ภาคปชช.อีสานปลุกอย่ายอมจำนนวาทกรรม “อีสานแล้ง” ชี้เกิดจากรัฐจัดการน้ำผิดพลาด ใช้อำนาจทุบโต๊ะรวมศูนย์ ไม่เชื่อรัฐบาลทหารบริหารจัดการน้ำได้ โครงการผันน้ำโขงส่อเหลว ระบุแม่โขงแบกรับภาระเรื่องความแห้งแล้งไม่ได้ หลังเขื่อนผุดอื้อทำปริมาณน้ำลด แนะรัฐกระจายอำนาจจัดการน้ำสู่ท้องถิ่น 

The Isaan Record จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “อีสานแล้ง” วาทกรรมจัดการน้ำในอีสาน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง ไพรินทร์ เสาะสาย ตัวแทนจากองค์การแม่น้ำแห่งชาติ และ สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน โดยมี หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณธิการ The Isaan Record ภาคภาษาไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ 

สุวิทย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า คำว่าอีสานแล้งนั้น มันมีคำศัพท์อยู่คำหนึ่งเขาเรียกวาทกรรมการพัฒนา วาทกรรมแบบนี้มันไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งสร้าง แต่มันคือกระบวนการที่สร้างกันขึ้นมา  ถ้ามองอีสานเราจะเห็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาก็คือหลัง 2504 เป็นต้นมา ยุคสมัยเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก อีสานแล้งมันเป็นวาทกรรมที่เราเห็นมา เช่น เราดูหนังหรืออ่านหนังสือเรื่องลูกอีสาน เราก็จะเห็นว่าลุงคำพูน บุญทวีเขียนเรื่องนี้  คนอีสานต้องอพยพในฤดูแล้งไปหาน้ำหาปลาในน้ำมูลน้ำชีเพื่อมาหมักปลาแดก ปลาร้ากินในช่วงฤดูต่างๆ มันถูกฝังมาอย่างนี้ในวัฒนธรรมในทางสังคมด้วย 

“ พอมันเป็นการเมือง มันเป็นเรื่องผลประโยชน์แล้ว อีสานแล้งมันถูกให้ความหมายที่ชัดเจนในช่วงที่มีการพัฒนาโครงการ โขง ชี มูล  ซึ่งเป็นโครงการพัฒนายุคแรกของอีสาน มีการประชุม ครม. สัญจรที่ขอนแก่น และมีการพูดถึงเรื่องนี้ โดยรัฐมนตรียุคนั้นคือ ประจวบ ไชยสาส์น ซึ่งเป็น ส.ส.อุดรธานี อยู่กระทรวงวิทยาศาสตร์  การเสนอโครงการนี้ เพื่อทำให้อีสานมีน้ำมาทำเกษตรกรรม แล้วเรื่องนี้มันก็เลยเป็นนโยบายการหาเสียงของ  ส.ส.นักการเมืองในยุคนั้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และเมื่อนักการเมืองโยนเรื่องผลประโยชน์  เรื่องอีสานแล้งเข้ามา แน่นอนมันไม่ใช่แค่พูดถึงแล้งอย่างเดียวแล้ว มันหมายถึงเมกะโปรเจ็กต์ที่จะเกิดขึ้น แล้วก็เกิดการสร้างเขื่อนขึ้นในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ”

สุวิทย์ มองว่า วาทกรรมอีสานแล้งมันถูกฝังลงไปในสำนึกของคน ดังนั้นนโยบายที่ฝ่ายรัฐเสนอแล้วเข้าตาคนหรือเกษตรกรที่ถูกปลูกฝังวาทกรรมอีสานแล้งลงไป  ก็คือว่าการพัฒนาหรือการจัดการน้ำมันต้องมี  ซึ่งเราไม่ปฏิเสธเพราะมันเป็นทรัพยากรที่ต้องบริหารจัดการร่วมกัน แต่สิ่งสำคัญที่เราพบ เช่น โครงการขนาดใหญ่จะเป็น โขง ชี มูล หรือ โขง เลย ชี มูล เฟส 2 มันเป็นการบริหารจัดการทุบโต๊ะ คือใช้อำนาจในการบริหารจัดการน้ำในยุคที่ทหารปกครองประเทศ ยุค คสช. เอง ยุค รสช.อะไรต่างๆ แล้วไม่ได้ฟังเสียงประชาชน โดยโครงการโขง ชี มูล เฟส 2 มีความคืบหน้าแล้ว 20 % ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์เพราะเราไม่เชื่อว่าทหารจะทำได้ทุกเรื่อง การบริหารแบบนี้ เราไม่เชื่อว่าทหารจะเข้ามาจัดการได้ เพราะทหารมองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก  ทั้งนี้อย่าลืมว่านักการเมืองหลายพรรค จะเป็นพรรคที่เราบอกว่าก้าวหน้า หรือพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมก็ได้ หลายคนก็ยังมองเรื่องการบริหารจัดการน้ำแบบท็อปดาวน์ลงมา ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ตนคิดว่าเป็นประเด็นที่จะต้องมีการถกเถียงเช่นกัน และการบริหารภายใต้อำนาจเผด็จการของรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะไปต่ออย่างไร

“วาทกรรมอีสานแล้งมันถูกฝังลงไปในสำนึกของคน ดังนั้นนโยบายที่ฝ่ายรัฐเสนอแล้วเข้าตาคนหรือเกษตรกรที่ถูกปลูกฝังวาทกรรมอีสานแล้งลงไป” สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง

สุวิทย์ กล่าวต่อว่า นอกจากคำว่าอีสานแล้งแล้ว มันมีคำใหม่ที่เข้ามาเขาเรียกอีสานแล้งซ้ำซากๆ คือมันมีการผลิตวาทกรรมเหล่านี้มาเรื่อยๆ แต่ถ้าเราดูปริมาณน้ำฝนในอีสาน เราจะรู้ว่าเลาะแม่น้ำโขงชายขอบปริมาณน้ำฝนหลายที่หลายจังหวัดมากกว่าภาคใต้ด้วยซ้ำไป ประเด็นสำคัญคือปริมาณน้ำฝนในทางวิทยาศาสตร์ก็บอกเลยว่าอีสานไม่ได้แล้ง แต่ปัจจุบันคือมันถูกยัดเยียด พอมีการยัดเยียด มันก็เลยต้องผลิตโครงการที่เรียกว่าเมกะโปรเจ็กต์บริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ออกมาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องความแล้งซ้ำซากและอีสานแล้งต่อไป โด อันนี้คือสิ่งที่ตนคิดว่าเราต้องช่วยกัน ยิ่งมีคำแบบนี้ออกมามากๆ ยิ่งต้องดีเบตถกเถียงกัน แล้วก็นำไปสู่การแลกเปลี่ยนและสร้างกระบวนการคิดใหม่ๆ ออกมา และเราจะยอมจำนวนกับวาทกรรมเหล่านี้ไม่ได้

สุวิทย์ ระบุอีกว่า สำหรับทางออกในการจัดการน้ำในภาคอีสานนั้น ต้องมีการประเมินความคุ้มค่าในการสร้างเขื่อน ทั้งนี้ในเรื่องข้อเสนอให้ทุบเขื่อนทิ้ง ตนเห็นว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วไปทุบได้เลย แต่ต้องประเมินความคุ้มค่าก่อนว่าเขื่อนมีประโยชน์ตามที่ได้กล่าวอ้างหรือไม่ โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประเมิน หากประเมินแล้วไม่มีความคุ้มค่าก็เห็นด้วยในการทุบและต้องทุบคันไดร์หรือถนนที่ทำให้ระบบนิเวศลำน้ำเปลี่ยนแปลงด้วย ตรงนี้จะต้องหาวิธีการประเมินโครงการ

” ที่ผ่านมาไม่เคยมีการประเมิน แต่ไปหน้าเรื่อยๆ สร้างไปข้างหน้าไปเรื่อยๆ ดังนั้นก่อนจะทุบต้องมีการประเมินก่อน ซึ่งการประเมินนั้นจะเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนด้วย และทางออกมันไม่ใช่แค่ประชาชนเสนออย่างเดียว หน่วยงานรัฐต้องใจกว้างด้วย ยอมให้ประเมินหรือไม่ซึ่งถ้าเราไปดูการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ภาคประชาชนหรือเกษตรกรอยู่ข้างหลังสุดในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม อาจจะมีตัวแทนที่ไม่ใช่ตัวแทนจริงๆ เป็นตัวแทนที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นหัวโขนเท่านั้น ตนคิดว่าทางออกของการจัดการน้ำมันมีหลายมิติมาก แต่เสนอว่าต้องศึกษาความคุ้มค่าของโครงการนั้นๆ ก่อนจะทุบหรือไม่ทุบค่อยว่ากัน ” สุวิทย์ กล่าว

ด้าน สิริศักดิ์ กล่าวว่า  ในปัจจุบันปัญหาน้ำแล้ง มันไม่ได้เกิดขึ้นจากฤดูกาล แต่มันเกิดขึ้นจากการจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐเอง ภายใต้การบริหารจัดการโดยเฉพาะการสร้างเขื่อน พอสร้างเขื่อนขึ้นมา การจัดการน้ำมันขึ้นอยู่กับรัฐ มันนำไปสู่การรวมศูนย์ทั้งหมด ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องย้อนมองข้างหลังเพื่อจะดูไปข้างหน้า  แต่ในส่วนของรัฐเองเราเห็นชัดแล้วว่ารัฐไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แต่เขาไปให้ความสำคัญกับกระบวนการในการกำหนดนโยบายมากกว่า บทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมาภายใต้โครงการโขง ชี มูล สะท้อนให้เห็นแล้วว่า มันไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าในกระบวนการจัดการน้ำผ่านการสร้างเขื่อนที่ใช้งบประมาณไม่กี่ร้อยล้าน แต่ต้องจ่ายค่าเยียวยาชาวบ้านมหาศาลกว่าการสร้างเขื่อน ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าต่อไปกระบวนการในการเรียกร้องสิทธิของพี่น้องจะเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการน้ำตรงนี้ 

การบริหารจัดการน้ำที่รัฐพยายามรวมศูนย์ในปัจจุบัน มันจะนำไปสู่การทำให้เกิดปัญหากับชุมชน ระบบนิเวศ กับสิ่งแวดล้อม กับวิถีชีวิต สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน

สิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า  การจัดการน้ำของรัฐบาลปัจจุบันพิสูจน์ชัดแล้วจากการศึกษาว่ามันก่อให้เกิดผลกระทบ แต่รัฐไม่เคยสรุปบทเรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำตรงนี้ แต่พยายามที่จะเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันนี้พื้นที่อีสานมันหมดพื้นที่สำหรับการสร้างเขื่อนแล้ว เราไม่อยากเห็น โครงการโขง เลย ชี มูลที่มีนักการเมืองพยายามใช้วาทกรรมแบบเดิม ตนใช้คำว่านักการเมืองไปหากินกับน้ำ มันหมดยุคแบบนี้แล้ว เพราะที่ผ่านมาโครงการ โขง ชี มูล เดิมคุณยังแก้ไขปัญหายังไม่เสร็จเลย ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ 

การบริหารจัดการน้ำที่รัฐพยายามรวมศูนย์ในปัจจุบัน มันจะนำไปสู่การทำให้เกิดปัญหากับชุมชน ระบบนิเวศ กับสิ่งแวดล้อม กับวิถีชีวิต ซึ่งตนมองว่าขณะนี้รัฐกำลังจัดระเบียบน้ำทั้งหมด ผ่านการรวมศูนย์ผ่านเครื่องมือต่าง เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือการใช้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) หรือพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำมาควบคุม  ซึ่งตนมองว่าถ้ารัฐยังเดินหน้าประเด็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำต่อ ในรูปแบบที่ยังเหมือนเดิมโดยที่ข้ามหัวประชาชน ไม่เห็นหัวประชาชน และยิ่งกว่านั้นก็คือว่าคุณไม่เคยที่จะมาสรุปบทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมาเลย

สิริศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องความจริงใจของภาครัฐ  รัฐเองสนใจหรือจริงใจที่จะศึกษาเรื่องนี้เพื่อยกระดับการจัดการน้ำนำไปสู่ความยั่งยืนหรือไม่ ตนคิดว่ามันควรที่จะมีคณะกรรมการในระดับลุ่มน้ำที่มีการศึกษารูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็ก เพื่อเราจะนำรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่ พัฒนาให้แต่ละพื้นที่ใช้ประโยชน์สูงสุดของเขาเอง โดยให้เขาเป็นเจ้าของน้ำ ไม่ใช่รัฐเป็นเจ้าของน้ำ ไม่ใช่หน่วยงานราชการเป็นเจ้าของน้ำแล้วมากำหนดนโยบาย แต่ชาวบ้านต้องเป็นคนจัดการน้ำเป็นเจ้าของน้ำเอง ทั้งนี้ในส่วนพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อนเสร็จแล้วและก่อให้เกิดผลกระทบ บางพื้นที่มันไม่มีกระบวนการในการศึกษาเลย ซึ่งอันนี้ต้องเร่งรีบในการศึกษาเพื่อประเมินความคุ้มค่า และในส่วนของพื้นที่ที่กำลังจะมีโครงการและยังไม่มีโครงการหรือนโยบายลงมา ตนคิดว่ารัฐบาลควรยุติไว้ก่อน แล้วหันหน้าสู่ข้อแรกที่อธิบายไปก็คือคุณลองเอางบประมาณแค่ไม่กี่บาทลงมาร่วมศึกษาร่วมพัฒนากับชุมชน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดตรงนั้นดีกว่าต้องไปเยียวยาในภายหลัง 

ไพรินทร์ เสาะสาย ตัวแทนจากองค์การแม่น้ำแห่งชาติ

ขณะที่ ไพรินทร์ ตัวแทนจากองค์การแม่น้ำแห่งชาติ กล่าวในประเด็นแม่น้ำโขงจะสามารถตอบโจทย์เรื่องความแห้งแล้งของอีสานได้หรือไม่ ว่า จริงๆ สภาพตอนนี้เราคิดว่าแม่น้ำโขงคงไม่สามารถจะแบกรับภาระเรื่องความแห้งแล้งให้กับคนอีสานได้ทั้งหมด เพราะว่าแม่น้ำโขงเองก็เจอปัญหาภาวะวิกฤตหนักมากๆ ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนในจีน 11 แห่ง ที่กักน้ำไว้มากกว่า 4.7 หมื่นล้าน ลบ.ม. ซึ่งมหาศาลมาก และตอนล่างมีแผนเรื่องการสร้างเขื่อนทั้งหมด 11 แห่ง ตอนนี้สร้างไปแล้ว 2 แห่ง ก็คือไซยะบุรี กับดอนสะโฮง แล้วก็ตอนนี้มีการเสนอที่จะสร้างอีก 4 แห่ง เขื่อนในแม่น้ำโขงทั้งหมดเป็นเขื่อนที่จะเสนอขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย ก็ต้องถามว่าประเทศไทยต้องการไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงทั้งหมดนั้นจริงหรือไม่ สำหรับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่ในภาวะโควิด 19 ตอนนี้ อีกทั้งตอนนี้ประเทศไทยมีพลังงานสำรองมากกว่า 23,307 เมกะวัตต์ ซึ่งนับว่าเป็น 50 % อย่างไรก็ตามในอีก 5 ปี ข้างหน้าด้วยความที่ระบบการซื้อขายไฟฟ้ามันมีการเซ็นสัญญา 25 ปี ไว้ก่อน ทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะมีไฟฟ้าเข้ามาอีกมากกว่า 6,900 เมกะวัตต์ อันนี้คือยังไม่รวมกับแผนเรื่องการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขง เป็นโรงไฟฟ้าที่มีการเซ็นสัญญาไว้แล้ว โดยที่เราไม่รู้ว่าเราจะได้ใช้หรือเปล่า 

ไพรินทร์ ระบุอีกว่า ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้อยู่ คนที่คิดว่าจะเอาแม่น้ำโขงซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวมของคนภูมิภาคนี้ เอามาใช้สำหรับการแก้ไขปัญหาในประเทศตัวเองด้วยการอ้างว่าจะผันเข้ามาในปากแม่น้ำเลย แล้วก็ผ่านอุโมงค์มาเก็บไว้ที่เขื่อนอุบลรัตน์แต่จริงๆ เท่าที่เราติดตาม พบว่าถึงจะผันเข้ามาแต่ถามว่าประชาชนจะได้ใช้น้ำฟรีหรือไม่ อันนี้เป็นคำถามที่ต้องถามเพราะว่าน้ำที่ผันเข้ามามันมีต้นทุน ต้นทุนทางการก่อสร้าง ต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม ต้นทุนทางนิเวศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มูลค่ามันมหาศาลมากกว่าค่าน้ำที่เราต้องจ่าย ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จากวาทกรรมอีสานแล้งมากที่สุดก็คือคนที่กำหนดนโยบาย รวมไปถึงนักลงทุน เจ้าของกิจการ ผู้ก่อสร้างเขื่อน หรือธนาคารต่างผู้ที่ให้เงินกู้ ส่วนประชาชนคือผู้ที่ต้องจ่าค่าไฟที่มีการซื้อขายจากเขื่อน

ไพรินทร์ กล่าวว่า ข้อเสนอสำคัญหนึ่ง ตนมองว่าระบบชลประทานในภาคอีสานนั้น ภาคอีสานน่าจะมีอ่างเก็บน้ำและเขื่อนมากที่สุดในประเทศไทยเพราะว่ามันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ 3 ล้านกว่าไร่ และเราคิดว่าโครงการจัดการน้ำที่ถูกพัฒนาไปแล้วมีเยอะมาก แต่ว่ามันไม่ได้ถูกประเมินว่าความคุ้มค่าของโครงการต่างๆที่ทำไปแล้ว ว่ามันสามารถที่จะเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตรให้กับประชาชนในอีสานได้จริงหรือไม่ รายได้ของประชาชนที่อยู่ในเขตชลประทานมันเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ ดังนั้นข้อเสนอของเราๆ คือเสนอให้มีการประเมินตรงนี้มากกว่าที่จะไปข้างหน้า เพราะว่าบทเรียนแล้วก็งบประมาณที่จะใช้ในการลงทุนครั้งหน้า มันสูงมาก ซึ่งมันก็เป็นเงินจากภาษีของประชาชน  ไม่แน่ว่าเราอาจจะต้องไปยืมเงินของรัฐบาลไหนก็ได้ที่จะมาลงทุนนี้เพราะว่ามันเป็นโครงการขนาดใหญ่  โขง เลย ชี มูล เฟสแรกใช้เงินเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่สูงมาก แต่ได้ปริมาณน้ำปีละประมาณ 4,800 ล้านลบ.ม.ถือว่าน้อยมากสำหรับการผันน้ำเข้ามา

แผนที่ระบุตำแหน่งโครงการการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงตอนล่าง กราฟฟิคจากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ประเทศไทย

ไพรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอในเรื่องทางออกการจัดการน้ำในภาคอีสาน   ข้อเสนอของตนคิดว่าประเด็นสำคัญคือเรื่องการกระจายอำนาจให้ อบต.หรือท้องถิ่นในการจัดการน้ำเอง เพราะเราเชื่อว่าการจัดการน้ำในอีสานความเหมาะสมของมันคือขนาดเล็ก แล้วก็มีความหลากหลาย เพราะสภาพนิเวศกับข้อจำกัดของพื้นที่มันมีความหลากหลายมาก บางพื้นที่มันอยู่ภายใต้โดมเกลือ บางพื้นที่อยู่ในบ่งทาม ดังนั้นระบบชลประทานแบบแพทเทิร์นเดียวแบบเจ้าพระยาโมเดลมันใช้ไม่ได้ ทางออกสำคัญเราคิดว่าน่าจะกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นในการที่จะให้ท้องถิ่นไปออกแบบก็คือไปค้นหาความรู้เลยว่าในตำบลหรือในพื้นที่นิเวศตรงนั้น การจัดการน้ำที่มันเหมาะสมจริงๆ และมีราคาถูก ใช้ประโยชน์ได้จริงประชาชนมีส่วนร่วมจริงในการออกแบบตรงนั้นมันเป็นแบบไหน คิดว่ารัฐบาลส่วนกลางควรจะให้อำนาจแล้วก็งบประมาณในการจัดการน้ำตรงนี้ให้กับท้องถิ่น

คิดว่าคำว่าเสียสละเป็นคำที่เชยมาก ในภาวะเรื่องการพัฒนาในปัจจุบัน เพราะโลกปัจจุบันพูดเรื่องการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถ้าจะเอาวาทกรรมเรื่องผู้เสียสละ ประชาชนส่วนน้อยเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ มันใช้ไม่ได้จริงแล้ว เพราะที่ผ่านมาการพัฒนาแบบนั้นมันพิสูจน์แล้วว่าการเสียสละของคนส่วนน้อยมันไม่ได้รับการดูแลและไม่ได้รับการเคารพอย่างแท้จริง ในโครงการโขง ชี มูลนั้น โดยเฉพาะเขื่อนราศีไศลอันนี้คือข้อพิสูจน์ เราขอพูดย้ำอีกทีตลอดไปเลยว่าถ้ามีการพัฒนาแบบนี้มันจะทำให้รัฐเสียงบประมาณในการฟื้นฟูและแก้ไขเยียวยามากไปกว่าการลงทุน กรณีราษีไศลใช้เงินก่อสร้างแค่ 787 ล้านบาท แต่ว่าการฟื้นฟูจ่ายค่าชดเชยเยียวยาที่ยังไม่จบ ตอนนี้ใช้เงินไป 2,000 กว่าล้าน ก็คือมัน 3 เท่าของงบประมาณ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานด้านการจัดการน้ำต้องคิดว่าเราจะยอมใช้งบประมาณในการฟื้นฟูแล้วก็เยียวยาประชาชน ซึ่งมันมากกว่างบการลงทุน ดังนั้นมันจึงต้องชั่งน้ำหนักตรงนี้

“ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือการคิดที่จะเอาน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาเติมในอีสานคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นเรื่องความล้มเหลวในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำภายในภายอีสานเอง เพราะว่าคุณไม่สามารถจัดการน้ำที่มีอยู่ในภาคอีสานได้ คุณถึงต้องไปเอาน้ำจากในที่อื่นมาเติม ซึ่งมันก็ไม่ได้แฟร์กับคนที่เขาอาศัยอยู่กับแม่น้ำสายหลัก และมันก็ไม่ได้มีแค่คนไทย มันมีคนลาว เวียดนาม กัมพูชา และอีกหลายคน รวมไปถึงระบบนิเวศพวกปลา นกหรือสัตว์ ต่างๆ ที่พึ่งพาระบบนิเวศนี้อยู่ ความคุ้มค่ามันต่างกันมาก”

ไพรินทร์ กล่าวต่อว่า เขื่อน 14 ตัว ในลำน้ำมูล และชี รวมไปถึงเขื่อนปากมูล มันควรจะบริหารจัดการน้ำให้สัมพันธ์กัน มันไม่ควรจะถูกแยกส่วน เพราะอย่าลืมว่าโครงการโขง ชี มูล มันคือการสร้างแม่น้ำสายใหม่ ก็คือการขยายแม่น้ำให้มันมีความกว้างมากกว่า 250 เมตร ก็คือแม่น้ำสายใหม่ แล้วเอาน้ำผ่านมาอีสานทั้งลุ่มน้ำเพื่อที่จะให้น้ำออกไปทางปากมูล เพื่อที่จะไหลออกไปทางแม่น้ำโขงอีกครั้ง ถามว่าคุณทำแม่น้ำสายใหม่ขึ้นมาแต่ว่าข้างในมันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ละเขื่อนมันก็บริหารจัดการจากคนละหน่วยงาน มันจะเป็นอย่างไร อันนี้ลองจินตนาการภาพว่าถ้าเราเดินไปสู่ การพัฒนาแบบเดิมก็คือการพัฒนาแบบรวมศูนย์แล้วก็การเอาแม่น้ำที่เป็นแม่น้ำนานาชาติมาเติมในอีสานมันคุ้มค่ากันจริงหรือไม่ การทักท้วงจากประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องคำนึงถึงเพราะว่าเรายังอาศัยอยู่ร่วมกันใน 4 ประเทศ 

รับชมเสวนาฉบับเต็มได้ที่ :

https://facebook.com/IsaanRecordThai/videos/427843451929499

image_pdfimage_print