รัศมี ชาติชำนาญ นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record เรื่อง 

The Isaan Record จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “เกาะติดข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ โดยภาคประชาชน” ออนไลน์ทางเพจเฟซบุ๊ก The Isaan Record เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงระหว่างที่สมาชิกรัฐสภาหารือเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.25630 กระทั่งต่อมาได้โหวตรับหลักการ 2 ร่าง โดยไม่รับร่างของภาคประชาชนที่ iLaw เป็นผู้นำเสนอ 

ผศ.ดร.วินัย ผลเจริญ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่นอกสภา จำเป็นที่จะต้องอาศัยสันติวิธี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นทางออก

“ผมเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้ความขัดแย้งยุติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการชุมนุมจะต้องยุติทันทีที่มีการรับร่างฝ่ายต่าง ๆ แต่ขบวนการประชาชนที่เรียกร้องก็ยังมีสิทธิเสรีภาพที่จะเรียกร้องต่อไป แต่ว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวช่วยให้การขัดแย้งต่างๆ เนี่ยไม่เพิ่มไปจนเกิดความรุนแรง แม้แนวทางนี้จะต้องใช้เวลายาวนานก็ตาม”ผศ.ดร.วินัย กล่าว  

“ในอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ในสภาฯ มีการอภิปรายว่า ถ้าบัญญัติให้พระมหาษัตริย์มีอำนาจมาก เป็นการเปิดทางให้ทรงทำอะไรก็ได้ ทรงกระทำผิดกฎหมายอาญาก็ทำได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง”ผศ.ดร.วินัย ผลเจริญ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม

นักวิชาการ ผู้นี้กล่าวอีกว่า ระหว่างนี้ขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็จะมีอยู่ต่อไปและอาจจะเข้มแข็งมากขึ้นก็ได้ ในที่สุดก็อาจจะผลักดันให้สมาชิกรัฐสภาให้เปลี่ยนท่าทีออกมาเห็นด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นไปได้ 

“ผมยังอยากมองในแง่ดีอยู่ว่า มันมีความเป็นไปได้ถึงขั้นที่ว่าสามารถที่จะอภิปรายกันในหมวดที่ 1 และ 2 ได้ อย่าลืมว่า ประวัติศาสตร์ในอดีตเคยมีการอภิปรายกันเกี่ยวกับพระราชอำนาจมาแล้ว แล้วก็มีไม่ใช่แค่การอภิปรายให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น แต่ยังอภิปรายถึงพระราชอำนาจที่เคยมีมากเกินไป ดังนั้นเมื่อในอดีตมันเคยหลักการที่ไม่ได้ผิด การอภิปรายหมวดนี้จึงสามารถทำได้” ผศ.ดร.วินัย กล่าว 

นักวิชาการจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม กล่าวถึงประวัติศาสตร์การอภิปรายเพื่อลดพระราชอำนาจของกษัตริย์เกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ซึ่งเป็นฉบับที่ 5 เกิดจากหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 โดยหลังรัฐประหารทำให้ทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมืองแล้วก็หยิบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วนำไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มแดง เลยได้ใช้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ “ฉบับใต้ตุ่ม” 

“ช่วงการกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2592 มีการอภิปรายว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 เมื่อประกาศใช้แล้วมันได้รับความเห็นชอบแล้ว ถือเป็นฉบับแรกเลยที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก่อนหน้านั้นไม่มี”เขากล่าวและว่า “นอกจากนี้ยังอภิปรายว่า การบัญญัติที่ให้พระมหาษัตริย์มีอำนาจมาก เป็นการเปิดทางให้ทรงทำอะไรก็ได้ ทรงกระทำผิดกฎหมายอาญาก็ทำได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง” 

นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า การอภิปรายเรื่องนี้ช่วงนั้น ส.ส.และ ส.ว. มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง แต่คิดว่า การพูดเรื่องนี้ก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามหลักสากล ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพียงแต่มีฝ่ายที่หวงอำนาจพยายามจะบอกว่าเรื่องแบบนี้ทำไม่ได้ พูดไม่ได้ เป็นการก้าวก่าย เป็นการละเมิด 

“ผมคิดว่าเขาไม่อยากให้พูดมากกว่า จริงๆ มันพูดได้ แล้วมันก็มีคนพูดถึงอยู่อย่างที่เราเห็น อย่าง ส.ส.รังสิมันต์ โรม ก็เคยอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการที่ทางฝ่ายนิติบัญญติพยายามที่จะเสนอกฎหมายขยายพระราชอำนาจ ซึ่งมันก็มีกฎหมายออกมาแล้วตอนนั้นมันก็มีคนพยายามคัดค้าน เรื่องแบบนี้ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้กันในช่วงเวลารอบปีที่ผ่านมามันก็มีการอภิปรายอยู่ ผมเชื่อว่า การพูดเรื่องนี้จะถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดามากขึ้น แม้จะมีฝ่ายหนึ่งที่บอกว่าทำไม่ได้ก็ตาม”เขากล่าว 

ผศ.ดร.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกที่น่าจะทำให้มีความรุนแรงน้อยที่สุดและสามารถประนีประนอมในด้านข้อเสนอของกลุ่มต่างๆ ได้ ถือเป็นเรื่องปกติทางการเมือง แต่ปัญหา คือ เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้อำนาจคนอีกกลุ่มหนึ่งมากกว่าในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะ ส.ว.

“ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาจริง รัฐบาลก็มีประสบการณ์จากการที่มีความร่อแร่ในช่วงการโหวตหลายรอบ เราก็เห็นแล้วว่า มันมีปัญหาในการใช้อำนาจและเสถียรภาพของรัฐบาลเอง จริงๆ แล้วควรเป็นการประนีประนอมกัน อาจจะใช้ร่างใดร่างหนึ่งเป็นหลักเพื่อพิจารณา”เธอเสนอ

“เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะเขาไม่เห็นอนาคตตัวเองจากรัฐบาลนี้” ผศ.ดร.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผศ.ดร.อรุณี กล่าวอีกว่า จากที่ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ ต่อต้านรัฐบาล ที่มา คือ ความไม่พอใจในชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง หลายๆ คนพยายามจะบอกว่า ยังไม่เห็นอนาคต โดยเฉพาะเยาวชนที่บอกว่า ไม่รู้ว่าเรียนจบไปแล้วจะต่างจากที่เป็นอยู่อย่างไร 

“ต้องยอมรับว่า เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วงนี้ เป็นเยาวชนที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา มีการเปลี่ยนวิชา มีการเพิ่มอะไรเข้าไปในการเรียนการสอนมากมาย ซึ่งสะท้อนว่าจริงๆ แล้วเขามีไอเดียของเขาอยู่ เขาเห็นชีวิตพ่อแม่ไม่ได้พัฒนาไปมากขึ้นในช่วงเวลา 5-6 ปี ที่ผ่านมา ตรงนี้เขาก็เลยไปเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญที่มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเขาไม่มีส่วนร่วม”นักวิชาการจากณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าว 

เธอกล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่า ส.ส.คือส่วนหนึ่งที่พาประเทศมาถึงจุดนี้ ตัว ส.ส.เองต้องเรียนรู้ที่จะทำหน้าที่ ส.ส.จริง ๆ ให้กับคนที่เป็นเจ้าของอำนาจที่ทำให้คุณสามารถเข้ามานั่งอยู่ในสภาได้ ส่วนการเรียกร้องนอกสภา ผู้ชุมนุมเองก็รับรู้ว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ถ้า ส.ส.ไม่ทำอะไร ถ้ามองก็คือทำอย่างไรจะทำให้ ส.ว.หันกลับมาอยู่ข้างประชาชน 

“เคยคุยกับนักวิชาการผู้ใหญ่ ที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ บางคน ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง มันจะกระตุกวิธีคิด ความดีงามของคนให้กลับมาได้ แต่ว่าเราไม่อยากให้มันเดินมาถึงจุดนั้น แล้วเราเห็นแล้วว่ามันไม่มีแกนนำ เมื่อใดก็ตามที่เหมือนกับจะมีการปะทะจะมีการบริหารจัดการให้ถอยออกมาก่อน ซึ่งคิดว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นั้น

image_pdfimage_print