สมานฉันท์ พุทธจักร เรื่อง 

ค่ำคืนของวันที่ 12 ตุลาคม 2563 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และหลายสถาบันจากภาคอีสานกว่า 30 คน ในนาม “คณะราษฎรอีสาน” นัดรวมตัวกันที่ศูนย์อาหารและบริการ 1 (คอมเพล็กซ์) ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อขึ้นรถบัสไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะราษฎรที่กรุงเทพฯ โดยไม่มีใครรู้ว่า การเดินทางครั้งนี้จะจบลงที่เรือนจำ 

พวกเขาเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในช่วงเช้าของวันที่ 13 ตุลาคม บ่ายคล้อยวันเดียวกัน คณะราษฎรอีสานเริ่มตั้งเวที เตรียมสถานที่บนถนนราชดำเนิน เพื่อเตรียมรับการชุมนุมที่จะมีขึ้นในอีก 1 วันข้างหน้า 

และแล้วเหตุการณ์นั้นกลับเป็นชนวนเหตุให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมและมีผู้ถูกจับถึง 21 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา 

ไม่มีใครคาดคิดว่า เพียงชั่วข้ามคืนจาก “นักศึกษา” จะกลายเป็น “นักโทษ” ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ 

พวกเขาถูกกักขังอิสรภาพรวม 7 วัน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่ฝากขัง นี่จึงเป็นประสบการณ์บางส่วนในเรือนจำของนักศึกษาและประชาชนอีสาน หลังจากพวกเขาได้อิสรภาพคืน 

ทรงพล สิทธิรักษ์ หรือ ยาใจ นักศึกษานิติศาสตร์ ม.ขอนแก่นปี 4 ซึ่งคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม “UNME” ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

สัญญาณผิดปกติระหว่างเจรจา 

ทรงพล สิทธิรักษ์ หรือ ยาใจ นักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นปี 4 ที่ มาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม “UNME” (กลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเมือง) ย้อนเล่าเหตุการณ์ในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ว่า การชุมนุมในวันนั้นไม่แตกต่างจากการชุมนุมครั้งก่อนๆ โดยมีตำรวจเข้ามาในพื้นที่การชุมนุมและทางกลุ่มฯ ได้ส่งตัวแทนไปเจรจาตามปกติ 

“การเจรจาครั้งนั้นผิดปกติกว่าทุกครั้ง เพราะมีตำรวจมากกว่าปกติและมันไม่ใช่แค่การเจรจา แต่กลับจับกุมสมาชิกกลุ่ม UNME ที่ไปเจรจาด้วย เมื่อผมเห็นเพื่อนถูกจับก็รีบวิ่งเข้าไปช่วย ทำให้เรา 2 คน ถูกคุมตัวขึ้นรถห้องขังทันที ตอนนั้นยอมรับว่า กลัว เพราะเขาไม่บอกว่าจะพาไปใหน” ยาใจ เล่าถึงบรรยากาศหลังถูกจับกุม

การจับกุมครั้งนั้นไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและไม่บอกจุดหมายปลายทาง ขณะรถเคลื่อนออกจากพื้นที่มีการบอกปลายทาง เจ้าหน้าที่ได้พูดจาข่มขู่ตลอดทาง กระทั่งถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่กองบังคับการตำรวจ ตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี 

หลังจากนั้นอีกไม่นานก็มีคนถูกจับเพิ่ม 19 คน และถูกนำตัวมาควบคุมไว้ที่เดียวกัน 

“ผมผิดหวังมาก เหมือนเขามีธงคำตอบอยู่แล้วว่า ต้องฝากขัง ต้องผิดเท่านั้น” ยาใจสะท้อนความรู้สึก หลังศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้งที่พวกเขาและทนายความต่างรู้สึกว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ ล้วนเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย ทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ เป็นต้น  

หากเป็นสถานการณ์ปกติ เขาและเพื่อนคงได้รับการประกันตัว แต่พวกเขากลับต้องสูญเสียเสรีภาพ เพราะต้องเข้าไปในเรือนจำ 

ระหว่างรถเคลื่อนออกจากกองบังคับการตำรวจ ตระเวนชายแดนภาค 1 ไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภาพในหัว “ทรงพล” เกี่ยวกับเรือนจำก็มีแต่ความโหดร้าย 

แต่เมื่อก้าวเท้าเข้าไป เขาต้องบอกตัวเองใหม่ว่า “โชคยังเข้าข้างอยู่บ้าง” เพราะจากมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด – 19 ทำให้ผู้ชายที่ถูกจับต้องกักตัวอยู่ด้วยกันทั้ง 18 คน ส่วนผู้หญิงอีก 3 คนแยกไปอยู่ทัณฑสถานหญิง 

“ความลำบากส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอาหารคุณภาพแย่ แต่มี ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เป็นนักโทษชั้นดีคอยดูแลและช่วยเหลือ ด้วยการนำอาหารจากร้านค้าในเรือนจำมาแบ่งปัน”ยาใจเล่าประสบการณ์อันโหดร้ายที่เขาไม่มีทางลืม  

กิตติภูมิ ทะสา หรือ กู๊ด นักศึกษานิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ม.ขอนแก่น ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

“ถูกต่อย” แต่ไม่ตอบโต้ 

“ผมยอมรับว่า ฟิวส์ขาดเลย เพราะถูกต่อย แต่ทำอะไรไม่ได้ ผมต้องใช้สันติวิธี” กิตติภูมิ ทะสา หรือ กู๊ด นักศึกษานิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ม.ขอนแก่น ท้าวความถึงวินาทีที่ถูกตำรวจชกเข้าที่ใหน้า ขณะทำหน้าที่เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม 

หลังถูกทำร้ายร่างกายเขาพยายามอดทดอดกลั้น เพราะต้องการยึดหลักสันติวิธี แม้จะถูกเจ้าหน้าที่ลากตัวขึ้นรถผู้ต้องขังและจบลงที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  

ความเป็นอยู่ของเขาไม่แตกต่างจากผู้ต้องขังชายอีก 17 คน ในจำนวนนี้รวม จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ที่มีประสบการณ์อยู่ในเรือนจำจากการถูกดำเนินคดีตาม ม.112 ด้วย 

แม้จะอุ่นใจที่ได้อยู่รวมกับเพื่อนๆ แต่เขาก็รู้สึกว่า ความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังควรมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ 

แน่นอนอาหารในเรือนจำเป็นสิ่งที่เขากล่าวตำหนิ ไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ 

“หลักกฎหมายที่พวกเราเรียนมามันใช้ไม่ได้เลย ผมข้องใจกับกระบวนการยุติธรรมมาก แม้แต่การประกันตัวก็ทำไม่ได้”นักศึกษากฎหมาย ม.ขอนแก่น กล่าวด้วยน้ำเสียงตัดพ้อ  

ขณะนั้นเขาเกรงว่า หากการฝากขังครบกำหนด 14 วัน ตามมาตรการกักตัวของโรคโควิด-19 จะทำให้เขาถูกแยกออกจากเพื่อนๆ ไปอยู่แดนอื่น 

“ตอนนั้นผมกังวลมาก ถ้าไปอยู่รวมกับนักโทษคนอื่นๆ ผมไม่รู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น”กิตติภูมิเล่าถึงความกังวลระหว่างอยู่ในเรือนจำ 

การอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังทั้ง 18 คน ในแดนกักตัวทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ รับประทานอาหาร ฯลฯ อยู่ด้านบนของอาคารเรือนจำ โดยที่ไม่ได้เข้าร่วมทำกิจกรรมร่วมกับนักโทษคนอื่นๆ ทำให้ช่วงเวลาการอยู่ในเรือนจำผ่านไปไม่ยากนัก

ปริญญ์ รอดระหงษ์ หรือ บีม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกคนที่ถูกจับ ภาพจาก ปริญญ์ รอดระหงษ์

ไทรอยด์เป็นพิษกำเริบหลังถูกจับ 

ส่วน ปริญญ์ รอดระหงษ์ หรือ บีม เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกคนที่ถูกจับ 

แต่การมีโรคประจำตัว ด้วยอาการไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งทำให้ระบบการเดินเลือดและหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้ชีวิตในเรือนจำของเขายากกว่าคนอื่นๆ  

“ตอนที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถห้องขัง ผมถูกสายรัดพลาสติกมัดแขนทั้งข้างไว้ ในรถมีผู้ถูกจับ 19 คนและตำรวจอีก 6 คน ซึ่งแออัดมาก อากาศไม่ถ่ายเททำให้อาการไทรอยด์เป็นพิษกำเริบ ตอนนั้นผมใจสั่น หายใจไม่ออก”เขาเล่าความทรงจำอันโหดร้าย 

ระหว่างนั้นเขาขอให้เจ้าหน้าที่คลายสายรัดข้อมือและเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่กลับถูกปฏิเสธ

“ถ้าผมไม่พกยาติดตัวมาด้วยผมคงน็อคไปแล้ว ถ้าปล่อยไป อาจถึงขั้นหมดสติหรือหัวใจวายได้เลย มันแย่มาก คนจะตายอยู่แล้ว เขายังไม่ทำอะไรให้เลย แต่ยังโชคดีที่วันนั้นผมพกยาติดกระเป๋าไปด้วย เพื่อนๆ จึงช่วยกันหยิบยาออกจากกระเป๋ากางเกงแล้วป้อนให้อย่างทุลักทุเล เพราะตอนนั้นทุกคนต่างถูกมัดมือทั้งสองข้างไว้เหมือนกัน”บีมเล่าวินาทีรอดตาย 

ช่วงแรกๆ ที่อยู่ในเรือนจำ ความกลัวเกี่ยวกับการอยู่ในเรือนจำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจเขามากนัก แต่การมีโรคประจำตัวก็ส่งผลต่อเขาไม่น้อย 

“เรื่องโดนจับไม่ได้กลัวอะไร กลัวตายจากโรคนี้แหละ เพราะเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่อนุญาตให้นำยาประจำตัวเข้าไปด้วย ทั้งที่อธิบายว่า เป็นยาเฉพาะทาง ไม่ใช่ยาที่หาซื้อได้ทั่วไป จนต้องร้องขอให้แพทย์มาตรวจยืนยัน เจ้าหน้าที่จึงยอมให้นำยาติดตัวเข้าเรือนจำ”เป็นประสบการณ์ที่ปริญญ์เผชิญ

แม้การปล่อยตัวจะได้เสรีภาพกลับคืนมา แต่เขากลับต้องเผชิญปัญหาระลอกใหม่ นั่นคือ ความขัดแย้งกับครอบครัวที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และบีมตัดสินใจว่า จะเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อ แม้จะต้องขัดแย้งกับครอบครัวก็ตาม

วันชัย สุธงสา หรือ ภูมิ บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น หนึ่งใน 21 คนที่ถูกจับเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ภาพจาก วันชัย สุธงสา

จากนักต่อสู้นาหนองบงสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

วันชัย สุธงสา หรือ ภูมิ เติบโตมากับขบวนการภาคประชาชน มาจากหมู่บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ชุมชนที่คัดค้านการสร้างเหมืองทองคำในพื้นที่มาอย่างยาวนาน เคยเข้าร่วมกันต่อสู้กับคนในชุมชนตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้เขาได้รู้จักกับ ไผ่ ดาวดิน ที่ลงพื้นที่เคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้าน 

ภูมิเพิ่งเป็นบัณฑิตหมาดๆ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยอยู่ระหว่างทำเรื่องจบการศึกษา เขาจึงใช้ห้วงเวลานี้เคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับ ไผ่ ดาวดิน 

“พอถูกจับทำให้เรารู้ว่า เขาใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติมาก เราเรียนมาอีกอย่างหนึ่ง แต่กลับถูกปฏิบัติอีกอย่าง” ภูมิเล่าความคิดระหว่างอยู่บนรถควบคุมตัว ที่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ใช้มือถือหรือเครื่องมือสื่อสาร เพื่อติดต่อกับญาติหรือทนายความ ซึ่งสิทธิของผู้ต้องหาตามที่ได้ร่ำเรียนมา

“เราเติบโตเราในหมู่บ้านที่ต่อสู้เรื่องเหมือง เราก็เจอมาทุกอย่าง มันจึงอาจเป็นภูมิคุ้มกันให้เราระดับหนึ่ง”ภูมิบอก 

การเติบโตท่ามกลางการต่อสู้ร่วมกับภาคประชาชน ทำให้ภูมิมีภูมิคุ้มกันเมื่อถูกคุมขัง ทว่าการมีเพศสภาพเป็นเพศทางเลือก โดยมีจริตบางอย่างคล้ายผู้หญิงจึงทำให้มีปัญหาที่ยากต่อการอธิบาย โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัว 

“การอยู่ในคุก เราเลือกไม่ได้หรอกว่า เป็นจะชาย หญิงหรือเพศทางเลือก แต่เราคิดว่า ไม่ว่าเพศอะไรก็ควรมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้”ภูมิเสนอความเห็น 

หลังจากออกจากเรือนจำ ภูมิยังยืนยันว่า จะยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองและคิดว่า การถูกจับกุมเป็นแรงบันดาลใจให้ต้องต่อสู้หนักขึ้น 

“การมีพ่อแม่ที่เข้าใจ มันเหมือนเป็นแรงสนับสนุนให้เรามีกำลังใจ” เป็นเหตุผลที่ภูมิประกาศจะทำกิจกรรมทางการเมืองต่อ แม้ต้องถูกจับ 

 

วรางคณา แสนอุบล หรือ กิ๊งส์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ก่อนถูกจับเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เครดิตภาพจากวรางคณา แสนอุบล

วรางคณา แสนอุบล หรือ กิ๊งส์ นักศึกษา คณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ปี 4 เป็น 1 ใน 3 ผู้หญิงที่เข้าอยู่ในเรือนจำ หลังถูกจับเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 

การเข้าเรือนจำของผู้หญิงทั้ง 3 คน ต้องแยกกันอยู่ตามแดนต่างๆ ไม่ได้อยู่รวมกัน เหมือนกับกลุ่มผู้ชาย

“มันคือคุกเลยนะ เราต้องเปลี่ยนคำนำหน้าจาก นักศึกษา หรือ น.ศ. เป็น ข.ญ. หรือ ขังหญิงเลยนะ” กิ๊งส์บอกถึงความเปลี่ยนแปลง หลังจากต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ 

ในคืนแรกของการอยู่ในเรือนจำเป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน แม้เธอจะพยายามทำใจ แต่ก็ต้องตกใจกับหนาแน่นของผู้ต้องขังที่นอนเบียดเสียดในห้องเดียวกัน 

“มีผู้ต้องขังในห้องเดียวกันถึง 76 คน แทบจะไม่มีที่ให้เดิน ต้องใช้ผ้าห่มมาปูนอน”เธอเล่าและว่า “คืนแรกของกิ๊งส์ในเรือนจำถึงกับนอนร้องไห้ และต้องตื่นตั้งแต่เวลา 4.30 น. เพื่ออาบน้ำ ทานอาหาร ซึ่งกิ๊งส์ว่า เป็นอาหารที่แย่ที่สุดในชีวิต”

ความเคว้งคว้างที่ต้องอยู่คนเดียว เพราะถูกแยกออกจากเพื่อนๆ ทำให้ห้วงเวลาการอยู่ในเรือนจำของกิ๊งส์ผ่านไปอย่างยากลำบาก 

“เป็นเพราะต้องควบคุมการแพร่ของโรคโควิด-19 ทำให้ญาติมาเยี่ยมไม่ได้ ทั้งที่พ่อแม่ไปหาที่กรุงเทพฯ แต่พบทนายได้ พ่อแม่จึงทำได้เพียงส่งจดหมายผ่านทนายถึงลูก ตอนนั้นกิ๊งส์จึงต้องบอกตัวเองให้เข้มแข็ง”เธอเล่าประสบการณ์ความยากลำบากที่เผชิญขณะอยู่ในทัณฑสถานหญิง  

ห้วงเวลาที่อยู่ในเรือนจำ แม้เธอจะไม่ได้สุงสิงกับนักโทษคนอื่นมากนัก แต่ก็มีคนมาบอกเธอบอกว่า ผู้คุมสั่งให้นักโทษทุกคนห้ามยุ่งกับเธอ ทำให้ไม่ค่อยมีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุย 

เข้าสู่วันที่ 7 ของการคุมขัง ถือเป็นวันครบกำหนดฝากขัง ผู้ต้องขังทุกคนต้องขึ้นศาลผ่านระบบวีดีโอคอล แรกทีเดียวศาลมีคำสั่งให้ฝากขังต่อ ซึ่งทำให้เธอเริ่มทำใจว่า “ต้องอยู่เรือนจำอีกยาว” 

แต่ในวันเดียวกันก็มีเสียงประกาศเรียกชื่อเธอขณะอยู่ในเรือนจำว่า “ได้รับการปล่อยตัว”

 เมื่อสิ้นเสียงประกาศกิ๊งส์รีบวิ่งออกไปหาผู้คุม เพื่อกลับมามีอิสรภาพอีกครั้ง

ผู้ต้องขังทั้ง 21 คน ทยอยถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำจนครบ แต่พวกเขาก็มีคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบว่า “พวกเขาชุมนุมโดยสงบ แต่ทำไมจึงถูกจับ” 

 

image_pdfimage_print