The Isaan Record เรื่อง
อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ
คงไม่มีใครรู้สึกประหลาดใจไปมากกว่า พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ แกนนำศรีสะเกษจะไม่ทน เมื่อเห็นภาพผู้ประท้วงลุกขึ้นมาโบกธงสีรุ้ง สัญลักษณ์ของ LGBT และเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ บนเวทีการชุมนุมที่จัดเป็นครั้งแรกในจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
สำหรับเขาแล้ว นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยจะออกมาจัดการชุมนุมเรียกร้องในที่สาธารณะ เพราะนักเคลื่อนไหวชาว LGBT มีบทบาทมากในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ และเขาก็ไม่รู้สึกแปลกใจที่เห็นกลุ่ม LGBT แสดงออกทางการเมือง เพราะพรสิทธิ์เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวของไทยที่มีชาว LGBT ได้รับเลือกเป็น ส.ส. และเรียกร้องผลักดันนโยบายเพื่อรับรองความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง
ที่น่าแปลกยิ่งไปกว่านั้น คือ พรสิทธิ์ไม่ใช่คนที่ก้าวขึ้นไปบนเวทีเพื่อเรียกร้องสิทธิของชาว LGBT เพราะเขาเป็นเกย์ที่ไม่เปิดเผยตัว
แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ใครตั้งใจให้เกิดขึ้น แต่ศรีสะเกษก็กลายเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงว่า เป็นพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองและเป็นพื้นที่การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมของชาว LGBT
ไม่มีใครวางแผนให้เรื่องนี้เกิดขึ้น
พรสิทธิ์ เคยลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.เขตในอำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ด้วยวัย 27 ปี เขาสมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (ซึ่งภายหลังถูกยุบและเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคก้าวไกล) และเข้าร่วมอบรมสัมมนาต่างๆ ที่พรรคจัดขึ้น
แต่ในช่วงเวลานั้นเขายังคงปกปิดอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง หลังพบกับความความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง เขาจึงเข้าไปทำงานเป็นทนายความให้กับสำนักงานกฎหมายท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ด้วยความตั้งใจอยากช่วยเหลือผู้คนในท้องที่ที่ต้องเจอกับความอยุติธรรม
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พรสิทธิ์และคนรุ่นราวคราวเดียวกันจำนวนมาก รู้สึกโกรธแค้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น กระทั่งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาคนหนุ่มสาวในพื้นที่ต่างๆ ของไทยจึงออกมาประท้วง
พรสิทธิ์รู้สึกว่า “ทนมาพอแล้ว” เขาจึงสร้างกลุ่มบนแอพลิเคชั่นไลน์ว่า “ศรีสะเกษจะไม่ทน” มีคนมาเข้าร่วมหลายร้อยคนในเวลาเพียงไม่กี่วัน
หลังจากนั้นเขาก็นัดเจอคนในกลุ่มฯ ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งใกล้ๆ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
พรสิทธิ์ กล่าวว่า มีคนมาร่วมประมาณ 20 คน ไม่รวมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาสอดส่อง ซึ่งเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย คนที่มาร่วมมีทั้งคนหนุ่มสาว วัยทำงาน คนเสื้อแดง ซึ่งต่างมาจากหลากหลายอาชีพ
ภายหลังการตั้งกลุ่ม “พรสิทธิ์” จึงทราบว่า 7 ใน 10 แกนนำของกลุ่มเป็นชาว LGBT การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในระดับท้องถิ่นกลับกลายเป็นการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องไปไกลกว่านั้น
พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ เข้าร่วมการชุมนุม จัดขึ้นที่จังหวัดศรีสะเกษครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2563
ศรีสะเกษ: เมืองรอง เมืองชายขอบ
ศรีสะเกษดูไม่เหมือนจังหวัดที่จะมีกลุ่มชาว LGBT ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง อำเภอเมืองของจังหวัดมีประชากรราว 40,000 คน เป็นเมืองเล็กๆ เช่นเดียวกับอีกหลายอำเภอในจังหวัดอื่นๆ ของภาคอีสาน
ชาวศรีสะเกษเองก็มองว่า จังหวัดของตนเป็น “เมืองบ้านนอก” แม้จังหวัดจะมีสเน่ห์เป็นของตัวเอง แต่ก็ด้อยพัฒนา เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายจากกลิ่นอายของวัฒนธรรมลาวตอนเหนือและผู้คนที่พูดภาษาเขมร หลายคนในจังหวัดศรีสะเกษสามารถพูดได้ทั้งลาว เขมร และไทย
เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน แต่ศรีสะเกษอยู่นอกสายตาของรัฐในเชิงนโยบายการพัฒนา ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของ ศรีสะเกษมีมูลค่า อยู่ที่ 67,362 บาท หรือราว 12 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าที่มาจากกรุงเทพฯ ดัชนีความก้าวหน้าของคน อ้างอิงจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติที่จัดลำดับการศึกษาและการคมนาคมของจังหวัดศรีสะเกษให้อยู่ในระดับ “ต่ำ” ส่วนสุขภาพกับรายได้อยู่ในระดับ “ค่อนข้างต่ำ”
สินค้าส่งออกหลักของจังหวัดศรีสะเกษก็เหมือนๆ กับจังหวัดอื่นในภาคอีสาน นั่นคือ ผู้คนมักเข้าไปทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว ไปเป็นแรงงาน คนขับแท็กซี่ บริกร หรือผู้ค้าบริการทางเพศ หนุ่มสาวที่มีการศึกษาต่างไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานในกรุงเทพฯ เพื่อพิสูจน์คุณค่าของตนเอง และมักปกปิดรากเหง้าของตัวเองไม่ให้ใครรับรู้
หมุดหมายที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ คือ ปราสาทเขาพระวิหาร แต่ด้วยตัวปราสาทตั้งอยู่ฝั่งประเทศกัมพูชา สิ่งที่ศรีสะเกษมีจึงเป็นเพียงถนนที่พาไปสู่ตัวปราสาท ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของจังหวัดและมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเรื่องราวในอดีตท้องถิ่น แต่กลับฉายภาพความเป็นไปในปัจจุบันของศรีสะเกษเพียงน้อยนิดเท่านั้น
จังหวัดศรีสะเกษ เคยผลักดันมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่บ้าง เช่น การจัดทำนิทรรศการภาพถ่าย “100 ภาพ 1,000 เรื่อง เมืองศรีสะเกษ” เมื่อปี 2561 หลังจากที่จังหวัดได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในจุดหมายที่เที่ยวเมืองรอง อย่างไรก็ตามอีสานก็เป็นภาคที่กล่าวไม่ได้เต็มปากนักว่า มีศักยภาพทางการแข่งขันสูงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แม้แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ยกธงขาวและสั่ง ปิดศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ในจังหวัดศรีสะเกษไปเรียบร้อยแล้ว
แหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของจังหวัดศรีสะเกษบนเว็บไซต์ TripAdvisor ในตอนนี้คือ วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว หรือ วัดล้านขวด ซึ่งสร้างขึ้นด้วยขวดเบียร์ แม้จะเป็นเรื่องน่าตื่นตาอยู่บ้าง แต่วัดนี้ก็ดูไม่น่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากมายนัก
ศรีสะเกษเป็นจังหวัดเล็กๆ รายล้อมไปด้วยหมู่บ้านเล็กๆ ที่ผู้คนมีการศึกษาไม่สูงนัก มีโอกาสทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำและความหวังลางเลือนสำหรับคนหนุ่มสาว
ปัจจัยเหล่านี้เองที่ผลักดันให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมารวมตัวกันสร้างสรรค์พื้นที่ยืนให้กับตัวเอง รวมไปถึงอนาคตของจังหวัดศรีสะเกษด้วย
คงไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัดว่า เหตุใดชุมชนชาว LGBT จึงมารวมตัวกันได้ เพราะสมาชิกแต่ละคนต่างมีเรื่องราวเป็นของตนเอง พวกเขาส่วนใหญ่มาจากอำเภอนอกตัวเมือง และมาจับกลุ่มก้อนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนจะค้นพบว่า มีชาว LGBT มากมายเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้เช่นกัน
ดังนั้นชาว LGBT จึงถือเป็นส่วนร่วมสำคัญของการก่อร่างสร้างประชาธิปไตยและเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งการก่อร่างสร้างจังหวัดศรีสะเกษ
“เราต้องสู้ สู้กับสังคมย่อย และจากนั้นจึงสู้ต่อไปกับสังคมหลัก” พีร์นิธิ สิริคุณากรรจน์ หรือ พี
รู้จักกับชาว LGBT แห่งศรีสะเกษ
พีร์นิธิ สิริคุณากรรจน์ หรือ พี นักศึกษาครุศาสตร์ปี 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏวัย 20 ปี เปิดเผยว่า เป็นเกย์ เขามีดวงตาสดใสและใบหน้าเปื้อนยิ้มอยู่ตลอดเวลา แม้ในช่วงพูดคุยถึงประเด็นจริงจัง
พีไม่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือเข้าร่วมการชุมนุมมาก่อน เขารู้สึกว่า การออกมาเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางเพศเป็นเรื่องที่สำคัญมากในขณะนี้ เขารู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมครั้งแรกในจังหวัดศรีสะเกษที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา และภูมิใจที่มีผู้สนใจมาเข้าร่วมประมาณ 1 พันคน
“การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตอนนี้สอดรับกับความต้องการของคนหนุ่มสาวและถึงเวลาแล้วที่เหล่า LGBT จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เพราะพวกเราควรได้การรับรองสิทธิเท่าเทียม รวมทั้งเป็นประเด็นเร่งด่วนและใกล้ตัว”เขากล่าว
เช่นเดียวกับ LGBT หลายๆ คนในประเทศไทย ชีวิตในวัยเด็กของเขาเริ่มต้นอย่างแสนสุข เขาชอบเล่นกับเด็กผู้หญิง ซึ่งไม่มีใครรู้สึกว่า เป็นปัญหา พีไม่เคยต้องคิดว่าเขาเป็น “อะไร” พ่อแม่บอกเขาเสมอว่า “โตขึ้นจะอยากเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี”
สถานการณ์ของเขาเปลี่ยนไปขณะขึ้นชั้นมัธยม ทางหนึ่งพีสามารถเปิดเผยตัวตนได้มากกว่าเดิม วันหนึ่งเขาพาเพื่อนกลับบ้านพร้อมแต่งหน้าทาปากสีแดงสด เขาบอกว่า พ่อกับแม่ตกใจอยู่ไม่น้อย แต่ก็ยอมรับในตัวตนของลูกที่พวกเขาพร่ำสอนเสมอให้มีความคิดเป็นของตัวเอง
แต่ในอีกแง่หนึ่ง พีเริ่มถูกกลั่นแกล้งรังแก ครูหลายคนล้อเลียนเขา บางคนถามว่า “อยากจะเป็นผู้หญิงนักเหรอ” เด็กคนอื่นๆ เรียกเขาว่า “ตุ๊ด” หรือ “กะเทย” ในวัยแรกรุ่น เขาเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คำบางคำที่คนอื่นใช้เรียกเขามีความหมายว่าอย่างไร เขาได้แต่สงสัยว่า ทำไมเขาถึงถูกกลั่นแกล้ง
ครูคนหนึ่งชอบรังแกนักเรียนที่ถูกมองว่าเป็น “พวกรักร่วมเพศ” เขาบอกว่า “ครูคนนี้มองว่า พวกเราเป็นตัวตลก” แต่ “พวกเราไม่ใช่ตัวตลก” พีกล่าวต่ออีกว่า “ผมสงสัยว่า ทำไมครูคนนี้ถึงต้องล้อเลียนพวกเรา คนอื่นอาจจะคิดว่า ครูก็แค่ล้อเล่น แต่มันไม่ตลกเลย” เขาสงสัยว่า ทำไมจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ครูคนหนึ่งถึงกับถามว่าทำไมกะเทยจึงต้องมาโรงเรียน เขาคิดว่า “แล้วจะให้ไปเรียนที่ไหน พวกเราไม่ใช่คนเหรอ แล้วจะให้พวกเราไปเรียนที่ไหน”
ผู้คนที่อยู่รอบตัวทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ส่วนใหญ่มักพูดว่า “แกเป็นตุ๊ด ผู้หญิงก็ไม่ใช่ผู้ชายก็ไม่เชิง แกเป็นอะไร เป็นตัวประหลาดอะไรเนี่ย” ทั้งที่ครูสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน แต่ครูกลับกลายเป็นหัวโจกสร้าง “บาดแผลร้าวลึกที่ยังคงเจ็บปวดจนถึงทุกวันนี้”
พีเชื่อว่าชาว LGBT ต่างประสบกับการถูกกดทับมาอย่างยาวนาน เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยเริ่มปะทุขึ้นเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน เขาจึงพร้อมที่จะ “ลุกออกมา” และเชื่อมโยงประสบการณ์การถูกรังแกของเขาในศรีสะเกษกับปัญหาระดับชาติที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น
“ประเทศเราไม่เคยมีความเท่าเทียมอยู่แล้ว” พี กล่าวและว่า “ความอยุติธรรมในสังคมไทยนั้นพบเห็นได้ทั่วไปในสถานการณ์ต่างๆ ของสิ่งที่เรียกว่า สังคมย่อย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นถูกสร้างขึ้นโดยสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในสังคมหลัก การรังแกกลายเป็นเรื่องปกติ”
พีจึงบอกว่า การถูกกลั่นแกล้งรังแกเกิดขึ้นและค่อยๆ ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ
“มันเกิดขึ้นในสังคมหลักและแพร่กระจายสู่สังคมย่อย” เขามองว่า ความอยุติธรรมนั้นเกิดขึ้นในสังคมทั้งสองระดับ การต่อสู้กับการถูกกลั่นแกล้งรังแกในระดับท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับการต่อสู้ในระดับชาติ
“เราต้องสู้ สู้กับสังคมย่อย และจากนั้นจึงต้องสู้ต่อไปกับสังคมหลัก” พีกล่าวพร้อมกับ เชื่อว่า “การต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องเดียวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียม”
พีสังเกตเห็นว่า ชาว LGBT มีบทบาทสำคัญในการประท้วงที่จังหวัดศรีสะเกษ แต่เขาไม่แน่ใจว่า เหตุใดบทบาทของพวกเขาจึงเด่นชัด แต่ชาว LGBT ต้องการได้รับสิทธิความเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและใกล้ตัว
“หวังว่า สังคมไทยจะพัฒนาขึ้น ไม่ใช่แค่สำหรับคนบางกลุ่มบางพวก แต่สำหรับทุกๆ คน”ปณต ศรีนวล หรือ เต้ย
LGBT พลเมืองชั้นสอง
ปณต ศรีนวล หรือ เต้ย คือ หญิงข้ามเพศ เธอทำงานเป็นฟรีแลนซ์อยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะจัดตั้งกลุ่มฯ ขึ้น เธอเพิ่งกลับมาศรีสะเกษ หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายเดือน
การเดินทางเพื่อค้นหาตัวเองของเต้ยเริ่มขึ้นในที่แสนไกล ระหว่างที่เธอเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ที่กรุงเทพฯ เต้ย เชื่อว่าชุมชน LGBT ในประเทศไทย ถูกกดทับมาเป็นเวลานานและพวกเขาถือเป็น “พลเมืองชั้นสองมาอย่างยาวนาน”
เธอกล่าวว่า ผู้คนจำนวนหนึ่งคิดว่า ชาว LGBT ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแต่ยังต้องมีเงื่อนไขบางอย่าง
เงื่อนไขดังกล่าว คือ การที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกบีบให้รู้สึกว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อจะเป็นที่ยอมรับ ซึ่งการทำเช่นนั้นทำให้พวกเขารู้สึกว่า ไม่ได้รับความเท่าเทียมเหมือนคนอื่นๆ ความที่ “ต้องทำให้มากกว่า” เพื่อให้ได้รับการยอมรับนั้นเป็นสิ่งที่ “ฝังจิตฝังใจของพวกเขามาตลอด”
เต้ย เข้าร่วมพูดกับกลุ่มฯ ครั้งแรกที่ร้านกาแฟเมื่อเดือนกรกฎาคม มีนักศึกษาปี 1 คนหนึ่งจากกรุงเทพฯ ท้าให้ชาวศรีสะเกษแสดงจุดยืนในการประท้วง ตอนนั้นเธอรู้สึกไม่มั่นใจอยู่เล็กน้อยและกังวลว่า บางคนอาจรู้สึกข้องใจกับความเป็นคนข้ามเพศของเธอ แต่ เต้ยก็ รู้สึกดีขึ้นเมื่อทราบว่า “แกนนำเกินกว่าครึ่งของกลุ่มฯ เป็นชาว LGBT”
เต้ย รู้สึกถึงแรงผลักดันที่จะออกไปต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะตัวเธอเองประสบปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ มันเริ่มขึ้นจากการที่เธอตัดสินใจว่า “ฉันเกิดมาเป็นผู้ชาย ถ้าฉันอยากเป็นที่ยอมรับเหมือนคนทั่วไปในประเทศนี้ ฉันควรต้องใช้ชีวิตเหมือนเด็กผู้ชาย เหมือนผู้ชายตามปกติ แต่ฉันรู้สึกว่า ฉันควรจะเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด”
นั่นทำให้เธอเข้าถึงองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตย นั่นคือ ความเห็นอกเห็นใจ
“การค้นพบตัวเองมีส่วนช่วยอย่างมาก ก่อนจะยอมรับตัวเองได้ เราต้องมีความเห็นอกเห็นใจตัวเองให้มากๆ เข้าไว้”เธอบอก
เนื่องจากชาว LGBT ต่างประสบปัญหาที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ เต้ย จึงรู้สึกว่าพวกเธอมีแนวโน้มที่จะมีความเห็นอกเห็นใจให้กับตัวเองและผู้อื่น
“เราต้องเห็นใจตัวเองก่อนที่จะเห็นใจคนอื่น แต่พอมาดูระบบที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรมในประเทศไทย เราไม่อยากเห็นคนอื่นถูกกดขี่เหมือนกับที่เราเคยโดน”เธอเล่าในฐานะที่เคยถูกกลั่นแกล้งมาก่อน
เต้ยบอก ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องในรัฐสภา หรือเรื่องการบริหารประเทศ แต่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ ชีวิตผู้คน ทุกๆ อย่าง ประชาธิปไตยมีความเรียบง่ายมากกว่านั้น และเริ่มต้นจากความเคารพ
“ถ้าอยากมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ทุกคนต้องยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็นได้”เธอเน้นย้ำ
เต้ย เชื่อว่า ผู้คนมากมายในไทยเห็นด้วยกับผู้ชุมนุม ที่ว่า ชนชั้นกลางค่อนบนและชนชั้นสูง คือ กลุ่มคนที่ตกตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากชนชั้นเหล่านี้เคยชินกับการที่เด็กๆ อ่อนน้อมถ่อมตน ว่านอนสอนง่าย
“พวกเขาชินกับการที่พวกเราทำตัวดีๆ และคอยเชื่อฟังคำสั่ง” แต่เต้ยเห็นว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นสู้” เต้ยกล่าว มีความหวัง เพราะจะถือเป็นโฉมหน้าใหม่ของประเทศไทย
“หวังว่าสังคมไทยจะพัฒนาขึ้น ไม่ใช่แค่สำหรับคนบางกลุ่มบางพวก แต่สำหรับทุกๆ คน”เต้ยกล่าว
“ศรีสะเกษเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย และเป็นจังหวัดที่จ่ายภาษีด้วย ทำไมศรีสะเกษถึงไม่พัฒนาเลย”ศราวุฒิ โพธิ์ชัย หรือ ปอน
ทางออกของศรีสะเกษแก้รัฐธรรมนูญ
ศราวุฒิ “ปอน” โพธิ์ชัย เป็นนักศึกษากฎหมายวัย 21 ปีของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มศรีสะเกษจะไม่ทน เขาเป็นผู้ชาย แต่ยังคงค้นหารสนิยมทางเพศที่แท้จริงของตัวเอง
ในวัยเด็ก ปอน ไม่ได้ถูกเด็กคนอื่นๆ รังแก แต่ปัญหากลับอยู่ที่ครูคนหนึ่งเรียกเขาว่า “อีแอบ” แม้จะเสียใจ แต่เขาก็ไม่ตอบโต้ เขาเข้าเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน และถูกสอนมาให้เชื่อฟังครู
“ครูควรจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมากกว่านี้” เขากล่าว
แม้ครอบครัวจะไม่เคยว่ากล่าวเรื่องอัตลักษณ์ของเขา แต่ ปอน ก็ยังคง “เกรงใจ” และจะไม่ออกอาการ “สาวแตก” มากเกินไปเมื่ออยู่กับคนในครอบครัว
สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมปลาย เพราะมีเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ และอยู่ในโรงเรียนที่ไม่มีข้อห้ามวุ่นวายมากนัก เขาจึงรู้สึกปลอดภัยและ “เริ่มสนุกกับชีวิต” เพราะครอบครัวไม่เคยปฏิเสธเขาและไม่เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน
“ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดี”เขากล่าวและว่า “ต้องเข้าใจก่อนว่า ยังมีบางคนที่ไม่ยอมรับเรื่องแบบนี้” ปอนบอกว่าเขามี “เพื่อนที่มีเพศหลากหลาย ทั้งเลสเบี้ยน ทอม เกย์ [คนแต่งตัวข้ามเพศ] เป็นกลุ่มเพื่อนที่หลากหลายมาก”
แต่ปอนเข้าใจว่า สำหรับหลายคนแล้ว ความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก
“บางคนเข้าใจเกย์ บางคนไม่เข้าใจเลสเบี้ยน บางคนยังไม่เข้าใจผู้ชายที่เป็นไบเลย ปัจจุบัน กลุ่ม LGBT เริ่มเป็นที่รู้เห็นมากขึ้น และถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้ความรู้ความเข้าใจกับคนอื่นๆ “ผมอยากให้คนเข้าใจความหลากลายทางเพศให้ดีกว่าตอนนี้ นี่คือช่วงเวลาในสังคมไทยที่ สร้างแรงบันดาลใจให้ผมลุกขึ้นมา”เขากล่าว
แต่ปอนก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในจังหวัดศรีสะเกษ โดยเขาบอกว่า อยากเห็นศรีสะเกษเป็นเหมือนกรุงเทพฯ ในแง่การพัฒนา อย่างระบบการสื่อสารหรือเรื่องอื่นๆ เพราะเห็นว่าศรีสะเกษเป็นยังไงวันนี้ก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น
“เราจะทำทางเท้าให้ดีขึ้นได้ยังไง เพราะคนยังเดินตกหลุมอยู่เลย”ปอนกล่าว
แม้ว่า เหล่าแกนนำกลุ่มฯ จะเรียนรู้เกี่ยวกับจังหวัดมากขึ้น แต่ปอนกลับเห็นตรงกันข้าม
“เฮ้ย มันไม่ควรเป็นแบบนี้นะ ศรีสะเกษเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยและเป็นจังหวัดที่จ่ายภาษีด้วย ทำไมศรีสะเกษจึงไม่พัฒนาเลย ทำไมการพัฒนาจึงไปกระจุกรวมกันอยู่ในที่เดียว”
ปอนเชื่อว่า ความด้อยพัฒนาของศรีสะเกษเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในระดับชาติ ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง แต่การกระทำที่ขัดต่อกฎหมายต่างๆ ทำให้ประเทศไทยเป็นอยู่อย่างนี้
“รัฐธรรมนูญปี 2560 เกิดขึ้นอย่างไม่ชอบธรรม ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร หากรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยเลย ทางเดียวที่จะแก้ไขได้ คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ”ปอนเสนอ
“เรารู้สึกว่าเราต้องสู้เพื่ออนาคตของเรา เพื่ออนาคตของคนรุ่นเรา เพื่ออนาคตของคนรุ่นหลังจากเรา”บัญญัติ โพธิ์ศรี หรือ กีตาร์
ร่วมชุมนุมเสื้อแดงชวนตั้งคำถามถึงชีวิตที่ดีกว่า
บัญญัติ โพธิ์ศรี หรือ กีตาร์ เป็นนักศึกษาเอกคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษวัย 17 ปี กีตาร์เป็น LGBT แต่อยู่ระหว่างการค้นหาคำตอบว่า อยากจะจำกัดความเพศของตัวเองว่า อย่างไร ในภาษาอังกฤษ กีตาร์ต้องการใช้สรรพนาม “they, them, theirs” (พวกเขา) พ่อกับแม่เคยพาเด็กคนนี้ไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองกับคนเสื้อแดง การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพ่อแม่มีส่วนทำให้กีตาร์เริ่มตั้งคำถามกับสังคม และคิดว่าควรทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น
กีตาร์อายุน้อยกว่าผู้ชุมนุมคนอื่นๆ กีตาร์เพิ่งเริ่มต้นค้นหาตัวตนเมื่อไม่นานมานี้ ช่วงแรก พ่อของกีตาร์ทำใจลำบากที่จะยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของลูกทำให้พ่อไม่ยอมพูดกับกีตาร์อยู่นาน แต่แม่ของกีตาร์เป็นผู้ยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการอธิบายให้พ่อฟังว่า หลานของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงในท้องถิ่นคนหนึ่งก็มีความหลากหลายทางเพศและเป็นที่ยอมรับจึงทำให้พ่อยอมรับในที่สุด
กีตาร์รู้สึกโชคดีที่ตัวเองสามารถเปิดตัวกับพ่อแม่ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า พ่อแม่ขอ
หลายๆ คนก็ยอมรับไม่ลง พวกเขาทะเลาะกัน พ่อ แม่ และลูกที่เป็น LGBT จึงตกอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ที่อาจทำให้ครอบครัวแตกแยกและสร้างความเจ็บปวดให้กับทุกฝ่าย แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่กีตาร์เชื่อว่า สิ่งที่ดีที่สุด คือ การเปิดใจพูดคุย และหาทางออกร่วมกัน
การเห็นภาพตำรวจเข้าโจมตี “พี่น้องหมู่เฮาในกรุงเทพฯ” ด้วยการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม เป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้ชุมนุมในต่างจังหวัดอีกหลายพื้นที่ออกมามีส่วนร่วมมากขึ้น
กีตาร์ กล่าวว่า เรามองดูตัวเราเองและตั้งคำถามว่า ต้องทำอย่างไรจึงจะเห็นอนาคตของประเทศดีขึ้น
หลังจากนั้นกีตาร์และเพื่อนๆ ที่โรงเรียนอีก 8 คนจึงเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองที่จัดขึ้นที่จังหวัดศรีสะเกษเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม
กีตาร์ขึ้นเวทีปราศรัยต่อหน้าผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นสิ่งเคยชินจากการเป็นประธานนักเรียนที่โรงเรียน ทั้งที่เพิ่งเคยได้ยินว่า มีการชุมนุมที่ศรีสะเกษเมื่อไม่นานมานี้ แต่เขาก็ตัดสินใจเข้าร่วม เพราะรู้สึกว่าถึงเวลาต้องแสดงจุดยืนแล้ว
ตอนนั้นแกนนำกลุ่มฯ ประกาศรับอาสาสมัคร กีตาร์จึงเข้าร่วมและต่อมากลายเป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่ง ตอนนั้นมีอาสาสมัครราว 40 คน และ มี 5-6 คนที่เป็นชาว LGBT
ตอนนี้กีตาร์มีบทบาทช่วยบรรดานักเรียนจัดชุมนุมในโรงเรียน และรวมกลุ่มสร้างแนวร่วมกับนักเรียนชั้นมัธยมจากโรงเรียนอื่นๆ ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกับกลุ่มนักเรียนกลุ่มอื่นๆ ทั่วประเทศ คือ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
กีตาร์กำลังจัดตั้งแนวร่วมเหล่านักเรียนชั้นมัธยมและคาดว่า จะสามารถดึงนักเรียนมัธยมจาก 5 โรงเรียน มาเข้าร่วมในการชุมนุมได้ประมาณ 300 คน
สำหรับกีตาร์แล้ว การชุมนุมเพื่อเรียกร้องอนาคตที่ดีขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น พ่อแม่ของกีตาร์เป็นชาวนาและกำลังประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ
“เราออกมาประท้วงเพราะเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ แย่มากๆ มีหลายคนในหมู่บ้านที่หางานทำไม่ได้เลย”กีตาร์บอก
กีตาร์หวังจะมีอนาคตที่ดี ด้วยการเรียนให้จบและหางานทำ แต่อนาคตกลับดูมืดมน เพราะมีคนตกงานจำนวนมาก
“เราเลยรู้สึกว่า เราต้องสู้เพื่ออนาคตของเรา เพื่ออนาคตของคนรุ่นเรา เพื่ออนาคตของคนรุ่นหลังจากเรา” กีตาร์บอกว่าและว่า “มันถึงเวลาแล้วที่จะออกมาส่งเสียงเรียกร้องในการต่อสู้ครั้งนี้”
“ก็แค่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญของประชาชนที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แค่นั้นเลย”พันธ์ศักดิ์ มีแก้ว หรือ ตี้
ทำไมประเทศไทยจึงมีรัฐประหารบ่อย
พันธ์ศักดิ์ มีแก้ว หรือ ตี้ เป็น LGBTIQ ที่ต้องการใช้สรรพนามในภาษาอังกฤษว่า “they/them/theirs” (พวกเขา) ปีนี้ตี้อายุ 31 ปี และบอกว่า ไม่เคยถูกกลั่นแกล้งอย่างที่ชาว LGBT หลายคนประสบ มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ตี้สมัครเป็นประธานนักเรียนขณะอยู่ชั้น ม.4 และได้ยินเพื่อนร่วมชั้นผู้หญิงคนหนึ่งนินทาลับหลังว่า “ไม่เลือกกะเทยหรอก อยากได้พวกรักร่วมเพศเป็นประธานนักเรียนเหรอ” นั่นจึงทำให้ตี้เสียใจและคิดว่า “จริงเหรอ เราทำหน้าที่นี้ไม่ได้เหรอ”
เมื่อปี 2550 ตี้สอบติดมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับภาคถึงสองแห่ง แต่กลับไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยเงินประมาณ 8,000 บาท ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นตี้จึงเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำและอาศัยอยู่ที่นั่นนานกว่า 10 ปี โดยเริ่มงานในโรงงานแห่งหนึ่ง ก่อนจะขยับเป็นพนักงานในร้านสะดวกซื้อ 7-11 เมื่อเกิดรัฐประหารปี 2557 ตี้เริ่มใคร่ครวญถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ตี้หาความรู้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์อย่างไอลอว์ แล้วทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับการรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 ตี้ถามตัวเองว่า ทำไมเรื่องแบบนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและมันส่งผลอย่างไรต่อการเมืองไทย
เมื่อยายของตี้เสียชีวิตและญาติคนอื่นๆ ก็เริ่มแก่ตัวลง ตี้จึงต้องกลับบ้านที่ศรีสะเกษ และพยายามประคับประคองไร่นาของครอบครัวเอาไว้ให้ดีที่สุด ตี้แทบไม่มีเงินเหลือเก็บ
ระหว่างอยู่ที่ศรีสะเกษ ตี้เฝ้ามองเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งปี 2562 โดยเฉพาะสูตรนับคะแนนแบบพิสดารที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คิดขึ้น ซึ่งทำให้พรรคการเมืองปัดเศษก้าวเข้ามามีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไม่มีความชอบธรรม ตี้ได้แต่ฝากความหวังทั้งหมดไว้กับพรรคอนาคตใหม่ ตี้โกรธมากเมื่อหัวหน้าพรรคฯ ถูกตัดสิทธิการเป็น ส.ส. และต่อมาพรรคก็ถูกยุบ
ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ตี้ได้โพสต์ข้อความในกรุ๊ปเฟซบุ๊กของจังหวัดว่า “ราษฎรศรีสะเกษ” มีคนมาแสดงความเห็นมากมาย แต่โพสต์ของตี้ก็ถูกลบในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ตี้ลองโพสต์ใหม่และก็ถูกลบอีกครั้ง ตี้คิดว่า “ทำไมเราจึงไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นี่เป็นพื้นที่ให้เราแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เหรอ”
แต่ยังมีโพสต์หนึ่งที่ไม่ถูกลบ คือ โพสต์ที่มีข้อความชวนคนไปดื่มกาแฟ ตี๋ประหลาดใจที่เห็นคนถึง 20 หรือ 30 คนมาตามการนัดพบ มีนักศึกษาจากกรุงเทพฯ คนหนึ่งอยู่ที่นั่นด้วย และบอกพวกเขาว่า คนในจังหวัดข้างเคียงอย่างอุบลราชธานี เริ่มลุกขึ้นมาประท้วงแล้ว แล้วศรีสะเกษล่ะ
ก่อนที่การชุมนุมจะถูกจัดขึ้น มีเจ้าหน้าที่มาหาตี้ถึงบ้าน และข่มขู่ตี้ว่า อย่าไปเข้าร่วมการชุมนุม เดี๋ยวจะมีปัญหา แต่ตี้ไม่กลัว จากนั้นการชุมนุมก็ถูกจัดขึ้น
ตี้รู้สึกประทับใจที่การประท้วงเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมมีคนมาเข้าร่วมมากมาย ในขณะนั้น ตี้ยังไม่ได้คิดถึงการเรียกร้องสิทธิของ LGBT แต่เมื่อเห็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจำนวนมากมาร่วมประท้วง ตี้ก็คิดว่า “เออ ตรงนี้มีคนเหมือนเราเยอะเลย”
เขาเข้าใจดีว่า ทำไมแกนนำจึงเชื่อมโยงประเด็นเกี่ยวกับ LGBT เข้ากับการต่อสู้ทางการเมือง เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของความเท่าเทียมและชาว LGBT คือ คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับความเท่าเทียม
ตี้กล่าวว่า ในจังหวัดศรีสะเกษไม่เคยมีกลุ่ม LGBT มาก่อน ทุกคนมาเจอกันเพราะการชุมนุม ซี่งชาว LGBT มีคุณสมบัติบางอย่างที่โดดเด่น จากประสบการณ์สอนให้พวกเขากล้าหาญและพวกเขาต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา
“ความเท่าเทียม” กลายมาเป็นความหวังของกลุ่ม LGBT ที่ช่วยสร้างพื้นที่ให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้ครั้งนี้ การเรียกร้องประเด็นสมรสเท่าเทียมซึ่งไม่ควรถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ตี้ถามว่า เหตุใดจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนไม่ได้ ทำไมจะต้องระบุเพศด้วย
ตี้เข้าใจว่า สิทธิของ LGBT จะพัฒนาไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลชุดนี้ออกไป และถูกแทนที่ด้วยประชาธิปไตยที่แท้จริง ข้อเรียกร้องทุกข้อของผู้ชุมนุมสามารถทำตามได้
“การทำตามข้อเรียกร้องของผู้คนไม่ใช่เรื่องยากเลย ก็แค่ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญของประชาชนที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แค่นี้เลย”ตี้กล่าว
แม้ตี้จะไม่ใช่นักร้องหมอลำ แต่ตี้ก็เชื่อว่าหมอลำช่วยสร้าง “พื้นที่พิเศษ” ให้กับเหล่า LGBT ซึ่งตี้ก็หวังจะได้ทำงานร่วมกับคณะหมอลำ เพื่อช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับเหล่า LGBT
เหล่า LGBT รวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย
เรื่องราวของบุคคลเหล่านี้ร้อยเรียงเสริมสร้างพลังของกลุ่ม LGBT ในจังหวัดศรีสะเกษ และทำให้ประเด็นเกี่ยวกับ LGBT เป็นประเด็นหลักของการเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่การถูกครูรังแก การทำใจยอมรับของพ่อแม่ การเดินทางเพื่อค้นหาตัวเอง ก่อให้เกิดพลังทางการเมืองอันเรียบง่ายบริสุทธิ์ในจังหวัดเล็กๆ ทางภาคอีสานแห่งนี้
ในช่วงแรก พรสิทธิ์ไม่ได้คิดถึงประเด็นเกี่ยวกับ LGBT เพราะตอนนั้นเหล่าคนหนุ่มสาวทั่วทั้งภาคเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องในระดับชาติ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก
แต่หลังจากกลับพบกับเหล่าแกนนำหลังการชุมนุมครั้งแรก เขาก็รู้สึกว่า “เกือบทุกคนเป็น LGBT” พรสิทธิ์ดีใจที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกเขา
“สมาชิกชาว LGBT กล้าคิด กล้าแสดงออก ไม่ยอมทนต่อความอยุติธรรม เมื่อได้เห็นว่า มีชาว LGBT เข้าร่วมในกลุ่มมากมาย ผมก็คิดว่า สิทธิความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิการสมรสเท่าเทียมควรจะเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงเช่นเดียวกับประเด็นทางการเมืองอื่นๆ”พรสิทธิ์ กล่าว
“ถ้าเราเห็นความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันอาจเป็นเรื่องปกติ เพราะสังคมประชาธิปไตยควรเคารพในความหลากหลาย นี่คือ สิ่งที่สามารถนำเรามารวมกันได้” พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ หรือ ต่อ
ทุกเรื่องสัมพันธ์กับการเมือง
พรสิทธิ์คิดเสมอว่า การเมืองในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกับทุกอย่าง
“การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทุกๆ อย่างในทุกวันนี้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ภาษี กระทั่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นเรื่องการเมือง และทำให้คนเห็นว่า มันเป็นเรื่องใกล้ตัวแค่ไหน”
การ “ตาสว่าง” ทำให้ “ผู้คนมากมายออกมาเข้าร่วม” รวมถึงชาว LGBT ในจังหวัดศรีสะเกษด้วย
พรสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้พวกเขาสามารถรวบรวมอาสาสมัครที่มีผู้คนหลากหลาย ทั้งหมอ ครู นักเรียน และนักศึกษา
“ไม่มีคนที่ไม่ใช่ LGBT ในกลุ่มแสดงอาการแบ่งแยก เหยียดหยามแม้แต่น้อย นี่คือวันใหม่และยุคใหม่ของคนรุ่นใหม่ มีหนทางใหม่ๆ ที่ทำให้คนที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วมารวมตัวกันได้”พรสิทธิ์ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
สำหรับพรสิทธิ์แล้ว กิจกรรมทางการเมืองครั้งนี้สามารถสรุปได้ในประโยคเดียว คือ “โอบรับความแตกต่างหลากหลาย สังคมที่ดีไม่ใช่สังคมที่ทุกคนคิดเหมือนกันหรือเป็นแบบเดียวกัน ”
เขากล่าวว่า สังคมที่ดี คือ สังคมที่ทุกคนโอบรับความหลากหลายและเข้าใจว่า ความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ผู้ป่วย ถ้าเรามองความหลากหลายเป็นเรื่องปกติได้ ทัศนคติทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นต่างได้ เพราะสังคมประชาธิปไตย คือ การเคารพความหลากหลาย สิ่งนี้คือ สิ่งที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้
เศรษฐกิจติด การเมืองตัน
ศรีสะเกษเป็นส่วนหนึ่งของปรากฎการณ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ มา 88 ปีแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2500 ศรีสะเกษและจังหวัดอื่นๆ ทั่วภาคอีสานกลายเป็นเป้าหมายของโครงการ “การพัฒนา”
แม้นักวิชาการจะบอกว่า อัตราความยากจนในจังหวัดศรีสะเกษ จะลดน้อยลงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างอีสาน (และศรีสะเกษ) กับกรุงเทพฯ ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายแห่งชาติที่รวมทุกอย่างเข้าสู่ศูนย์กลาง
แม้จะความพยายาม “กระจายอำนาจ” ออกจากส่วนกลางอย่างเชื่องช้าจะทำให้เงินภาษีเพียงเล็กน้อยถูกส่งคืนมายังจังหวัด ทว่ากระแสเงินส่วนมากก็ยังคงไหลไปสู่กรุงเทพฯ ทั้งที่ภาคอีสานมีจำนวนประชากรคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ และมีค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (จีดีพี) คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ กระทั่งปี 2553 อีสานก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลางเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ข้อมูลจากธนาคารโลก เรื่องการปรับปรุงการบริการและการขนส่ง (2012)
ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ
หากรัฐบาลกลางมุ่งมั่นทำงานเพื่อ “ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ” อย่างแท้จริงแล้ว ภาคอีสานควรได้รับการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับจำนวนประชากรมากกว่านี้ หรืออย่างน้อยก็ได้รับการจัดสรรอย่าง “ยุติธรรม” หากเทียบกับมูลค่าจีดีพีที่สร้างให้กับประเทศ แต่ภาคอีสานกลับไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเช่นนั้นเลย
ในทางการเมือง คะแนนเลือกตั้งจำนวนมหาศาลจากภาคอีสานมีส่วนช่วยทำให้นายกรัฐมนตรีที่พวกเขาเลือกได้รับตำแหน่งถึง 4 ครั้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
คนหนึ่งสูญเสียชัยชนะเมื่อปี 2548 หลังศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
คนหนึ่งถูกถอดถอนจากตำแหน่ง เพราะจัดรายการทำอาหาร และอีกสองคนถูกขับไล่จากคณะรัฐประหารที่มีกองทัพอยู่เบื้องหลัง
จังหวัดศรีสะเกษ ลงคะแนนประชามติปฏิเสธรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลทหาร ทั้งปี 2550 และ 2560
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า จังหวัดศรีสะเกษขาดองค์ประกอบสำคัญที่จะสร้างคำจำกัดความให้แก่ตัวเอง งานชิ้นนั้นชี้ว่า ศรีสะเกษมี “ภาคประชาสังคมท้องถิ่นที่ยุ่งเหยิง” รวมกับ “รัฐบาลท้องถิ่นที่อ่อนแอ”
สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจอันเหลื่อมล้ำและภาวะติดตันทางการเมืองมีส่วนผลักดันให้การชุมนุมประท้วงในศรีสะเกษขยายตัวกว้างขึ้น การเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายเช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในระดับชาติ แต่ก็มีเป้าหมายขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับท้องถิ่น การเคลื่อนไหวนี้จะช่วยก่อร่างสร้างความเป็นศรีสะเกษ ที่รวมถึงความสำคัญในการสร้างพื้นที่สำหรับผู้มีความหลากหลายอย่างกลุ่ม LGBT ด้วย
VIDEO
เสน่ห์แห่งศรีสะเกษ
พรสิทธิ์รู้สึกดีใจที่เขาเลือกอยู่ศรีสะเกษ โดยเขามองว่า กรุงเทพฯ เป็นเหมือนแก้วที่ไม่มีวันเติมเต็ม ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้าสายใหม่ โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ไหลเข้าไปจนล้นเกิน ในขณะที่เมืองอื่นๆ ไม่ได้รับการเหลียวแล
กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าสายใหม่ได้ ซึ่งพรสิทธิ์ตั้งคำถามว่า “ทำไมศรีสะเกษจะขอมีแค่ระบบรถเมล์ที่ดีหน่อยไม่ได้บ้าง”
พรสิทธิ์อาจจะกล่าวว่า ผลไม้รสเลิศ หมอกหนาบนเขาสูง รวมถึงรอยยิ้มอันอบอุ่นของผู้คน คือ เสน่ห์ของจังหวัดศรีสะเกษ
แต่จะมีอะไรที่มีเสน่ห์มากไปกว่ากลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายมารวมตัวกันเพื่อพลิกโฉม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับจังหวัดศรีสะเกษเล่า