วิทยากร โสวัตร เรื่อง

The Isaan Record ได้เผยแพร่บทความเรื่อง ‘ถ้าไม่มีประชาธิปไตยและคณะราษฎรหมอลำหมอแคนจะไม่มีที่ยืนบนแผ่นดินไทย’ บทความของผม ซึ่งเขียนขึ้นจากการที่ได้อ่านหนังสือ อุบลราชธานีและฮีตสิบสอง บริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด (มหาชน) พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระกฐินพระราชทาน ณ วัดมหาวนาราม เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 

โดยผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งๆ ที่เป็นงานกฐินหลวงและทอดในวัดหลวงแต่กล้าที่จะตีพิมพ์บทความของ ท่านเจ้าคุณธรรมธีราชมหามุนี เรื่องลำแคน ที่อธิบายอย่างมีเหตุผลมีหลักฐานอ้างอิงว่าทำไมหมอลำหมอแคนจึงเป็นที่นิยมอย่างมากในกรุงเทพฯและเขตภาคกลางจนเป็นเหตุให้ ร. 4 ทรงประกาศห้ามและคาดโทษผู้เล่นและผู้จ้างอย่างหนัก และยังยกประกาศฉบับเต็มมาลงในบทความและให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ต่อจากประกาศนั้นอีกว่า

“เมื่อได้มีประกาศฉบับนี้ออกมาแล้ว ด้วยความกลัวต่อพระราชอาญาจึงเป็นผลให้วงการลำแคน (หมอลำหมอแคน) ของเราสลบซบเซาไปเพราะในเมืองหลวงไม่มีการเล่นกันอีกแล้ว จะมีบ้างก็เฉพาะแต่ตามหัวเมืองที่อยู่ห่างไกล เช่นในภาคอีสาน ทำให้วงการหมอลำของเราค่อยเสื่อมโทรมลงจำเดิมแต่นั้นมา”

“จนกระทั่งมาในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพขึ้นตามกฎหมาย วงการหมอลำของเราจึงค่อนฟื้นขึ้นมาอีก แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ยังไม่มีชีวิตชีวาเท่าใดนัก” 

“เพิ่งจะมีชีวิตชีวาเฟื่องฟูขึ้นอย่างจริงจังกันเมื่อสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง ซึ่งได้มีสมาคมหมอลำตั้งขึ้นหลายจังหวัดในดินแดนภาคอีสาน และค่อยขยายตัวกว้างขวางออกไป จนกระทั่งได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ทำให้เกิดการยอมรับโดยทั่วไป เพราะหมอลำได้มีการพัฒนาไปตามกาลเวลาพร้อมทั้งได้ประยุกต์รูปแบบของเนื้อกลอนลำให้ผสมกลมกลืนกับความนิยมของผู้ฟังในสมัยปัจจุบัน จึงทำให้การลำแคนยืนหยัดอยู่ได้จนกระทั่งปัจจุบันนี้”

จากบทความนี้เองที่ทำให้ผมตามหาว่ามีใครหรือหนังสือเล่มไหนพูดถึงเรื่องหมอลำแบบนี้บ้าง และเท่าที่พบ ส่วนใหญ่ก็มีแต่เมื่อพูดถึงประวัติของหมอลำหมอแคนจะกล่าวตรงกันว่ามีการ “ห้าม” เล่นในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่มีน้อยมากที่พูดถึงการฟื้นคืนของหมอลำหมอแคนว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี 2475 

แต่เท่าที่ผมมีเอกสารอยู่ในมือ พบว่ามีอยู่ 3 เล่มที่พูดในลักษณะเดียวกับบทความเรื่องลำแคนของท่านเจ้าคุณธรรมธีรราชมหามุนี นั่นคือ อุบลราชธานีและฮีตสิบสอง (เล่มที่ผู้เขียนอ้างอิงถึงในบทความก่อน), แคนดนตรีพื้นเมืองภาคอีสาน ของ บุญเลิศ จันทร ศึกษานิเทศก์กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 11 นครราชสีมา สื่อประกอบการสอนวิชาชีพ หมวดดนตรีและนาฏกรรม พิมพ์ครั้งแรกปี 2531 โดยสำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์

และมรดกชาวอีสาน โดย บุญเรือง จรรยาศรี พิมพ์ครั้งแรกปี 2505 พิมพ์ที่โรงพิมพ์ประยูร โดยที่ผู้เขียนพิมพ์เองและขายเอง มีร้านที่ฝากขายอยู่ 3 ร้าน (กรุงเทพ, นครราชสีมา, ขอนแก่น) อยากหมายเหตุไว้ที่นี้ว่า “น้ำเสียง” ของหนังสือเล่มหลังนี้น่าสนใจมากในความเป็นอีสาน

เล่มอุบลราชธานีและฮีตสิบสองและมรดกชาวอีสานนั้น ยกบทความของท่านเจ้าคุณธรรมธีรราชมหามุนีมาทั้งดุ้นเลย แต่ของบุญเลิศ จันทร – แคนดนตรีพื้นเมืองภาคอีสาน กลับไม่ให้เครดิตทั้งๆ ที่เนื้อหาส่วนใหญ่ในเรื่องนี้แทบจะอันเดียวกันแค่ปรับคำปรับประโยคนิดหน่อย

ถ้าเรามองว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางวัฒนธรรมแล้ว จึงน่าสนใจว่ามีใครบ้างที่เอาบทความเรื่องลำแคนของท่านเจ้าคุณธรรมธีรราชมหามุนีไปกระจายต่อทั้งในรูปแบบที่เอาไปทั้งดุ้นหรือย่อยความปรับคำ

คำถามต่อมาคือ ท่านเจ้าคุณธรรมธีรราชมหามุนี เป็นใคร? เพราะเมื่อดูจากน้ำเสียงของคนที่เอางานบทความนี้ไปเผยแพร่ต้องเป็นพระเถระ ที่คนอีสานและพระอีสานให้ความเคารพในวงกว้างมากๆ

บทความเรื่องลำแคน ปรากฎในหนังสือ มรดกชาวอีสาน โดย บุญเรือง จรรยาศรี

ตอนอ่านบทความเรื่องนี้ครั้งแรกผมก็เข้าใจว่า ทางวัดมหาวนารามติดต่อขอบทความจากท่านมาลงในปีนั้น (2534) และจากข้อมูลในบทความ เช่น ท่านเรียกขนมจีนที่คนลาวอีสานส่วนใหญ่เรียกว่าข้าวปุ้นว่า ขนมเส้น ผมก็นึกว่าท่านน่าจะเป็นคนในโซนจังหวัดขอนแก่นหรืออาจเป็นจังหวัดชัยภูมิ

เพราะจากประสบการณ์ที่เคยบวชเรียนอยู่แถวนั้น เห็นเขาเรียกข้าวปุ้นด้วยคำว่าขนมเส้น และยิ่งในบทความบอกว่าท่านเองเคยไปพม่าและกินอาหารชนิดหนึ่งทำให้นึกถึงรสอาหารที่บ้าน ก็เข้าใจว่าท่านน่าจะเป็น พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) คนขอนแก่น และเป็นคนที่พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ส่งไปเรียนอธิธรรมและกรรมฐานที่พม่า

แต่หนังสือเรื่อง มรดกชาวอีสาน ทำให้ผมเริ่มไม่แน่ใจ เพราะบทที่ ๒๐ ของหนังสือซึ่งได้ยกพื้นที่ทั้งหมดให้กับบทความเรื่องลำแคน ของท่านเจ้าคุณธรรมธีรราชมหามุนี แต่มีหมายเหตุตัวเล็กๆ ไว้ใต้ชื่อบทความและชื่อคนเขียนว่า 

“เรื่องลำแคนนี้ คุณสุนทร อภิสุนทรางกูร หัวหน้าหมอลำคณะสุนทราภิรมย์ จัดพิมพ์แล้วครั้งหนึ่ง วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๐๒ แต่ผู้เขียนเห็นว่ามีเรื่องที่น่ารู้มาก จึงขอต้นฉบับจาก คุณสุนทรมาลงพิมพ์ไว้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อมอบให้เป็นมรดกของท่านผู้อ่านทุกท่าน”

นั่นแสดงว่าบทความชิ้นนี้ เคยตีพิมพ์มาก่อนแล้วอย่างน้อยก็ในปี 2502 (มีพิมพ์ก่อนหน้านั้นหรือไม่? แต่ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่าบทความชิ้นนี้ เขียนขึ้นในช่วงระหว่าง 2475 – 2502 และด้วยความที่ถูกเผยแพร่ออกไปจากคณะหมอลำที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งมีพระเณรอีสานอยู่ค่อนข้างมากดังนั้นข้อมูลในบทความก็น่าจะแพร่ไปในวงกว้างอยากมากด้วย) และหนังสือมรดกชาวอีสานตีพิมพ์ปี 2505 ก็ยังระบุชื่อผู้เขียนบทความว่าท่านเจ้าคุณธีรราชมหามุนี ดังนั้นจึงไม่น่าใช่หลวงพ่อโชดก ญาณสิทฺธิ เพราะตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นพระราชคณะชั้นนี้

เมื่อมาดูลำดับพระราชาคณะ ผู้ได้รับพระราชทานราชทินนาม “พระธรรมธีรราชมหามุนี” ในสมัยกรุงธนบุรี ถึง ปัจจุบัน (ข้อมูลจากเพจ พัดยศ สมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย)

รูปที่ ๑ พระธรรมธีรราชมหามุนี (ชื่น) วัดหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม) พ.ศ. ๒๓๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๓๓๐ (เดิมทีเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในสมัยกรุงธนบุรี ภายหลังถูกลดสมณศักดิ์ลงเป็น พระธรรมธีรราชมหามุนี ที่พระพนรัตน และถูกลดลงมาอีกเป็น พระธรรมไตรโลก) 

รูปที่ ๒ พระธรรมธีรราชมหามุนี (ชั้นเทพ) (จันทร์ สิริจนฺโท ป.ธ.๔) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร พ.ศ. ๒๔๕๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ (ต่อมาภายหลังเป็น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์) 

รูปที่ ๓ พระธรรมธีรราชมหามุนี (ธีร์ ปุณฺณโก ป.ธ.๙) วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๖ (ต่อมาภายหลังเป็น สมเด็จพระธีรญาณมุนี) 

รูปที่ ๔ พระธรรมธีรราชมหามุนี (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.๙) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระอารามหลวง พ.ศ. ๒๕๑๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๐ (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์) 

รูปที่ ๕ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร พ.ศ. ๒๕๓๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๑ ฯลฯ

ดูจากช่วงเวลาของการดำรงสมณศักด์ชั้นนี้ ท่านเจ้าคุณธรรมธีรราชมหามุนี น่าจะเป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี (ธีร์ ปุณฺณโก ป.ธ.๙) ซึ่งเป็นคนปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เคยเป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกซึ่งปกครองสงฆ์ภาคอีสาน

แต่ประวัติท่านน้อยมากและผมไม่แน่ใจว่าบ้านเกิดท่านที่ปักธงชัยนั้นเรียกข้าวปุ้นว่าขนมเส้น หรือการที่ท่านพูดถึงผญาและกลอนลำราวกับว่าท่านเป็นคนลาวอีสานมากๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าทางปักธงชัยเป็นลาวจ่ายผญาหรือไม่?

แต่ที่แน่ๆ ท่านเป็นพระมหานิกายที่ดำรงสมณศักดิ์นี้ในช่วงที่ประชาธิปไตย 2475 เบ่งบานร่วมยุคกับพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) แม่ทัพใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตย และถ้าเป็นท่านจริง และเขียนบทความนี้ขึ้นในปี 2502 (ถ้ายึดเอาว่าปีที่หัวหน้าคณะหมอลำสุนทราภิรมย์พิมพ์เป็นการพิมพ์ครั้งแรก)

ก็ยิ่งเป็นการเขียนและเผยแพร่ขึ้นมาท้าทายอำนาจเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งได้นำระบอบพระมหากษัตริย์ให้กลับมามีอำนาจเหนือระบอบประชาธิปไตย

มีใครอยากอ่านบทความเรื่องลำแคนเต็มๆ บ้างครับ?

            ปล. ถ้าท่านใดที่ได้อ่านบทความนี้แล้วมีข้อมูลว่า ท่านเจ้าคุณธรรมธีรราชมหามุนี ผู้เขียนบทความ เรื่องลำแคน นี้เป็นใคร ขอความกรุณาช่วยแจ้งข้อมูลมาให้ทราบด้วยนะครับ จะเป็นประโยชน์กับการศึกษาประวัติศาสตร์อีสานอย่างมาก

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print