ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่องและภาพ

ริมแม่น้ำโขงบริเวณบ้านเวินคำ เมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี ประเทศลาว ห่างจากบ้านหาดคัมภีร์ ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย หมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงประเทศไทยประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลลาวเสนอสร้างเขื่อนสานะคม กั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้าแห่งที่ 6 ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2562 ต่อมาคณะกรรมาธิแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) ได้นำเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา 

แม้จะเป็นเพียงการนำโครงการเสนอต่อคณะกรรมาธิแม่น้ำโขงเพื่อขอความคิดเห็น ทว่าก็มีคำวิจารณ์ทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศภาคีสมาชิกแม่น้ำโขง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามว่า สัญญาณแรกของการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งใหม่” กำลังจะเริ่มขึ้น

เขื่อนลาวผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย

รายงานจากสำนักข่าวบีบีซีไทยอ้างอิงเอกสารข่าวจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ระบุว่า โครงการนี้เป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 684 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) มูลค่าก่อสร้างโครงการ 2,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาทมีผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท ต้าถัง (ลาว) สานะคาม ไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “ต้าถัง” รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศจีน

รายงานยังระบุอีกว่า เขื่อนผลิตไฟฟ้าโครงการใหม่นี้จะส่งไฟฟ้าขายให้ประเทศไทยเป็นหลัก

แผนที่ระบุตำแหน่งโครงการการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงตอนล่าง กราฟฟิคจากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ประเทศไทย

หวั่นผลกระทบสู่พรมแดนไทย

รายงานจากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ประเทศไทย ที่ศึกษาเอกสารรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสม กรณีเขื่อนสานะคาม จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ระบุว่า หากเขื่อนเดินเครื่องอาจส่งผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริเวณท้ายเขื่อนในพรมแดนลาวและไทย 

“ฝั่งไทยคาดว่า จะมี 28 หมู่บ้านในเขตอำเภอปากชมและอำเภอเชียงคาน จ.เลย ได้รับผลกระทบจากกรณีเขื่อนเปิด – ปิดประตูน้ำ เพื่อกักไว้ผลิตไฟฟ้าทำให้น้ำขึ้น – ลงผิดปกติ ส่งผลต่อแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ รวมทั้งแก่งหินก็ยังกระทบต่อชาวประมงที่เลี้ยงปลาในกระชัง อีกทั้งแปลงเกษตรริมฝั่งโขงเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก”รายงานระบุ 

ภาพมุมสูงของเขื่อนไชยะบุรี ซึ่งขวางแม่น้ำโขงในแขวงไชยะบุรี ประเทศลาว ภาพโดย ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

แม่น้ำโขงน้ำหลากนอกฤดู 

หมู่บ้านคกเว้าและหมู่บ้านหาดคำภีร์ ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย คือ 2 ใน 28 หมู่บ้านที่อาจได้รับผลกระทบ

ทองล้วน วงศ์สาพันค์ ชาวบ้านคกเว้า อ.ปากชม จ.เลย จึงเป็นหนึ่งในนั้นที่อยู่ในหมู่บ้านนี้ เขาเล่าว่า เคยเห็นน้ำโขงไหลแรงในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลน้ำโขงขึ้น ส่งผลให้ไหลท่วมสวนกล้วยและข้าวโพดที่ครอบครัวเคยปลูกไว้บริเวณหาดริมฝั่งโขง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 มารู้ทีหลังว่า มันเกิดขึ้นจากการเปิด – ปิดประตูน้ำในเขื่อน เพื่อกักไว้ผลิตไฟฟ้าที่ประเทศจีนและลาวในแม่น้ำโขง 

“น้ำไหลท่วมสวนกล้วย ข้าวโพด ผักของหลายครอบครัวในหมู่บ้าน ทำให้ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ และขาดรายได้ในช่วงปีนั้นไปเกือบ 50,000 บาท” ทองล้วน กล่าว

ความกังวลเรื่องน้ำท่วมรวมทั้งระดับน้ำโขงสูงขึ้นและไหลแรงในช่วงที่เขื่อนปล่อยน้ำ อาจทำให้ไม่สามารถลงเรือหาปลาตามแก่งหินและหาดได้เหมือนเดิม อีกทั้งเมื่อกระแสไหลแรงอาจส่งผลกระทบต่อการวางไข่ของปลาในช่วงฤดูวางไข่ นี่จึงเป็นอีกความกังวลหลักของเธอและคนในหมู่บ้าน 

“ก็ไม่อยากให้วิถีชีวิตเปลี่ยนเพราะมีเขื่อน หากมีเขื่อนแล้วอาจทำให้พวกเราทำมาหากินในแม่น้ำโขงลำบาก” กัญยา ใจยอด ชาวบ้านคกเว้าเลย กล่าวเสริม

ทองล้วน วงศ์สาพันค์ (ซ้าย) และ กัญยา ใจยอด (ขวา) ชาวบ้านคกเว้า ม. 2 ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย ผู้ที่ได้รับกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง

บริษัทที่ปรึกษาฯ ยืนยันผลกระทบไม่ข้ามพรมแดน

ขณะที่บริษัท National Consulting Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและเป็นผู้ทำข้อมูลในรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมกรณีเขื่อนสานะคามกลับระบุในรายงานว่า “ไม่มีผลกระทบข้ามพรมแดน”  

แต่เครือข่ายภาคประขาชนลุ่มน้ำโขงประเทศไทย ออกแถลงการณ์ตอบโต้ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ว่า เขื่อนดังกล่าวมีผลกระทบข้ามพรมแดน เพราะห่างจากชายแดนไทยเพียง 2 กิโลเมตร อีกทั้งแถลงการณ์ยังระบุว่า ข้อมูลที่บริษัทที่ปรึกษาจัดทำนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่คัดลอกมาจากรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนปากลาย

“หัวข้อการมีส่วนร่วมของสาธารณะ บทสรุป และข้อเสนอแนะก็เป็นเนื้อหาเดียวกับรายงานของเขื่อนปากลาย ต่างกันเพียงแค่ชื่อโครงการเท่านั้นและรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนนี้ยังไม่ได้อ้างอิงรายงานการศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อนไฟฟ้าต่อแม่น้ำโขงสายหลักที่มีการศึกษาและเผยแพร่มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” แถลงการณ์ส่วนหนึ่งระบุ 

บุญค้ำ ดาจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหาดคัมภีร์ แกนนำชาวบ้านผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงมานานกว่า 15 ปี

ตะโกนคัดค้านเขื่อนเหมือนหมาเห่าใบตอง

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสำหรับ บุญค้ำ ดาจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหาดคัมภีร์ ซึ่งคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงมานานกว่า 20 ปี คือ ทำให้น้ำขึ้น – ลงและไหลผิดปกติ ถือเป็นการทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำโขงที่เป็นเสมือนแหล่งอาหารของเขาและชาวบ้าน 

“ผมกับลูกบ้านหลายคนจึงลุกขึ้นมาส่งเสียงต่อต้านการสร้างเขื่อนที่ลาวและจีนนานกว่า 15 ปี แต่เราทำได้แค่ตะโกนต่อว่า เหมือนหมาเห่าใบตองแห้ง เพราะประเทศเหล่านั้นไม่รับฟังปัญหาที่พวกผมกำลังเผชิญ”เขาบอกเล่าความเจ็บปวด

บุญค้ำ กล่าวเปรียบเทียบว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนของทุกปี น้ำในแม่น้ำโขงจะลดระดับลงตามธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านออกเรือไปหาปลาได้ง่าย อีกทั้งแก่งหิน หลุม บ่อ ต้นไม้ในน้ำก็มีจะน้ำขัง ทำให้ชาวบ้านจับปลาได้ไปกินไปขายได้ง่าย เพราะบริเวณดังกล่าวมีปลาอาศัยอยู่จำนวนมาก 

“เมื่อได้ปลามาก็เอามาทำปลาร้า หมักไว้กินในฤดูกาลที่น้ำโขงขึ้น ซึ่งหาปลายาก ถ้าเหลือจากกินก็นำไปขายสร้างรายได้ให้ครอบครัวและคนในในหมู่บ้าน” บุญค้ำกล่าว

แม่น้ำโขงบริเวณบ้านหาดคัมภีร์ จ.เลย ภาพเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563

10 ปีที่แม่โขงเปลี่ยนไป 

แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากจีนและลาวสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อกักน้ำไว้ผลิตไฟฟ้า ทำให้น้ำโขงขึ้น – ลง ไม่ตรงตามฤดูกาล เมื่อถึงช่วงฤดูน้ำหลาก แม่น้ำโขงก็แห้ง พอถึงฤดูน้ำแห้ง น้ำกลับมีระดับสูงและไหลแรง ส่งผลกระทบต่อการหากินของชาวบ้าน 

ข้อมูลผลกระทบการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังนํ้าในแม่นํ้าโขงจากรายงาน Council Study จากคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง เผยแพร่เมื่อปี 2562 ระบุว่า หากมีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังนํ้าจนถึงปี 2583 จะทำให้ปริมาณสัตว์นํ้าลดลงอย่างมาก โดยคาดว่าชีวมวลสัตว์นํ้าจะลดลงมากถึงร้อยละ 35-40 ภายในปี 2563 และร้อยละ 40-80 ภายในปี 2583 ส่งผลให้แต่ละประเทศจะมีอัตราการสูญเสียผลผลิตด้านประมง

“การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจนถึงปี 2583 จะทำลายพันธุ์ปลาอพยพในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ในแม่นํ้าโขงจะไม่มีพันธุ์ปลาอพยพในแม่นํ้าโขงที่รอดชีวิตอยู่ได้ในอ่างเก็บนํ้าที่เป็นเขื่อน” รายงานบางส่วนระบุ 

กลัวเขื่อนแตก

หากเขื่อนสานะคามสร้างเสร็จ ชุมชนคกเว้าและชุมชนหาดคำภีร์ถือว่า ตั้งอยู่ท้ายเขื่อน จึงทำให้ชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านกลัวเขื่อนแตกในอนาคต เพราะหากมีเขื่อน ระดับน้ำโขงอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 1 – 3 เมตรต่อวัน  

“หากน้ำที่ไหลจากหัวเขื่อนมีปริมาณมาก อาจทำให้ช่วงท้ายๆ เขื่อนรับน้ำในปริมาณมหาศาล หากเขื่อนรับไม่ไหว อาจจะแตกได้ จากนั้นน้ำก็ไหลเข้าท่วมชุมชนท้ายเขื่อนได้” กัญยา ใจยอด ชาวบ้านคกเว้า อ.ปากชม จ.เลย กล่าว

แม่น้ำโขงไม่ได้เป็นแหล่งผลิตพลังงานอย่างเดียว

กุ้งและปลาขนาดเล็กที่ได้จากการวางลอบริมตลิ่งแม่น้ำโขง คือ แหล่งรายได้ของชาวบ้านริมฝั่งโขงบริเวณบ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ภาพโดย ภานุมาศ สงวนวงษ์ ภาพเมื่่อปี 2562

แม่น้ำโขง : แหล่งผลิตอาหาร 

ผศ.มาลี สิทธิเกรียงไกร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่ ผู้ศึกษาผลกระทบทางสังคมริมแม่น้ำโขงที่ได้รับจากการสร้างเขื่อน กล่าวว่า ไม่อยากให้รัฐบาลและนักธุรกิจสร้างเขื่อนในแต่ละประเทศที่ต้องการมาลงทุนสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า เพราะแม่น้ำเป็นแค่หน่วยในการผลิตไฟฟ้า หรือสร้างกำไรให้กับเศรษฐกิจในภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น ประชาชนริมแม่น้ำโขงแต่ละประเทศที่อาศัยหากินกับงแม่น้ำโขงกลับมองแม่น้ำเป็นแหล่งผลิตอาหาร มองแม่น้ำสัมพันธ์กับวิถีการดำรงชีพ 

“ถ้าแม่น้ำโขงกลายเป็นแค่เส้นทางเดินเรือหรือแหล่งผลิตพลังงาน ชาวบ้านก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่เจ้าของแม่น้ำ การอนุรักษ์ การดูแลแม่น้ำ ระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำก็จะไม่ใช่ชาวบ้านเป็นคนดูแลอีกต่อไป ตอนนั้นแม่น้ำโขงแห่งนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันกลับมาในสภาพเดิม” มาลีกล่าว

บทบาทไทยกับการซื้อ – ขายไฟฟ้าในอาเซียน

แผนการพัฒนาให้แม่น้ำโขงตอนล่างกลายเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ผ่านการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี. 2512  และต่อมาปี 2533 ประเทศที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงได้แก่  ไทย ลาว เวียดนามและกัมพูชา ได้ร่วมผลักดันให้เกิดเขื่อนผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขาอย่างน้อย 60 เขื่อน 

ในแม่น้ำโขงสายหลักวางแผนไว้ 11 เขื่อน เขื่อนสานะคาม คือ เขื่อนลำดับที่ 6 แต่ยังเหลือเขื่อนอีก 8 แห่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ เขื่อนปากแบง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย  เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนภูงอย เขื่อนสตึงเตร็ง และเขื่อนซำบอ ดอนสะโฮง 

ไพรินทร์ เสาะสาย ตัวแทนจากองค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)กล่าว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยมีความสำคัญมากกับการพัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขง ประเทศไทยก็ถือเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าหลักจากเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน 

“ไทยเล่นบทบาทนี้มานาน 30 – 40 ปีแล้ว” ไพรินทร์กล่าว “แต่ตอนนี้ไทยเริ่มมาเล่นบทบาทเป็นผู้ซื้อและขายไฟฟ้าให้ประเทศ เพื่อนบ้านเผ่านโครงการ อาเซียน เพาเวอร์ (ASEAN Power Grid)” เธอกล่าวเสริม 

สำหรับไพรินทร์แล้วมันสะท้อนว่า หน่วยงานผลิตไฟฟ้าของไทยมุ่งมาดปรารถนาที่จะเป็นผู้นำด้านการซื้อขายพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือว่าไทยมีส่วนทำลายแม่น้ำโขงด้วย

ภาคประชาชนแม่น้ำโขงอยากให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในการพัฒนาแม่น้ำโขง ไม่ใช่แค่คือผลกำไรด้านเศรษฐกิจจากการสร้างเขื่อนอย่างเดียว

เสียงประชาชนริมโขงถูกละเลย

ผู้คัดค้านโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเคลื่อนไหวมานานกว่า 10 ปี แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลประเทศสมาชิกก็สามารถผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนได้มาโดยตลอด สาเหตุของความล้มเหลวในการคัดค้าน สำหรับไพรินทร์ คือ ผู้ที่ทำงานในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงทั้ง 4 ประเทศส่วนมาก คือ “ตัวแทนของรัฐ”  

“เมื่อมีแต่ตัวแทนภาครัฐ การผลักดันโครงการในแม่น้ำโขงก็มักจะเป็นหน้าที่ของภาครัฐฝ่ายเดียวทำให้ความเห็นของประชาชน ภาคประชาชนไม่ถูกหยิบยกมาหารือกก่อนการตัดสิน” ไพรินทร์กล่าว 

ผลักดันตั้งสภาประชาชนแม่น้ำโขง

เมื่อเสียงของภาคประชาชนไม่ถูกหยิบยกไปพิจารณาในขั้นตอนการตัดสินใจก่อนสร้างเขื่อน แม้จะมีเวทีหรือพื้นที่ให้ประชาชน ภาคประชาชน ชาวบ้านได้แสดงความเห็น แต่พอถึงขั้นตอนการยกเอาข้อมูลของภาคประชาชนไปตัดสินใจ หน่วยงานรัฐในคณะกรรมาธิการฯ จะให้ความสำคัญในข้อมูลส่วนนี้น้อยหรือน้อยกว่าเรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนา

ไพรินทร์บอกว่า ภาคประชาชนจึงจะตั้งสภาประชาชนแม่น้ำโขงเพื่อทำงานคู่ขนานกับคณะกรรมาธิการฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนภาครัฐ ในการเสนอความเห็นต่อโครงการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตคนริมโขงอีกครั้ง หลังจากพยายามเสนอสภาฯ นี้มาแล้วกว่า 10 ปี แต่ตั้งไม่สำเร็จ เพราะภาคประชาชนแม่น้ำโขงในแต่ละประเทศยังไม่เข้มแข็งพอ อีกทั้งแต่ละประเทศต่างยังทำงานเฉพาะในพื้นที่ของตัวเอง

“ภาคประชาชนแม่น้ำโขงอยากให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด ของประชาชนในการพัฒนาแม่น้ำโขง ไม่ใช่แค่ผลกำไรด้านเศรษฐกิจจากการสร้างเขื่อนอย่างเดียว ก่อนตัดสินใจควรคำนึงวิถีชีวิต สังคม นิเวศที่ประชาชนพึ่งพาอาศัยเป็นหลัก” ไพรินทร์ กล่าว 

เขายังเน้นย้ำอีกว่า หากปล่อยให้แม่น้ำโขงกลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานไปเรื่อยๆ แม่น้ำโขงจะเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้นจะส่งผลกระทบต่อวิถีวิต ชาวบ้าน ระบบนิเวศ ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศต้องนำเงินไปเยียวยาความเสียหายด้านนิเวศ สิ่งแวดล้อม ที่ประชาชน ตัวเองได้รับเหมือนเดิม 

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 คณะกรรมาธิแม่น้ำโขง (MRC) ประกาศนำโครงการเขื่อนสานะคาม ที่จะสร้างในประเทศลาวเป็นแห่งที่6 เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ก่อนการก่อสร้าง

คาดว่าเขื่อนดังกล่าวมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าส่งขายให้ไทย ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพราะปัจจุบันไทยมีกรอบความร่วมมือ (MOU) ในการซื้อไฟฟ้าจากลาวทั้งสิ้น 9,000 เมกะวัตต์ และลาวขายไฟให้ไทยแล้วประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ 

อีกทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านของชุมชนคนไทยในนาม “พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง” หนึ่งในนั้นมีคนที่อาศัยอยู่ริมแม่โขงในบริเวณ อ.เชียงคาน อ.ปากชม จ.เลย รวมอยู่ด้วย เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากบริเวณนั้นเพียง 2 กิโลเมตร 

คนในพื้นที่ก็ได้แต่หวังว่า เสียงของพวกเขาจะมีพลังและดังไกลไปถึงหูของผู้มีอำนาจเพื่อให้ชีวิตริมโขงยังคงได้รับการสืบทอดชั่วลูกชั่วหลาน 

image_pdfimage_print