จุฑามาศ สีดา นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record เรื่อง
จนิสตา อาภาแสงเพชร นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record ภาพ
 
ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 (วานนี้) ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม และตัวแทนทนายความทั่วภาคอีสานร่วมกันหารือสร้างเครือข่ายทนายเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดี จากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง มีทนายเข้าร่วมกว่า 20 คน จากหลายจังหวัด อาทิ ขอนแก่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สกลนคร ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ เป็นต้น 
 
ทั้งนี้กลุ่มทนายความ ได้เสวนาแลกเปลี่ยนถึงประเด็นปัญหาการช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง เช่น การเข้าไม่ถึงตัวผู้ถูกดำเนินคดี ขณะถูกควบคุมตัวหรือถูกจับกุม หรือข้อหาที่ถูกนำมาใช้ส่วนใหญ่ในคดีการเมือง คือ มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และภายหลังเริ่มมีการนำมาตรา 112 ที่ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กลับมาใช้อีกครั้ง
 
 

คอรีเยาะ มานุแช สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) หนึ่งในผู้เข้าร่วมเครือข่าย

 
ด้าน คอรีเยาะ มานุแช สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) หนึ่งในผู้เข้าร่วมเครือข่าย กล่าวว่า เรามีบทบาทที่จะต้องปกป้องสิทธิมนุษยชน มีจุดมุ่งหวังว่า กฎหมายที่มีจะเป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการที่มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ ซึ่งรัฐบาลเองควรจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน แต่ในความเป็นจริงเราจะเห็นว่า รัฐบาลมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อที่จะปิดปาก ปิดกั้นและสร้างอุปสรรคให้กับการใช้สิทธิของประชาชน ที่มีการออกมาจัดกิจกรรมชุมนุมหรือประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันต่าง ๆ
 
ขณะที่วงศกร สารปัง ทนายความจากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ซึ่งเป็นองค์กรผู้จัด กล่าวว่า
ในปัจจุบันมีนักกิจกรรมหรือประชาชนออกมาแสดงความเคลื่อนไหวทางการเมืองและมีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก เราจึงเห็นว่า การสร้างเครือข่ายทนายความสำคัญในการช่วยเหลือด้านคดีความของประชาชน
 

image_pdfimage_print