เรารับรู้แต่ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการประกาศห้ามเล่นลำแคนในรัชกาลที่ 4 ในประกาศนั้นแม้ว่า จะไม่ใช่การประกาศโดยตรงจากพระองค์ท่าน แต่ก็อ้างอิงพระองค์ ในเอกสารต่างๆ จึงว่าอย่างเข้าใจกันว่า เป็นการประกาศของในหลวงรัชกาลที่ 4 

แต่ผมไม่แน่ใจว่า มีใครเคยศึกษาบ้างหรือไม่ว่า การห้ามเล่นลาวแคน (แอ่วลาว) นั้นยาวนานแค่ไหน แม้ในประกาศห้ามจะระบุแค่ปีหนึ่งสองปี (มันจะออกทำนอง ขอเวลาอีกไม่นาน เหมือนในสมัยนี้หรือไม่) แต่ความจริงนั้นยาวนานแค่ไหน และภายหลังประกาศจากราชสำนึกสยามนั้นออกมา วงการหมอลำหมอแคนเป็นอย่างไร และใช้เวลายาวนานแค่ไหนกว่าจะฟื้นขึ้นมาเป็นที่นิยมอีก และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฟื้นคืนกลับมา

จริงๆ แล้วผมอยากเขียนถึงเรื่องนี้มานานแล้ว ภายหลังได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่มีข้อมูลและการวิเคราะห์ที่น่าสนใจมาก แต่หนังสือเล่มนั้นหายไปเสียนานเกรงว่า ถ้าเขียนโดยไม่มีแหล่งอ้างอิงข้อมูลจะผิดพลาดได้ แต่เมื่อได้หนังสือเรื่องนั้นมาใหม่เมื่อไม่กี่วันก่อน แล้วได้อ่านทวนดูก็ถึงเวลาที่จะเขียนถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

ในหนังสือ “อุบลราชธานีและฮีตสิบสอง” ซึ่งเป็นหนังสือที่พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระกฐินพระราชทาน ณ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 และพิมพ์ที่โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ซึ่งก็คือโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยสงฆ์นั่นเอง

หนังสือ “อุบลราชธานีและฮีตสิบสอง” ที่บันทึกการห้ามเล่นในรัชกาลที่ 4
บรรณาการในงานพระกฐินพระราชทาน ณ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) จังหวัดอุบลราชธานี

มีบทความชิ้นหนึ่งชื่อ เรื่องลำแคน โดยท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหามุนี  (ท่านเป็นคนอีสาน แต่ผมยังเช็คไม่ได้ว่า ชื่อ-สกุลจริงๆ ของท่านว่าอย่างไรและภูมิลำเนาเดิมอยู่ไหน) ได้เขียนถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ และที่สำคัญเนื้อหาที่ท่านเขียนมันสะท้อนให้ถึง “ความไม่รู้อีสาน” ของราชสำนักกรุงเทพฯ และความไม่รู้นั้นจะตีความว่าเพราะ “ความไม่ใส่ใจ” ก็ได้ และมันได้ทำให้เรา-คนอีสาน กลายเป็นอื่น-เป็นคนอื่น

ถ้าว่ากันให้ถึงที่สุด หนังสือเล่มนี้คนทำต้องมีความกล้าอย่างยิ่งที่นำบทความชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ในหนังสือที่พิมพ์ในงานพระราชพิธี และคนเขียนบทความก็กล้ามากทั้งที่ตัวเองเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม (ก็โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้) เขียนบทความที่ชี้ถึงการกดขี่ของราชสำนัก (กษัตริย์) ต่อวัฒนธรรมลาวอีสานอย่างไม่เป็นธรรม โดยใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ราชสำนักเขียนขึ้น คือ พระราชพงศาวดารมายืนยันข้อเท็จจริงตรงเรื่องนี้ ลองนึกเทียบดูกับพระราชาคณะหรือคณะสงฆ์ไทยในสมัยนี้ก็คงจะมีแต่เขียนอวยเขียนหรือพูดประจบสถาบันอย่างเดียว  

แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็เห็นว่า กระแสต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่ยุติธรรมในหมู่พระภิกษุสามเณรนั้นมีมาอย่างไม่ขาดสาย ถ้าเทียบปีกับบทความชิ้นนี้ก็ยังไม่ถึง 30 ปีเต็ม

และที่หนักกว่านั้น (ถ้ามองจากจุดยืนของพวกรอยัลลิสต์) ก็คือ การแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวขึ้นจากความตายของหมอลำหมอแคนและกลับมาพัฒนาขึ้นจนเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบันได้นั้นก็เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของคณะราษฎร 2475 เพราะคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้ธำรงค์ทรงไว้รักษาดูแลศิลปวัฒนธรรมแต่ถ่ายเดียว เช่น การมีรางวัลศิลปินแห่งชาติ แต่นั่นอาจไม่ใช่กับอีสานหรือลาวอีสาน ถ้ามองจากหลักฐานตรงนี้

ในบทความของท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหามุนีชิ้นนี้ ภายหลังที่ได้ทำความกระจ่างถึงความเข้าใจผิดหรือไม่มีความรู้ไม่ใส่ใจแม้แต่คำเรียกว่า แอ่วลาว ลาวแคน ซึ่งไม่ใช่คำที่ถูกต้องที่คนอีสานหรือคนลาวใช้กัน ท่านได้แจกแจงถ้อยคำอย่างละเอียดทุกมิติที่เราจะหาจากพจนานุกรมไทยหรือพจนานุกรมภาษาอีสาน-ไทยเล่มไหนก็ไม่ได้ 

ท่านก็ได้เล่าถึงที่ไปที่มาของลำและแคนโดยอ้างอิงจากบันทึก จดหมายเหตุ ที่เป็นที่ยอมรับกันทางประวัติศาสตร์ และเหตุแห่งการขยายตัวของหมอลำหมอแคน ความนิยม และเหตุแห่งการประกาศห้ามเล่นแอ่วลาว ซึ่งก็อ้างอิงเอกสารประวัติศาสตร์เช่นกันในหัวข้อ อิทธิพลของลำแคน  ซึ่งเป็นประเด็นอภิปรายสุดท้ายของบทความโดยคัดเอาประกาศห้ามเล่นลำแคนของรัชกาลที่ 4 มาทั้งหมดเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นความจริงอย่างครบถ้วน

บทที่ว่าด้วยประกาศการห้ามเล่นแอ่วแคนในรัชกาลที่ 4 ในหนังสือ “อุบลราชธานีและฮีตสิบสอง”

253  ประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว
ณ  วันศุกร์  เดือน 12  แรม 14  ค่ำ  ปีฉลู  สัปตศก
(จ.ศ. 1227 พ.ศ. 2408)

มีพระบรมราชโองการดำรัสแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลทวยราษฎรชาวสยามทุกหมู่ทุกเหล่าในกรุง แลหัวเมืองให้ทราบกระแสพระราชดำริว่า เมืองไทยเป็นที่ประชุมชาวต่างเพศต่างภาษาใกล้ ไกลมากด้วยกันมานานแล้ว การเล่นฟ้อนรำขับร้องของภาษาอย่างๆ เคยมีมาปะปนเป็นที่ดูเล่นฟังเล่นต่างๆ สำราญ เป็นเกียรติยศบ้านเมืองก็ดีอยู่ แต่ถ้าของเหล่านั้นคงอยู่ตามเพศตามภาษาของคนนั้นๆ ก็สมควรฤาไทยจะเลียนเอามาเล่นได้บ้างก็เป็นดีอยู่ว่า ไทยเลียนใครเลียนได้  เหมือนหนึ่งพระเทศนามหาชาติ ว่าอย่างลาวก็ได้ ว่าอย่างมอญก็ได้ ว่าอย่างพม่าก็ได้ ว่าอย่างเขมรก็ได้ก็เป็นการดี แต่จะเอามาเป็นพื้นไม่ควร ต้องเอาอย่างไทยเป็นพื้น อย่างอื่นๆ ว่าเล่นได้แต่แหล่หนึ่งสองแหล่

ก็กาลบัดนี้เห็นแปลกไปนัก ชาวไทยทั้งปวงละทิ้งการเล่นสำหรับเมืองตัว คือ ปี่  พาทย์  มโหรี เสภาครึ่งท่อน ปรบไก่สักรวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าว แลลครร้องเสียหมด พากันเล่นแต่ลาวแคนไปทุกหนทุกแห่งทุกตำบล ทั้งผู้ชายผู้หญิง จนท่านที่มีปี่พาทย์มโหรีไม่มีผู้ใดหาต้องบอกขายเครื่องปีพาทย์เครื่องมโหรีในที่มีงานการโกนจุก บวชนาคก็หาลาวแคนเล่นเสียหมดทุกแห่ง ราคาหางานหนึ่งแรงถึง 10 ตำลึง  12 ตำลึง  

การที่เป็นอย่างนี้ทรงพระดำริเห็นว่าไม่สู้งามไม่สู้สมควร ที่การเล่นอย่างลาวจะมาเป็นพื้นเมืองไทย ลาวแคนเป็นข้าของไทยไทยไม่เคยเป็นข้าลาวจะเอาอย่างลาวมาเป็นพื้นเมืองไทยไม่สมควร  ตั้งแต่พากันเล่นลาวแคนมาอย่างเดียวก็กว่าสิบปีมาแล้ว จนการตกเป็นพื้นเมือง และสังเกตดูการเล่นลาวแคนชุกชุมที่ไหนฝนก็ตกน้อยร่วงโรยไป ถึงปีนี้ข้าวในนารอดตัวก็เพราะน้ำป่ามาช่วย เมืองที่เล่นลาวแคนมากเมื่อฤดูฝนๆ ก็น้อยทำนาเสียไม่งอกงาม ทำขึ้นได้บ้างเมื่อปลายฝน น้ำป่ากระโชกมาก็เสียหมด

เพราะฉะนั้นทรงพระราชวิตกอยู่ โปรดให้ขออ้อนวอนแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวง ที่คิดถึงพระเดชพระคุณจริงๆ ให้งดการเล่นลาวแคนเสีย อย่าหามาดูแลฟังแล อย่าให้เล่นเองเลย ลองดูสักปีหนึ่งสองปี การเล่นต่างๆ อย่างเก่าของไทย คือ ลครฟ้อนรำ ปี่พาทย์ มโหรี เสภาครึ่งท่อน ปรบไก่สักรวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าวอะไรๆ ที่เคยเล่นมาแต่ก่อนเอามาเล่นมากู้ขึ้นบ้างอย่าให้สูญ เล่นลาวแคนขอให้งดเสียเลิกเสียสักหนึ่งสองปี ลองดูฟ้าฝนจะงามไม่งามอย่างไรต่อไปข้างหน้า

ประกาศอันนี้ ถ้ามิฟังยังขืนเล่นลาวแคนอยู่จะให้เรียกภาษีให้แรง ใครเล่นที่ไหนจะให้เรียกแต่เจ้าของที่และผู้เล่น ถ้าลักเล่นจะต้องจับปรับให้เสียภาษีสองต่อสามต่อ

ประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน 12  แรม 14 ค่ำ ปีฉลู สัปตศกฯ

เมื่อยกประกาศห้ามมาแสดงแล้ว พระธรรมธีรมหาราชมุนีก็ไขความต่ออีกว่า – – 

“เมื่อได้มีประกาศฉบับนี้ออกมาแล้ว ด้วยความกลัวต่อพระราชอาญาจึงเป็นผลให้วงการลำแคน (หมอลำหมอแคน) ของเราสลบซบเซาไปเพราะในเมืองหลวงไม่มีการเล่นกันอีกแล้ว จะมีบ้างก็เฉพาะแต่ตามหัวเมืองที่อยู่ห่างไกล เช่น ในภาคอีสาน  ทำให้วงการหมอลำของเราค่อยเสื่อมโทรมลงจำเดิมแต่นั้นมา

จนกระทั่งมาในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพขึ้นตามกฎหมาย วงการหมอลำของเราจึงค่อนฟื้นขึ้นมาอีก แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ยังไม่มีชีวิตชีวาเท่าใดนัก 

“เพิ่งจะมีชีวิตชีวาเฟื่องฟูขึ้นอย่างจริงจังกันเมื่อสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง  ซึ่งได้มีสมาคมหมอลำตั้งขึ้นหลายจังหวัดในดินแดนภาคอีสาน และค่อยขยายตัวกว้างขวางออกไป จนกระทั่งได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ ทำให้เกิดการยอมรับโดยทั่วไป เพราะหมอลำได้มีการพัฒนาไปตามกาลเวลาพร้อมทั้งได้ประยุกต์รูปแบบของเนื้อกลอนลำให้ผสมกลมกลืนกับความนิยมของผู้ฟังในสมัยปัจจุบัน จึงทำให้การลำแคนยืนหยัดอยู่ได้จนกระทั่งปัจจุบันนี้”

ปล. 1

ถ้านับจากวันประกาศห้ามเล่นแอ่วลาวของรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2408 จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 เท่ากับว่า หมอลำ หมอแคน ถูกราชสำนักทำให้เงียบหายไปประมาณ 67 ปี

ปล. 2

ถ้าเราอ่านคำประกาศห้ามเล่นแอ่วลาว อย่างละเอียดจะได้เห็นว่า วิธีคิดและรูปแบบวิธีการต่อสู้ของพวกชนชั้นปกครองไทยและเหล่ามินเนี่ยนนั้น ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 มาจนถึงวันนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย คือ ผลักความผิดให้คนอื่น ไร้เหตุไร้ผล คุกคาม กดหัว และคาดโทษเอาผิด

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print