หากนับย้อนดูนโยบายแก้ปัญหาภัยแล้งในอีสานของรัฐบาลที่เป็น “ที่มานโยบายผันน้ำในโครงการโขงชีมูล” คงต้องเริ่มดูจากปี 2530 จนถึงปี 2533 ในยุครัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ปลุกกระแสว่า อีสานยากจน ค้นแค้น ดินแดนดาน ต้องแก้ด้วยโครงการ “อีสานเขียว” 

ต่อมา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงเป็นผู้ผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มสตรีม เพื่อให้ไร่นามีน้ำทั่วถึง ด้วยการทุ่มงบประมาณกว่า 2 พันล้านในยุคนั้น เพื่อสร้างเขื่อนหลายแห่งในอีสาน โดยไม่ได้ถามความเห็นชาวบ้าน  

แต่ภาวะดินเค็มในอีสานก็เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการสร้างเขื่อน พอสร้างมาแล้วเขื่อนหลายแห่งก็ไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนอีสาน จึงทำให้บางเขื่อนกลายเป็น “เขื่อนร้าง”  

ส่วนเขื่อนแม่มูลก็กลายเป็นแหล่งปลุกพลังคนอีสานให้ตื่นตัวทางการเมืองและเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินที่สูญเสียไป ท่ามกลางการเรียกร้องให้ “คนจนเสียสละ” 

“จะเห็นได้ว่าบทเรียนเกี่ยวกับความล้มเหลวด้านจัดการน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมมานาน จึงขอเรียกร้องรัฐบาลทบทวนโครงการต่อโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล และโครงการจัดการน้ำต่างๆ ตามลุ่มน้ำสาขาในภาคอีสานทั้งระบบ” สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกันยายน 2563

บทเรียนต่อสู้อันยาวนานของคนอีสานในการต่อต้านเขื่อนและการจัดการน้ำอย่างไม่มีส่วนร่วมจึงมีให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน 

เครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด ชุมนุมบริเวณหน้าบึงพลาญชัยเพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแก้ไขปัญหาการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-พนมไพร ภาพเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563

ล่าสุดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด ชุมนุมบริเวณหน้าบึงพลาญชัย เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เร่งรัดการประชุมอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร – พนมไพร ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการโขงชีมูล ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบมานานกว่า 11 ปี 

ทั้งยังส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีการตั้งกรรมการมาแก้ไขปัญหา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป

ชาวบ้านยังคงเฝ้ารอการเยียวยาจากการเป็นผู้เสียสละที่ดินทำกินและการพึ่งพาธรรมชาติที่หายไป

นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนอีสาน แต่กรมชลประทานภายใต้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเตรียมและวางแผนก่อสร้างอีกหลายโครงการที่อ้างว่า เป็นการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนให้กับคนอีสาน ด้วยการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการน้ำตามโครงการ โขง-เลย-ชี-มูล ด้วยการสร้างประตูระบายน้ำสีสองรัก จ.เลย 

โดยอ้างว่า จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้คนอีสานอีกกว่า 1.69 ล้านไร่ ครอบคลุม 7 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ ด้วยงบประมาณลงทุน 157,045 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2561 รวมการเตรียมการและการก่อสร้างรวม 9 ปี 

ทีมงาน The Isaan Record จึงสำรวจ ตรวจสอบว่า นับตั้งแต่การใช้วาทกรรม “อีสานแล้ง” จนถึงตอนนี้รัฐบาลได้สร้างประโยชน์ให้กับคนอีสานหายไปจาก “โรคภัยแล้ง” บ้างหรือไม่ หรือในทางตรงกันข้ามกลับทำให้อีสานแล้งและจนหนักขึ้น 

และที่ผ่านมารัฐได้ทุ่มงบประมาณมาที่อีสานกี่มากน้อย แล้วมีประสิทธิภาพหรือไม่ 

รวมถึงการติดตามดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นข้ามพรมแดนของเขื่อนสานะคามที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในประเทศลาว แต่ส่งผลถึงไทยในพื้นที่ จ.เลย ซึ่งตอนนี้ในแม่น้ำโขงวางแผนว่า จะสร้างเขื่อนอีก 11 แห่ง เขื่อนสานะคาม จึงเป็นเขื่นอชชอนแห่งลำดับที่ 6 ซึางเหลือเขื่อนอีก 8 แห่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 

เราจึงจะค่อยๆ คลี่ปมการจัดการน้ำในอีสาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า นอกจากคนที่อาศัยอยู่ริมน้ำต้องสูญเสียรายได้จากการหาปลา สูญเสียวิถีชีวิตไปกับการพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืนแล้ว พวกเขาจะได้อะไรตอบแทน 

แล้วท้ายที่สุด…ใครได้ใครเสีย ติดตามในซีรีสุด ““โขงเลยชีมูล : สายน้ำและชีวิต” 

image_pdfimage_print