ดลวรรฒ สุนสุข เรื่องและภาพ

ลีลา ท่าทาง น้ำเสียง ชัดถ้อยชัดคำ ตรงประเด็น เอาคนดูอยู่หมัด ความเจนจัด หลังได้จับไมค์บนเวทีปราศรัย ท่าทีละม้ายคล้ายคลึงกับ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” หรือ เต้น แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนหลายคนให้ฉายาเขาว่า ‘ณัฐวุฒิ 2’ นิค สารคาม หรือ ธนวิชญ์ เสพสุข นักศึกษาภาคประวัติศาสตร์ จากรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) 

โมงยามแห่งความหวังของคนรุ่นใหม่ การตื่นรู้ทางการเมืองกระจายไปทุกหนแห่ง  เวทีการชุมนุมเกิดขึ้นทุกวัน ใครๆ ก็จับไมค์ปราศรัยได้ คงเป็นคำนิยามแห่งยุคสมัย ในนาม “ม็อบออร์แกนิค” ไร้แกนนำอย่างเช่นทุกวันนี้ ชื่อของ “นิค สารคาม” โดดเด่นขึ้นมา คลิปปราศรัยบนเวทีของเขาแพร่หลายบนโซเชียลมีเดีย หลายคนตั้งความหวังว่า เขาจะเป็นดาวปราศรัยดวงใหม่ 

The Isaan Record พาผู้อ่านไปรู้จักตัวตนของเขาว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขากล้าออกมาพูดถึงปัญหาของสังคม ในวันที่อุณหภูมิการเมืองนอกสภากำลังร้อนฉ่า

ธนวิชญ์ เสพสุข หรือ นิค สารคาม ฉายา ณัฐวุฒิ 2 นักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 ความเหลื่อมล้ำทำให้เติบโต

 “นิค” เกิดและโตที่จังหวัดสุรินทร์ ใช้ชีวิตอยู่กับยาย ส่วน พ่อ แม่ เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ วัยเด็กของเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่จึงอยู่ในท้องทุ่งตามวิถีชนบท เล่นโคลน ดำนา หาปลา ตามประสาเด็กบ้านนอก 

แต่ชีวิตเขากลับเจอความเปลี่ยนแปลง เมื่อย้ายมาเข้าโรงเรียนในตัวเมืองของ จ.สุรินทร์ เมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เพราะครอบครัวอยากให้เขามีความรู้และสังคมที่ดีกว่าเดิม แต่ความจริงที่เขาพบเจอกับไม่เป็นเช่นนั้น 

 “ตอนที่อยู่โรงเรียนบ้านนอก เราถือว่า เราก็เป็นคนเท่าๆ กัน แต่พอเราเข้าไปอยู่โรงเรียนในเมือง ผมกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง คือ เป็นคนจนขึ้นมาทันที ทั้งเรื่องการแต่งกาย เงินที่นำไปโรงเรียนก็ไม่เคยได้เยอะเท่าเพื่อน แม้จะกินข้าวเที่ยงที่โรงเรียน แต่ก็ไม่เคยมีเงินซื้อขนมกินเหมือนเพื่อน” นิคเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้เริ่มตั้งคำถามถึงความเลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคม 

หลังจากนั้นก็มีอีกหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเขา เพราะเขาแทบจะไม่มีเพื่อนเลยในวันที่ย้ายเข้าเรียนในโรงเรียนในเมืองแห่งนั้น 

 “เวลาทำงานกลุ่ม บ้านผมไม่มีรถยนต์ ไม่มีมอเตอร์ไซค์ จึงเดินทางไปทำงานกลับกับเพื่อนที่อยู่ในเมืองไม่ได้ มันก็กลายเป็นว่า เพื่อนเขาก็ไม่ค่อยอยากจะทำงานร่วมกับเรา เพราะเพียงแค่ว่าเราจน”เขาอธิบายย้ำถึงความรู้สึกผิดแปลกของคนบ้านนอกและคนเมืองตามนิยามของเขา 

 นับตั้งแต่วันนั้นเขาก็เก็บความสงสัยนี้ไว้และยิ่งทับทวีคุณขึ้น เมื่อเขาพยายามเข้าสังคมกับเพื่อน แต่กลับถูกกีดกัน เพียงเพราะความจน

 แม้กระทั่งการเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาที่เขาหวังไว้ว่า จะเข้าเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัดให้ได้ แต่กลับถูกครูในโรงเรียนบอกว่า “เธอน่ะ ไม่เหมาะกับการไปเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดหรอก เธอไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมหรอก เธอไปเรียนไม่ได้หรอก”  

 นิค ได้แต่กลับมาไตร่ตรองคำพูดของครูว่า อาจจะจริงก็ได้ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้เรียนจากติวเตอร์เหมือนเพื่อนคนอื่น รวมทั้งไม่มีเงินซื้อหนังสือเตรียมสอบทำให้เขาหมดหวังที่จะเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัด แต่เมื่อเขาเล่าให้พ่อกับแม่ฟังก็ได้คำตอบว่า “เราต้องสู้ ลองดู”  

 ผลสอบออกมา เขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนสุระวิทยาคาร ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดสุรินทร์ อย่างที่หวังไว้ ถือเป็นการลบคําสบประมาทของครูในโรงเรียนเดิม

ณ โรงเรียนแห่งใหม่เขาพบว่า สังคมมีความหลากหลายและเปิดกว้างกว่าเดิม เขารู้สึกว่า สามารถแสดงออกทางความคิด มีปากมีเสียงได้ และเขาก็เข้ากับสังคมกลุ่มเพื่อนได้ 

แต่แล้วก่อนจะก้าวขึ้น ม.ปลาย ชีวิตของเขาก็พบกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนความคิดอีกครั้ง เมื่อเขาตั้งคำถามกับการจัดงานกีฬาสีโรงเรียน แต่ครั้งนี้เขาได้เปล่งเสียงความคิดของเขาออกไป

 “ผมตั้งคำถามกับเพื่อนว่า ทำไมกีฬาสี คุณต้องเก็บเงินเพิ่ม ทำไมคุณต้องลงทุนกับกีฬาสีเป็นแสนๆ ขนาดนั้น ทุ่มทุกอย่างเพียงแค่ขนมปี๊บกับถ้วยปลอมๆ เท่านั้น ทำไมคุณต้องแลกกับความแตกแยกภายในโรงเรียน ทำไมคุณต้องยึดกับวิธีการและกระบวนการคิดกระบวนการจัดแบบเดิมๆ โดยไม่ปรับเปลี่ยนเลย”  

ธนวิชญ์ เสพสุข หรือ นิค สารคาม ขณะปราศรัยบนเวที “รวมพลต้านเผด็จการ” เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ภาพจาก : แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย – MSU Democracy Front

โมงยามแห่งการตั้งคำถาม  

นิค ได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน เขาได้เข้าไปเป็นตัวแทนนักเรียนอย่างที่หวังไว้ แต่พอเข้าไปต้องพบว่า ระบบของสภานักเรียน ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไรได้เลย ต้องถูกครอบด้วยการปกครองของครูและระบบราชการ 

 “เราก็ได้เข้าไปอยู่ในระบบราชการจ๋าๆ เลย ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไม เราต้องฟังคำบังคับบัญชาถึงขนาดนั้น ทำไมแม้แต่สภานักเรียนเองยังถูกตีกรอบอยู่ภายใต้กรอบความคิดของผู้ใหญ่ ทำไมไม่ให้เด็กได้คิดเองบ้าง”เขาย้อนเล่าถึงคำถามที่เกิดขึ้นในวัยเรียน  

 แม้ว่า เขาจะเป็นประธานนักเรียน ทำกิจกรรมหลายอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดแบบเดิม แต่ก็มีคำถามขึ้นมาหลายอย่าง เช่น ระบบอะไรที่ครอบแนวคิดของประชาธิปไตยในโรงเรียนไว้ ระบบราชการ การเป็นอำนาจนิยม เป็นต้น เขาเก็บงำคำถามเหล่านี้มาโดยตลอด 

เมื่อถึงวัยต้องก้าวออกจากรั้วโรงเรียนเพื่อเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เขาเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ คณะครุศาสตร์ เอกสังคมศึกษาเพื่อหวังไว้ว่า วันหนึ่งจะกลับไปเป็นผู้บริหารโรงเรียนและเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น 

 แต่พอเข้าไปสัมผัสสังคมของ ม.ราชภัฏฯ เบ้าหลอมความเป็นครูเขากลับพบว่า ตัวเองไม่ชอบการถูกตีกรอบตามแบบอย่างที่เป็นอยู่ทำให้ตัดสินใจลาออก และสอบเข้าเรียนที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

สถานที่แห่งนี้เองที่เขาพบว่า ตัวเองเหมาะสมกับการเรียนรู้ และรู้สึกสนุกไปกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่สามารถถกเถียงกันได้ สร้างชุดความรู้ใหม่ได้ มีมุมมองมากกว่าด้านเดียว 

 แค่ลุกขึ้นพูดความจริง 

 เป็นคนที่ชอบพูดหน้าชั้นเรียนตั้งแต่เด็ก เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่คนอื่นจะฟังเรา มันได้สะท้อนความคิดของเรา เป็นสิ่งเดียวที่แสดงออกได้ นอกจากความจนและเป็นคนบ้านนอก”  

 นิค มีความสุขกับการพูด เมื่อได้รับหน้าที่เป็นตัวแทนพูดในวาระต่างๆ เขามักจะทำได้ดีตั้งแต่สมัยเด็กและมันเป็นสิ่งเดียวที่สร้างความมั่นใจให้กับเขา

 จนถึงวันที่เขาได้ขึ้นพูดในการทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตยเมื่อเดือนกุมพาพันธ์ 2563 หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่

ด้วยลีลา น้ำเสียงที่ชัดถ้อยชัดคำ เนื้อหาตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม ท่าทางคล้ายกับ เต้น – ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จนหลายคนให้ฉายาเขาว่า “ณัฐวุฒิ 2” ภายในไม่กี่ชั่วโมงคลิปของเขาก็โด่งดังบนโลกออนไลน์

 “หลายคนบอกว่า ผมเหมือน ณัฐวุฒิ เวลาปราศรัย ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่าเราเป็นแบบนี้ของเราอยู่แล้ว เพิ่งได้กลับมาดูคลิปก็มีความคล้ายอยู่ แต่ก็อย่าไปเทียบกันเลย เราก็คือเรา”

เขายอมรับว่า อิทธิพลการพูดส่วนหนึ่งมาจากการฟังปราศรัยในเวทีเสื้อแดง ซึ่งถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กตอนที่พ่อ แม่พาไปร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 

“บ้านผมเป็นคนเสื้อแดง เราได้รับรู้ถึงความลำบาก การออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้ซึมซับบรรยากาศความเป็นคนเสื้อแดง ความเป็นรากหญ้า เพราะทุกอย่างมันคือชีวิตเรา” 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาต่างออกไปจากนักศึกษาที่ขึ้นปราศรัย คือ เนื้อหาในการพูดที่มักจะพูดถึงปัญหาของชาวบ้าน ปัญหาของคนรากหญ้า เพื่อสะท้อนปัญหาของ คนในพื้นที่ของอีสานเพื่อเป็นกระบอกเสียงแทนชนชั้นรากหญ้าในขบวนการต่อสู้ของนักศึกษา

“ผมจะพูดถึงปัญหาที่เกิดจากส่วนกลางหรือเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนพูด ทั้งที่ปัญหามีเยอะแยะมากมาย เราควรจะทำให้อีสานเข้าไปถ่วงดุลอำนาจ เพราะอีสานมีปัญหา ร้อยแปด เราควรพูดถึงปัญหาของชาวบ้านที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเรา ผมจึงต้องพูดออกไป”

 คนอีสาน รากหญ้า คนชายขอบ 

 “บทเรียนจากการต่อสู้ของคนเสื้อแดง เป็นการต่อสู้เพื่อความอยู่ดีกินดี สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมความเสมอภาคของเขาเท่านั้นเอง คนรากหญ้าเขาต้องการแค่นี้ เขาถูกกดทับมาโดยตลอด เขาถูกด้อยค่ามาโดยตลอด เขาถูกมองเป็นแค่ฐานของทรัพยากรที่ส่วนกลางจะมาดูดเอาไปเท่านั้นเอง”

 นิค เล่าถึงสิ่งที่เขาพยายามทำให้เกิดขึ้น คือ การเชื่อมโยงคนชายขอบที่อยู่ในภูมิภาคอีสานให้เข้าร่วมกันแสดงออกทางการเมืองเพื่อสะท้อนปัญหาของพวกเขาเอง 

 “คนรากหญ้า ไม่กล้าออกมาร่วมในการต่อสู้ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่เราพูดมันไกลจากตัวเขา มันทำให้เขารู้สึกว่า มันไกล เหมือนว่าพวกเขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้รับความเดือดร้อนกับเรื่องเหล่านี้ แต่เมื่อไหร่ที่เราพูดถึงปัญหาของเขา เขาจะรู้สึกว่า เป็นส่วนหนึ่งทันที” 

  ในการเรียกร้องประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นนี้เขามองว่า กลุ่มนักศึกษายังไม่พูดถึงปัญหาของชาวบ้าน ปัญหาของภูมิภาค ซึ่งจะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของการต่อสู้ในครั้งนี้ 

 “เหตุการณ์ต่อสู้ทางการเมืองเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ที่สามารถเผด็จศึกเผด็จการได้ ก็เกิดจาก 3 ประสาน ที่มี นิสิตนักศึกษา แรงงาน และเกษตรกร ที่ออกมาร่วมต่อสู้ แต่การต่อสู้รอบนี้คงต้องรอองคาพยพต่างๆ เหล่านี้จึงจะถึงชัยชนะ ” นิค ในฐานะนักศึกษาประวัติศาสตร์ เล่าถึงการต่อสู้ในอดีตที่สามารถโค่นล้มเผด็จการได้ 

วันนี้เขามองขบวนการต่อสู้ว่า ยังขาดแนวร่วมของอีกหลายฝ่าย เขากับกลุ่มเพื่อนจึงพยายามสร้างแนวร่วมด้วยการออกไปพบปะกับคนในหลายพื้นที่ เปิดโอกาสให้คนทุกอาชีพ ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มของเขา “ แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย – MSU Democracy Front” ที่กำลังทำหน้าที่ประสานกับกลุ่มต่างๆ เพื่อยกระดับการต่อสู้เพื่อทุกคน ทุกอาชีพ ให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับเผด็จการในครั้งนี้

“อนาคตประเทศไทยมันไม่สามารถเกิดได้ด้วยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะมาเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะประชาชนเองมันจะต้องเดินไปด้วยกัน ถ้าเกิดว่า มันขาดกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง มันย่อมที่จะสะดุด แล้วไปไม่ถึงฝั่งฝันแน่นอน” 

แม้ว่า นิค จะเห็นด้วยกับกับข้อเสนอของกลุ่ม คณะราษฎร 3 ข้อ ได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรีและองคาพยพลาออก 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เขาอยากเห็นมากที่สุด คือ สังคมไทยที่ได้รับการเท่าเทียมในทุกระดับ โดยเฉพาะคนรากหญ้า เกษตรกร และการจัดสรรทรัพยากร อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศนี้ 

 

image_pdfimage_print