย ได้กล่าวถึงธรรมชาติของการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและความแตกต่างหรือคล้ายกันกับการเคลื่อนไหวในยุค 1970s ซึ่งเขาตอบคำถามผ่านทางอีเมลว่า 

“สิ่งหนึ่งที่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาแตกต่างจากผู้ใหญ่ในสังคม คือ การที่ไม่ต้องละทิ้งแนวคิดที่ถูกสั่งสอนมา” เขากล่าวและว่า “การคิดและความเข้าใจในความเป็นจริงและความเป็นไปได้ในอนาคตนั้น มีเหตุมีผลและมีความเปิดกว้าง การด้อยประสบการณ์ในการมองโลกในแบบที่ไม่ซับซ้อนนั้น เป็นทั้งข้อจำกัด และข้อดีที่จะทำให้พวกเขาเป็นตัวแทนที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง”

ศ.ธงชัย ยังกล่าวต่อไปอีกว่า การใช้คำว่า “มีเหตุมีผล” อาจจะไม่ถูกต้องนัก อาจจะเขียนใหม่ว่า นักเรียน นักศึกษา “มีตรรกะในการคิดไปข้างหน้ามากกว่า ไม่ต้องถูกจำกัดจากสิ่งต่างๆ นานาที่ถูกสร้างมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดที่ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจงอย่าง “ความเป็นไทย”

แง่มุมที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของขบวนการนักเรียน นักศึกษา คือ พวกเขาจะเติบโตขึ้นและดำเนินชีวิตต่อไป” ศ.ธงชัยกล่าวและว่า “แต่เหตุการณ์ดังกล่าวจะกลายเป็นช่วงชีวิตหนึ่งของพวกเขา ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาจะกลับมาเป็นนักเคลื่อนไหวอีกครั้ง”

ผลที่ได้ คือ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นักเรียน นักศึกษาเข้ามามีบทบาทในช่วงเวลาที่จำกัด ศ.ธงชัย เขียนอีกว่า “การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเกิดขึ้นและมีบทบาทในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือเหตุการณ์เฉพาะมากกว่าที่จะเป็นการต่อสู้เพื่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง”

เราถาม ศ.ธงชัยว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาไทยในปัจจุบันแตกต่างจากการเคลื่อนไหวเมื่อปี พ.ศ. 2519 อย่างไร ศ.ธงชัย ตอบว่า การเคลื่อนไหวทั้งสองยุคนั้นมีความเหมือนกันตรงที่เป็น “การเคลื่อนไหวที่ไม่มีอุดมการณ์” หรืออาจจะกล่าวได้ว่าไม่ได้มีอุดมกาณ์เป็นตัวกำหนด

“การเคลื่อนไหวในยุค 14 ตุลาฯ เป็นการรวมกันของกลุ่มคนที่ไม่พอใจการปกครองโดยทหาร การเคลื่อนไหวในปัจจุบันเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่ไม่พอใจในคุณค่าและแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งความไม่พอใจดังกล่าวมีศูนย์รวมอยู่ที่กลุ่มเยาวชน”

แต่ก็มีความแตกต่างที่สถานการณ์ปัจจุบัน “คุณค่าและแนวคิดแบบเก่าแสดงออกโดยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) และสถาบันกษัตริย์เป็นตัวอย่าง”

การเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง “มีแนวคิดนิยมความรุนแรง (radicalism) ซึ่งไม่ได้เป็นผลพวงจากแนวคิดที่เกี่ยวกับความรุนแรง” ศ.ธงชัย เขียนอธิบายว่า “แต่เป็นปฏิกิริยาที่มีต่อการอนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่งในสังคมไทย”

อนาคตการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษาในภาคอีสานและประเทศไทย

นักศึกษาที่มีอายุ 20 ปีในตอนนี้ จะมีแต่ความทรงจำเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง ตอนที่พวกเขาเกิดมาเป็นช่วงที่ ทักษิณ ชินวัตร กำลังลงจากอำนาจ ตอนที่พกเขาอายุ 10 ปี เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ เมื่อพวกเขาอายุ 14 ปีก็เกิดการรัฐประหาร เมื่ออายุ 19 ปี พวกเขามีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก และเมื่ออายุ 20 ปีจึงเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ 

จังหวะการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ทำให้เห็นภาพว่า คนรุ่นนี้กำลังผลักดันประเทศไทยให้ออกจากการถูกปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ในสาธารณะ ซึ่งมันเกิดขึ้นเร็วและแผ่ขยายในวงกว้างจนดูไม่เหมือนว่า มันเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล คนรุ่นนี้ได้ซึมซับความรู้สึกที่พวกเขารู้สึกว่า ถูกกดขี่ สิ่งที่เก่าและล้าหลัง สิ่งที่พวกเขารู้สึกอึดอัด ออกมาทีละนิด

แต่พวกเขาก็เป็นคนฉลาด การวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมและการเมืองของพวกเขาหลายข้อเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหักล้างได้ ในหลายๆ กรณี สิ่งที่พวกเขาพูดออกมาดังๆ ถือเป็นความเจ็บปวดที่ทุกคนต่างรู้ดีอยู่แล้ว 

การออกมาเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษากลุ่มนี้ จะหายไป เมื่อกลุ่มแกนนำเติบโตขึ้นและต้องเริ่มดำเนินชีวิตของตนเองหรือไม่ อาจจะไม่ เพราะแกนนำหลายคนอายุ 20 ปลายๆ หรือ 30 ต้นๆ แล้ว 

แกนนำเหล่านี้จะตัดสินใจลงเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งเหมือนกับกลุ่มแกนนำที่เกาะฮ่องกง รัฐบาลจะมีแนวทางในการดับไฟแห่งความไม่พอใจที่ลุกโชนอยู่ในพื้นที่ของภาคตะวันออกฉียงเหนือได้หรือไม่

โปรดติดตามในซีรี่ย์ของเราในชุด “พลังคนรุ่นใหม่แห่งที่ราบสูง” เพื่อหาคำตอบ

image_pdfimage_print