วิทยากร โสวัตร เรื่อง

อาจเพราะเราเป็นไพร่ เป็นฝุ่นใต้ตีน การเกิด ความเป็นอยู่และความตายของเราจึงไม่เคยถูกนับว่า มีคุณค่าอะไร ไม่ว่าความเป็นไปเหล่านี้จะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของชาติอย่างไรก็ตาม หรือแม้แต่ถูกฆ่าโดยรัฐก็ไม่เคยได้รับความยุติธรรมทำราวกับว่า พวกเราไม่ใช่คน 

กล่าวเฉพาะคนอีสาน – ไม่ว่าจะเป็นกรณีขบวนการผู้มีบุญหรือขบถผีบุญ ในสมัยรัชกาลที่ 5 การเกณฑ์คนอีสานไปสร้างเมืองหลวงใหม่ (เพชรบูรณ์) ในสมัยจอมพล ป. ซึ่งทำให้คนอีสานตายไปเป็นเบือ ถึงขนาดมีคำพูดติดปากคนรุ่นนั้นและรุ่นต่อมาว่า เมืองเพชรบูรณ์ไปแล้วบ่ได้กลับ หรือแม้แต่บนสมรภูมิภูพานที่สร้างความหวาดกลัวกันมากถึงขั้นบอกต่อๆ กันมาว่า ไปภูพานได้คืนมาแต่กระดูกในหม้อ และอีกการตายครั้งใหญ่ คือ การล้อมฆ่าคนเสื้อแดงกลางเมืองหลวงในเมษาฯ – พฤษภาฯ เลือดปี ‘53

และที่สำคัญความเป็นความตายเหล่านี้ไม่เคยถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของรัฐราชาชาตินิยมไทย หรือถ้ามีการเขียนถึงก็ไม่ถูกนับอย่างเป็นทางการ และนั่นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเรา – เหล่าสามัญชน คนที่จะไม่ยอมเป็นทาสอีกต่อไป นี่เป็นพันธกิจที่พวกเราต้องรวบรวมเอกสาร ค้นคว้า บันทึกและเขียนถึง

ระหว่างที่ผมตรวจแก้ (Edit) นิยายเกี่ยวกับการตายของแม่และการล่มพังลงของพระธาตุพนม ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การตายของจิตวิญญาณคนอีสาน ควบคู่ไปกับการเขียนชุดเรื่องสั้นที่สะท้อนประวัติศาสตร์อีสานด้านที่เกี่ยวกับรูปธรรมสังคมการเมืองผ่านความตายของคนอีสานที่มีตัวตนจริงๆ งานทั้งสองเล่มชี้สะท้อนถึงการถูกกระทำโดยรัฐสยาม/ไทย ผมพบฟุตโน้ตสั้นๆ ถึงตัวละครคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านที่เคยถูกเกณฑ์ไปสร้างเมืองหลวงใหม่ (เพชรบูรณ์) และรอดชีวิตกลับมา  

ข้อมูลชีวิตของเขาที่ผมได้รับรู้มาจากคำบอกเล่าของแม่และและผู้เฒ่าบางคนในหมู่บ้านตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นเด็กว่า เขาถูกเกณฑ์ไปในรูปแบบที่เจ้าหน้าที่รัฐรับสินบนจากคนอื่นแล้วต้องหาคนไปแทน เลยมาขู่เข็ญเขา พอเขาไม่มีเงินจ่ายก็จับไปทั้งที่เขามีเมียและมีลูกน้อย 

ตอนที่ผมเขียนนิยายเรื่องนี้ ผมเขียนตามเรื่องเล่าของแม่ที่ผมเคยฟังและบันทึกไว้โดยตรวจสอบและค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือ เอกสารต่างๆ ระหว่างค้นคว้าผมพบว่าหนังสือวิชาการที่ดีๆ เป็นที่ยอมรับหลายเล่มค่อนข้างแห้งแล้ง และเป็น “เสียง” จากภายนอก 

นั่นทำให้ผมต้องหาข้อมูลเพิ่ม ด้วยการวกกลับมาสู่เอกสารนอกกระแสตามวัดตามวาตามหนังสืองานศพหนังสืออนุสรณ์ต่างๆ และคำบอกเล่า กระทั่งไปเจอเอกสารเก่าชิ้นหนึ่ง เป็นบันทึกบทความของพระราชวีรมุนี (สีหนาทภิกขุ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดเลย ไม่ระบุปีที่ตีพิมพ์

ส่วนหนึ่งของหนังสือ “พุทธปรัชญา” ว่าด้วยเรื่องการขบถของคนอีสาน

“(๑) ในสมัยที่เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เขมจารี มหาเถระ) มรณภาพแล้ว ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถระ) เป็นเจ้าอาวาส (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์) ข้าพเจ้าได้เดินทางไปจังหวัดมหาสารคาม เพื่อเยี่ยมเยียนศิษย์คนหนึ่งชื่อว่า พระมหาสงบ เขมรโต ซึ่งเป็นชาวบ้านหนองดอกแป้น อำเภอยางตลาด สมัยนั้นรวมอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม (สมัยนี้ขึ้นอยู่กับจังหวัดกาฬสินธุ์-ผู้เขียน

“(๒) จำได้ว่าจะเป็นปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ยังอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒…ได้ไปเห็นความไม่ดีของข้าราชการบางคนในจังหวัดมหาสารคามสมัยนั้น โดยเฉพาะอำเภอยางตลาดและโดยเฉพาะส่วนมากเป็นข้าราชการตำรวจ ได้เที่ยวหาจับคนไปทำงานที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยรัฐบาลสมัยนั้นให้เกณฑ์คนไปทำงานเพื่อสร้างเมืองหลวงที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ที่ทำงานนั้นมีไข้มาลาเรียชุกชุม คนตายเพราะพิษไข้เสียมากต่อมาก คนจึงกลัวและไม่อยากไป พอถูกจับก็ยอมเสียเงินค่าตัวให้ไป จึงทำให้ตำรวจออกจับคนมากขึ้น ส่วนประชาชนนั้นถูกจับแล้วถูกจับอีก กลัวข้าราชการ ไม่กล้าอยู่บ้าน ต้องหนีเข้าป่าเพราะกลัวถูกจับ  

“(๓) เมื่อไปเห็นเข้าก็ทนไม่ได้จึงทำการป้องกันให้ ได้เขียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดดูเหมือนว่า ขุนไมตรีประชารักษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามสมัยนั้น โดยเล่าพฤติกรรมทั้งหมดให้ทราบและบอกให้งดจับประชาชนในทันที งานที่จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นหน้าที่ของจังหวัดมหาสารคาม อาตมารับทำให้เรียบร้อย และเล่าถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกรังแก และพูดย้ำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะดูแล เพราะมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน น่าจะถือว่า เป็นเจ้าของประชาชน

“(๔) และได้เล่านิทานเปรียบเทียบให้ฟังว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเศรษฐีเลี้ยงเสือในนิทาน ส่วนประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคามได้แก่เสือที่เศรษฐีเลี้ยง ข้าราชการคือคนใช้ที่เศรษฐีใช้ให้เลี้ยงเสือ เศรษฐีจ่ายเงินบาทหนึ่งให้ซื้อเนื้อเลี้ยงเสือ คนเลี้ยงเบียดบังเอาเสียสลึงหนึ่ง เสือกินไม่อิ่มและไม่อ้วน เศรษฐีสงสัยได้ส่งผู้ควบคุมเพิ่มเข้าไปอีกคนหนึ่ง ผู้นี้เข้าไปเอาเสียอีกสลึงหนึ่ง เสือยิ่งผอมลง เศรษฐีก็ส่งคนควบคุมเพิ่มเข้าไปอีกทีละคน จนครบ ๔ คน เงินก็ถูกเบียดบังเอาไปคนละสลึงก็หมดทั้งบาท เสือก็อดตายเพราะไม่มีเงินซื้อเนื้อให้กิน

“(๕) ด้วยบุญกรรมที่ได้ทำตามที่เล่ามานี้  เป็นผลให้ผู้มีอำนาจสมัยนั้นมองไปในแง่อกุศล จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งข้อหาว่าขัดอำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นกบฏภายใน สั่งจับ สมเด็จมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺสมหาเถระ) สังฆนายก สั่งสึกทันที จึงได้หลบหลีกมรสุมการเมืองเข้ากรุงเทพได้อย่างปลอดภัย โดยส่งจดหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบว่า ไม่ได้หนีไปไหน แต่จำเป็นต้องเดินทางไปวัดมหาธาตุต้นสังกัดเท่านั้น

“(๖) แต่โชคยังเข้าด้วยผู้ไม่มีความผิด รัฐสภาไม่รับหลักการพุทธมณฑลสระบุรี รัฐบาลคณะจอมพลแปลกจึงต้องลาออก ทำให้โทษการเมืองส่วนตัวของข้าพเจ้าลดลงถึงครึ่งหนึ่งก็ว่าได้  เพราะพรรคฝ่ายค้านที่จะเป็นรัฐบาลต่อไป ต่างก็เห็นใจข้าพเจ้าทั้งนั้น

“(๗) ฉะนั้นเมื่อตำรวจไปขอตัวจากเจ้าอาวาส แจ้งว่าสังฆนายกสั่งสึกพระมหาชำนิแล้ว  จะมารับตัวไปสอบสวนก็ได้รับคำตอบจากเจ้าอาวาส คือ หลวงพ่อเจ้าคุณพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถระ)ว่า ผู้จะสั่งสึกพระวัดมหาธาตุนั้น ทำได้เฉพาะเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุเท่านั้น สมเด็จสังฆนายกเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุเมื่อไร จึงมาสั่งสึกพระวัดมหาธาตุได้ เรื่องจึงจบกันเพียงเท่านี้”

เมื่อผมได้อ่านบทความนี้ประกอบกับที่เคยอ่านหนังสือและบทความต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักการเมืองอีสานและสังคมการเมืองไทยที่เกี่ยวกับอีสาน ซึ่งเห็นว่ามันสอดรับกัน เช่น ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1อุบลราชธานี  200 ปี เป็นต้น ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าของแม่เกี่ยวกับพ่อใหญ่สีหาคนที่เคยถูกเกณฑ์ (อย่างไม่ยุติธรรม) ไปเป็นแรงงานสร้างเมืองหลวงใหม่และรอดชีวิตกลับมา ตั้งใจจะกลับไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลและรายละเอียดไว้ แต่แล้วก็เหมือนอย่างที่ผมเขียนฟุตโน้ตไว้

“ระหว่างที่ผมเขียนเรื่องนี้ในตอนท้ายๆ ผมมีโอกาสกลับบ้านที่ จ.กาฬสินธุ์ ช่วงสงกรานต์ปี 2553 และก็ได้ข่าวว่า พ่อใหญ่สีหาได้จากโลกนี้ไปแล้วเมื่อปีกลาย  นั่นหมายความว่าคำถามมากมายที่ผมอยากจะถามจากแกจริงๆ ก็สูญสิ้นไปด้วย ภาพที่ผมจำได้คือพ่อใหญ่สีหาเป็นคนแก่หูหนวกและเคยบวชเป็นเจ้าอาวาสอยู่ช่วงหนึ่ง”

เมื่อพบเหตุการณ์แบบนี้ ผมรู้สึกสะเทือนใจว่า คน (อีสาน) ที่เก็บงำความลับทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแบบนี้ตายไปทุกวันๆ พร้อมๆ กับที่รัฐไทยก็ทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของราษฎรลงไปทุกวันๆ มันน่าเสียดายที่เราไม่จดจาร ค้นคว้า และบันทึกเก็บไว้

และที่ผมใส่หมายเหตุเลขหน้า (๑) – (๗) ไว้นั้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นความมีเหตุและผลของบทความแม้จะนอกกระแสวิชาการนี้ซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับข้อมูล เอกสาร งานวิชาการที่เป็นที่ยอมรับได้อย่างลงตัวและที่สำคัญ คือ มันมีชีวิตมีเลือดมีเนื้อเพราะเป็นต้นทางของผู้อยู่ในเหตุการณ์เอง เป็น “เสียงที่แท้จริง” ของเขา 

ยกตัวอย่างเช่น หมายเหตุเลขหน้าที่ (๒) เรื่องที่ข้าราชการกดขี่ หาผลประโยชน์จากความทุกข์ยากของประชาชนนั้นมีอยู่จริงๆ และสอดคล้องกับเรื่องพ่อใหญ่สีหาที่แม่เล่าให้ฟังและตรงนี้ก็สามารถเติมเต็มส่วนที่หายไปในงานวิชาการส่วนใหญ่ในเรื่องนี้ได้

หมายเหตุเลขหน้าที่ (๓) จะสังเกตได้ว่าพระรูปนี้ “ยุ่งการเมือง” เพราะนึกถึงคุณธรรมความดีเป็นหลัก ถามว่าการยุ่งการเมืองของพระรูปนี้เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านนั้น ใครอ่านบันทึกนี้แล้วรู้สึกว่าท่านทำไม่ถูกหรือไม่เหมาะสมหรือไม่? นี่ก็สามารถโยงไปถึงสิ่งที่สามเณรไปช่วยป้องเยาวชน นักศึกษา ที่จะถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมด้วยกำลัง

หมายเหตุเลขหน้าที่ (๕), (๗) อันนี้ชัดเลยว่า สมัยนั้นองค์กรสงฆ์มีรัฐธรรมนูญสงฆ์คือ พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นประชาธิปไตย สอดคล้องกับการปกครองของคณะราษฎร มีการบริการแบบสภาสงฆ์หรือสังฆสภา สมเด็จพระสังฆราชไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และมีการกระจายอำนาจไปจนถึงระดับล่างสุดคือเจ้าอาวาส ดังนั้นอำนาจทำการสั่งสึกพระจึงขึ้นต่อเจ้าอาวาส แม้แต่กฎหมายบ้านเมืองก็ไม่ล้วงลูก แต่ พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับนี้ถูกยกเลิกเมื่อปี 2505 แล้วกลับไปใช้ระบบ

สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงปัจจุบัน ทีนี้ลองเชื่อมโยงกับกลุ่มหรือขบวนการพระสงฆ์ สามเณรที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยตอนนี้ก็มีหลักการเรียกร้อง คือ ทำให้การปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดโดยมีโมเดล คือ พ.ร.บ.สงฆ์ปี 2484 นี้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มของการแยกศาสนาออกจากรัฐ ไม่ให้รัฐมีบทบาทครอบงำและใช้ศาสนาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือเพื่อกลุ่มผลประโยชน์และอำนาจหนึ่งใดนอกพระธรรมวินัย

หมายเหตุเลขหน้าที่ (๖) อันนี้ก็ตรงกับประวัติศาสตร์การเมืองสมัยนั้น และบทบาทในการอภิปรายและแปรญัตติในเรื่องนี้จนทำให้รัฐบาลจอมพล ป. สมัยนั้นแพ้มติจนต้องลาออก ก็คือ ส.ส.อีสานหัวก้าวหน้า ที่เรารับรู้ว่า 4 รัฐมนตรีอีสาน คือเตียง ศิริขันธ์, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล และ จำลอง ดาวเรือง ซึ่งต่อมา 3 คนหลังถูกฆาตกรรมจากรัฐเผด็จการทหารและตำรวจในสมัยนั้น คนแรก (เตียง ศิริขันธ์) ก็ถูกอุ้มหายในเวลาต่อมา

ยังมีประวัติศาสตร์การตายของคนอีสานอีกมากมายที่จะสามารถเป็นเสียงของคนอีสานเพื่อที่จะฉายให้เห็นประวัติศาสตร์อีสานที่ถูกกระทำโดยรัฐไทย ฉายให้เห็นความเลวร้ายอย่างที่สุดของอำนาจรัฐเผด็จการ สมุนเผด็จการและราชาชาตินิยม

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print