ดลวรรฒ สุนสุข เรื่องและภาพ 

จากปรากฏการณ์ “จุดเทียนส่องความยุติธรรม” หลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นจากการเป็น ส.ส.จนถึงวันยุบพรรคอนาคตใหม่ การ“ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาว-ชูกระดาษเปล่า” ดูเหมือนเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้คลื่นการเมืองภาคประชาชนระลอกใหม่ซัดไปทั่วประเทศ 

เมื่อความหวังของการเมืองระบบรัฐสภาและระบบความยุติธรรมถูกตั้งคำถามถึงความเที่ยงตรง พลังของโซเซียลมีเดียจึงกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของผู้โหยหา “การเมืองใหม่” รวมทั้งกลายเป็นพื้นที่นัดชุมนุมที่สามารถระดมผู้คนมารวมตัวได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงและสลายตัวกันได้ในไม่กี่ชั่วโมง ภายใต้ “แฟลชม็อบ” ถือเป็นการเปลี่ยนคำนิยามของการชุมนุมในอดีตไปอย่างสิ้นเชิง ! 

 กลุ่ม “เผด็จการเป็นเหตุ ศรีสะเกษจะไม่ทน” จึงเป็นอีกหนึ่งดอกผลของการตื่นตัวทางการเมืองรอบนี้ The Isaan record ลงพื้นที่พูดคุยกับพวกเขาในวันที่การเมืองภาคประชาชนตื่นตัวไปทุกหัวระแหง

แฟนเพจเฟซบุ๊ก “เผด็จการเป็นเหตุ ศรีสะเกษจะไม่ทน” เป็นที่กระจายข่าวและนัดชุมนุม มีผู้ติด 13,000 คน ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2563

 ภายในอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งเป็นสถานที่รวมตัวของกลุ่มฯ เราพบผู้คนที่มีความหลายหลาก มีตั้งแต่นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวะ วิทยาลัยสารพัดช่าง มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ และประชาชนทั่วไป

พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ หรือ ต่อ ทนายความและอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ สมาชิกกลุ่มเผด็จการเป็นเหตุศรีสะเกษจะไม่ทน เล่าความเป็นมาของกลุ่มว่า เกิดขึ้นจากการรวมตัวคนที่ไม่พอใจกับการบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และกติกาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีความหวัง

 พรสิทธิ์ เล่าต่อว่า แต่ละกลุ่มเริ่มแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ต้นปี 2563 และได้หารือกันเพื่อตั้งเป็นกลุ่มใหญ่เมื่อเดือนกรกฎาคมเพื่อร่วมกันจัดกิจกรรม รวมถึงช่วยเหลือนักกิจกรรมหลังถูกคุมคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยได้จัดกิจกรรมเป็นครั้งแรกขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา 

หลังจากนั้นพวกเขาก็จัดกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมา โดยล้อไปกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาชนในกรุงเทพ

นักเรียนวัย 15 “ผมต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” 

 การเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ ได้ปลุกพลังให้นักเรียนวัยขาสั้น คอซอง กระโดดขึ้นเวทีปราศรัยได้ไม่แตกต่างจากผู้สนใจการเมืองคนอื่นๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ 

The Isaan Record ได้คุยกับสมาชิกของกลุ่มฯ วัย 15 ปี นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด ซึ่งเราไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะเกรงการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐและครูภายในโรงเรียน ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับเขามาแล้ว 

“ผมแสดงออกทางการเมืองภายในโรงเรียนมาตั้งแต่ต้นปีแล้วและอยากทำกิจกรรมกับกลุ่มคนข้างนอกโรงเรียนบ้าง เมื่อได้เข้าร่วมกับกลุ่มฯ ก็เห็นว่า ทุกคนมีจุดร่วมเดียวกัน คือ ตั้งคำถามถึงปัญหาของประเทศที่เป็นอยู่ไปจนถึงเป้าหมายสูงสุด คือ การได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”เขากล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น  

เช่นเดียวกันกับ นักศึกษาจากอาชีวศึกษา วิทยาลัยสารพัดช่าง และวิทยาลัยเทคนิคของจังหวัด ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ภายในรั้วโรงเรียนด้วยการผูกโบว์ขาว- ชูสามนิ้ว ก่อนจะร่วมแสดงออกทางการเมืองกับกลุ่มฯ โดยพวกเขามีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเรียกร้องประชาธิปไตยและความเสมอภาค 

นักเรียนผูกโบว์ขาว ในวิทยาลัยอาชีแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง และสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร 2563

ความเหลื่อมล้ำที่กำลังเผชิญ 

การพูดคุยกับเยาวชนทั้งระดับมัธยมศึกษาและวิทยาลัย ส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากต่างอำเภอ แล้วเข้ามาเรียนในเมืองศรีสะเกษ พวกเขาจึงเห็นความเหลื่อมล้ำ ระหว่างเมืองกับชนบทอย่างชัดเจน โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะ การรักษาพยาบาล รวมถึงการกระจายงบประมาณที่ไม่เท่าเทียมกัน 

เยาวชนในกลุ่มสะท้อนว่า พวกเขาได้เรียนรู้หลักการประชาธิปไตยจากอินเตอร์เนต โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ที่กระตุ้นให้พวกเขาตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เป็นชนวนเหตุให้พวกเขาตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์จากเหตุการณ์ครั้งนั้น 

สิ่งที่พวกเขาได้อ่านทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” เพราะมันชั่งแตกต่างจากตำราเรียนอย่างลิบลับ 

พวกเขาต่างหวังว่า “ถ้าการเมืองดี ทุกอย่างก็จะดี” จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรีและองคาพยพลาออก 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย 

เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้าร่วม

อ่าง (ขอสงวนชื่อ-นามสกุลจริง) นักศึกษาคณะศิลปกรรม จากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ สมาชิกของกลุ่มฯ และรับหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในการชุมนุม เล่าถึงการตัดสินใจเข้าร่วมว่า เขาตัดสินใจสมัครเพื่อร่วมทำกิจกรรมทันที หลังจากที่เห็นประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊ก เพราะไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 

“ผมไม่ด้วยกับการระบบการปกครองที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าระดับประเทศและระดับชุมชน” สมาชิกกลุ่มเผด็จการเป็นเหตุ ศรีสะเกษจะไม่ทน  

น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มฯ นี้มีสมาชิกที่มีความหลากหลายทางเพศเกือบครึ่ง อีกทั้งโลโก้ของกลุ่มฯ ยังเลือกใช้สีที่เป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ 

พรสิทธิ์ ตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เล่าว่า กลุ่มฯ นี้เริ่มต้นมาจากการไม่ปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่มาจากที่ไหน เรียนอะไร อาชีพอะไร เปิดรับความเห็นต่าง ทำให้มีความหลากหลาย ทุกคนสามารถถกเถียงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด แต่ต้องมีเหตุผล และได้จัดกิจกรรม “Pride Parade” เพื่อปักธงความเท่าเทียมในจังหวัดศรีสะเกษมาแล้วทำให้รู้สึกว่า จังหวัดนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนทุกเพศ 

“ในชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจังหวัดศรีสะเกษจะมีม็อบนักเรียนนักศึกษา นับว่าเป็นความหวังของระบบประชาธิปไตยในไทยเลยก็ว่าได้” พรชัย มณีนิล ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จ.ศรีสะเกษ

“นักเรียน-นักศึกษา” ความหวังของประชาธิปไตยไทย 

พรชัย มณีนิล ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนวัย 64 เป็นผู้ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมาแล้วนาน นับตั้งแต่การต่อสุ้ร่วมกับคอมมิวนิสต์ การเข้าร่วมในเหตุการณ์พฤษภาฯ ปี 2535 และการร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงปี 2553 มองปรากฏการณ์นี้ด้วยความชื่นชมและมีความหวังในฐานะไม้ใกล้ฝั่ง 

เขาบอกอีกว่า การตื่นตัวทางการเมืองครั้งนี้แตกต่างจากที่เป็นมาไปอย่างสิ้นเชิง แม้การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงปี 2553 จะเป็นการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ของผู้เข้าร่วม แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีการจัดตั้งและระดมผู้คนเข้าร่วมการชุมนุม รวมทั้งมีแกนนำการชุมชุนที่ชัดเจน 

“การเกิดขึ้นของแสดงออกทางการเมืองในครั้งนี้ เป็นความตื่นรู้ทางการเมือง เยาวชนเขามีความคิด ความอ่านและกล้าพูดถึงต้นตอปัญหา ในชีวิตนี้ผมไม่เคยคิดว่าจังหวัดศรีสะเกษจะมีม็อบนักเรียน นักศึกษา ครั้งนับว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความหวังของระบบประชาธิปไตยในไทยเลยก็ว่าได้”พรชัย ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองมานานกล่าวด้วยความหวัง

image_pdfimage_print