หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

ในห้วงยามที่พลังของคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำประเทศลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกเพดานสูงถึงขั้นเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยให้เหตุผลว่า “เป็นตัวปัญหา” ที่รั้งอนาคตของคนรุ่นใหม่ให้ดิ่งเหว 

The Isaan Record สนทนากับ รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ใต้ร่มไม้ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง แม้การสนทนาจะไม่ร้อนแรง แต่ก็มีทางออกให้กับสถานการณ์ครั้งนี้ 

The Isaan Record : มองปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษาอย่างไร โดยเฉพาะนักศึกษาอีสาน

รศ.ดร.สมชัย : เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิด ไม่มีใครคาดถึงว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ถ้าเราวิเคราะห์ดีๆ ดูการให้สัมภาษณ์หรือว่าการพูดบนเวทีของนักเรียน มีประเด็นหนึ่งที่เขาพูดเป็นจุดเด่นเลย นั่นคือ ระบบการเมืองปัจจุบันมันทำลายอนาคตของเขา 

“ตีความได้ว่า เมื่อเขาเห็นการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันมันทำให้ประเทศไทยถอยหลัง ไม่มีอนาคต แล้วมันก็ไปโยงเข้ากับว่า รัฐบาลนี้อยู่ได้ เพราะมีกติกาทางการเมืองที่เขียนเอง พาตัวเองขึ้นสู่อำนาจ”

ส่วนนักศึกษาก็ไม่ต่างไปจากนักเรียน เพราะคนเหล่านี้มีประสบการณ์จากการที่มีรัฐบาลหรือมีนายกรัฐมนตรีคนเดียวในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา แล้วก็บริหารประเทศในลักษณะเดิมๆ คือ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ทำให้เยาวชนรู้สึกว่า เป็นรัฐบาลที่ทำลายอนาคตของพวกเขา 

ถ้าพูดถึงอีสาน ถ้าเยาวชนเหล่านี้เรียนปีระดับมหาวิทยาลัยปี 1-2 ในช่วงที่เกิดรัฐประหารเขาก็คงอยู่ ม.1 – 2 ถ้าจะบอกว่า มีความรู้ทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 หรือเปล่า อันนี้คงจะไม่ค่อยรู้ละเอียด ส่วนเรื่องเสื้อแดงก็คงไม่ชัด แต่อาจรู้ที่พ่อแม่เล่าให้ฟัง เขาก็จะรู้สึกว่า เห็นใจ 

เมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 พวกเขาจึงความคิดด้านลบ เพราะเขารับรู้ว่า กระแสการต่อสู้ในอีสาน คือ สนับสนุนประชาธิปไตย จากนั้นก็นำไปสู่การค้นหาว่า ใครอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ การมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น 

“ผมว่า เยาวชน เหล่านี้สนใจทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างมาก สนใจประวัติศาสตร์ 2475 มีการพูดถึงว่า 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มันยังไม่สำเร็จ”

“ถ้าอยากให้ประเทศไทยหลุดออกจากความขัดแย้งต้องแก้รัฐธรรมนูญครับ” รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม

The Isaan Record : แสดงว่าประวัติศาสตร์ 2475 ทำให้พวกเขายกเพดานสูงขึ้น แล้วกล้าเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

รศ.ดร.สมชัย : มีส่วนครับๆ เขาคิดว่า ปัญหาในปัจจุบันที่คาราคาซัง ยังแก้ไม่ได้มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมา อาจเป็นเพราะว่าภารกิจของ 2475 ไม่สำเร็จ ประเทศไทยเลยไม่เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง คนรุ่นใหม่จึงศึกษาว่า อะไรขวางมันอยู่ เราจึงเห็นว่า คนรุ่นใหม่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยค่อนข้างมากและมองว่าปัญหาในปัจจุบันโยงเข้ากับปัญหาในอดีต 

The Isaan Record : พอนักศึกษาเคลื่อนไหวแบบยกเพดานสูงก็มีกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่อาจจะเป็นมวลชนจัดตั้งมาเคลื่อนไหวด้วย มองว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ 

รศ.ดร.สมชัย : ผมคิดว่า การนำคนใส่เสื้อเหลืองออกมา แล้วมาคัดค้านการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา โดยตัวมันเองไม่สามารถทำให้มีความรุนแรงในระดับสูงได้ อาจจะมีกระทบกระทั่งกันนิดๆ หน่อยๆ ส่วนความรุนแรงระดับสูงๆ ถ้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีกลไกรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจึงจะเกิดขึ้น 

แม้หลายคนเกรงจะเกิดเหตุการณ์เหมือน 6 ตุลาฯ 2519 แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นมันมีกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับมวลชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะมวลชนที่เกณฑ์เข้าไปเป็นมวลชนที่รัฐฝึกอบรม เช่น ลูกเสือชาวบ้าน แล้วส่วนใหญ่ก็ไปจากชนบท แต่ตอนนี้ผมคิดว่า เป็นเรื่องยากที่จะระดมมวลชนอย่างนั้น เพราะในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเปลี่ยนเข้าสู่ประชาธิปไตยแล้ว  

The Isaan Record : ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการเติบโตของการเมืองภาคประชาชนในอีสานไหม  

รศ.ดร.สมชัย : ผมไม่คิดว่า จะมีนักเรียน นักศึกษา มาร่วมในวงที่กว้างมากมายขนาดนี้ แต่ก่อนเวลาคนทำกิจกรรมในภาคอีสานก็เป็นเพียงกิจกรรมออกค่าย ไม่ใช่กิจกรรมการเมือง ที่สำคัญ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่คนเหล่านี้ครุ่นคิดด้วยตัวเอง เรียนด้วยตัวเอง คนกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่กล้าตัดสินใจ

The Isaan Record : การเคลื่อนไหวครั้งนี้เห็นขบวนการชาวบ้าน คนเสื้อแดงเข้าร่วมกับนักศึกษามากน้อยแค่ไหน

รศ.ดร.สมชัย : ต้องเข้าใจว่า คนเสื้อแดงเติบโตจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน เขาเกิดในช่วงหลังเลือกตั้ง ได้รัฐบาลที่เขาเลือกมาบริหารประเทศ แล้วก็มีนโยบายที่เอื้อต่อชีวิตของพวกเขา ดังนั้นเขาจึงผูกพัน พอรัฐบาลถูกรัฐประหาร เขาจึงรู้สึกไม่พอใจและกลายรูปเป็นคนเสื้อแดง 

ส่วนการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา อาจไม่ใช่เรื่องที่ผูกกับคนเสื้อแดงแบบสนิทเสียทีเดียว ผูกกันแต่ในเรื่องว่า เป็นประชาธิปไตยนะ ต้องการเปลี่ยนแปลง ไม่เอาสิ่งที่เป็นอยู่ แต่การจะให้มีอารมณ์ร่วมยังไม่ใช่ ซึ่งก็เห็นคนเสื้อแดงเข้าร่วมแบบกระจัดกระจาย คือ เขาเห็นด้วย แต่ยังไม่อินที่จะออกไปร่วม เพราะมองว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน 

The Isaan Record : อาจเป็นไปได้ไหมว่า คนเสื้อแดงไม่กล้าเข้าร่วมชุมนุม เพราะเจ็บปวดจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่มีคนตายถึง 94 ศพ 

รศ.ดร.สมชัย : นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ความพ่ายแพ้ในอดีต ทั้งเมื่อปี 2553 และช่วงรัฐประหารปี 2557 พวกเขาถูกควบคุมอย่างหนัก เมื่อความรู้สึกแบบนั้นมาบวกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่อาจเป็นเรื่องไกลตัว จึงเป็น 2 ปัจจัยมารวมกัน แม้ว่า ตอนนี้พวกเขาจะรู้ว่า ออกมาได้แล้ว แต่ก็อาจจะยังไม่ใช่ขั้นสุดท้ายที่จะออกมาช่วยกัน 

The Isaan Record : ตอนนี้นักศึกษาบางพื้นที่ประกาศเรียกตัวเองว่า “เป็นเสื้อแดงรุ่น 2”  

รศ.ดร.สมชัย : ก็มีบางส่วน บางส่วนก็เป็นลูกหลานคนเสื้อแดง เป็นครอบครัวคนเสื้อแดง มีอะไรที่ผูกพันกันหรือประทับใจการต่อสู้ของคนเสื้อแดง เขาก็ประกาศตัวเป็นเสื้อแดง อีกส่วนหนึ่งก็ตระหนักเห็นถึงความจำเป็นในการที่จะต้องขยายความร่วมมือในหมู่ผู้รักประชาธิปไตยให้มาร่วมกันเคลื่อนไหว 

The Isaan Record : ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร 2563 คือ ขอให้นายกฯ ลาออก แล้วแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มองว่า มีความเป็นไปได้ไหม

รศ.ดร.สมชัย : ถ้านักศึกษายังรักษาการต่อสู้อย่างสันติวิธีไว้ได้ แม้ไม่บรรลุผลโดยเร็ววัน แต่ยังมีเวลาที่เขาจะกดดันได้อีกยาวนานเลย เพราะประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต รัฐบาลนี้อยู่ในฐานะที่ต้องคอยแก้ปัญหาที่หนักหน่วงรุนแรง ซึ่งเอาคนที่มีฝีมือเหนือกว่านี้มากมาแก้ก็แก้ไม่ได้ ในเมื่อคุณไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเมืองมันก็ทับถมไปอย่างนี้ คนที่จะต้องการให้คุณออกก็ยิ่งเพิ่ม 

“ถือเป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อผู้ชุมนุมเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่า ผู้ชุมนุมต้องใจเย็น ต้องมีจังหวะจะโคน มีรุกบ้าง มีพักบ้างก็ได้ ผมคิดว่า ถ้าพักกระแสก็ไม่ลงเพราะตอนนี้รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ วิกฤตทางเศรษฐกิจคุณแก้ไม่ได้ ชาวบ้านเดือดร้อนชาวบ้านก็ต้องการให้คุณแก้ ถ้าคุณไม่มีปัญญาแก้ เขาก็ให้คุณออก เขาอยากให้คุณออก” 

The Isaan Record : ถ้าลาออกแล้ว แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ควรทำอะไรต่อ

รศ.ดร.สมชัย : ก็เลือกตั้ง 

“ตอนนี้รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ วิกฤตทางเศรษฐกิจคุณแก้ไม่ได้ ชาวบ้านเดือดร้อนชาวบ้านก็ต้องการให้คุณแก้ ถ้าคุณไม่มีปัญญาแก้ เขาก็ให้คุณออก เขาอยากให้คุณออก”

The Isaan Record : เลือกตั้งแล้วยังไงต่อ ควรต้องลดอำนาจสถาบันกษัตริย์หรือไม่ เพราะข้อเรียกร้องอย่างหนึ่งก็คือว่ากษัตริย์มีอำนาจมากเหลือเกิน มันถึงเวลาแล้วที่จะให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง 

รศ.ดร.สมชัย : แรงผลักดันจะไปถึงจุดนั้นหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แม้ว่าตอนนี้ข้อเรียกร้องจะมี แต่เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดในรูปไหน ถ้าเขาทนแรงกดดันมากๆ ไม่ไหวก็อาจจะยอม แล้วอาจจะบอกว่าโอเคนะ ตรงนี้ยอมๆ แล้วขอพักยกตรงนี้ไว้ก่อน อะไรอย่างนี้ ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ 

The Isaan Record : ท้ายสุดมองว่ามันควรจะจบที่การเจรจาหรือไม่

รศ.ดร.สมชัย :  นั่นเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่ขบวนการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีจะพึงทำ เพราะว่าเราไม่มีเป้าหมายว่าจะไปใช้กำลัง แน่นอนสันติวิธีไม่ใช่ว่ามีแต่การเจรจา ก็มีการสร้างพลังกดดัน เมื่อพลังกดดันมากพอก็จะไปบังคับให้ฝ่ายนั้นต้องเจรจาด้วย 

@ตอนนี้รัฐบาลใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้คนที่ออกมาเคลื่อนไหว อาจารย์มีข้อเสนอต่อเรื่องนี้อย่างไร 

ถึงคุณประยุทธ์อยู่ไปได้ ผ่านช่วงนี้ไปได้ ก็ไม่มีอนาคต ยังไงๆ ก็แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ไม่ได้ แก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้หรอกครับ ผลสุดท้ายก็ต้องลงอยู่ดีๆเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ทำไมไม่ถือโอกาสนี้แก้ไขไม่ให้ประเทศนี้บอบช้ำไปมากกว่านี้ แล้วผู้สนับสนุนคุณประยุทธ์เองก็เหมือนกันก็ต้องรู้ว่า ถึงคุณสนับสนุนอย่างไร มันก็ไปไม่ได้ 

“ความสามารถที่มีอยู่ของรัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถรับมือกับความหนักหน่วงของปัญหาที่เกิดได้ และกติกาการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ไม่ช่วยเอื้อให้แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้ ต้องมองเห็นจุดนี้ ถ้าอยากให้ประเทศไทยหลุดออกจากความขัดแย้งต้องแก้รัฐธรรมนูญครับ” 

image_pdfimage_print