1

วงเสวนา LGBTIQ+อีสาน ชี้ประชาธิปไตยต้องมีความเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563  The Isaan Record จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ LGBTIQ+อีสาน บนเส้นทางความหลากหลายที่ยังไปไม่ถึง”  มีวิทยากรประกอบด้วย ก้าวหน้า เสาวกุล สมาชิกเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ศรีสะเกษ และ ธงชัย ทองคำ ครูสอนเพศศึกษา จ.บุรีรัมย์

ก้าวหน้า กล่าวว่า พอพูดถึงคำว่าความหลากหลายทางเพศ LGBTIQ+ หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยหมายความว่าอย่างไร  ทั้งนี้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเริ่มมีความคิดในเรื่องของสิทธิ LGBTI เกิดขึ้น ซึ่งเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษ L – lesbian คือ หญิงรักหญิง G-Gay ชายรักชาย  B-Bisexuality คือคนที่รักได้สองเพศ  T-Transgender หรือคนข้ามเพศ I- Intersex หรือผู้มีภาวะสองเพศ  

นอกจากนั้นก็ยังมีอัตลักษณ์อื่น เช่น Q- Queer คือคนที่อยู่นอกขนบของเพศ หรือ Non binary คนที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระบบเพศหญิงเพศชาย นอกจากนี้มันก็ยังมีการพูดถึงอัตลักษณ์อื่น เราก็เลยใช้เครื่องหมาย + หรือ พลัส ซึ่งองค์ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ มันมีการแลกเปลี่ยนกับโลกตะวันตกกับต่างชาติ ซึ่งมันไม่แปลก ประเทศอินเดีย ปากีสถาน มันก็มีวัฒนธรรมคำที่เรียกคนที่เป็นกะเทยคนข้ามเพศว่า ฮิจร่า (Hijra) บ้านเราก็เข้าใจในลักษณะที่ใช้คำว่ากะเทย คำว่าทอม เป็นต้น ซึ่งตนอยากจะเท้าความเพื่อปูพื้นฐานเข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความคิดเราด้วย 

ก้าวหน้า ระบุอีกว่า สำหรับในพื้นที่อีสานเมื่อไม่นานมานี้มีการสำรวจความหลากหลายทางเพศในพื้นที่อีสาน พบว่ามันมีการรวมกลุ่มในลักษณะที่เป็นกลุ่มสังคมร่วมกิจกรรมร่วมกัน เช่น กินข้าว ดูหนัง เที่ยว แฮงเอาท์ หรือกิจกรรมงานโรงเรียนอะไรต่างๆ  แน่นอนว่าพอการปรากฏเห็นเพศที่ไม่ได้อยู่ในขนบธรรมเนียม มันก็เริ่มมาตั้งแต่บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน ที่ๆ เราอยู่ ตามงานวัด หน้าฮ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ ต่อมาก็เริ่มมีการรวมตัวที่ไม่ใช่แค่ลักษณะที่เป็นงานสังคมอย่างเดียว เริ่มกลายเป็นกลุ่มการเมืองเกิดขึ้น ล้อไปกับความตื่นตัวทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มศรีสะเกษ กลุ่มบุรีรัมย์ เป็นต้น เรายังพบว่ากลุ่มที่เป็นนักศึกษาเองซึ่งเขามีอิสระที่จะแสดงออกก็จะมีกิจกรรมอะไรอย่างนี้เกิดขึ้น จนมีการเริ่มเพื่อสร้างเครือข่ายเพื่อพูดคุยเรื่องสิทธิขึ้นมาโดยอยู่ในขั้นตอนการเริ่มต้นและหวังว่าจะเติบขึ้นในขั้นตอนต่อไป

ส่วนทางออกเรื่องทัศนคติที่มีต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศในอีสานนั้น ก้าวหน้า มองว่า การยอมรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับทัศนคติส่วนบุคคล  ทั้งที่บ้าน ครอบครัว  โรงเรียน หรือที่ทำงาน ก็จะเห็นได้ว่า LGBT หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ อยู่ที่ว่ามีบุญหรือมีบาป ซวยหรือโชคดีที่จะไปเจอสิ่งแวดล้อมอย่างไรนั่น  มีการกดขี่หรือไม่  สถานการณ์ที่ LGBT ในอีสานต้องเจออยู่ที่ว่าจะโชคดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องความรู้สึกหรือทัศนคตินั้นไม่มีมาตรฐาน แต่ตนขอร้องว่าทำอย่างไรให้ LGBT หรือให้นักเรียนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้คนที่มีความแตกต่างทางเพศไม่ต้องดิ้นรนให้มีการยอมรับ แต่ได้รับการยอมรับเพราะเขาเป็นคน  

“หน้าที่ๆ เราต้องสอนต้องคุยกันในบ้านก็คือทุกคนก็มีหน้าที่กันหมด ทุกคนมีความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวหรือลูกชาย การที่เราจะสวดภาวนา พึ่งบุญพึ่งบาปอย่างเดียว มันก็ไม่ใช่ เราต้องอยู่กันด้วยเหตุผล ด้วยความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วมนุษย์แต่ละคนก็มีเจตจำนงมีความคิดความรู้สึก เราอยากให้ลูกเราเติบโตขึ้นมาสุขภาพจิตดี มีความเข้มแข็ง ความแข็งแรงที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี นั่นหมายความว่าเราก็ควรจะเข้าใจว่าเด็กสมัยนี้คนสมัยนี้ มีความคิดความอ่านที่จะเลือกทางเดินของตัวเองได้ ไม่ว่าจะอยู่หมู่บ้านไหนก็ตาม อย่าใช้อำนาจในการที่จะควบคุมกดขี่ ไม่ว่าจะลูกสาวลูกชาย ไม่ว่าจะเรื่องแต่งงานเรื่องเพศ เรื่องการใช้ชีวิต เป็นต้น นั่นหมายความว่าลูกของคุณ ญาติพี่น้องของคุณจะมีความเข้มแข็ง การยอมรับมันเกิดจากการรับฟังเข้าใจ เริ่มแรกมันก็อาจจะยากที่จะฟังว่า เพศมันไม่ใช่แค่อวัยวะเพศ”ก้าวหน้า กล่าว

ก้าวหน้า กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ชีวิตทางเพศมันยังมีได้หลายๆ แบบ มันก็จะไปล้อกับตัวกฎหมาย บ้านเราที่กฎหมายมันทำยากเพราะจริงๆ แล้วมันมี 2 เรื่อง คือเรื่องทางเทคนิค และเรื่องของการดำเนินการ เช่น พ.ร.บ.คู่ชีวิต สมรสเท่าเทียม เราก็เห็นอยู่ว่าสมรสเท่าเทียมคือเท่าเทียมกันในเรื่องของการสมรส  ส่วนพ.ร.บ.คู่ชีวิต มันก็ไม่เท่ากับสมรส เอาง่ายๆ เลยภาษาบ้านๆ มันก็ไม่เท่ากัน ความเท่าเทียม 98% มันไม่มีอยู่บนโลก มันคือเท่าเทียมกับไม่เท่าเทียมแค่นั้น  นอกจากนั้นยังมีในเรื่องกฎหมายรับรองเพศสภาพ รับรองสำนึกทางเพศ กะเทย ทอม ทรานส์ คนข้ามเพศ ถามว่าทุกวันนี้ยังแบกคำหน้านามที่ตรงข้ามกับบุคลิกภายนอก อย่างตนมีบัตรประชาชนเป็นนางสาวชีวิตตนลำบากมากเลย หลายคนแปลงเพศไปแล้ว หรือมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่คำนำหน้านามยังเป็นนาย  ถามว่าตรงนี้สร้างอุปสรรคในชีวิตขนาดไหน 

ก้าวหน้า เสาวกุล หรือ โตโต้ สมาชิกเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน

ดังนั้นสิ่งที่ควรจะคิดในการทำกฎหมายมีหลักการหลักๆ อยู่ 2 เรื่อง 1. คือต้องมีส่วนร่วม หมายความว่า ต้องรวมทุกกลุ่มปัญหาของคนที่เป็น LGBT เพราะชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า LGBTIQ+ มันมีหลายกลุ่ม คุณจะต้องครอบคลุม มีส่วนร่วมไม่ว่าสมรสเท่าเทียม ไม่ว่ารับรองเพศสภาพ ไม่ว่ากฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะไม่เช่นนั้นคุณก็ทำเหมือนกับคนอื่นๆ ทำกับคุณ ดังนั้น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมกับ พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพ พ.ศ. ต้องทำควบคู่กันไป 2.คือต้องเป็นประชาธิปไตย เราจะไปล็อบบี้กับข้าราชการ ด้วยการขอหรืออ้อนวอนร้องขอ เพื่อให้ได้มานั้นไม่ถูกต้อง นั่นหมายความว่า เราจะต้องคิดถึงวิธีการกระบวนการหลักการที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมจริงๆ  

“ที่สำคัญชาวบ้านรากหญ้าคนธรรมดา วันหนึ่งต้องตื่นตัวว่า นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการ นอกจากประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้วยังต้องเป็นประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียมทางเพศ  คน ส.ส.เธอมีหน้าที่โหวต มีหน้าที่ๆ จะเลือกทำให้ประชาธิปไตยมันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นั่นคือการรับรองกฎหมายให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่วนตัวรอวันนั้นอยู่ และเราต้องรอไปด้วยกัน”ก้าวหน้ากล่าว

ก้าวหน้า กล่าวอีกว่า ส่วนสุดท้ายขอพูดถึงอนาคตโดยเฉพาะพื้นที่อีสาน เรื่องเพศมันส่งผลต่อปากท้องต่อชีวิต ถ้าลูกคุณเป็นกะเทยคุณคิดว่าลูกคุณจะเป็นผู้พิพากษาได้หรือไม่ ทำงานเป็นข้าราชการ เป็นตำรวจได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ ถ้าลูกเป็นทอมเป็นกะเทยก็คิดปวดหัวจะตาย เขาจะมีชีวิตอย่างไร เพราะว่าพวกคุณรู้อยู่แล้วว่าชีวิตมันยากลำบาก ดังนั้นจึงไม่ใช่บอกให้ลูกตัวเองเอาตัวรอดเพียงคนเดียว ทำไมไม่ทำทางทำถนนให้มันจีรังยั่งยืน ให้มันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ทำไมเราไม่ยอมรับเขา ในฐานะที่เขาเป็นคน ไม่ใช่เพราะว่าเขาส่งเงินให้ที่บ้าน ไม่ใช่เพราะว่าเขาเรียนสูง แต่เพราะว่าลูกของเรา ลูกหลานเพื่อนฝูงของเรามีความเท่าเทียม มีชีวิต จิตใจเหมือนกับเรา เริ่มจากตรงนั้นก่อน คือเห็นอกเห็นใจเห็นว่าทุกคนเท่าเทียมกันหลังจากนั้นค่อยเข้าใจว่าตัวตนอัตลักษณ์ของเขาเป็นอย่างไร  เพศของเขาเป็นอย่างไร ความต้องการของเขาคืออะไร ไม่ต่างกับเรื่องประเด็นเหมือง ไม่ต่างกับค่าแรงไม่ต่างกับการถูกละเมิดอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ เพราะเรื่องเพศมันยังถูกฝังเข้าไปอัตโนมัติว่าตรงนี้ต้องเหมาะกับผู้ชาย ตรงนั้นต้องเหมาะกับผู้หญิง ผู้หญิงทำอย่างนั้นได้ทำอย่างนี้ไม่ได้ เป็นต้น ควรจะปลดล็อกกันเสียที ให้ทุกคนได้ใช้ศักยภาพกันเต็มที่  

ขณะที่ ธงชัย ทองคำ อาจารย์สอนเพศศึกษา โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม เล่าถึงสถานการณ์ความหลากหลายทางเพศในโรงเรียนว่า เป็นครูสอนสุขศึกษาและเพศศึกษา  ในระดับชั้น ม.ปลาย ซึ่งมองว่าในโรงเรียนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ แทบจะไม่ได้มีความผิดปกติอะไรเลย ส่วนตัวไม่ได้มองความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องใหม่  ซึ่งจากการประสบการณ์การสอนมาแล้ว 3 ปี ในชั้นเรียน บรรยากาศในโรงเรียนแทบจะเป็นเรื่องปกติ นักเรียนไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกบูลลี่ อันนี้คือเรื่องจริง กลับมองว่า กลุ่มนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งเท่าที่สังเกตนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคนจะมีความสามารถพิเศษ เช่น การแสดงออก การเป็นผู้นำเชียร์ เป็นประธานนักเรียน เป็นต้น กลายเป็นว่า กลุ่มนี้คือผู้นำเวลาที่มีกิจกรรมให้สร้างผลงานหรือสร้างสรรค์ต่างๆ ก็เลยมองว่าในบรรยากาศโรงเรียนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก อีกทั้งครูเองก็ชื่นชมและปฏิบัติต่อทุกกลุ่มด้วยความเท่าเทียม

ธงชัย กล่าวในประเด็นที่หลายโรงเรียนยังพบปัญหาครูไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและมีการแชร์ในโลกโซเชียลต่างๆ ว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นด้วยทัศนคติส่วนตัวของครู แต่บรรยากาศในโรงเรียนที่สอนอยู่ มีเพื่อนครูที่เป็นวัยเดียวกัน ที่ค่อนข้างจะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นครูชายครูหญิงหรือครูที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ เราไม่เห็นการคิดแบบเชิงลบ

ธงชัย ทองคำ อาจารย์สอนเพศศึกษา โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม เล่าถึงสถานการณ์ความหลากหลายทางเพศในโรงเรียนว่า
ธงชัย ทองคำ อาจารย์สอนเพศศึกษา โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม เล่าถึงสถานการณ์ความหลากหลายทางเพศในโรงเรียน

ธงชัย ยังกล่าวถึงประเด็นการสอนความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ว่า  ตนได้รับเลือกให้เป็นครูแกนนำในเรื่องของการสอนเพศวิถีศึกษา ซึ่งผมเชื่อว่าสถานการณ์มันดีขึ้นเพราะว่ามันมีหลายสาเหตุ อันแรกก็คือว่านโยบายจากทางราชการตอนนี้มันมีตัวกฎหมายในเรื่อง พ.ร.บ.การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งในตัวกฎหมายมันมีข้อหนึ่งที่เขียนว่าโรงเรียนต้องจัดการสอนเพศวิถีศึกษาให้กับนักเรียน เป็นการพูดถึง 6 ประเด็น หนึ่งในนั้นเราพูดถึงเรื่องของเพศและวัฒนธรรม ตรงนี้ทาง สพฐ. และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) ได้จัดอบรมครูแกนนำหลักสูตรเพศวิถีในแต่ละจังหวัด เป็นการให้ความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษาและทัศนคติครูที่มีกับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ ความหลากหลายทางเพศ รสนิยมทางเพศ

“ตรงนี้ผมเชื่อว่าในภาคของโรงเรียนหรือภาครัฐเองได้มีความพยายามในเรื่องนี้อยู่  โดยในเรื่องความหลากหลายทางเพศตนพยายามกล่าวให้เป็นปกติที่สุด ตอนนี้เนื้อหาเพศศึกษา สุขศึกษา มันไม่เคยมีการพูดถึงยาเป็บ (PEP) และยาเพรพ (PrEP) เลย ผมก็คุยกับเพื่อนว่าเราต้องสอนเรื่องนี้ เรามองว่านักเรียนของเราแต่ละกลุ่มมีความเสี่ยงอย่างไร เราก็ต้องเอาเนื้อหาพวกนี้มาสอน เพื่อให้เขาเข้าใจ และจะนำเรื่องนี้ไปปฏิบัติและดูแลตัวเองได้ ผมมองว่าเป็นเรื่องของทัศนะของครู ถ้าทัศนะครูเข้าใจการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนมันก็จะเป็นบรรยากาศแห่งความอบอุ่นและให้ความเท่าเทียม”ครูสอนเพศศึกษา กล่าว

ธงชัย กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ คือเราก็จะสอนนักเรียนเสมอในเรื่องการให้เกียรติผู้อื่นสำคัญ ทั้งในเชิงวาจาหรือการปฏิบัติ ฝึกให้ผู้ชายมีความเป็นสุภาพบุรุษทั้งต่อเพศหญิงและเพศทางเลือก ผู้หญิงก็มีการปฏิบัติต่อชายอย่างดี หรือเพศทางเลือกเองการที่เราจะได้รับการปฏิบัติที่ดี ตัวเราก็คงต้องพูดหรือกระทำอย่างไรให้สังคมเขาเห็นว่าเราคือคนปกติเหมือนกัน ตรงนี้ผมมองว่าการให้เกียรติ การยอมรับความเป็นตัวตน หรือการเห็นคุณค่าในตัวเอง สิ่งพวกนี้ถ้ามันเกิดขึ้น คนในสังคมก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 

ธงชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตกฎหมายจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอดูกัน แต่ตอนนี้การเข้าใจ การยอมรับ การให้เกียรติตรงนี้จะทำให้ชีวิตแต่ละวันของคนมันถูกหล่อเลี้ยงและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข อยากฝากถึงผู้สอนทุกคน เชื่อว่าครูทุกท่านมีการปรับตัวอยู่แล้วพยายามเข้าใจ ลูกศิษย์ของเราให้มากขึ้น  ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศสภาพไหน เราลองเปลี่ยนจากการตำหนิเป็นการให้ความห่วงใยเขา ๆ ก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ถูกต่อว่าหรือถูกแบ่งแยกจากสังคม ตรงนี้ก็เอาใจช่วย ขอให้การขับเคลื่อนมันไปในทางที่ดี และทางโรงเรียนและครูทุกคนพยายามช่วยกันอยู่ เพียงแต่ว่าก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เด็กนักเรียนเติบโตออกไปสู่สังคมอย่างมีความเข้าใจกันมากขึ้น จะมี และเคารพในสิทธิเคารพในความแตกต่างกันและกัน 

พรสิทธิ์ พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ หรือ ทนายต่อ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ศรีสะเกษ

ขณะที่ พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นทนายความเป็นนักกฎหมายในบทบาทหนึ่งและอีกบาทบาทหนึ่งตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบในฐานะเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเหมือนกัน ซึ่งเวลานี้มีกฎหมายคู่กันมา 2 ฉบับ คือพ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอเข้าไปโดยพรรคก้าวไกล แต่กลับมาดูในกฎมายที่เป็นกฎหมายสำคัญ และเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยคือรัฐธรรมนูญ เราก็มาคิดว่ารัฐธรรมนูญออกแบบไว้ รองรับกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า ไปดูในหมวดสาม เรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยนั้น กฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนไว้เหมือนจะดีว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน อ่านวรรคแรกจบไม่ต้องไปอ่านยาว แสดงว่าทุกคนกำลังคิดว่าทุกคนต้องเท่ากันหมด ไม่ต้องไปพูดเรื่องเพศ ใครก็เท่ากันหมดแน่นอน แต่บังเอิญมันมีวรรคสองเขียนว่าชายและหญิงมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน 

“เราก็เลยมองว่าแสดงว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 มันก็ยังไม่ได้ไปเข้าใจเรื่องความหลากหลายเท่าที่ควร เพราะก็ยังอุตส่าห์ไประบุเพศไว้อีก ว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ถ้าเราเข้าใจว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติในสังคม ในสังคมมีความหลากหลายแน่นอน มันไม่จำเป็นต้องไประบุเลยว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน เพราะว่าถ้าคนทุกคนเหมือนกันกฎหมายก็เขียนแค่ว่าบุคคลมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มอะไรให้มันวุ่นวาย ทีนี้ผมก็เลยมองว่าตัวนี้ก็ยังเป็นอุปสรรคหนึ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่ มันทำให้เรารู้สึกว่าสังคมหรือกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ยังมองว่าในสังคมควรได้รับความคุ้มครองในลักษณะทางเพศแค่เพศชายและหญิงอยู่”พรสิทธิ์ กล่าว

ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวอีกว่า ปัญหามันก็เลยยังล้อไปกับตัวกฎหมายเก่าเรื่องการสมรสเท่าเทียม ซึ่งตอนนี้พวกเราออกมาเรียกร้อง ส่วน พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้นตนมั่นใจว่าการที่รัฐบาลออกกฎหมายนี้หรือทุกคนเรียกร้องกฎหมายฉบับนี้ ต้องการให้เห็นว่ามันเท่าเทียมกัน สังคมมันเท่าเทียมกันจริงๆ แต่แทนที่กฎหมายจะแก้ให้คน 2 คน ที่รักกันตกลงกันแล้วว่า ฉันจะใช้ชีวิตร่วมกัน จูงมือกันเดินไปที่อำเภอ ไปจดทะเบียนสมรสกันได้เลย แต่ พ.ร.บ.ตัวนี้กลับไปสร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นมาอีกว่า คุณไปที่อำเภอไม่ใช่ว่า คุณจะไปจดทะเบียนสมรสกัน คุณไปจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกันเท่านั้น นายทะเบียนก็ดูให้ดีแล้วกันว่า 2 คนนี้จะจดเป็นชายและหญิงมาจดทะเบียนสมรสกันหรือเปล่า หรือเป็นชายกับชายมาจดทะเบียนสมรสหรือเปล่าก็ต้องใช้กฎหมายคนละตัว 

“ลักษณะอย่างนี้ไม่ได้ทำให้คนเท่าเทียมกันเลย แต่เป็นการแยกชั้นว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ใช่ชายหญิงจะไปแต่งงานกันหรือจดทะเบียนสมรสไม่ได้  เป็นคู่ชีวิตกันก็พอแล้ว ซึ่งการจะให้สิทธิ หน้าที่ทำไมไม่ให้มาหมด ทำไมไม่มาให้สุด แค่คำว่าสมรสจะหวงไว้ทำไม”พรสิทธิ์ กล่าว

เขากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ ในเรื่องสิทธิการเบิกจ่าย การรักษาพยาบาลคู่สมรสด้วย ดังนั้นจึงอยากให้สังคมมองเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ แต่วันนี้กฎหมายกลับแยกเรา โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งมั่นใจว่า กฎหมายนั้นแก้ได้ ถ้าเราออกมาช่วยกันรณรงค์ส่งเสียงให้เขาได้ยิน แต่สิ่งที่แก้อยากกว่ากฎหมายคือทัศนคติ แต่ไม่ใช่ว่าเรา พูดให้ท้อ เรายังก็ต้องแก้ด้วยกันต่อไป ส่วนตัวยังมีความหวังในเรื่องเหล่านี้อยู่ 

“ถามว่า วันนี้มีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ มันก็ดีขึ้นมาบ้าง แต่ที่เราเรียกร้อง เราไม่ได้เรียกร้องมากกว่าใครเลย ไม่ได้ขออะไรเลย เราขอให้เราเป็นคนเท่ากันกับคนอื่น เราได้สิทธิเท่าเทียมกับคนทุกคนในสังคมในประเทศนี้ ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันนี้แค่นั้น คุณจะมาออกกฎหมายยิบย่อยออกมาเพื่ออะไร ถ้าแก้ได้ผมเห็นว่าสังคมจะเท่ากันประชาธิปไตยมันก็คงจะสมบูรณ์แบบจริงๆ แต่ถ้าประเทศบอกว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว คนมันยังต้องมาเถียงกันเรื่องนี้อยู่ มันไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยแล้ว”พรสิทธิ์ กล่าว