ธีระพล อันมัย เรื่องและภาพ 

พอแต่เปิดผ้าม่านกั้ง 

นับตั้งแต่ปี 1900 จนถึงปัจจุบัน (2020) จะพบว่า ในช่วง 120 ปีที่ผ่านมาจังหวัดอุบลราชธานีมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีกบฏผีบุญเมื่อปี (1901-1902)  ขบวนการเสรีไทย (1944) การอพยพลี้ภัยสงครามของชาวเวียดนาม (1950-1953) กรณีสมัชชาคนจน (1995) และกรณีเผาศาลากลางจังหวัด (2010) อันสืบเนื่องมาจากการลุกฮือขึ้นประท้วงการล้อมปราบคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร โดยจะอธิบาย ดังนี้

1.) กบฏผีบุญ 1901-1902 ( พ.ศ.2444-2445)

อุบลราชธานีก่อตั้งเมืองยาวนานนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและนับตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของสยามเมื่อปี 1900 (พ.ศ.2443) จังหวัดอุบลราชธานีในฐานะหัวเมืองในบังคับสยามได้เกิดปรากฏการณ์การลุกขึ้นสู้ของประชาชนที่แข็งขืนต่ออำนาจสยามผู้เป็นเจ้าอาณานิคมภายใน ในนามของ “ผู้มีบุญ” หรือที่สยามเรียกชื่อประณาม (name calling device) ว่า “กบฏผีบ้าผีบุญ” หรือ “กบฏผีบุญ” จนนำไปสู่การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารล้อมปราบที่บ้านสะพือ ตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2444 หรือวันที่สี่เดือนสี่ปีสี่สิบสี่ 

“เกิดเหตุการณ์นองเลือดล้อมฆ่าคนอีสานแห่งมณฑลลาวกาว ในพื้นที่บ้านสะพือใหญ่ (ตระการพืชผล) ซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองอุบลราชธานี (อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการมณฑล) มีราษฎรล้มตายในที่เกิดเหตุร่วม 300 คนเศษ ถูกจับกุมใส่ขื่อคา 400 คนเศษ

กบฏผู้มีบุญได้ถูกบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นในช่วงปี 1901-1902 (พ.ศ. 2444-2445) โดยมีเงื่อนไขของการลุกขึ้นกบฏ คือ การเมืองที่รัฐส่วนกลางก็ไม่ได้ดูแลสุขทุกข์ประชาชนอย่างเต็มที่ ขณะที่รัฐท้องถิ่นก็มุ่งแต่จะเก็บผลประโยชน์ในรูปของส่วยหรือภาษี

แต่ประวัติศาสตร์กบฎผู้มีบุญที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลางและถูกสังหารจนตายหลายร้อยคนก็ไม่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยกเว้นในบันทึกของข้าหลวงหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเท่านั้น

ภาพเหมือนของตัวละครทางการเมืองที่มีความสำคัญในปี 2563

2.) รัฐมนตรีอีสานและเสรีไทย 1933 – 1949 (พ.ศ. 2476 – พ.ศ. 2492)

นอกจากกบฏผู้มีบุญแล้ว ในห้วงเวลาที่คณะราษฎรได้ปฏิวัติสยามเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยในปี 1932 นั้น อุบลราชธานีก็มีนักการเมืองคนสำคัญที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 1933 (พ.ศ.2476) คือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ 

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดนั้น อุบลราชธานีเป็นเขตงานหนึ่งของขบวนการเสรีไทย โดยมีทองอินทร์ได้ทำหน้าที่ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานีเพื่อปลดปล่อยไทยจากการตกเป็นผู้แพ้สงคราม เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในยุคของรัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี 1944 (พ.ศ.2487) และรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อปี 1945 (พ.ศ.2488) ก่อนที่เขาจะถูกสังหารโหดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1949 (พ.ศ. 2492) ที่ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ พร้อมกับ ถวิล อุดล จำลอง ดาวเรือง และทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งทั้ง 4 คนนี้เป็นรัฐมนตรีสายปรีดี พนมยงค์และถูกขนานนามว่า ‘สี่รัฐมนตรีอีสาน’

3.) การอพยพและควบคุมชาวเวียดนาม 1950 – 1953 (พ.ศ. 2493 – 2496)

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ยุคสงครามเย็น อุบลราชธานีได้กลายเป็นพื้นที่ทำการของฐานทัพอเมริกันสำหรับการทำสงครามเวียดนาม ขณะเดียวกันอุบลราชธานีก็กลายเป็นจังหวัดหนึ่งที่ถูกรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม กำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับและควบคุมคนญวนอพยพ เมื่อปี 1950 (พ.ศ. 2493) และ 1953 (พ.ศ.2496) ซึ่งถือเป็นการอพยพระรอกใหญ่ครั้งสุดท้ายของผู้อพยพชาวเวียดนาม ปัจจุบันคนเวียดนามที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานีจนได้สัญชาติไทยและสืบเชื้อสายต่างก็มีบทบาทสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี

ในช่วงสงครามเย็น อุบลราชธานีก็มีฐานทัพอากาศอุบล (Ubol Royal Thai Air Force Base) ของกองทัพอเมริกาในสงครามเวียดนาม (ขณะที่ชาวเวียดนามเรียก สงครามอเมริกัน) เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการโจมตีประเทศเวียดนามเหนือ ระหว่าง 1965 – 1974 (พ.ศ. 2493 – 2496) 

รูปปั้นวัวควายที่บ่งบอกว่า “อยู่บ้านท่าน อย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น”

4.) เขื่อนปากมูลและสมัชชาคนจน 1990 (พ.ศ. 2533) 

ครั้นผ่านพ้นสงครามเย็นเข้าสู่ยุค ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ตามนโยบายของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี นั่นคือ เขื่อนปากมูลที่ใช้งบประมาณ 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเขื่อนพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 1990 ( และสร้างเสร็จ 1994  โครงการสร้างเขื่อนปากมูลได้สร้างผลกระทบให้ประชาชนในพื้นที่ 3 อำเภอคือ พิบูลมังสาหาร โขงเจียมและสิรินธร ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องลุกขึ้นประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และยกระดับการต่อสู้ไปร่วมกับกลุ่มปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ โครงการขนาดใหญ่ทั่วประเทศในนามสมัชชาคน (assembly of the poor) เมื่อปี 1995 (พ.ศ. 2538) และเคลื่อนไหวประเด็นดังกล่าวต่อเนื่อง 

ปัจจุบันการต่อสู้ของสมัชชาคนจนก็ยังคงเน้นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การปิด-เปิดประตูเขื่อนเพื่อให้สัมพันธ์กับฤดูการวางไข่ของปลาในแม่น้ำมูล

5.) คนเสื้อแดงและกรณีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี  

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2006 (พ.ศ.2549) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเคลื่อนไหวของ ‘คาราวานคนจน’ มวลชนที่ต่อต้านการรัฐประหารและต้องการปกป้องรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรและได้พัฒนาเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) (United Front of Democracy Against Dictatorship; UDD) หรือคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและเรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ จนกระทั่งเกิดการใช้กองกำลังทหารพร้อมสรรพาวุธสลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2010 (พ.ศ.2553) จนมีคนตายกว่า 90 คน บาดเจ็บกว่า 2,100 คน 

ธงชาติที่ผุพังก็ถูกแสดงในนิทรรศการ UBON AGENDA วาระวาริน เครดิตภาพจากเฟซบุํก Thanom Chapakdee

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดอุบลราชธานีออกมาชุมนุมประท้วงตามจุดต่างๆ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2010 เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการล้อมปราบคนเสื้อแดงและจบลงที่เกิดเหตุการณ์เพลิงไหมศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี

ภายหลังเพลิงไหม้ศาลากลางจังหวัดทางตำรวจได้ออกหมายจับตามภาพถ่ายที่ถ่ายได้ในเหตุการณ์ถึง 412 หมาย ในเบื้องต้นมีคนถูกจับจำนวน 60 คน จากนั้นก็ทยอยยกฟ้องจนเหลือ 21 คน ซึ่งขึ้นฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2011 และมีผู้ได้รับโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต 4 คน (ลดโทษเหลือ 1 ใน 3 เหลือ 33 ปี 12 เดือน) และผู้ต้องหาต่อสู้จนถึงศาลฎีกาในปี 2016 สุดท้ายมีคนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 8 คน โดย 7 คนได้ลดโทษเหลือ 1 ใน 3 เหลือ 33 ปี 4 เดือน และด้วยกลไกของคณะรัฐประหารทำให้ปี 2018 มีนักโทษการเมืองเสื้อแดงถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ 4 คน และปัจจุบันยังมีนักโทษการเมืองเสื้อแดง 4 คน ถูกจำคุกอยู่เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน

6.) ต้าร์ – วันเฉลิม ถูกบังคับหาย 2020

4 มิถุนายน 2020 ต้าร์ หรือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยถูกอุ้มหายไปจากที่พักใจกลางกรุงพนมเปญ กัมพูชา เขาเป็นคนอุบลราชธานีโดยกำเนิด วันเฉลิมมีชื่อในกลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวเมื่อ 8 มิถุนายน 2014  ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เขาไม่ไป จึงถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครพบว่าต้าร์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่และยังไม่มีคำตอบจากทางการของไทยและกัมพูชา

เสื้อผ้าบางส่วนของ ต้าร์ หรือ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยถูกอุ้มหายที่จัดในนิทรรศการ UBON AGENDA วาระวาริน ภาพจากเฟซบุ๊ก Thanom Chapakdee

จากการเรียบเรียงเหตุการณ์ในห้วงเวลา 120 ปี จะพบว่า อุบลราชธานีเป็นพื้นที่ที่วาระทางการเมืองที่ว่าด้วยการต่อต้านขัดขืนอำนาจในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับอำนาจปกครองของรัฐส่วนกลางของกบฎผู้มีบุญระหว่างปี 1901-1902 (พ.ศ.2444-2445) จนมีคนตายกว่า 300 คน ถูกจับกุมกว่า 400 คน มาจนถึงวีรกรรมของแกนนำเสรีไทยอย่าง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี ที่ต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยไทยจากการเป็นผู้แพ้สงครามร่วมกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงกลายเป็นพื้นที่รองรับการอพยพหนีภัยสงครามของชาวเวียดนามในช่วงปี 1950-1953 (พ.ศ.2493-2496) และในสงครามเย็นทศวรรษต่อมา อุบลราชธานีก็เป็นหนึ่งในฐานทัพอากาศของอเมริกาสำหรับทำสงครามกับเวียดนามเหนือระหว่างปี 1965 – 1974 (พ.ศ.2508 – 2517) 

เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ชาวอุบลราชธานีในนามของสมัชชาคนจนก็ลุกขึ้นต่อสู้กับโครงการเขื่อนปากมูล อันเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐระหว่างปี 1990 – 2000 (พ.ศ.2533 – พ.ศ.2543) และทศวรรษต่อมาก็เกิดกลุ่มคนเสื้อแดงที่ลุกขึ้นต่อต้านการรัฐประหารและปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่มาจากค่ายทหารยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่กลายเป็นว่า รัฐบาลยอภิสิทธิ์เลือกใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงจนนำไปสู่การประท้วงการสังหารประชาชนจนเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ศาลากลางจังหวัด ทางการการจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนมากและสุดท้ายมีผู้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตจากเหตุการณ์ลุกขึ้นประท้วงดังกล่าว

และล่าสุด กรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองถูกบังคับสูญหายที่กลางกรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2020 ก็เป็นชาวอุบลราชธานี

ดร.ถนอม ชาภักดี ผู้อำนวยการ MAS (Manifesto.Agenda.Summit) ในฐานะผู้อำนวยการจัดงาน UBON AGENDA 2020 วาระวาริน 2563

บัดสิลำทางสั้น หันทางยาว จ้าวทางล่อง

UBON AGENDA 2020 วาระวาริน 2563 คือ ปฏิบัติการทางศิลปวัฒนธรรมที่สถาปนากระบวนการจัดการศิลปะ วัฒนธรรมในรูปแบบเนื้อหาใหม่ที่อิงกับประวัติศาสตร์สำนึกของสามัญชนเป็นหลัก และมุ่งหวังให้ศิลปินนักปฏิบัติการทางศิลปะ วัฒนธรรมนำเสนอเรื่องราวรูปแบบการจรรโลงศิลปะเพื่อการมีส่วนร่วม (participatory art) กับชุมชน สังคมทั้งในรูปของศิลปะการแสดง หมอลำ ดนตรี ศิลปะการแสดงสด (performance art) ภาพยนตร์สั้น วีดีโออาร์ต ศิลปะการจัดวางในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการอภิปรายหรือเสวนาเพื่อกระตุ้นให้ตื่นตัวจากอำนาจวาทกรรมต่างๆ อย่างตระหนักรู้อยู่เสมอ

ดร.ถนอม ชาภักดี ผู้อำนวยการ MAS (Manifesto.Agenda.Summit) ในฐานะผู้อำนวยการจัดงานกล่าวถึง UBON AGENDA 2020 วาระวาริน 2563 ที่จะจัดขึ้นที่โรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา ถนนเบ็ญจะมะ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานีระหว่างวันที่ 21 – 30 พฤศจิกายน 2020 นี้ว่า เป็นความต่อเนื่องจากขอนแก่น เหลี่ยมมาบๆ หรือ Khonkaen Manifesto 2018 โดยในงานนี้มีศิลปินรับเชิญเข้าร่วมแสดงงานทั้งไทยและต่างชาติกว่า 30 คน มีกิจกรรมหลักๆ คือ 1) การแสดงผลงานศิลปะในพื้นที่ Site-specific 2) เสวนาวิชาการทางศิลปวัฒนธรรมและสังคม 3) การแสดงหมอลำ ดนตรีและสื่อการแสดงอื่นๆ 4) ปฏิบัติการศิลปะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งผลงานที่จะถูกแสดงในงานนี้ประกอบด้วย 1) ผลงานในพื้นที่เฉพาะ (site-specific art) 2) ศิลปะการแสดงสด (performance art) 3) ภาพถ่าย วีดีโอ ภาพยนตร์ และ 4) การแสดง หมอลำ ดนตรี

“วัตถุประสงค์ของงาน UBON AGENDA วาระวาริน ก็เพื่อเปิดพื้นที่ปฏิบัติการศิลปวัฒนธรรมชุมชนและการมีส่วนร่วมในการแสดงออกผ่านบริบททางสังคม มุมมอง แนวคิดและประสบการณ์บ้านเกิดเมืองนอน เพื่อเปิดพื้นที่ทางศิลปะให้ชุมชนและศิลปินได้นำเสนอแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายรูปแบบที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับชุมชนสังคมในระดับต่างๆ” ดร.ถนอมกล่าว

อ้างอิง

ณรงค์ศักดิ์ คูบุญอารักษ์ และคณะ. (2018) บทบาทของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม,หน้า 107-115

ธีระพล อันมัย 2020 จดหมายจากนักโทษการเมือง 

มาโนช พรหมสิงห์ 2019  ปีใหม่เลือด : การล้อมสังหารคนอีสานที่ถูกลบทิ้ง

สุวิทย์ ธีรศาศวัติ 2006 ประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2488 ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

 

image_pdfimage_print