ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง

ขณะที่การเมืองระดับชาติกำลังร้อนแรงจากการเรียกร้องของประชาชนที่รักประชาธิปไตยที่ต้องการให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งของแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 

ขณะเดียวกันข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎรกับการเมืองท้องถิ่นก็มีความร้อนแรงไม่แพ้กัน ภายหลังเครือข่ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยท้องถิ่น (คปท.) ซึ่งมีนักวิชาการ 105 คน เรียกร้องร่วมลงชื่อและออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปี 2563 เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา 

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2563 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกอบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ขึ้นภายใน 60 วัน กกต. ทั้งกำหนดให้วันที่ 20 ธันวาคม 2563 เป็นวันเลือกตั้ง นายกอบจ.และ ส.อบจ. ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 2557 คณะรัฐบาลทหารได้ประกาศใช้ ม.44 ปลดผู้บริหารท้องถิ่นบางคน และให้ข้าราชการประจำปฏิบัติงานแทน 

ที่สำคัญคือการไม่อนุญาตให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและให้ผู้บริหารท้องถิ่นในระดับต่างๆอยู่ในตำแหน่งต่อไป 

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกพื้นที่การเมืองหนึ่งที่น่าสนใจของประเทศไทยในการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด นอกจากลักษณะของจังหวัดอุบลราชธานีจะเป็นจังหวัดใหญ่ในบริเวณภาคอีสาน มีทรัพยากรจำนวนมากและเป็นพื้นที่การค้าชายแดนที่สำคัญที่รัฐให้ความสนใจในเรื่องของการพัฒนาแล้ว 

ภายในจังหวัดอุบลราชธานียังมีเรื่องของความขัดแย้งที่เกิดจากการพัฒนาของรัฐและการต่อสู้ทางการเมืองของคนในพื้นที่กับอำนาจรัฐซึ่งมีมาตลอดนับตั้งแต่ การเกิดขึ้นของกบฎผีบุญที่ต้องการต่อต้านการขยายอำนาจของสยาม การเกิดขบวนการเสรีไทย การต่อต้านการสร้างเขื่อนปากมูล การต่อสู้ในเรื่องของที่ดิน และการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ต่อต้านเผด็จการซึ่งถูกจับเข้าคุก ข่มขู่ และปรับทัศนคติจำนวนมาก  ในส่วนของการปกครองท้องถิ่นนั้น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีโดนคำสั่ง ม.44 จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่และให้รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ราชการของรัฐทำงานแทน

ขั้นตอนการเลือกตั้งท้องถิ่น 2563 เครดิตภาพ : ประชาไท

เมื่อมีการประกาศให้มีเลือกตั้ง นายฯ อบจ.และ ส.อบจ. ในการเลือกตั้งรอบนี้มีผู้สมัครชิงตำแหน่ง นายกฯ อบจ. 7 ท่าน และผู้ชิงตำแหน่ง ส.อบจ คน 281 คน จากพื้นที่เขตเลือกตั้งทั้งหมด 42 เขต 2950 หน่วยเลือกตั้ง มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,433,346 คน  

เมื่อลองสังเกตการณ์วิธีการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกอบจ. การหาเสียงส่วนใหญ่ของผู้สมัครมีนโยบายที่คล้ายกันอย่างมากโดยผู้สมัครให้ความสำคัญกับ การสร้างและซ่อมถนน ขุดคูคลอง ทำไฟฟ้า ทำอินเตอร์เน็ต พัฒนาโรงเรียน และการเน้นให้ประชาชนเลือกคนดี มีคุณธรรม ทำงานโปร่งใส 

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมนโยบายของผู้สมัคร นายกฯ อบจ.อุบลราชธานีถึงได้ออกมาคล้ายกันซึ่งต่างจากการเลือกตั้งในระดับชาติที่แต่ละพรรคการเมืองมีการเสนอนโยบายต่างๆ ออกมาแข่งกันให้ประชาชนได้พิจารณาเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่ผู้เขียนค้นพบจากการศึกษาคือ การที่ผู้สมัครนายกอบจ.มีนโยบายที่ไม่แตกต่างกันนั้นมีปัจจัยดังต่อไปนี้ 

ปัจจัยที่หนึ่ง รัฐไทยเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจอย่างมากและการปกครองท้องถิ่นถูกควบคุมโดยข้าราชการส่วนภูมิภาคมาอย่างยาวนาน ถึงแม้จะมีการกระจายอำนาจที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีการให้ประชาชนเลือกผู้นำท้องถิ่น และถ่ายโอนภาระงานมาให้ท้องถิ่นทำ  อย่างไรก็ตาม การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังคงมีปัญหาอย่างมากทั้งในเรื่องอำนาจของผู้บริหารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของข้าราชการภูมิภาค ความขาดแคลนในเรื่องของงบประมาณและบุคลากร มากกว่านั้น ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และปี 2557 ที่ให้การกระจายอำนาจต้องชะงัก โดยเฉพาะการรัฐประหารปี 2557 ที่รัฐบาลทหารได้มีการขยายอำนาจของรัฐลงมาควบคุมท้องถิ่นและพยายามเปลี่ยนท้องถิ่นให้มีความเป็นราชการมากยิ่งขึ้น จากการไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ปลดผู้บริหารท้องถิ่น แต่งตั้งข้าราชการและตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ 

ปัจจัยที่สอง การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นที่ขาดความมีอิสระ สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีมีการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง การจัดทำดังกล่าวมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่สิ่งที่พบคือ การจัดแผนต้องล้อกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาภูมิภาคของอีสานใต้ รวมถึงแผนพัฒนาจังหวัดของกระทรวงมหาดไทย 

เมื่อประชาชนแสดงความเห็นไปแล้ว สิ่งที่ถูกเสนอขึ้นไป ถ้าเข้าตามกรอบแนวทางของแผนที่ถูกกำหนดมาแล้วข้างต้น ประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนเป็นผู้เสนอจะถูกบรรจุลงไปในแผนพัฒนาท้องถิ่นของ อบจ. เช่น ส่งเสริมการปลูกข้าว ส่งเสริมการค้าชายแดน ทำถนน ไฟฟ้าให้ดี ส่งเสริมประเพณี เป็นต้น ส่วนประเด็นที่ประชาชนเสนอถ้าไม่ตรงในสิ่งที่ถูกกำหนดนมาก็ไม่ได้รับการบรรจุลงไป ทั้งในเรื่องของปัญหาน้ำท่วมที่ไปไกลกว่าการสร้างคูคลอง ทำฝายกันน้ำ ความขัดแย้งในเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เกิดมาจากการพัฒนาของรัฐที่มาจากอดีต รวมถึงความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของอบจ.ที่เกิดขึ้นมีลักษณะไปทางการกำหนดจากบนสู่ล่าง (Top-down) มากกว่า และมองไม่เห็นปัญหาของพื้นที่จริงๆ ดูได้จาก ในแผนพัฒนาท้องถิ่นอุบลราชธานี พ.ศ.2561-2564 ที่มี 5ยุทธศาสตร์ในการพัฒนา  ดังนี้

  1. การบริหารจัดการทรัพยากร อบจ. มี 114 โครงการ วงเงิน 166,046,820 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดซื้อครุภัณฑ์ และส่งเสริมพัฒนาบุคลากร
  2. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มี 114 โครงการ วงเงิน 681,644,265 บาท เน้นโครงการป้องกันยาเสพติด การจัดการศึกษา พัฒนาคุณภาพโรงเรียนตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมเกษตรพอเพียง
  3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มี 284 โครงการ วงเงิน 1,705,032,300 บาท ซ่อมแซมถนน ปรับปรุงการคมนาคม
  4. การพัฒนาคุณภาพชีวิต มี 84 โครงการ วงเงิน 625,156,000 บาท การปรับปรุงโรงกีฬา พัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุ ใส่ใจคนพิการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย ทำนุบำรุงศาสนา
  5. การส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว วงเงิน 310,458,700 บาท ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวการค้าชายแดน

เมื่อลองพิจารณาดูโครงการที่จัดทำในแผนพัฒนาท้องถิ่นต้องทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด คือ “เมืองน่าอยู่ทันสมัย ประตูสู่การค้าการลงทุน ท่องเที่ยวหลายมิติ เกษตรสู่สากล” ที่ออกกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล สิ่งที่พบคือ ในเรื่องของการพัฒนาเมืองน่าอยู่ทันสมัยและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน มีการพูดถึงผังเมืองน้ำท่วม แต่พอโครงการและตัวชี้วัดที่ออกมา เน้นไปทางสุขภาพ ตรวจหาเบาหวาน  ส่วนการพัฒนาด้านอื่นเน้นในเรื่องการส่งเสริม พัฒนาบุคคลากร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

บรรยากาศหน่วยเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2563 เครดิตภาพ : ประชาไท

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของรัฐและสังคมกับการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานีผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง แผนพัฒนาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นถูกล็อคให้ล้อกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี แผนพัฒนาภูมิภาค และแผนพัฒนาจังหวัดที่ส่วนกลางกำหนดมาแล้ว กระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำขึ้นดังกล่าวได้ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเพียงแค่ตราแสตมป์สร้างความชอบธรรมที่แสดงให้เห็นว่าแผนพัฒนาท้องถิ่นอุบลราชธานีของอบจ.ผ่านความเห็นชอบของประชาชนแล้วเท่านั้น 

ประเด็นที่สอง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง พลวัตของอำนาจของท้องถิ่น ถึงแม้รัฐไทยจะมีการกระจายอำนาจแต่อำนาจส่วนใหญ่ถูกกระจุกไว้ในขอบเขตที่รัฐส่วนกลางกำหนดเท่านั้น อำนาจไม่ได้ถูกกระจายออกไปให้กับกลุ่มอื่นๆในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับคนในพื้นที่ ดังนั้นการทำงานของอบจ.ส่วนใหญ่จึงอยู่ในขอบเขตอำนาจของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะภายใต้การปกครองของกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอำนาจเหนือกว่านายกฯ อบจ. ทั้งที่ อบจ.เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ นายกฯ อบจ.มากจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ลักษณะของงานที่ทำเป็นงานประจำมากกว่าการวางนโยบายในการพัฒนาหรือนำจังหวัดไปข้างหน้า หรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังที่ได้จะได้กล่าวในประเด็นถัดไป

ประการที่สาม แผนพัฒนาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้มองเห็นปัญหาในพื้นที่ที่มีความหลากหลายแต่ผู้มีอำนาจเลือกที่จะบรรจุสิ่งที่กรอบการพัฒนาต้องการ ยกตัวอย่าง อุบลราชธานีเป็นจังหวัดน้ำท่วม แต่แผนอบจ.แทบไม่พูดเรื่องน้ำท่วม จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ อบจ. พบว่าตอนนี้ อบจ.มีเรืออยู่แค่ 4 ลำ ช่วงน้ำท่วมทำได้แค่สนับสนุนเพราะไม่มีพื้นที่ หรือปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของที่ดินที่รัฐมีปัญหากับชาวบ้าน  อบจ.ไม่ได้มีอำนาจอะไรที่จะเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องจากทางภาครัฐในการไล่ออกจากพื้นที่ 

มากไปกว่านั้น ในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง อบจ. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนควรจะมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งหรือเข้าไปช่วยเหลือ แต่สิ่งที่พบคือไม่มีอำนาจจะทำได้ เพราะแผนไม่ได้กำหนด และต้องปล่อยให้เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐกับประชาชน สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะการกระจายอำนาจของไทยที่ผ่านมานั้น สถาบันท้องถิ่นมีหน้าที่หลักคือ การสร้าง ปรับปรุง ซ่อม และแก้ไขโครงสร้างพื้นฐาน หรือ ทำงานที่ถูกถ่ายโอนมาจากส่วนภูมิภาค แต่ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนกลุ่มต่างๆจะใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น หรือ การวางนโยบายในการพัฒนาหรือนำจังหวัดไปข้างหน้า

ประเด็นที่สี่ ยิ่งช่วงรัฐประหารปี 2557 นายก อบจ.อุบลราชธานีโดน ม.44 ห้ามปฎิบัติงาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำงานของผู้ที่รักษาการแทน คือข้าราชการที่มาจากการแต่งตั้งซึ่งเพียงทำตามที่กรอบแผนงาน และนโยบายที่ทางส่วนกลางและภูมิภาคกำหนดเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีการริเริ่มอะไรใหม่ เพราะกรอบคิดของข้าราชการกับนักการเมืองต่างกัน ข้าราชการทำตามที่กฎหมาย และเจ้านายของตนสั่งเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำอะไรมาก 2-4 ปีก็ย้ายไปดำรงในที่ใหม่ แต่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้องรับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลาย และพยายามคิดและพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์คนในพื้นที่มากเท่าที่จะเป็นไปได้

ประเด็นที่ห้า การไล่เช็คบิลนักการเมืองโดยเฉพาะคดีทุจริต คำว่าทุจริตนี้ เราสามารถมองได้หลายมุม กล่าวคือ นักการเมืองยักยอกเงิน เอาผลประโยชน์เข้าตนเอง หรือ ว่าเขาต้องการทำนโยบายหรือโครงการเพื่อตอบสนองคนในพื้นที่แต่กฎหมายจำกัดอำนาจเขาไว้ไม่สามารถทำโครงการ หรืออนุมัติเงินได้ แต่เขาต้องทำเพราะเป็นประโยชน์หรือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน จึงถูกเหมารวมว่าทุจริต สิ่งเหล่านี้ต้องกลับไปตั้งคำถามกับกฎระเบียบที่ออกมาโดยเฉพาะ มหาดไทย สตง. ปปช. ว่าระเบียบต่างๆโดยฉพาะการใช้จ่ายเงินของท้องถิ่นที่ออกมานั้นช่วยให้ท้องถิ่นทำงานรับใช้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ลดศักยภาพท้องถิ่นให้ท้องถิ่นทำงานยากยิ่งขึ้นซึ่งผลให้ผู้นำท้องถิ่นไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวถูกฟ้องร้องว่าผิดระเบียบ

ประเด็นหก เมื่อกลับมาพิจารณานโยบายในการหาเสียงการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี สิ่งที่พบคือ ใบหาเสียงแต่ละคนมีแค่เลขผู้สมัคร รูปหล่อๆ สวยๆ และคำคมเท่ๆ และนโยบายที่เกี่ยวกับการซ่อมถนน ทำไฟฟ้า ทำคลองชลประทาน การกีฬา การรักษาพยาบาล การทำตลาด การศึกษา การเกษตร เป็นต้น แต่ไม่มีเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเราลองพิจารณาโครงสร้างของรัฐไทย ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และแผนการพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมา นักการเมืองทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้เพราะถูกควบคุมโดยแผนของส่วนกลาง และแผนของส่วนภูมิภาค ยิ่งในช่วงรัฐประหารที่ผู้นำท้องถิ่นโดน   ม.44ให้หยุดการปฏิบัติงาน การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นตกอยู่ในอำนาจของข้าราชการที่ถูกแต่งตั้งมา 

แน่นอนทีเดียวว่าแผนพัฒนาท้องถิ่นของอบจ.ไม่ได้แตกต่างจากแผนที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกำหนดมาข้างต้น สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนออกมาในการหาเสียงผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกฯ อบจ.อุบลราขธานีที่มีความคล้ายกันและไปไม่ไกลจากการ สร้าง ซ่อม ปรับปรุง แก้ไข และส่งเสริม หรือ การเลือกคนดี มีศีลธรรม ต่างจากการเมืองระดับชาติที่เสนอนโยบายเอาใจประชาชนกันอย่างเมามันส์

สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับ อบจ.ว่าจะวางบทบาทอย่างไรในรัฐที่รวมศูนย์อำนาจและเป็นรัฐกึ่งเผด็จการเช่นนี้ อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งนายกอบจ.รอบนี้ ผมยังมองอย่างมีความหวังว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดต่างๆ เนื่องจากประชาชนสามารถเลือกผู้นำของเขาเองได้ และมีช่องทางในการติดต่อกับผู้นำของเขา  

สิ่งสำคัญตอนนี้คือ ประชาชนกลุ่มต่างๆทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอื่นๆ ควรออกมาส่งเสียงให้กับผู้รับสมัครนายกอบจ.ว่าต้องการอะไร อย่าปล่อยให้ผู้สมัครเสนอมาอย่างเดียว เราต้องหาความรู้และข้อมูลของผู้สมัครแต่ละคน วิจารณ์ และเสนอความเห็นให้เขาไปทำเพราะเขาเป็นตัวแทนของเรา กลุ่มต่างๆ ในจังหวัดต้องออกมาส่งเสียงว่าต้องการอะไร มีปัญหาอะไร มีความขัดแย้งอะไรในจังหวัดเพื่อให้ผู้สมัครรับไปพิจารณาออกเป็นนโยบาย หรือจัดทำโครงการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการจองประชาชน 

สถาบันการศึกษา กกต.ต้องจัดเวทีเปิดโอกาสให้ผู้สมัครโชว์วิสัยทัศน์ ให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกได้รับฟังกัน ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและนโยบายของผู้สมัครได้มากที่สุดเพื่อให้เขามีข้อมูลในการตัดสินใจในการเลือก และส่งเสริมให้ประชาชนมาเลือกตั้งท้องถิ่นให้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้การกระจายอำนาจ การพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น และการพัฒนาจังหวัดของอบจ.จะไปไกลกว่าในเรื่องของ สร้าง ซ่อม ปรับปรุง แก้ไข และส่งเสริม หรือ การทำงานประจำที่หน่วยงานส่วนภูมิภาคถ่ายโอนมาให้ เหมือนที่ผ่านมา

image_pdfimage_print