ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เรื่อง 

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของเยาวชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนมากจะเห็นบทบาทนำจากนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่าง กลุ่มดาวดินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มคบเพลิงจากมหาวิทยาลับอุบลราชธานี โดยแทบไม่เห็นการเคลื่อนไหวจากนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ เลย 

ทว่าการดำเนินคดีกับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏในจังหวัดอุดรธานี และการถูกกดทับจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยด้วยการไม่อนุญาตให้นักศึกษาใช้พื้นที่จัดการชุมนุม ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการชุมนุมในจังหวัดนั้น ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีก็ถูกลิดรอนสิทธิในการแสดงออกเช่นกัน

เท่ากับว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏในภูมิภาคบางคนมีบทบาทและมีส่วนเกี่ยวข้องในการชุมนุมในห้วงเวลานี้ 

ที่จังหวัดร้อยเอ็ด นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดบางคนได้จัดตั้งกลุ่มทางการเมือง แม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ตาม ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ คณบดีคนหนึ่งได้เปิดโอกาสให้มีพื้นที่สำหรับการเสวนาพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองส่วนในจังหวัดสุรินทร์และมหาสารคาม นักศึกษาที่อยากจะมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องเข้าร่วมการชุมนุมนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย

The Isaan Record ลงพื้นที่พูดคุยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเกือบทั่วภูมิภาคพบว่า นักศึกษาที่มีส่วนร่วมทางการเมืองมองว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระดับประเทศที่ต่อสู้เพื่อล้มล้างระบอบอำนาจนิยม แต่เนื่องจากนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนใหญ่ที่เรียนทางด้านครุศาสตร์ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า พวกเขาไม่เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏเท่านั้น แต่วิพากษ์การศึกษาทั้งระบบด้วย 

การเริ่มต้นการจัดกิจกรรมทางการเมืองใน ม.ราชภัฏร้อยเอ็ด

ปรากฏการณ์ “แฟลชม็อบ” ที่เป็นการรวมตัวในสถานที่หนึ่งอย่างฉับพลันเกิดขึ้นทั่วประเทศ เกิดขึ้นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งในอีสานไม่สามารถกันไม่ให้มีการชุมนุมในมหาวิทยาลัยได้

กลุ่มพลังนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เป็นกลุ่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มในมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด โดยมีผู้ก่อตั้ง คือ กชกร บัวล้ำล้ำ หรือ แก้ว และเพื่อนของเธอ คือ ซาร่าห์ (ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง) ทั้งคู่อายุเพียง 20 ปี เรียนคณะครุศาสตร์ และยังเคยก่อตั้งวงดนตรีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในชื่อว่า “สก๊อยปฏิวัติ”

ม.ราชภัฏร้อยเอ็ด ไม่ได้ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองเหมือนกับมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งอื่นๆ โดยจะอยู่ในเขตป่าและดูเหมือนว่า จะถูกตัดขาดจากพื้นที่รอบนอก กลุ่มพลังนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยจึงร่วมมือกับกลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกที่อยู่ในอำเภอเมือง แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยอยู่ห่างจากอำเภอเมืองถึง 35 กิโลเมตร กลุ่มพลังนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมชุมนุมในเมืองบ่อยครั้ง 

ทางกลุ่มฯ ได้รับการเยี่ยมเยียนจากนักกิจกรรมอย่าง ไผ่ ดาวดิน ส่วนแก้วที่เป็นผู้นำกลุ่มฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมที่จัดโดยอดีตพรรคอนาคตใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งเคยเป็นวิทยาลัยครู โดยแก้วและซาร่าห์บอกว่า คณะครุศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีความอนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่งและกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ดังนั้นสมาชิกของกลุ่มบางคนจึงถูกคุกคาม โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐไปพบพ่อและแม่ของซาร่าห์ที่จังหวัดใกล้เคียง เพื่อเตือนพวกเขาเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกสาว

นักศึกษาจัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อไว้อาลัยการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ภาพโดย กลุ่มพลังนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย

ม.ราชภัฎร้อยเอ็ด มีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งอื่น เพราะก่อตั้งใหม่ แก้วบอกว่า ที่นี่ไม่มีประวัติการชุมนุมทางการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยเลย เมื่อกลุ่มของเธอจัดกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ จึงถือว่า เป็นอะไรที่ใหม่และเป็นกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้

หลังจากที่จัดการชุมนุมเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ประการจากกลุ่มคณะราษฎร 2563 จำนวนสมาชิกของกลุ่มพลังนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยก็เพิ่มขึ้น ทว่ากลุ่มผู้ประท้วงกลับถูกอาจารย์ตำหนิและกล่าวหาว่า “เป็นพวกหัวรุนแรง”

แก้วอยากให้มหาวิทยาลัยพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยการ “จัดกิจกรรมที่ใช้ความรู้มากกว่าการจัดประกวดนางงามนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง” เธอคาดหวังว่า มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนเรื่องการจัดเวทีทางวิชาการที่เป็นพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกถึงความเชื่อทางการเมืองของตัวเอง

แก้ว กล่าวว่า ระบบการศึกษาของไทยมักจะสอนให้เด็กมีจิตสำนึกในการตอบแทนบุญคุณของครูบาอาจารย์จึงทำให้ครูมีอำนาจเหนือบุคคลอื่นๆ 

เธอตั้งความหวังว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันจะนำไปสู่การพิจารณาเกี่ยวกับกฎระเบียบที่จำกัด สิ่งที่นักเรียนศึกษาทำได้และทำไม่ได้ 

“การเคลื่อนไหวในปัจจุบันอาจกำจัดบรรทัดฐานทางสังคมที่ห้ามไม่ให้ครูแสดงความคิดเห็นทางการเมือง”

“หนูไม่ชอบบรรทัดฐานแบบนี้ เพราะคิดว่า มันส่งเสริมความไม่เท่าเทียมกัน” เธอกล่าว “ฉันวาดฝันไว้ว่าจะเห็นความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงในสังคม”

กลุ่มของเธอไม่หยุดแค่เพียงประเด็นใหญ่ๆ เท่านั้น แต่พวกเธอได้เริ่มศึกษาปัญหาในมหาวิทยาลัยที่ควรที่จะได้รับการแก้ไข 

สหัสวรรษ ใหม่คามิ  (ซ้าย) นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ม.ราชภัฏมหาสารคาม ถือป้ายหน้าสำนักงานอธิการบดีเพื่อเชิญชวนให้คนเข้าร่วมกิจกรรม “เวทีต้านเผด็จการ” ที่จัดขึ้นใน ม.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 เครดิตภาพ: กลุ่ม มรม.เสรีเพื่อประชาธิปไตย

ความลำบากของนักศึกษา ม.ราชภัฏมหาสารคาม

เมื่อเดือนกันยายน 2563 นักศึกษา ม.ราชภัฏมหาสารคาม ที่เป็นนักกิจกรรม ได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม “มรม. เสรีเพื่อประชาธิปไตย” เพื่อเป็นแนวร่วมกลุ่มคณะราษฎร 2563

กลุ่มนี้เริ่มต้นจากการถือป้ายเชิญชวนให้นักศึกษามารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นทางกลุ่มฯ ได้ร่วมเป็นแกนนำแนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย และเริ่มจัดกิจกรรมภายนอกมหาวิทยาลัย

สหัสวรรษ ใหม่คามิ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะครุศาสตร์ และสมาชิก มรม. เสรีเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กลุ่มของเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงเพื่อตนเองและพวกพ้อง แต่ต่อสู้เพื่อนักเรียนและนักศึกษารุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของชาติ

“ผมอยากจะเห็นสถาบันการศึกษาทุกแห่งมีความเป็นประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิที่จะพูด” สหัสวรรษกล่าวและว่า “สมัยก่อน นักศึกษา มรม. จะถูกกดขี่จากเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมากกว่าในปัจจุบัน โดยเจ้าหน้าที่มักมองว่านักศึกษาต้องถูกทำโทษหรือเชื่อฟังอาจารย์ นั่นเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ดังนั้นโครงสร้างอำนาจนิยมควรจะต้องลดลง และห้องเรียนและโรงเรียนควรจะต้องมีความเป็นประชาธิปไตย”

“พวกเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม” เขากล่าวและว่า “ครูมีบทบาทที่สำคัญในสังคมไทยและสามารถที่จะขับเคลื่อนความเป็นประชาธิปไตยของสังคม”

“เพราะที่ผ่านมาประชาธิปไตยสำหรับนักเรียนถูกจำกัดเพียงแค่การเลือกตัวแทนในชั้นเรียน แต่ครูสามารถทำได้มากกว่านั้น โดยครูถูกมองว่า เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับเด็กและผู้คน ดังนั้นครูจึงเป็นคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสมที่จะสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยด้วยการสอนเด็กให้มีความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพ” นักศึกษาคณะครุศาสตร์ กล่าว 

สหัสวรรษ กล่าวอีกว่า การศึกษาจะช่วยกำหนดว่า สังคมไทยจะไปในทิศทางไหน หากทุกคนมีความรู้ความสามารถ มีการศึกษา และมีความเข้าใจพื้นฐานที่ตรงกันในเรื่องประชาธิปไตย จึงเป็นไม่ได้ที่กองทัพจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เราอยากเห็นสังคมที่ไม่ยอมรับการรัฐประหารและระบอบอำนาจนิยม

เขาสรุปว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรใช้อำนาจทางโครงสร้างเพื่อยับยั้งกระบวนการประชาธิปไตย โดยกองทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง

นักศึกษา ม.ราชภัฏแห่งอื่นๆ จัดกิจกรรมนอกสถานที่

นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่อื่นๆ ไม่สามารถจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยได้มากนัก พวกเขาจึงร่วมการชุมนุมนอกสถานที่

สาวิตรี (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) นักศึกษาจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เป็นนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศจากกลุ่มเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคอนาคตใหม่และวาดหวังกับพรรคการเมืองดังกล่าว เยาวชนกลุ่มนี้ตกใจและเศร้าใจเมื่อทราบข่าวการถูกยุบพรรค

“ฉันเริ่มมีความหวังหลังจากที่ได้ยินนโยบายต่างๆ ของพรรคอนาคตใหม่ ก็เลยชอบพรรคนี้ แม้ว่าจะได้คะแนนเสียงหนึ่งล้านเสียง พวกเขาไม่เพียงแค่แพ้ แต่ยังถูกยุบอีก ฉันคิดว่า รัฐบาลได้ทำลายความหวังและความฝันของฉันลงไปหมดเลย ทุกอย่างพังทลายหมด”เธอกล่าวด้วยความสิ้นหวัง

สาวิตรี กล่าวว่า หลังจากนั้นทำให้รู้สึกว่า มันยากที่จะฝันต่อไป และบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “มองไม่เห็นอนาคต พอนึกฝันถึงอนาคตที่ดีขึ้นของตัวเองก็รู้สึกว่า ความฝันและอนาคตเหล่านั้นมันริบหรี่ลง”

สาวิตรี (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) นักศึกษาจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และนักกิจกรรมกลุ่มเยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตย

ทว่าสาวิตรีก็เริ่มมีความหวังกลับมาอีกครั้งจากการเติบโตของการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน

“ฉันอยากจะสร้างสังคมไทยแบบใหม่ที่ไม่อิงกับขนบเดิมๆ” สาวิตรีกล่าว “ประเทศของเราควรจะพัฒนาถึงระดับที่ได้มาตรฐานนานาชาติ โดยเฉพาะระบบการศึกษา ไม่ควรจะถูกดึงกลับไปเป็นแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม”

สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดอนุรักษ์นิยม คือ ความเป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกาย สีผม และทรงผมของนักเรียน

ประเด็นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสาวิตรี ในฐานะที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ เขาถูกกลั่นแกล้งและลงโทษจากครูอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตัว แม้สาวิตรีจะเกิดเป็นเพศหญิง แต่มีเพศสภาพเป็นชาย เขาจึงเลือกที่จะใส่รองเท้าผ้าใบกับชุดนักเรียนหญิงและไว้ผมสั้น

ประสบการณ์ที่ย่ำแย่ของสาวิตรีถูกส่งทอดไปยังรั้วมหาวิทยาลัยและได้ผลักดันให้เขาต้องการเป็นครูเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่ล้าสมัย

ระบบการศึกษาต้องถูกปฏิรูป

พีร์นิธิ สิริคุณากรรจน์ นักศึกษาครุศาสตร์ ผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เพราะได้รับการยอมรับในความหลากหลายทางเพศและความคิดเห็นทางการเมือง แต่กิจกรรมทางการเมืองของเขาก็ยังเกิดขึ้นภายนอกมหาวิทยาลัย

พีร์นิธิ กล่าวว่า เริ่มสนใจการเมืองเมื่อพรรคอนาคตใหม่ผลักดันพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (และถูกผลักดันต่อโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคร่างใหม่ของพรรคอนาคตใหม่) ซึ่งเป็นปัจจัยให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม “เผด็จการเป็นเหตุ ศรีสะเกษจะไม่ทน” และเข้าร่วมการชุมนุมอีกคร้ังหลังจากรัฐบาลใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ 

พีร์นิธิ สิริคุณากรรจน์ นักศึกษาครุศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และสมาชิกกลุ่มเผด็จการเป็นเหตุศรีสะเกษจะไม่ทน

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขากลายเป็นนักวิจารณ์รัฐบาลตัวยง เขาโทษนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า เป็นคนที่ “ทำให้ทุกอย่างพัง” โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ “คนรากหญ้า”

“คุณทำให้ทุกอย่างราคาแพงขึ้น คุณทำให้คนใช้ชีวิตลำบากขึ้น คนที่ต้องอยู่อย่างปากกัดตีนถีบต้องลำบากขึ้นในการทำมาหากิน” เขากล่าวถึงนายกรัฐมนตรี

“คุณไม่มีศักยภาพที่จะบริหารประเทศ คุณควรออกไปได้แล้ว คุณอาจจะเหมาะกับบทบาทในกองทัพ แต่คุณไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำประเทศ” พีร์นิธิ กล่าว 

มหาลัยฯ แห่งอนุรักษ์นิยม 

มหาวิทยาลัยราชภัฏมีอยู่ใน 11 จังหวัด จากทั้งหมด 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้รับการยอมรับน้อยกว่ามหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุใดก็ตาม แต่นั่นทำให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีความเข้มงวดกับนักศึกษามากกว่า มีความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมมากกว่าและยอมรับในความหลากหลายน้อยกว่ามหาวิทยาลัยแห่งอื่น

แม้ว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏประสบความสำเร็จในการยับยั้งการชุมนุมทางการเมืองได้ ส่วนตำรวจก็สามารถข่มขู่คุกคามนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏที่เข้าร่วมการชุมนุมได้ 

แต่ก็ยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคอีสานบางแห่งที่เปิดกว้าง อย่าง ศรีสะเกษ หรือเปิดกว้างแบบจำใจอย่างที่จังหวัดร้อยเอ็ด

ในภาพรวม นักศึกษาที่เรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏมักมาจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง และภูมิหลังของพวกเขาผลักดันให้นักศึกษาสนใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลกังวลว่า จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคมไทย ดังนั้นรัฐบาลอาจมีความพยายามในการยับยั้งการเคลื่อนไหวของนักศึกษาใน ม.ราชภัฏมากขึ้น 

โปรดติดตามสารคดีเชิงข่าวชิ้นถัดไปที่ลงลึกถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในจังหวัดสกลนครที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักศึกษาราชภัฎ ถ้าได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์

image_pdfimage_print