
จุฑามาศ สีดา นักศึกษาฝึกงาน เรื่องและภาพ
เลย – เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายสิ่งแวดล้อม จัดเวทีประชุมสรุปบทเรียน เชื่อมร้อยเครือข่ายองค์กรเอกชน องค์กรชุมชนและภาคี สู่การจัดการสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน (ครั้งที่ 2) ระหว่างวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2563 ณ ศาลาประชาคมอำเภอปากชม ตำบลปากชม อำเภอปากชม จังหวัดเลย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงในพื้นที่สู่การสร้างพันธกิจร่วมกันของชุมชน รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชนและภาคีความร่วมมือได้ร่วมกันสรุปบทเรียนโครงการ โขง ชี มูล และการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา
ทั้งนี้เพื่อพัฒนาองค์ความรู้นิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงของชุมชนลุ่มน้ำโขงสู่การรณรงค์เผยแพร่ สร้างความตระหนักต่อปัญหาการพัฒนาและสร้างทางเลือกในการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ กลุ่มฮักแม่น้ำเลย กลุ่มฮักเชียงคาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขงประมงพื้นบ้านเชียงคาน กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง ตัวแทนชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากพื้นที่ อ.ปากชม จ.เลย ตัวแทนชุมชนลุ่มน้ำโขง ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดเลย รวมถึงนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ชวน สนทช.ร่วมทำ EIA
สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า การจัดเวทีในวันนี้เราได้เชิญตัวแทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มาร่วมด้วยเพื่อร่วมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในปีหน้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนา รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับชาวบ้านในการพัฒนาและไขข้อกังวลของชาวบ้านให้ได้มากที่สุด
ขณะที่ดำรงศักดิ์ จันทร์วิไล กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการภายในชุมชนต้องเกิดจากความเห็นพ้องต้องกันของคนในชุมชนไม่ใช่มาจากเบื้องบน ซึ่งความวิตกกังวลของชาวบ้านที่ไม่ได้รับรู้ถึงความเป็นมาเป็นหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เราจึงได้มีเวทีนี้เพื่อที่จะสะท้อนปัญหาและร่วมกันหาทางออกให้กับชาวบ้านว่าเขาจะอยู่ในวิถีชีวิตเดิมได้อย่างไร
ออกแถลงต้านโครงการขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำโขง
ด้าน สรรัตน์ แก้วสา ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง ม.3 ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวว่า หลังจากมีการสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก ชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำก็นอนผวา เพราะกลัวว่า น้ำจะท่วมอีกครั้ง ชาวบ้านต้องการให้ทางกรมชลประทานนำความจริงมาพูดกับประชาชน เพื่อที่จะได้เข้าใจกัน อะไรที่ต่อรองได้ อะไรที่พูดคุยกันได้ ไม่ใช่มาโกหกกันแบบนี้
“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูล เพราะชาวบ้านที่นี่อาศัยแม่น้ำเลยในการดำรงชีวิต เรารักแม่น้ำเลยเเละแม่น้ำเลยเปรียบเสมือนตู้กับข้าวของเรา”ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง กล่าว
หลังการเสวนาสิ้นสุดลง กลุ่มประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ออกแถลงการณ์ปกป้องแม่น้ำโขงจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่อสู้รักษาสายน้ำแห่งนี้ให้ดำรงอยู่ด้วยธรรมชาติ ต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนสานะคาม ต่อต้านโครงการผันน้ำโขง ตลอดจนการรื้อฟื้นโครงการเขื่อนพลังงานไฟฟ้าและขอยืนหยัดต่อสู้วิพากษ์ วิจารณ์ร่วมเสนอการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน