ดลวรรฒ สุนสุข เรื่อง 
สุภาพร ธรรมประโคน ภาพ 

กลางเดือนพฤศจิกายน ข้าวกลางทุ่งนาเหลืองอร่ามโน้มรวงรอการเก็บเกี่ยว สายลมหนาวเริ่มพัดผ่านเป็นสัญญาณบอกลาฤดูฝน การเตรียมพร้อมสำหรับฤดูกาลแสดงรอบใหม่ของคณะหมอลำได้เริ่มขึ้น 

หลังไม่ได้ขึ้นเวทีแสดงตั้งแต่เกิดวิกฤติโรคโควิด – 19 ระบาด เพราะรัฐบาลให้ยกเลิกงานมหรสพเพื่อป้องกันโรคติดต่อตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา คณะหมอลำเสียงอิสาน กลับมาวาดลวดลายผ่านงานแสดงอีกครั้ง ทุกปีจะมีการปรับเปลี่ยนชุดโชว์และรูปแบบการนำเสนอ ก่อนที่จะออกตระเวนมอบความสุขตามผู้จ้างในฤดูกาลแสดงปี  2563 -2564 ที่กำลังจะมาถึงนี้

 หลังฮ่านหมอลำ พื้นที่ของคู่รักเพศทางเลือก

 เมื่อดวงอาทิตย์ลับสายตา แสงไฟหลายเฉดบนเวทีหมอลำกำลังส่องประกาย  เวลา 19.00 น. ด้านหลังเวที นักเต้น หรือ แดนเซอร์ 80 กว่าชีวิต กำลังง่วนอยู่กับ อุปกรณ์แต่งหน้าและชุดการแสดงบนเวที ประจำตามซุ้มต่างๆ กว่า 20 ซุ้ม ภายในซุ้มมีชุดแดนเซอร์ พร้อมกับอุปกรณ์ตกแต่ง ห้อยเรียงรายอยู่กว่า 20 ชุด 

 พัฒนาการ ไกรษี หรือ แป๋ม อายุ 31 ปี  และ กัญญาวีร์ มีพานทอง หรือ หน่อย อายุ 39 ปี คู่รักทอม-ดี้ กำลังง่วนอยู่กับการแต่งหน้า ทำผม ให้กันและกันเพื่อการแสดงในค่ำคืนนี้ อีกมุมหนึ่งของซุ้ม เด็กชายวัยซนกำลังนั่งเล่นโทรศัพท์อยู่ไม่ห่าง

“ นี้เป็นลูกชายพี่เอง ชื่อไทม์ กำลังเรียนอยู่ ป.5 แป๋มเขาก็ช่วยเลี้ยงมาด้วยกันตั้งแต่ 2 ขวบ ตอนนี้ 11 ขวบแล้ว ” หน่อยแนะนำลูกชายรารู้จัก

กัญญาวีร์ มีพานทอง หรือ หน่อย (กลาง) พัฒนาการ ไกรษี หรือ แป๋ม (ขวา) และ ลูกชาย (ซ้าย) กำลังรับประทานอาหารในเต้นท์ด้านหลังฮ่านหมอลำ

แป๋มและหน่อย คบหาดูใจกันมาแล้ว 9 ปี หลังจากหน่อยแยกทางกับสามี ขณะที่ลูกชายมีอายุเพียงอายุ 2 ขวบ ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันภายใต้ชายคาคณะหมอลำเสียงอิสานแห่งนี้

“พี่เคยแต่งงานกับผู้ชาย มีลูกด้วยกัน ตอนแรกก็คิดว่า จะไปกันรอด แต่เราไม่ชอบการกระทำ คำพูดของเขา รู้สึกว่า เอาเปรียบเรา เลยไม่เข้าใจกัน แยกทางกัน จากนั้นก็ได้มาเจอกับแป๋ม รู้สึกว่าเข้าใจเรา คุยกันได้ทุกเรื่อง เลยตัดสินใจคบกัน เราเองก็ชอบทอมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”หน่อยเล่าถึงเรื่องราวความรักของทั้งคู่ 

เช่นเดียวกันกับ แป๋มที่เล่าว่าสบายใจเมื่อได้อยู่กับหน่อย ทำให้ทั้งคู่ตกลงปลงใจสร้างครอบครัวด้วยกัน 

 “เราชอบผู้หญิงอยู่แล้ว เมื่อได้เจอกับเขา คุยแล้วรู้สึกว่าสบายใจ ทำให้เป็นตัวของเราเอง ทำให้ชอบเขา” แป๋มเล่าถึงมุมมองความรักของเขา 

พัฒนาการ ไกรษี หรือ แป๋ม เปิดเผยว่า เป็นทอมบอย หลังจากเข้ามาทำงานในวงดนตรีเสียงอิสาน

กล้าเปิดเผยตัวตนเมื่ออยู่ในวงหมอลำ 

ย้อนกลับไปเมื่อ “แป๋ม” ในวัย ย 18 ปี หลังจากจบการศึกษาชั้น ม.6 เขาออกจากบ้านจังหวัดศรีสะเกษมาจังหวัดอุดรธานี เพื่อสมัครงานกับหมอลำคณะเสียงอิสาน ด้วยความชอบส่วนตัวและความอยากรู้ อยากเห็นว่า คนทำงานในวงหมอลำใช้ชีวิตกันอย่างไร

 เมื่อได้เข้ามาอยู่ในวง งานแรกที่ทำ คือ ฝ่ายเสื้อผ้า หรือ คอสตูม ต่อมา นกน้อย อุไรพร หัวหน้าวงหมอลำคณะเสียงอิสาน ได้ชวนให้ แป๋ม ลองฝึกเต้นเป็นแดนเซอร์หญิง เมื่อลองทำแล้วก็พบว่า สามารถทำได้ จึงยึดตำแหน่งนี้มาโดยตลอด

“ในวันแรกที่มาทำงาน เราไม่ได้เป็นคนรักสวยรักงามแบบผู้หญิง แต่อยากมาดูว่าหมอลำอยู่กันอย่างไร เข้ามาทำฝ่ายคอสตูม ทำได้สักพัก แม่นกก็ชวนไปลองเต้นดู เราก็ไม่รู้ว่าเราเต้นได้ จนกระทั่งได้ลองดู”  แป๋มพูดถึงการเข้ามาอยู่ในวงหมอลำ

ก่อนออกจากบ้าน แป๋ม ยังคงใช้ชีวิตเหมือนเพศสภาพที่เป็นหญิง เพราะกลัวว่าครอบครัวจะไม่เข้าใจ 

เขาบอกว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน สังคมส่วนใหญ่ยังไม่เปิดพื้นที่สำหรับเพศทางเลือกเหมือนทุกวันนี้ เขาเองก็กลัวจะเป็นสิ่งแปลกแยกในสังคม แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในวงหมอลำ ได้พบว่า ทุกคนต่างมีความหลากหลายทางเพศ สามารถแสดงออกได้ว่า ตัวเองชอบแบบไหน โดยที่ไม่ต้องมากังวลเรื่องพวกนี้ ทำให้กล้าเปิดตัวเอง

แป๋ม ในชุดแดนเซอร์หญิง เตรียมตัวในเต้นท์ด้านหลังเวที ก่อนขึ้นแสดง

“ในช่วงนั้นมีแต่แดนเซอร์ผู้หญิง มี 100 กว่าคน ทอมก็เยอะ  ทำให้เรากล้าเปิดตัว ก่อนหน้านี้เราเองไม่กล้าเปิดตัวเอง รู้แต่ว่า ชอบผู้หญิง ได้แต่แอบมอง”แป๋มเล่าประสบการณ์ส่วนตัว 

หลังจากแป๋ม ทำงานกับคณะเสียงอิสานได้ 3 ปี จึงเปิดเผยตัวเองว่าเป็นทอม เริ่มจากตัดผมสั้น คบแฟนผู้หญิง ตอนแรกพ่อแม่ยังไม่เปิดใจยอมรับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ยอมรับได้ เมื่อเห็นว่า แป๋ม ดูแลตัวเองได้

“ในช่วงแรกที่เปิดตัว แม่กับพ่อ ก็ยังไม่เปิดใจยอมรับเรา เพราะกลัวชาวบ้านจะนินทา แต่พอเราเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัวได้ ที่บ้านก็เปิดใจยอมรับ แต่สำหรับในวงหมอลำจะยอมรับกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน” แป๋มเล่าถึงการยอมรับเพศทางเลือกของครอบครัวและวงหมอลำ

ก้องภพ บุญยืน หรือ แสตมป์ แดนเซอร์ชาย ขณะแต่งหน้าอยู่ในซุ้มหลังเวที และเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อทักทายแฟนคลับ ด้วยการเชิญชวนให้มาชมการแสดง คณะหมอลำ พื้นที่ปลอดภัย สำหรับความหลากหลายทางเพศ

ก่อนถึงวันแสดง 1 วัน The Isaan Record ได้เข้าไปที่ตั้งของวงเสียงอิสานที่ จ.อุดรธานี  บ้านพัก 2 ชั้น….กี่ห้อง จึงเป็นเหมือนที่เก็บอุปกรณ์และชุดสำหรับโชว์ ส่วนหนึ่งถูกแบ่งเป็นพื้นที่ตกแต่งและซ่อมแซมเสื้อผ้าเพื่อใช้ในการแสดง

ธนวรรธน์ เมธาวงศ์ วัย 55 ปี ผู้จัดการวงและผู้ออกแบบเสื้อผ้าชุดการแสดง กำลังขะมักเขม้นกับการออกแบบตกแต่งชุดสำหรับการแสดงเพื่อให้ทันใช้ในวันรุ่งขึ้น 

“ตอนแรกเลย วงเสียงอิสานจะไม่มีแดนเซอร์ผู้ชาย เรามีแต่ผู้หญิง เพราะเป็นนโยบายของแม่นกน้อยกับพ่อหลอด เจ้าของวง แต่เรามาเปลี่ยนช่วงประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมา รับแดนเซอร์ชายเข้ามา เพราะจะได้มีโชว์ที่หลากหลายมากขึ้น เราแทบจะเป็นคณะสุดท้ายที่เปลี่ยน” ธนวรรธน์ เล่าถึงความเป็นมาของแดนเซอร์ 

ธนวรรธน์ เล่าต่อว่า คนที่เขามาอยู่ในวงหมอลำ ผู้ชาย จะมีความหลากหลายทางเพศเยอะมากในปีแรกที่วงมีแดนเซอร์ผู้ชายก็มีถึง 22 คน เป็นชายตามเพศสภาพ 6 คน และเป็นเพศทางเลือกอีก 16 คน แต่มาปีหลังๆ ทุกคนแทบจะเป็นเพศทางเลือกทั้งหมด 

“ทำไมเพศทางเลือกถึงเยอะในวงหมอลำ คิดว่า น่าจะเป็นเพราะในบ้าน (คณะหมอลำ) เวลาเพศทางเลือกเข้ามาอยู่ด้วยกัน เขาจะคุยกันได้ทุกเรื่อง พบเจอปัญหาคล้ายกันทำให้ก้าวข้ามการเหยียดเพศ โดยที่เราไม่ได้นำปัญหาความแตกต่างทางเพศมาคิดเลย เรามองที่สามารถเป็นหลัก” ธนวรรธน์ เล่าถึงความหลากหลายทางเพศในหมอลำ 

ธนวรรธน์ เมธาวงศ์ ผู้จัดการวงและผู้ออกแบบเสื้อผ้าชุดการแสดง

หมอลำคือครอบครัวแห่งความหลากหลาย 

เช่นเดียวกันกับ ก้องภพ บุญยืน หรือ แสตมป์ วัย 27 ปี หัวหน้าแดนเซอร์ชาย ที่เข้ามาทำงานในวงหมอลำแห่งนี้ตั้งแต่อายุ 18 ปี ด้วยความหวังที่ว่า วงดนตรีแห่งนี้จะทำให้เขาได้แสดงศักยภาพของตังเองได้เต็มที่และได้อยู่ร่วมกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ  

“มาสมัครเข้าวงตัวคนเดียวก็คิดว่า พื้นที่ตรงนี้เหมาะสมกับเรา ได้อยู่กับคนที่เหมือนกับเรา พอได้เข้ามาอยู่จริงก็เป็นปีที่ 9 แล้ว รู้สึกอบอุ่น อยู่กับแบบครอบครัว”

 แสตมป์ เล่าต่อว่า เมื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพศทางเลือก มาอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดความเข้าใจกัน คุยกับได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าวงนี้หรือวงอื่น ทำให้เรารู้สึกว่า หมอลำเหมาะสมสำหรับเพศทางเลือก เพราะว่า เขาเปิดโอกาสให้เรา

ก้องภพ บุญยืน หรือ แสตมป์ หัวหน้าแดนเซอร์ชายแสตมป์ ก่อนเตรียมตัวขึ้นทำการแสดงบนเวที

การแสดง เพลง – ตลก และเพศที่ 3 

ในอดีตคณะหมอลำเสียงอิสาน ดังสุดขีดประมาณช่วงปี 2550 ในช่วงเวลานั้นมีสมาชิกในวงถึง 450 คน ในแต่ละรอบการแสดงมีผู้มารอชมไม่ต่ำกว่างานละหนึ่งหมื่นคน

หนึ่งในโชว์ที่ทุกคนรอดู คือ การแสดงตลกของคณะ ที่มีการแสดงของคนข้ามเพศ (Cross-Gender) โดยเฉพาะ กะเทย ที่เป็นกลุ่มการแสดงที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะและสร้างสีสันให้เวที อาทิ ปอยฝ้าย มาลัยพร , ยายจื่น และ ยายแหลม

ดวงจันทร์ มาลัย หรือ ปอยฝ้าย ศิลปินนักร้อง อดีตตลกชื่อดังประจำคณะเสียงอิสานเล่าว่า แต่ก่อนที่เล่นเป็นตลกจะมีเล่นเป็นคนข้ามเพศ แสดงเป็นกะเทย หรือคนแก่ที่เป็นกะเทย เนื่องจากว่า คำพูด มุกตลก จะยืดหยุ่นมากกว่า ทำให้ใช้ลักษณะการแต่งตัวเป็นกะเทยในการแสดง อีกนัยยะหนึ่งกะเทย คือ ตัวแทนของความทันสมัย แสดงออกตรงไปตรงมา

ผู้ชมกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ร่วมร้องรำและเต้นบริเวณหน้าฮ่านหมอลำขณะคณะเสียงอิสานแสดงอย่างสนุกสนาน

ปอยฝ้าย เล่าต่อว่า กะเทย เป็นตัวแทนของความสนุกสนานจึงทำให้การแสดงบนเวทีมีความสนุก ซึ่งเป็นที่มาของการแสดงเป็นกะเทย 

“แต่ก่อนสังคมยังไม่เปิดกว้างขนาดนี้ ทำให้ยังไม่ยอมรับเท่าไหร่ แต่ในสายบันเทิง หมอลำ ลิเก หรือในวงการละคร ความหลากทางเพศมีมานานแล้ว แต่ปัจจุบันสังคมข้างนอกก็เปิดด้วยทำให้ทุกคนกล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่” ปอยฝ้าย มาลัยพร กล่าว  

อุไร ฉิมหลวง หรือนกน้อย อุไรพร วัย 63 ปี หัวหน้าวงเสียงอิสาน กำลังร้องเพลง โดยมี แป๋ม เต้นอยู่ด้านข้าง

เปิดม่านการแสดง ทุกเพศเท่าเทียมเมื่ออยู่บนเวที

“คณะหมอลำเสียงอิสาน บ้านเลขที่ 555 บ้านหนองใสตำบล หนองนาคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ” เวลา 21.00 น. เป็นคำกล่าวเปิดวงโดย นกน้อย อุไรพร ได้เริ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาเริ่มการแสดงที่คุ้นเคย

คณะหมอลำเสียงอิสานปีนี้ย่างเข้าปีที่ 46 โดยการนำของ อุไร ฉิมหลวง หรือ นกน้อย อุไรพร วัย 63 ปี  ปีนี้คณะหมอลำเสียงอิสานไม่ได้เล่นงานโชว์ จึงขาดรายได้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เพราะพิษโควิด-19 

“เกือบยุบวงแล้ว แต่ได้พี่น้องที่เคยทำงานด้วยกันกลับมาช่วย ชุบชีวิตเสียงอิสานกลับมาอีกครั้ง”นกน้อย เล่าถึงสถานภาพการเงินของคณะด้วยเสียงสั่นเครือ

 หลังเวที เราได้พูดคุยกับ นกน้อย เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในวง เธอเล่าว่า ที่นี่ มองความสามารถ ความจริงใจเป็นหลัก ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน เราไม่เคยคิด”

นกน้อย ยอมรับว่า ในอดีตสังคมยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ทำให้ตอนตั้งวง มีเฉพาะแดนเซอร์หญิง จนมาเปลี่ยนให้มีแดนเซอร์ชายเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา เพราะอยากเปิดโอกาสให้พื้นที่แสดงออกของเพศทางเลือกและเป็นผลดีสำหรับงานโชว์ที่จะมีความหลากหลายมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้ คนที่มีความหลากหลายทางเพศมักจะแอ๊บอยู่ แต่ช่วงหลัง พอสังคมเปิดกว้าง ทุกคนก็ได้แสดงออกเต็มที่ ส่วนตัวรู้สึกชื่นชม ที่กล้าแสดงออก และทำหน้าที่ได้ดีมาก ทุกวันนี้สังคมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เท่าเทียมกัน” นกน้อย อุไร กล่าวถึงความหลากหลายทางเพศในวงหมอลำ 

 

image_pdfimage_print