พงศธรณ์ ตันเจริญ เรื่อง
ปรากฏการณ์การตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชน คนหนุ่มสาวในอีสานกำลังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ช่วงนี้เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากที่จะเห็นสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง
นานมาแล้วที่เราไม่ได้เห็นปรากฏการณ์ที่คนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ค.ศ.1973 (พ.ศ.2516) เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวของนักศึกษา ปัญญาชนก็แผ่วลง ด้วยปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิทัศน์ทางการเมือง รวมถึงอิทธิพลจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมผ่านการปกครอง โดยรัฐบาลเผด็จการในอดีต
แต่แล้วการกดทับที่ผ่านมาก็พังทลายลง เมื่อนิสิต นักเรียน นักศึกษา เหล่าปัญญาชนได้ตื่นขึ้นและกลับมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างคึกคักอีกครั้งเมื่อช่วงต้นปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวมิได้แผ่วลงเลยแต่อย่างใด มีแต่จะเพิ่มความสร้างสรรค์ ความหลากหลายและเพิ่มพื้นที่การเคลื่อนไหวขยายตัวเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ
อะไรที่ทำให้คนหนุ่มสาวอีสานจำนวนมากได้ออกมาทวงคืนอนาคตของตนเองมากมายขนาดนี้??
คำตอบ คือ พวกเขามองประชาธิปไตยไปไกลกว่าการเลือกตั้งแล้ว จะเห็นได้จากเวลาที่พวกเขามาชุมนุมกันจะป้ายข้อความต่างๆที่พูดถึงประเด็นภาษี รัฐสวัสดิการ ชีวิตจะดีได้หากการเมืองดีและบางการชุมนุม ระหว่างการปราศรัยก็มีการพูดถึงการกระจายอำนาจ หากเราได้ประชาธิปไตยกลับคืนมาก็เหมือนเราได้อำนาจในการกำหนดชี้ชะตาบ้านเมืองของตนเองกลับคืนมา
ภาพจำที่ว่า “อีสาน โง่ จน เจ็บ” วาทกรรมนี้ยังเป็นภาพที่คนต่างภูมิภาคมองมาที่อีสานแต่ในมุมของคนอีสานเอง วาทกรรมนี้กำลังถูกทำลายลงและแทนที่ด้วยความหวังใหม่ที่มาพร้อมกับความพยายามของคนหนุ่มสาวในอีสานที่กำลังลุกขึ้นมาต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ช่วงเวลานี้จึงเป็นการลบล้างวาทกรรทอีสานโง่ จน เจ็บออกไป
หมุดหมายสำคัญของการเคลื่อนไหวนั้น คือ การที่คนอีสานได้กลับมามีอำนาจในการกำหนดทิศทางอนาคตของท้องถิ่นตนเองได้ ทรัพยากรที่มีแต่เดิมของอีสานที่ถูกรัฐไทยสูบเลือดสูบเนื้อไปเข้าสู่ส่วนกลางนั้นจะถูกหวนกลับคืนมาสู่แผ่นดินอีสานบ้านเรา ลูกหลานคนอีสานจะได้มีโอกาสในการใช้ชีวิตที่บ้านเกิดตนเอง ไม่ต้องหอบสังขาร ทิ้งชีวิตไว้ที่กรุงเทพฯ โอกาสในการกลับบ้านได้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นพื้นที่อันเป็นบ้านเกิดของตนก็จะทำให้เราได้เห็นศักยภาพการพัฒนาอีสานโดยมือของคนอีสานได้อย่างเต็มที่ โครงสร้างทางการเมืองที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนมักส่งผลดีต่อภาพรวมของคนในสังคม

พงศธรณ์ ตันเจริญ ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย ขณะปราศรัยเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างอีสานกับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2020 ในกิจกรรมของกลุ่มภาคีนักเรียนมหาสารคาม ภาพโดย ณาฌารัฐ ภักดีอาสา จากเพจ THE STAINLESS
ถ้าโครงสร้างที่ออกแบบมาเกิดจากการร่วมสร้างของคนทุกกลุ่มในสังคมตามหลักประชาธิปไตยและเปิดโอกาสให้การมีส่วนร่วมของประชาชนได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันบริหาร ตรวจสอบ ถ่วงดุล ที่สำคัญเลย คือ เราจะได้มีโอกาสในการวางแผนอนาคตบ้านเกิดของตนเองด้วย
การพัฒนานั้นก็จะถือว่า เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเป็นการพัฒนาที่เกิดจากคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำคัญต่อการพัฒนาเพราะพวกเขารู้ดีว่า ควรที่จะพัฒนาบ้านเกิดของเขาอย่างไรให้พัฒนาเจริญเติบโตในแบบที่คนท้องถิ่นต้องการ พอเมื่อถึงเวลาที่ลูกหลานได้เติบโตมาหลังจากนี้พวกเขาจะได้มีความสุขสมกับการที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ได้ต่อสู้มาเพื่อส่งมอบการเปลี่ยนแปลงให้กับคนรุ่นต่อไป
แม้ว่าขณะนี้ที่ส่วนกลางกรุงเทพฯ เองจะมีประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลากหลายอย่างมาก ทั้งเรื่อง เพศ เศรษฐกิจ ปฎิรูปการเมือง การปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น แต่ประเด็นในภูมิภาคอีสานเป็นเรื่องที่ได้รับการถูกพูดถึงน้อยมาก
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนในภูมิภาคอีสานต้องลุกขึ้นมาพูดเองเพื่อที่จะได้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ทำให้เกิดการสร้างพื้นที่การรับรู้แก่คนทั่วไปในสังคมให้รับรู้ว่าในการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับประเทศว่า คนอีสานเองก็มีตัวตนและมีปัญหาที่ต้องการสะท้อนให้กับสังคมได้มองเห็น ทั้งเรื่องปัญหา ที่ดิน เขื่อน EEC เหมืองแร่ โรงงานไฟฟ้าชีวมวล โรงงานน้ำตาล เป็นต้น
ประเด็นเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลกระทบที่มาจากที่รัฐส่วนกลางเข้ามากำกับดูแลการพัฒนาในภูมิภาคอีสานและสร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงแก่คนในท้องถิ่นเพราะโครงการรัฐขนาดใหญ่เหล่านี้ไม่ได้มีพื้นที่ให้สำหรับคนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของบ้านเกิดได้ออกมาร่วมแสดงความเห็นร่วมออกแบบแผนการพัฒนาร่วมกันเลย
ตรงกันข้ามรัฐไทยกลับมัดมือฉกชาวบ้าน ด้วยการยัดเยียดโครงการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ให้แทนนั้นจึงเป็นปัญหาที่คนอีสานอยากที่จะสะท้อนพูดออกมาและยังมีปัญหาเรื่องอื่นๆ อีก
ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท การกระจุกตัวของอำนาจที่มีอยู่แต่ส่วนกลางกรุงเทพฯ ก็ทำให้คนอีสานถูกดึงทรัพยากรคนและธรรมชาติไปเลี้ยงชนชั้นนำ รวมทั้งคนเมือง ยิ่งเป็นภาพที่ทำให้เราเห็นได้ว่า ภาคอีสานมีปัญหาหลายอย่าง เพียงแค่ต้องการพื้นที่ในการรับรู้ของสังคมทั่วไปให้ปัญหาเหล่านี้ได้รับการปัดฝุ่นไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับประเทศ ซึ่งทั้งปัญหาภูมิภาคและปัญหาระดับประเทศควรเป็นเรื่องที่สอดรับกันเพื่อให้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวร่วมกันได้
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด