ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง
“ฉันเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็เกษียณแล้ว ยังไม่รู้เลยใครจะมาแทนเลย”
(รักษาการ ผอ.โรงเรียนบ้านก่อเอ้ 18/6/63)
“ตอนแรกเขาบอกที่ศูนย์เรียนรวมมีครูภาษาอังกฤษ และครูภาษาญี่ปุ่น มาสอน ตอนหลังไม่มีแล้ว”
(ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านโนนใหญ่ 16/7/63)
“ผมคนอุบลฯ…ผมอยากเห็นลูกหลานของเรามีการศึกษาที่ดีขึ้น…ผมยินดีที่จะช่วยทุกอย่างในการควบรวม”
(ผอ.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเขต1จ.อุบลราชธานี 19/9/63)
“นักเรียนทั้ง 4โรงเรียนเราก็ถือว่า เป็นนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน คุณแม่บ้านก่อจะไม่มาก็ได้แต่เราก็สอนเหมือนกัน”
(ผอ.ศูนย์เรียนรวมบ้านยางน้อย 19/9/63)

เครดิตภาพ เว็บไซต์ประชาไท
เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน โครงการการสร้างต้นแบบการบริหารจัดการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก โครงการดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี ดร.จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหัวหน้าโครงการ วัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การลงไปสำรวจปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดอุบลราชธานีและเสนอแนวทางต้นแบบการบริหารจัดการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งออกมาเมื่อปี 2555 ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมกับทีมงานของโครงการเข้าไปสำรวจโรงเรียนขนาดเล็กใน อ.เขืองใน จังหวัดอุบลราชธานี สิ่งที่พบ คือ ด้วยการสนับสนุนจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานาว าเขต 1 มีพื้นเพเป็นคน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ได้ให้การสนับสนุนจัดตั้งโรงเรียนบ้านยางน้อย เป็นศูนย์การเรียนรวมเพื่อยกระดับการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่เมื่อ พ.ศ.2555 คณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีการอนุมัติโครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนคุณธรรมนำวิชาการเฉลิมพระเกียรติ โดยจัดตั้งโรงเรียนบ้านยางน้อยให้เป็นศูนย์เรียนรวมสมเด็จพระมหาธีราจารย์โรงเรียนบ้านยางน้อย (พรมพิทยา) เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่เขตการศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1
การจัดตั้งศูนย์การเรียนรวมนั้น ได้เคลื่อนย้ายครูและนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็ก 11 โรงเรียนในอำเภอเขื่องใน มาเรียนรวมกันที่ศูนย์เรียนรวมบ้านยางน้อย (พรมพิทยา) เมื่อปี 2558 มีโรงเรียนมาเรียนรวม 9 โรงเรียน ระหว่าง พ.ศ.2559 – 2560 มีโรงเรียนที่ส่งนักเรียนและครูมาที่ศูนย์เรียนรวม 5 โรงเรียน สุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2563 ศูนย์เรียนรวมมีโรงเรียนที่เข้าร่วม 4โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านยางน้อย (ศูนย์เรียนรวม) โรงเรียนบ้านก่อ โรงเรียนบ้านโนนใหญ่ และ โรงเรียนท่าวารี โดยที่นักเรียนและครูจะจัดการเรียนการสอนที่ศูนย์เรียนรวม 4วัน คือ วันจันทร์ – วันพฤหัสบดี และกลับไปเรียนที่โรงเรียนของตนเอง 1วัน คือ วันศุกร์
เมื่อทีมผู้จัดทำโครงการลงไปสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียน พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ และจัดกิจกรรมคืนองค์ความรู้กับผู้บริหารและกรรมโรงเรียนที่เข้าร่วม ที่โรงแรมทอแสง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน2563 สิ่งที่พบ คือ การเกิดขึ้นของศูนย์การเรียนรวมดังกล่าวยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขและสะท้อนถึงสภาพ คุณภาพ และปัญหาของระบบการศึกษาไทยอย่างมาก ดังนี้
ประการที่ 1 บุคคลากรและคุณภาพของครูไม่เพียงพอ แม้จะมีการย้ายครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมกับศูนย์การเรียนให้มาสอนด้วยกัน แต่สิ่งที่พบ คือ ครูยังไม่เพียงพอโดยเฉพาะครูชาวต่างประเทศ ตอนแรกที่มีการตั้งศูนย์การเรียนรวมมีเงินสนับสนุนจากทางเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ในการจ้างครูชาวต่างชาติ ทั้งครูภาษาอังกฤษและครูชาวญี่ปุ่น แต่ภายหลังทางศูนย์ไม่ได้รับเงินสนับสนุนทำให้ไม่มีเงินจ้างครูชาวต่างชาติ

ห้องเรียนของนักเรียนรวมจากโรงเรียนขนาดเล็ก เครดิตภาพ ปฐวี โชติอนันต์
นักเรียนต้องมาเรียนรวมที่ศูนย์การเรียนรวม 3 – 4วัน และกลับไปที่โรงเรียน 1 – 2 วันเพื่อเรียนที่โรงเรียนเดิม เมื่อกลับไปที่โรงเรียนตนเอง ครูมีจำนวนเพียง 1 – 2 คน ทำให้ไม่สามารถจัดการสอนได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่พบคือ ในวันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์จะมีการปรับกิจกรรมจากการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนมาเป็นให้นักเรียนช่วยกันทำความสะอาดโรงเรียน ทั้งๆ ที่โรงเรียนของตนเปิดให้มีการเรียนการสอนเพียงแค่ 1-2 วันเท่านั้น ที่เหลือต้องไปเรียนเรียนที่ศูนย์เรียนรวม
บางโรงเรียน อย่าง โรงเรียนบ้านก่อ มีครูที่เป็นข้าราชการทำหน้าที่สอนและรักษาการผู้อำนวยการ ซึ่งจะเกษียณอายุในเดือนกันยายน 2563 นี้ แต่ทางคณะกรรมศึกษาธิการจังหวัดยังไม่แต่งตั้งครูมารักษาการแทนหรือดำเนินนโยบายที่แน่ชัดว่า จะทำอย่างไรต่อไป ถ้าปล่อยให้ครูคนนี้เกษียณไปและไม่มีครูถูกส่งมาดูนักเรียนแทน ใครจะดูแลนักเรียนที่ต้องกลับมาเรียนที่โรงเรียน หรือ บางวันถ้าครูลาหรือติดราชการเมื่อนักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนก็จะไม่มีใครสอน
อย่างไรก็ตามมีบางโรงเรียนที่เคยเข้าร่วมกับศูนย์การเรียนรวม เมื่อพบปัญหาดังกล่าวในเรื่องบุคคลากรได้มีการถอนตัวออกไปเพื่อจัดการศึกษาที่โรงเรียนของตนเอง อย่างเช่น โรงเรียนบ้านพับ แม้โรงเรียนแห่งนี้จะมีปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรครูในการจัดการเรียนการสอน แต่สิ่งที่ชาวบ้านในชุมชนร่วมกันแก้ปัญหา คือ การจัดทำผ้าป่าสามัคคีเพื่อระดมทุนจากคนในหมู่บ้านและผู้ใจบุญจากที่ต่างๆ มาจ้างครูอัตราจ้างเพื่อมาสอนนักเรียนในโรงเรียน
ในส่วนของครูอัตราจ้างก็มีปัญหาตามมาอีก คือ คุณสมบัติของครู เนื่องจากกระทรวงศึกษาเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีสามารถสอบครูผู้ช่วย ซึ่งบรรจุเป็นข้าราชการได้ แต่ต้องมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 1 ปี สิ่งที่พบและถูกตั้งคำถามคือ ครูที่จ้างมามีความสามารถเพียงใด หรือ เป็นเด็กฝากใคร
ประการที่ 2 ปัญหาเรื่องของการบริหารจัดการเงิน ในแต่ละเทอมโรงเรียนขนาดเล็กจะได้รับการจัดสรรเงินตามจำนวนนักเรียนคนละประมาณ 1,800 บาท แต่เมื่อต้องมาที่โรงเรียนรวมแต่ละโรงเรียนต้องส่งเงินให้กับทางศูนย์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง คือ ค่าน้ำ ค่าไฟ และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนคนละ 300 บาท ส่วนเงินที่เหลือนั้นจะเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์การศึกษา เสื้อผ้า สมุดหนังสือและค่าอาหารกลางวันให้กับนักเรียน

กิจกรรมนักเรียนค้านยุบโรงเรียนขนาดเล็กด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2559 ภาพจากเว็บไซต์ประชาไท
ปัญหาที่ตามมา คือ เงินที่เหลือนั้น แต่ละโรงเรียนจะเป็นผู้จัดการ บางโรงเรียนต้องนำไปดูแลโรงเรียนเดิมของตน เช่น การซ่อมแซม การจ้างภารโรง ให้ดูแลโรงเรียน เป็นต้น ทั้งที่มาเรียนที่โรงเรียนตนเองเพียง 1-2 วัน หรือ ต้องนำมาจ้างรถรับส่งนักเรียนให้มาเรียนที่ศูนย์การเรียนรวม อย่าง โรงเรียนบ้านยางน้อยที่เป็นโรงเรียนศูนย์ ทางโรงเรียนจะไม่ได้รับจัดสรรเงินค่ารถรับส่งนักเรียนเหมือนโรงเรียนอื่นๆ ทำให้ต้องควักเงินของตนเองในการรับส่งนักเรียน
เมื่อแต่ละโรงเรียนมีอิสระในการจัดสรรเงิน สิ่งที่ตามมาอีก คือ อาหารกลางวันของนักเรียนไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่มาเรียนที่ศูนย์เรียนรวมเหมือนกัน เพราะแต่ละโรงเรียนต้องจัดอาหารมาให้นักเรียนของตนเอง ค่าหัวอาหารของนักเรียนตกที่วันละประมาณ 15-20 บาท รวมอาหารคาวและอาหารหวาน เมื่อแต่ละโรงเรียนต้องทำอาหารให้นักเรียนของตน ต้นทุนที่ทำก็สูงขึ้นมากกว่าที่จะมาทำร่วมกันและแบ่งแจกจ่ายกันทั้ง 4 โรงเรียน
นอกจากนี้การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การเรียนของโรงเรียนแต่ละแห่งสามารถสั่งซื้อไว้โรงเรียนของตนได้ แต่ไม่สามารถซื้อมาให้ใช้ร่วมกันที่ศูนย์เรียนรวมได้ เพราะติดระเบียบราชการ
โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลได้ตัดงบในการสนับสนุนทางด้านการศึกษาลงเพื่อนำไปใช้จ่ายในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กยิ่งขัดสนในเรื่องการใช้จ่ายเงินในการดูและนักเรียนและโรงเรียนของตน
ประการที่ 3 ปัญหาเรื่องความเป็นหนึ่งเดียว เมื่อแต่ละโรงเรียนต้องส่งเด็กของตนมาเรียนร่วมกันที่ศูนย์เรียนรวม แต่เด็กนักเรียนเหล่านั้นยังคงยึดติดกับชื่อและโรงเรียนเดิมของตน ทั้งจากเสื้อผ้าที่ต่างกัน อาหารการกินที่ต่าง ผลที่ตามมา คือ เริ่มมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ทะเลาะกันระหว่างโรงเรียน บางคนโดนเพื่อนโรงเรียนอื่นขโมยของ
ประการที่ 4 การขาดการทำความเข้าใจกับชุมชน เมื่อทางทีมผู้จัดโครงการได้ลงไปพูดคุยเกี่ยวกับการส่งนักเรียนของในชุมชนไปเรียนที่ศูนย์เรียนรวมพบว่า ชุมชนคิดว่าการส่งเด็กไปเรียนนั้นจะทำให้โรงเรียนต้องถูกยุบ ชุมชนไม่อยากให้โรงเรียนโดนยุบ เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ก่อตั้งมานานเกือบ 70-80 ปี พ่อแม่ ปู่ย่าตายายของคนในชุมชนเคยเรียนในโรงเรียนเหล่านี้จึงไม่อยากให้โรงเรียนล้าง ผลที่ตามมา คือ นักเรียนที่ถูกส่งไปเรียนที่ศูนย์เรียนรวมนั้นต้องกลับมาเรียนที่โรงเรียนตนเองเพื่อไม่ให้โรงเรียนล้าง
เมื่อพูดคุยกับคนในชุมชนเรื่องการยุบโรงเรียน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยาต่อต้านทันทีว่า ไม่ต้องการ เพราะตามกฎหมายการจะยุบโรงเรียนได้นั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชน แต่เมื่อลองการพูดคุยว่า ตัวโรงเรียนไม่ได้หายไปไหน แต่จะถูกเปลี่ยนไปทำประโยชน์อื่นๆ โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจ และนักเรียนที่ไปเรียนที่โรงเรียนรวมนั้นจะได้รับการศึกษาที่พร้อมมากขึ้น ท่าทีที่ต่อต้านในตอนต้นเริ่มที่จะลดลง เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครบอกพวกเขาว่า จะเอาโรงเรียนเขาไปทำอะไร เขาไม่อยากให้ตัวโรงเรียนหายไป และที่สำคัญ คือ ในใจเขาอยากให้ลูกหลานมีการศึกษาที่ดี
ประการที่ 5 นักเรียนออกจากชุมชนไปเรียนที่อื่น การเกิดขึ้นของศูนย์การเรียนรวมนั้นเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว เพราะมีแรงผลักดันจากทางผู้ใหญ่ของสังคม แต่สิ่งที่พบ คือ การนำโรงเรียนแต่ละโรงเรียนมารวมกันนั้นไม่ได้ดูบริบทของแต่ละโรงเรียน เนื่องจาก ก่อนที่จะจัดตั้งศูนย์เรียนรวม โรงเรียนทั้ง 3 แห่ง เช่น ร.ร.บ้านก่อ ร.ร.บ้านโนนใหญ่ ร.ร.บ้านท่าวารี มีเด็กจำนวนเกิน 120 คน ขาดเพียงครูบางสาขา แต่พอนำไปเรียนรวม เด็กที่มาสมัครเข้าเรียนเริ่มลดลง เนื่องจากชาวบ้านอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน แต่พอต้องไปเรียนรวมมันไกลขึ้น บางทีไปแล้วก็พบปัญหา ชาวบ้านบางส่วนจึงตัดสินใจส่งลูกไปเรียนโรงเรียนในอำเภอ หรือ โรงเรียนในเมืองอุบลฯ ที่มีโรงเรียนดีกว่า ทำให้ภายหลังนักเรียนแต่ละโรงเรียนเริ่มลดลง พอนักเรียนลดลงเงินที่ได้รายหัวลดลง กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่สามารถส่งครูมาเพิ่มได้ เพราะมีนักเรียนไม่ถึง 120 คน
ประการที่ 6 นโยบายของรัฐในเรื่องการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กมีลักษณะ Top Down กล่าวคือ นโยบายที่เกิดขึ้นนั้นออกมาเป็นนโยบายในภาพกว้าง แต่ไม่ดูความเป็นจริงในพื้นที่ เพราะพื้นที่แต่ละชุมชนมีความเข้มแข็งที่ต่างกัน บางโรงเรียนสามารถที่จะอยู่รอดได้ แต่เมื่อมีนโยบายของรัฐลงมาว่า “ต้องการยุบโรงเรียน” ทางรอดของโรงเรียนเพื่อไม่ให้ถูกยุบ คือ การเข้าไปเรียนร่วมกับศูนย์เรียนรวม
เมื่อเข้าไปเรียนร่วมแล้วเมื่อพบปัญหาก็ต่างพากันทยอยออกมาจัดการเรียนการสอนของตนเอง หรือยังคงอยู่ ผลที่ตามมา คือ สภาพปัจจุบัน บางโรงเรียนต้องหาทางดิ้นรนเพื่ออยู่รอดจากการช่วยเหลือของคนในชุมชน หรือ บางโรงเรียนรอที่จะถูกยุบไปโดยปริยายเพราะนักเรียนน้อยลงและจะไม่มีครูมาสอน แต่สิ่งที่รัฐอาจจะคำนึงน้อยกว่าการยุบโรงเรียน หรือ การนำนักเรียนไปเรียนรวมคือ คุณภาพการศึกษาที่นักเรียนจะได้ในช่วงการดำเนินการยุบโรงเรียน
ประการที่ 7 โรงเรียนอยู่ในท้องถิ่นแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ แม้ภายหลังการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่มีการส่งเสริมการกระจายอำนาจและการส่งเสริมการถ่ายโอนโรงเรียนของรัฐให้ไปอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ทำได้ยาก เพราะครูที่เป็นข้าราชการที่สอนอยู่ในโรงเรียนไม่ยอมที่จะย้ายตามเนื่องจาก กลัวเสียผลประโยชน์ในเรื่องของสวัสดิการที่จะได้ ยิ่งไปกว่านั้นก็มีกฎระเบียบที่มากมายในเชิงเทคนิคทางด้านกฎหมายที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือชาวบ้านในการนำเสนอเรื่องการถ่ายโอนโรงเรียน
ประการสุดท้าย ในจังหวัดอุบลราชธานี องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับใหญ่ที่สุด คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดถูกมาตรา 44 จาก หัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ออกจากตำแหน่ง
เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กต้องการดิ้นรนเพื่อที่จะไปขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่อยู่ในความรับผิดชอบของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ซึ่งมีขาดเล็กและมีงบประมาณที่น้อยกว่า อบจ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ก็ไม่สามารถแบกรับภาระที่ดูแลได้ ส่วนจะไปขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดก็เป็นไปได้ยาก เพราะผู้นำเป็นข้าราชการที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งนี้เห็นแต่เพียงต้องรอให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ เลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อที่จะได้มีนักการเมืองที่มาลงสมัครได้เห็นปัญหาของพวกเขาและผลักดันให้เกิดการถ่ายโอนจากโรงเรียนที่สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะไม่ให้โรงเรียนถูกยุบหายไปจากชุมชน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็น สถานะ ข้อจำกัด และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้ถึงนโยบายและปัญหาการจัดระบบการศึกษาของรัฐไทยที่รวมศูนย์อำนาจ การเมืองที่เป็นเผด็จการไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้คนในท้องถิ่นสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่า อยากให้การศึกษาของบุตรหลานของพวกเขาเป็นไปในทิศทางใด นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กจึงมีสภาพเหมือนถูกจับเป็นตัวประกันระหว่างรัฐกับชุมชนในช่วงการเปลี่ยนผ่านในการบริหารจัดการโรงเรียนในประเทศไทยโดยที่ไม่ได้ดูว่าคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนจะได้นั้นเป็นอย่างไร
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด